Skip to main content
sharethis

สธ.-สปสช.แจงรัฐบาลเพิ่มงบกองทุนบัตรทองทุกปี ช่วยประชาชนเข้าถึงการรักษา ลดภาระ รพ. ทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ทั้งยาใหม่ที่ให้ผลรักษาดีขึ้น เทคโนโลยีใหม่ที่ผ่าตัดวันเดียวกลับบ้านได้ การป้องกันโรคก่อนป่วย การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก แต่ยังมีสิ่งที่ต้องพัฒนาและปรับปรุง ทั้งยังมีประชาชนกลุ่มหนึ่งเข้าไม่ถึงบริการ และความแออัดที่ รพ. ผู้ป่วยรอคิวนาน ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไข และวางรากฐาน ไม่ว่าจะเป็นหมอครอบครัว การดูแลผู้ป่วยติดบ้านเตียง

1 ต.ค.2561 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2561 นี้ นับเป็นปีที่ 17 ของการมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทย ผลงานที่ผ่านมาได้รับการชื่นชมจากหลายฝ่าย แต่แน่นอนว่ายังมีสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการที่ยังมีคนจำนวนหนึ่งเข้าไม่บริการ และการไปใช้บริการที่ รพ.ที่ยังมีความแออัด ผู้ป่วยรอคิวนาน ผู้ให้บริการทำงานหนัก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ได้เห็นปัญหานี้ และอยู่ระหว่างการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการวางรากฐานด้วยโครงการหมอครอบครัวซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการอย่างเข้มแข็ง ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ซึ่งเป็นความริเริ่มของรัฐบาลนี้ และเป็นนวัตกรรมที่ทั่วโลกมาศึกษาดูงานและนำไปปรับใช้กับบริบทของแต่ละประเทศ

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า ในส่วนของการเพิ่มงบประมาณให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ตั้งแต่ปี 2558-2562 งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึงปีละ 4.6% ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า จำนวน รพ.ที่มีวิกฤติการเงินรุนแรงลดลงไปร้อยละ 90 จาก 136 แห่งในปี 2558 เหลือ 13 แห่งในปี 2561 นอกจากนั้นในปี 2561 ครม.ยังได้อนุมัติงบกลางปีให้เพิ่มอีก 4,186 ล้านบาท ซึ่งช่วยลดวิกฤติการเงินให้ รพ.ได้อันเนื่องมาจากมีจำนวนผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น ทำให้ รพ.มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.) กล่าวว่า ในส่วนของสิทธิประโยชน์ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเน้นป้องกันก่อนป่วย เช่น ในกลุ่มโรคมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของคนไทย ก็ได้เพิ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่จะทำให้ตรวจพบโรคได้เร็วขึ้นและสามารถรักษาได้ รัฐบาลก็ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์นี้ให้ประชาชนอายุ 50 ปีขึ้นไปเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ใน รพ.ที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใกล้บ้านได้ทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังเพิ่มสิทธิประโยชน์วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก หรือการพัฒนานโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วในเวลาที่จำกัดยัง รพ.ที่ใกล้ที่สุด ครอบคลุมทั้ง รพ.รัฐทุกสังกัดและ รพ.เอกชน ที่ผ่านมาก็ช่วยชีวิตผู้ป่วยในช่วงฉุกเฉินวิกฤต โดยไม่ต้องมีภาระค่ารักษาพยาบาลในช่วง 72 ชั่วโมงแรก

เช่นเดียวกับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ยาใหม่ๆ เข้าไปในรายการ ไม่ว่าจะเป็นยามะเร็ง 4 รายการ หรือยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีตัวใหม่คือยาโซฟอสบูเวียร์ ซึ่งยาใหม่นี้ให้ผลการรักษาได้ดีกว่า นอกจากนั้นยังเพิ่มเทคโนโลยีการรักษาใหม่ให้กับประชาชน มี 12 โรคนำร่องที่ผู้ป่วยไม่ต้องนอน รพ.แต่ผ่าตัดวันเดียวกลับบ้านได้เลย เช่น การผ่าตัดนิ่วในท่อน้ำดีที่ใช้วิธีส่องกล้อง จากเดิมที่ต้องนอน รพ.หลายวัน ก็เปลี่ยนมาเป็นผ่าตัดวันเดียวกลับบ้านได้

“ผลการดำเนินงานทั้งหมดนี้ ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยได้รับการยอมรับในระดับโลก และองค์การอนามัยโลกยกให้เป็นต้นแบบสำหรับการเรียนรู้ของแต่ละประเทศ นอกจากนั้นธนาคารโลกยังได้ประเมินว่างบประมาณของโครงการนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ และที่สำคัญคือช่วยลดความยากจนลงอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจพบว่าครัวเรือนที่ตกอยู่ใต้เส้นความยากจนหลังจ่ายค่ารักษาพยาบาลลดลงจาก 0.46% ในปี 2557 เหลือ 0.29% ในปี 2560” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

หมายเหตุ : ประชาไท ปรับแก้เนื้อหาโดยเพิ่มในส่วนของ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปเมื่อ 13.33 น. 2 ต.ค.2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net