ปัญหาการจดทะเบียนการเกิดเด็กข้ามชาติ : ระเบียบที่สร้างสะพานหรือกั้นกำแพง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประเทศไทยรับรองสิทธิจดทะเบียนการเกิดและสิทธิการรับรองว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR)  และตามข้อ 7 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child : CRC)ไม่ว่าเป็นบุตรของพ่อแม่ที่มีสถานะเข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หรือเด็กถูกทอดทิ้งหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการี ล้วนเป็นหน้าที่ของรัฐในการรับจดทะเบียนการเกิด เพื่อบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่เกิด และรับรองความมีตัวตนตามกฎหมายไม่ให้กลายเป็นเด็กไร้รัฐโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เด็กเกิด[1]

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ(UNICEF)  ระบุว่าประเทศไทยมีความพยายามในการจดทะเบียนเกิด โดยเฉพาะนโยบายระดับชาติต่อเด็กข้ามชาติที่ประมาณการณ์ว่ามีจำนวน135,726 คน  ซึ่งเด็กไม่มีสัญชาติไทยสามารถเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 73  ในปี 2558[2] แม้จะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับชาติที่ร้อยละ 99 ก็ตาม  นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ นำเสนอรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อค.ศ.2030ในระดับชาติโดยสมัครใจ ณ ที่ประชุมสหประชาชาติ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา[3] ระบุว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการจดทะเบียนการเกิด และเน้นย้ำนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงอัตลักษณ์ทางกฎหมาย และการมีเอกสารประจำตัวอย่างเท่าเทียม (Providing access to legal identity and documentation) เพื่อรับประกันสิทธิและการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆของรัฐ  

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จดทะเบียนการเกิดบุตรแรงงานข้ามชาติกลับมีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ หลังจากประกาศใช้ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทะเบียน    และบัตรประจำตัวของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงาน พ.ศ.2561  ลงวันที่ 29 มกราคม 2561[4]   โดยเฉพาะข้อ 6 วรรคสองที่ระบุว่า “...รายการที่อยู่ของคนต่างด้าวในทะเบียนประวัติ ให้นายทะเบียนลงเลขที่บ้านของบ้านนายจ้างหรือโรงงานหรือสถานที่ประกอบการที่คนต่างด้าวทำงานอยู่ หรือบ้านที่นายจ้างจัดให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ซึ่งต้องมีหนังสือแจ้งยืนยันจากนายจ้างเป็นหลักฐาน”

ข้อสังเกตประการที่หนึ่ง ความแตกต่างในการปฏิบัติต่อแรงงานที่มีเอกสารประจำตัว 2 กลุ่ม ซึ่งพิจารณาจากสถานะการเข้าเมืองของพ่อแม่ตามเอกสารประจำตัวขณะบุตรเกิด โดยแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยในราชอาณาจักรชั่วคราวเพื่อการทำงาน ผู้ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(ที่นิยมเรียกว่าบัตรสีชมพู)  กับแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่เข้าเมืองถูกกฎหมายถือเอกสารหนังสือรับรองสถานะบุคคล(Certificate of Identity : CI), เอกสารเดินทาง(Travel Document : TD) หรือหนังสือเดินทางธรรมดา (Permanent Passport:PP) เฉพาะแรงงานข้ามชาติกลุ่มมีบัตรสีชมพูสามารถใช้เลขประจำตัว 13 หลักแจ้งเกิดบุตรได้ทันที โดยไม่ต้องลงรายการเลขรหัสบ้าน(11หลัก) ต่างจากกลุ่มที่มีเอกสาร CI/ TD/PP ที่ต้องมีหนังสือยินยอมจากนายจ้างใช้ประกอบการแจ้งเกิดบุตรเสมอ  

  

นอกจากเอกสารประจำตัวของบิดามารดาในการแจ้งเกิดบุตร ต้องมีหนังสือยินยอมจากนายจ้างเพิ่มเติม

ปัญหาการจดทะเบียนการเกิดจึงยังเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมขึ้นจึงเป็นเรื่องอุปสรรคการแจ้งเกิดที่นายจ้างบางส่วนเข้าใจยินยอมมอบเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน แต่นายจ้างหลายรายปฏิเสธจัดทำเอกสารยินยอมและเอกสารส่วนบุคคล ด้วยเหตุผลความไม่เข้าใจในระบบทะเบียนประวัติของคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีพนักงานจำนวนมากบางแห่งที่ฝ่ายบุคคลเห็นว่าเป็นการสร้างภาระเรื่องงานเอกสาร บางแห่งพบความเคลื่อนไหวกดดันถึงขั้นจะให้แรงงานหญิงต้องกลับไปคลอดบุตรที่ประเทศต้นทาง ยังไม่นับรวมไปถึงปัญหาแรงงานหญิงที่คลอดบุตรที่แจ้งเกิดไม่ได้ เนื่องจากขาดหนังสือยินยอมของนายจ้าง จนกระทบเชื่อมโยงไปถึงการเบิกเงินค่าคลอดบุตรจากกองทุนประกันสังคมที่ต้องใช้สูติบัตรประกอบ จนถูกเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลของรัฐบางแห่งฝ่าฝืนพระราชกำหนดบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ยึดเอกสารประจำตัวเป็นประกันการชำระค่ารักษาพยาบาล ซึ่งผู้เขียนจะขอกล่าวถึงรายละเอียดในโอกาสต่อไป

ข้อสังเกตประการที่สอง ระเบียบฯดังกล่าวในข้อ 5 ระบุว่าให้กำหนดเลขประจำตัว13หลักเป็นประเภท 00 และข้อ 8 ให้ออกสูติบัตรตามแบบท.ร.03 อันเท่ากับเป็นการกลับหลักการจัดทำทะเบียนราษฎร(หนังสือที่ มท 0309.1/ว 8 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2553) โดยแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและเข้าเมืองถูกกฎหมาย ที่นายทะเบียนจะต้องรับแจ้งเกิดและออกสูติบัตรท.ร.3และกำหนดเลขประจำตัวประเภท 7    ทั้งนี้  ผู้เขียนเห็นว่าแท้จริงระเบียบดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนบันทึกข้อมูลลงในระบบให้บริการหนังสือรับรองการเกิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักบริหารการทะเบียน และเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือท้องถิ่น หากต้องการตรวจสอบที่พักอาศัยหรือการมีงานทำแรงงานข้ามชาติ สามารถเชื่อมโยงตรวจสอบข้อมูลที่อยู่และสถานประกอบการในใบอนุญาตทำงานของกรมการจัดหางาน หรือข้อมูลการแจ้งที่พักอาศัยของตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)ก็ย่อมได้  ดังนั้น ระเบียบดังกล่าวจึงควรเป็นสะพานที่เอื้ออำนวยให้บิดาหรือมารดาเป็นผู้แจ้งเกิดด้วยตนเอง  ไม่ใช่สร้างกำแพงกั้นแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศให้เข้าไม่ถึงการจดทะเบียนแจ้งเกิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร ในแง่ที่ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องมีความผิดและโทษตามกฎหมาย[5] หรือพึ่งพาขบวนการนายหน้าตัวแทน

ปัญหาแรงงานข้ามชาติหลายพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิดด้วยเหตุจากอุปสรรคการสื่อสารภาษา ความไม่เข้าใจกฎระเบียบปฏิบัติ ยังส่งผลไปถึงประเด็นการเบิกสิทธิประโยชน์ค่าคลอดบุตรจากกองทุนประกันสังคม ซึ่งแรงงานข้ามชาติในฐานะผู้ประกันตนส่งเงินสมทบร่วมกับนายจ้างและรัฐบาล จึงเรียกว่าเป็นภาษีพิเศษที่แรงงานข้ามชาติร่วมจ่าย  สูติบัตรจึงเป็นเอกสารสำคัญในการเบิกจ่ายเงินค่าคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์บุตร นอกจากนี้ หากไม่มีสูติบัตร ย่อมจะกระทบถึงเสรีภาพในการเดินทางของเด็กข้ามชาติเมื่อต้องเดินทางกลับไปประเทศต้นทาง ตลอดจนการมีสิทธิอาศัยในฐานะผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติในไทย ตลอดจนปัญหาการขาดฐานข้อมูลจำนวนเด็กข้ามชาติที่แท้จริง อันส่งผลต่อการจัดนโยบายการศึกษาถ้วนหน้า และการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมของไทย   ผู้เขียนจึงเสนอแนะให้ทบทวนแก้ไขระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ พ.ศ.2561 โดยเร็วในประเด็นการต้องมีเอกสารยินยอมจากนายจ้างและการกำหนดเลขประจำตัวของเด็กข้ามชาติ เพื่อลดความสับสน การตีความของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและรักษาสิทธิประโยชน์สูงสุดของเด็กตามกฎหมายตามที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นไว้นั่นเอง.

 

เชิงอรรถ

[1] วีนัส สีสุข และดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล แนวคิดพื้นฐานของการจดทะเบียนการเกิด : ทำไมรัฐไทยต้องจดทะเบียนการเกิดให้เด็กและอดีตเด็กที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับไทย? . 2553

[2] UNICEF Annual Report 2015

[3] Thailand's Voluntary National Review on the Implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development, มิถุนายน 2018

[4] http://www.bora.dopa.go.th/images/snbt/book/61/mt%2003091_v49.PDF

[5] มาตรา 47 กำหนดให้เจ้าบ้าน /บิดามารดามีหน้าที่แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน หากไม่ปฏิบัติตาม มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

เกี่ยวกับผู้เขียน: ภาคภูมิ แสวงคำ เป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขาสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา  มหาวิทยาลัยมหิดล
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท