สุรพศ ทวีศักดิ์: คนไทยส่วนใหญ่ยังมีความคิดแบบยุคมืดจริงหรือ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 “จงกล้าหาญใช้ความเข้าใจของตนเอง

Have courage to use your own understanding!”

อิมมานูเอล คานท์ กับคำขวัญยุครู้แจ้ง
ที่มา
http://braungardt.trialectics.com/philosophy/early-modern-philosophy-16th-18th-century-europe/kant/enlightenment/

 

 

ผมอ่านหนังสือ “การปฏิวัติประชาธิปไตยในอเมริกาและฝรั่งเศส คนไทยควรเรียนรู้อะไร?” ของวิทยากร เชียงกูลด้วยความสนใจใคร่รู้ วิทยากรวางเป้าหมายในการเขียนหนังสือเล่มนี้ในคำนำว่า “ต้องการจุดประกายความคิดชาวไทยในยุคปัจจุบันให้สนใจประเด็นว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่มีการเขียนรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง...” เขาสรุปผลการวิเคราะห์ในหนังสือเล่มนี้เพื่อกล่าวนำกับผู้อ่านตอนหนึ่งว่า

 

“ประชาชนในอเมริกาและยุโรปต้องผ่านการเรียนรู้และการต่อสู้มากมาย กว่าที่พวกเขาจะก้าวข้ามยุคมืดของความคิดเก่าแบบเชื่อโชคลางของขลัง ศรัทธายกย่อง ยำเกรงสถาบันกษัตริย์และองค์กรศาสนาคริสต์แบบรวมศูนย์ มีอำนาจเด็ดขาด ไปสู่ยุคแสงสว่างของการรู้จักคิดและเชื่อแบบมีเหตุผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในแนวประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมได้”

ผมคิดว่าใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์พัฒนาการทางปรัชญาความคิด และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของยุโรปที่มีอิทธิพลต่อโลกสมัยใหม่ ย่อมเห็นสอดคล้องกับการวิเคราะห์ข้างบน เพียงแต่อาจอธิบายให้เห็นความซับซ้อนแตกต่างกันไป

โดยภาพรวมของพัฒนาการทางปรัชญาความคิดของยุโรปหรือโลกตะวันตก มันเป็นผลของการปะทะขัดแย้งระหว่างศรัทธา (ศาสนา) กับเหตุผล (ปรัชญา + วิทยาศาสตร์แบบที่เป็นรากฐานของศาสตร์สมัยใหม่ทั้งปวง) การปะทะขัดแย้งในบางเรื่องก็ถึงขั้นแตกหัก บางเรื่องก็หาทางต่อรอง ประนีประนอม และ/หรือจำเป็นต้องวางหลัก “ความอดกลั้น” (tolerance) หรือการมีใจเปิดกว้าง ยอมรับ และเคารพความแตกต่างทางความคิดเห็น ความเชื่อทางศาสนาและอื่นๆ ที่ไม่อาจประนีประนอม หรือปรับจูนเข้าด้วยกันได้ (เช่นคุณไม่เห็นด้วยกับการ “ห้ามกินหมู” และไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อเช่นนั้นได้ ก็ต้องมีความอดกลั้นต่อความเชื่อเช่นนั้น ตราบที่ไม่มีการใช้ความเชื่อเช่นนั้นละเมิดสิทธิคนอื่น)
 

ประเด็นสำคัญคือ การปะทะระหว่างศรัทธากับเหตุผลไม่ได้ดำเนินไปอย่างเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ และผลแพ้-ชนะ ก็ตัดสินจากความเป็นจริงที่ว่าศรัทธาหรือเหตุผลเป็นฝ่ายครองอำนาจรัฐ เช่นยุคกลางเป็นยุคที่ศรัทธาเรืองอำนาจเหนือเหตุผล ไม่ได้มีความหมายเพียงในเชิงนามธรรมว่า ศรัทธาในพระเจ้าหรือศาสนาได้มอบสัจธรรม ความดี ความงาม ความยุติธรรม หรือประโยชน์สุขสูงสุดแก่มวลมนุษย์ แต่ที่สำคัญกว่าคือความหมายเชิงรูปธรรม นั่นคือ ศรัทธาหรือศาสนาได้ถือครองอำนาจรัฐผ่านศาสนจักรและระบบกษัตริย์ภายใต้การสถาปนาความเชื่อที่ว่า พระสันตะปาปาประมุขแห่งศาสนจักรและกษัตริย์ต่างใช้อำนาจ “เทวสิทธิ์” (Devine Rights) ในการปกครอง อันเป็นอำนาจเด็ดขาดในนามของพระเจ้าที่ไม่มีใครตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้

ประวัติศาสตร์ศาสนาของยุโรป จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องดัดจริต (เหมือนคนบางประเทศพูดถึงศาสนาพุทธ) ว่า “ศาสนาไม่เกี่ยวกับการเมือง” เพราะไม่ว่าศาสนานับถือเทพหลายองค์ (polytheism) หรือนับถือพระเจ้าองค์เดียว (monotheism) ล้วนมีความเป็นศาสนาการเมืองในตัวมันเองทั้งนั้น เพราะศาสนาไม่เพียงเสนอคำสอนเกี่ยวกับคุณค่าทางจิตวิญญาณ หรือสอนว่าอะไรถูก ผิดทางศีลธรรมเท่านั้น ศาสนายังสถาปนาระบบการปกครองและสถานะอำนาจของชนชั้นปกครอง พร้อมกับใช้อำนาจบังคับศรัทธาผ่านอำนาจรัฐและศาสนจักร
 

แท้จริงแล้ว ความคิดที่ว่า “ศาสนาไม่เกี่ยวกับการเมือง” เป็นความคิดสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อเหตุผลมีชัยเหนือศรัทธาหรือศาสนา ซึ่งเกิดจากการต่อสู้เพื่อหลุดพ้นจากยุคมืดภายใต้อำนาจศาสนจักรและระบบกษัตริย์ที่กินเวลายาวนานหลายร้อยปี ผ่านยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance), ยุครู้แจ้งหรือยุคทำให้สว่างด้วยเหตุผล (the Enlightenment/Age of Reason) ที่ส่งผลให้ปรัชญามนุษยนิยม,เสรีนิยม,วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้น เกิดแนวคิดฆราวาสนิยมหรือโลกวิสัย (secularism) และขบวนการทำให้เป็นโลกวิสัย (secularization) อันได้แก่ การนำหลักการโลกวิสัยคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ หลักเจตจำนงร่วมและความยินยอมของประชาชน หลักความมีเหตุผล ความเป็นวิทยาศาสตร์มาใช้เป็นรากฐานของการวางระบบการปกครองและระเบียบสาธารณะต่างๆ แทนที่หลักความเชื่อหรือปรัชญาการเมืองแบบศาสนาที่เคยใช้มาตลอดยุคกลาง

ที่ว่าเป็นชัยชนะของเหตุผล จึงหมายถึง การทำให้หลักเหตุผลทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ถือครองอำนาจรัฐ หรือทำให้อำนาจรัฐวางอยู่บนหลักเหตุผลอันเป็นหลักการโลกวิสัยแทนที่หลักศรัทธาหรือศาสนา จึงเกิดการแยกศาสนจักรจากสถาบันอำนาจรัฐ-การเมือง เรื่องสาธารณะทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง การบัญญัติกฎหมาย การศึกษา ศิลปะ และอื่นๆ เป็นเรื่องที่ต้องจัดการหรือดำเนินการไปบนหลักการโลกวิสัย ห้ามการอ้างอิงความเชื่อทางศาสนาหรืออำนาจศาสนจักรมาบังคับ ครอบงำ กีดกัน และล่าแม่มดแบบที่เคยมีมาในยุคกลาง
 

ในยุคมืดและการต่อสู้ที่ยาวนานกว่าที่เหตุผลจะชนะอำนาจครอบงำกดขี่ของศาสนานั้น ยุโรปหรือโลกตะวันตกผ่านสงครามและการสูญเสียมหาศาล แต่แกนกลางของชัยชนะเชิงความคิดและอุดมการณ์ที่ทำให้สังคมตะวันตกสมัยใหม่มีเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ย่อมเป็นดังที่วิทยากรสรุปไว้ในหนังสือที่อ้างถึงข้างต้นว่า

“นักคิดแนวใหม่เชื่อว่า เมื่อมนุษย์สามารถเข้าใจกฎของธรรมชาติ รวมทั้งกฎของสังคมอย่างมีเหตุผลมากขึ้น มนุษย์ย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมนุษย์และสังคมให้เจริญก้าวหน้าได้ด้วยตัวมนุษย์เอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพระเจ้าหรือกษัตริย์ผู้มีอำนาจแบบทรราชอีกต่อไป” (หน้า 80)

พูดสั้นๆ คือ โลกตะวันตกสร้างระบอบเสรีประชาธิปไตยขึ้นมาได้ เพราะเขาใช้อุดมคติแบบยุครู้แจ้ง อันได้แก่ หลักการโลกวิสัย คือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นแรงบันดาลใจในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองล้มระบบกษัตริย์ทรราชและอำนาจศาสนจักรลงไปได้ บางประเทศที่ยังมีสถาบันกษัตริย์อยู่ก็เป็นสถาบันกษัตริย์ที่มีอำนาจจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ที่ประชาชนมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบได้ ส่วนองค์กรศาสนาก็แยกจากรัฐเป็นเอกชน และรัฐก็ให้หลักประกันเสรีภาพทางศาสนา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเขียนถึงสังคมไทย วิทยากรตั้งข้อสังเกตว่า

“...ถึงคนไทยในยุคนี้จะแต่งตัวหรือใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตก มีโทรทัศน์ สมาร์ทโฟน ต่ออินเตอร์เน็ตรับข้อมูลข่าวสารได้ (ราว 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากร) แต่ในแง่ความคิดความเชื่อ คนไทยส่วนใหญ่หรือจำนวนมาก ยังคงมีความคิดความเชื่อหลายอย่างเหมือนประชาชนยุโรปในยุคมืดหรือยุคความเชื่อแบบงมงายเมื่อ 400-500 กว่าปีที่แล้ว ยังก้าวไปไม่ถึงยุคทำให้โลกสว่างด้วยเหตุผลของยุโรปในศตวรรษที่ 18 เลยด้วยซ้ำ”

ประเด็นคือ ถ้า “คนไทยส่วนใหญ่” ยังคงมีความคิดความเชื่อหลายอย่างเหมือนประชาชนยุโรปในยุคมืด ยังก้าวไปไม่ถึงยุคทำให้โลกสว่างด้วยเหตุผลของยุโรปในศตวรรษที่ 18 เลยด้วยซ้ำ รากฐานของปัญหาเกิดจากอะไร ดูเหมือนวิทยากรไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่า เกิดจากอำนาจครอบงำของระบบกษัตริย์และศาสนจักรเหมือนที่พูดถึงยุโรปยุคมืด

แน่นอนว่า ใครที่ศึกษาปัญหายุโรปยุคมืด ย่อมจะไม่กล่าวโทษ “คนส่วนใหญ่” ว่ามีความคิดความเชื่องมงายและอื่นๆ เพราะต่างก็รู้กันทั้งนั้นว่า อำนาจเผด็จการของศาสนจักรและระบบกษัตริย์ที่ปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็น และปราบปราม ล่าแม่มดนักคิดและสามัญชนผู้เห็นต่างอย่างโหดร้ายต่างหากที่ทำให้เกิดยุคมืด

หากมองอย่างวิพากษ์ โลกตะวันตกไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยและมีสิทธิมนุษยชนก้าวหน้าขึ้นมาได้เพียงพระมีนักคิด นักปรัชญา และวีรบุรุษนักปฏิวัติที่เรืองนาม แต่เกิดจากการลุกขึ้นสู้ของสามัญชนนิรนามจำนวนมาก เช่นในสงครามปฏิวัติอเมริกา มีทาสชาวแอฟริกันจำนวนมากสมัครเป็นทหารอาสาร่วมสู้รบกับกองทัพกษัตริย์อังกฤษเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนขาว ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ถูกนับว่าเป็น “มนุษย์ที่มีสิทธิ เสรีภาพเท่าเทียมกับคนขาว” หลังปฏิวัติอเมริกาก็มีการต่อสู้อย่างยาวนานจึงเกิดการเลิกระบบทาส เลิกระบบทาสแล้วก็ยังต่อสู้เพื่อยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวอีกยาวนานเช่นกัน ขณะที่การปฏิวัติฝรั่งเศสบรรดาผู้หญิงลุกขึ้นร่วมต่อสู้อย่างเอาชีวิตเข้าแลก ทั้งๆ ที่ในเวลานั้นแม้แต่บรรดานักคิดเสรีนิยมเองไม่นับผู้หญิงเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมผู้ชายด้วยซ้ำ ผู้หญิงต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าที่จะต่อสู้จนได้สิทธิเลือกตั้งและสิทธิอื่นๆ ตามมา

คนไทยส่วนใหญ่ยังคิดและเชื่อแบบยุคมืดจริงหรือ? ผมไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น หากพิจารณาจากเค้าความคิดยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการและยุครู้แจ้งที่เริ่มปรากฏในสยาม เราอาจเห็นเค้าจากความคิดของสามัญชนอย่าง “เทียนวรรณ” ที่มีชีวิตอยู่ในสมัย ร.4- ร.6 เห็นได้จากเขาอ้างเสรีภาพเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการเลิกทาส และเห็นได้จากความคิดของกลุ่มคนหัวก้าวหน้าที่ก่อกบฏ ร.ศ.130 เป็นต้น แต่อุดมคติยุครู้แจ้งคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์ ได้ถูกนำมาใช้ในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างเป็นรูปธรรม เห็นได้จากเนื้อหาในประกาศคณะราษฎร (ฉบับที่ 1) ในการปฏิวัติสยาม 2475

แต่หลัง 2475 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันก็คือการต่อสู้ระหว่าง “ความคิดเก่า” ที่เป็นความคิดแบบยุดกลางผสมผสาน (หรือ “ยำเข้ากัน”) กับความคิดสมัยใหม่เฉพาะส่วนที่เอื้อประโยชน์ต่อเครือข่ายชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม และ “ความคิดใหม่” คืออุดมคติแบบยุครู้แจ้งที่พัฒนาคลี่คลายเป็นเสรีนิยมซับซ้อนขึ้นและสังคมนิยมในโลกสมัยใหม่ ผลก็คือ ฝ่ายนำของความคิดใหม่ถูกปราบปรามมาโดยตลอด นับแต่เทียนวรรณถูกขังคุกลืม 16 ปี เรื่อยมาถึงปรีดี พนมยงค์ นักการเมือง ปัญญาชนฝ่ายซ้ายทีมีทั้งหนีไปตายในต่างประเทศ ติดคุก และถูกฆ่าตายในป่า รวมทั้งนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากที่ถูกล้อมฆ่ากลางเมืองหลวงในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่อต้านเผด็จการ (ฝ่ายความคิดเก่า) หลายครั้งจนปัจจุบัน

ที่น่าแปลกใจคือ เมื่อกล่าวถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบัน วิทยากรไม่ได้กล่าวถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดงเลย แต่กล่าวถึงการชุมนุมของ กปปส.ไว้ว่า

“ใน ค.ศ.2014 (3 ปีที่แล้ว) เกิดกระแสการต่อต้านรัฐบาลที่รวบอำนาจ/ทุจริตฉ้อฉลที่ทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลอย่างน้อย 5-6 ล้านคน แต่เป็นกระแสประท้วงทางการเมืองแบบเฉพาะกิจ เฉพาะเรื่อง ที่เหมือนไฟไหม้ฟางระยะสั้น กลุ่มประท้วงรัฐบาลไม่มีแนวคิดเชิงปฏิรูปประเทศอย่างชัดเจน หลังจากที่ฝ่ายทหารใช้สถานการณ์ประท้วงและการที่ฝ่ายรัฐบาลตอบโต้การประท้วงอย่างรุนแรงเป็นโอกาสยึดอำนาจปฏิวัติรัฐบาลเสียเอง...” (หน้า 215)
 

คำถามคือ ตัวเลขประชาชนออกมาชุมนุมประท้วง “5-6 ล้านคน” อ้างอิงจากไหน? และจริงหรือที่ว่ารัฐบาลรักษาการเวลานั้นที่ประกาศยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งใหม่แล้วได้ “ตอบโต้กลุ่มผู้ประท้วงอย่างรุนแรง” จนเป็นเหตุให้ทหารอ้างทำรัฐประหารได้ ข้อความข้างต้นที่ขาดการวิเคราะห์ให้เห็นความซับซ้อนของปัญหาตามเป็นจริงและการกล่าวเกินจริง ย่อมสะท้อน “ปัญหาบทบาทของนักวิชาการ/ปัญญาชน” ตามที่วิทยากรวิจารณ์ไว้หลายที่เสียเอง

อีกอย่างวาทกรรม “ปฏิรูปประเทศ” ที่เคยใช้มาในสยามประเทศ ตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนปัจจุบัน มันคือข้ออ้างหลักเพื่อ “กระชับอำนาจ” ของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมเท่านั้น ความคิดการปฏิรูปประเทศของ กปปส.ก็ถูกนำมาอ้างอิงใช้โดย คสช. และแกนนำสำคัญของ กปปส.เองก็มารวมตัวตั้งพรรคการเมืองสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.อย่างที่เห็น
 

หากจะเปรียบเทียบอย่างหยาบๆ (ไม่ละเอียด) ก็พอจะพูดได้กว้างๆ ว่า การปฏิรูปเพื่อกระชับอำนาจ/สืบทอดอำนาจเผด็จการดังกล่าวนั่นแหละคือความคิดแบบยุดมืด หรือความคิดที่ตรงข้ามกับความคิดยุครู้แจ้งและเสรีประชาธิปไตย ซึ่งมันไม่ใช่ความคิดของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย แต่เป็นความคิดของอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยที่มีอำนาจปืนกดหัวประชาชน และพยายามบังคับยัดเยียดความคิด อุดมการณ์ที่ตกทอดมาจากยุคเก่าผ่านระบบการศึกษาของรัฐมายาวนาน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท