Skip to main content
sharethis

มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศผ่านการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าจะไม่สนับสนุนอองซานซูจีในฐานะผู้นำพม่าอีกต่อไป เนื่องจากผิดหวังที่ซูจีไม่แสดงออกต่อต้านการกระทำของกองทัพต่อชาวโรฮิงญา ซึ่งเมื่อไม่นานนี้สหประชาชาติเคยทำการสืบสวนระบุว่ากองทัพพม่ามี "เจตนาในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"

มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียวัย 93 ปี (ที่มา: แฟ้มภาพ/facebook.com/TunDrMahathir) และอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ของรัฐบาลพม่าที่นำโดยพรรคเอ็นแอลดี (ที่มา: แฟ้มภาพ/Wikipedia)

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของมาเลเซียประกาศผ่านการให้สัมภาษณ์ต่อช่องโทรทัศน์ข่าวต่างประเทศ TRT World ว่าเขาจะไม่สนับสนุนอองซานซูจีในฐานะผู้นำของพม่าอีกต่อไป เนื่องจากปฏิกิริยาของเธอต่อกรณีชาวโรฮิงญาทำให้เขามองว่าซูจีเปลี่ยนไปแล้ว

มหาธีร์ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าเขาหมดศรัทธาในตัวซูจีแล้วเนื่องจากเธอไม่ได้พูดหรือกระทำการใดๆ ต่อกรณีที่กองทัพพม่าใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาเลยทั้งที่ก่อนหน้านี้มาเลเซียเคยเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวซูจีในช่วงที่เธอถูกคุมขังภายในบ้าน

อนุสรณ์ อุณโณ: ภาคสนามและ 'เรื่องเล่า' จากรถเข็นโรตีโรฮิงญาชายแดนใต้, 26 พ.ค. 2558

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังบอกอีกว่าเขาเคยเขียนจดหมายถึงซูจีเมื่อไม่นานนี้แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับซึ่งถือเป็นเรื่องน่าผิดหวังมาก นอกจากนี้มาเลเซียยังวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติของรัฐบาลพม่าต่อชาวโรฮิงญาให้โลกรู้ รวมถึงการรับชาวโรฮิงญาเข้ามาในมาเลเซียจำนวนมากด้วย

สิ่งที่มหาธีร์กล่าวถึงคือเหตุการณ์ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ที่กองทัพพม่าใช้กำลังสังหารหมู่ ข่มขืน และเผาบ้านเรือนชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา โดยที่มหาธีร์เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพม่าที่เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นซึ่งสหประชาชาติระบุว่ากองทัพมี "เจตนาในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"

และเมื่อไม่นานนี้ในวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา มหาธีร์ก็เพิ่งจะพูดถึงเรื่องของชาวโรฮิงญาในที่ประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก

รายงานสหรัฐฯ เผยทหารพม่าทารุณต่อโรฮิงญาในวงกว้าง ผบ.ทสส.พม่าขออย่าแทรกแซง, 26 ก.ย. 2561

คุยกับผู้กำกับหนังรางวัลที่เวนิส 'กระเบนราหู' แด่โรฮิงญา ผู้ลี้ภัยที่ไม่อาจเอ่ยเสียง, 18 ก.ย. 2561

ศาลอาญาระหว่างประเทศจะสอบสวนพม่ากวาดล้างโรฮิงญา, 7 ก.ย. 2561

พม่าจำคุก 7 ปี 2 นักข่าวรอยเตอร์เปิดโปงสังหารหมู่โรฮิงญา, 3 ก.ย. 2561

5 เรื่องควรรู้หลังยูเอ็นจัดหนักพม่าด้วยรายงานที่ดุดันในกรณีโรฮิงญา, 29 ส.ค. 2561

สื่อมาเลเซียตีข่าวจับรถบัสค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยา-ปลายทางชายแดนไทย-มาเลเซีย, 20 พ.ค. 2561

ก่อนหน้านี้สหประชาชาติเคยส่งผู้ตรวจการเข้าไปสืบสวนกรณีการสังหารหมู่และรุมข่มขืนชาวโรฮิงญา และระบุในรายงานการสืบสวนว่าควรจะมีการดำเนินคดีกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดและนายพลอีก 5 คนภายใต้กฎหมายนานาชาติ

อองซานซูจีในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ ของรัฐบาลพม่า เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาก่อนหน้านี้แล้วจากการที่เธอไม่พูดต่อต้านการกระทำต่อชาวโรฮิงญาโดยกองทัพ เธอเคยพูดอย่างอ้อมแอ้มว่ารัฐบาลพม่า "ควรจะจัดการได้ดีกว่านี้" ในกรณีโรฮิงญา นอกจากนี้ยังเคยมีการเรียกร้องให้มีการยกเลิกรางวัลโนเบลที่เธอเคยได้รับในปี 2534 ส่วนประเทศแคนาดาก็เพิกถอนสถานะพลเมืองกิตติมศักดิ์ของซูจีจากกรณีนี้

สื่อมาเลเซียระบุอีกว่าในประเทศพม่าที่มีชาวพุทธอาศัยอยู่จำนวนมากมีการมองเรื่องโรฮิงญาผ่านมุมมองในแบบที่ผสมปนเปกับความรู้สึกเรื่องชาติพันธุ์และศาสนาซึ่งแย่ลงกว่าเดิมหลังจากมีการปรับการศึกษา "ประวัติศาสตร์ของประเทศ" แบบใหม่ โดยเป็นมุมมองที่ได้รับอิทธิพลจากโวหารแบบที่หวาดระแวงในตัวชาวมุสลิมทำให้ผู้คนบางกลุ่มมองว่าปฏิบัติการสังหารพลเรือนชาวโรฮิงญาเป็นปฏิบัติการต่อ "ผู้ก่อการร้าย"

เรียบเรียงจาก
Malaysia will no longer support Aung San Suu Kyi says Dr M,
The Star, 30-09-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net