Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คำตอบสั้นๆ คือ “ไม่เชิง” ดังนั้นเหตุใดประเทศจีนจึงอ้างว่าตนเป็นประชาธิปไตย ? มีสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบจีนๆ ด้วยหรือ และ “ประชาธิปไตยสังคมนิยม” ของจีนนั้นเป็นประชาธิปไตยจริงๆ หรือไม่ ?

จีนเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ? เพื่อตอบคำถาม ที่แรกซึ่งเราต้องเริ่มต้นก็คือพจนานุกรมซึ่งคุณสามารถพบนิยามของประชาธิปไตยตามแบบหนังสือเรียนได้

ไม่ว่าพจนานุกรมเล่มไหนที่คุณหยิบขึ้นมา คุณมีแนวโน้มจะพบคำว่าประชาธิปไตยที่ถูกนิยามอย่างหลวมๆ ว่าเป็นระบบการปกครองโดยสมาชิกทั้งหมดของรัฐ ประเทศซึ่งถูกปกครองภายใต้ระบอบเช่นนั้นถูกเรียกว่าเป็นประชาธิปไตย

นิยามของประชาธิปไตยนั้นค่อนข้างหยุมหยิม แต่มีสิ่งหนึ่งซึ่งเรารู้แน่ๆ ว่า จีนต้องการมันอย่างเป็นทางการ

ในรัฐธรรมนูญและสุนทรพจน์ของบรรดาผู้นำจีน คำว่า “เผด็จการประชาธิปไตยของประชาชน” และ “ประชาธิปไตย” ถูกยกขึ้นมาในฐานะเป้าหมาย 

แต่นี้ไม่ใช่เพียงประชาธิปไตยแบบใดเลย

ครั้งแล้วครั้งเล่า จีนอ้างว่าตนไม่ต้องการจะ “ลอกเลียน” ระบบพรรคการเมืองของประเทศอื่น

ผู้นำจีนทั้งหลายระบุประเภทของประชาธิปไตยที่ตนแสวงหาในฐานะเป็น “ประชาธิปไตยสังคมนิยม” พวกเขาบรรยายมันว่าเป็นระบบซึ่งอำนาจถูกรวมศูนย์ไปยังกลุ่มอำนาจกลุ่มหนึ่งนั่นคือ พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนซึ่งดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นการตอบแทน

ทางพรรคเชื่อว่าตนเป็นตัวแทนของเจตจำนงประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น พรรคจึงเข้าใจในบทบาทตนว่าเป็นตัวแทนของประชาชนและเป็นรูปแบบหนึ่งของประชาธิปไตย เจสสิกา ซี ทีตส์ รองศาสตราจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ที่วิทยาลัยมิดเดิลเบอร์รีบอกกับทางอิงค์สโตน

“ปัญหาต่อแนวคิดการเป็นตัวแทนก็คือประชาชนไม่มีทางจะเลือกตัวแทน “ที่แท้จริง” ของพวกเขาได้” ทิตส์กล่าวไว้

เพื่อจะเข้าใจว่า “ประชาธิปไตยสังคมนิยม” แตกต่างจากประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบโลกตะวันตกอย่างไร ลองมาดูพรรคประชาธิปไตยแห่งประเทศจีนซึ่งตั้งอยู่แถบฟลาชิ่ง มหานครนิวยอร์กบ้าง

พรรคการเมืองที่ไม่ธรรมดา

โฉมหน้าเว็บไซต์ของทางพรรคดูจะเชยๆ แต่ทุกสิ่งที่คุณต้องการทราบเกี่ยวกับพรรคโนเนมอยู่ในนั้น

เพื่อเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปไตยแห่งประเทศจีน ผู้สมัครต้องสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อพรรคและประกาศเจตจำนงจะสร้างจีนซึ่งให้ความสำคัญต่อรัฐธรรมนูญและเป็นประชาธิปไตย จากนั้นคุณก็ส่งคำสาบานไปยังประธานของพรรคคือ เซี่ย วานจุน ทางอีเมล

มันเป็นกลุ่มทางการเมืองกลุ่มแรกซึ่งพยายามแล้วก็ล้มเหลวในการลงทะเบียนเป็นพรรคฝ่ายค้านของจีนนับตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นสู่อำนาจในปี 1949 

ทุกวันนี้ ทางพรรคและเว็บไซต์ย้อนยุคคือตัวอย่างของขีดจำกัดในรูปแบบ “ประชาธิปไตยสังคมนิยม” ตามคำประกาศตัวเองของจีน

พรรคถูกจัดตั้งในช่วงที่อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตันเดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการในปี 1998 อันเป็นเวลาที่บรรยากาศทางการเมืองผ่อนคลายการกดขี่ลง

แต่พรรคก็ถูกประกาศให้เป็นพรรคผิดกฎหมายในหลายเดือนต่อมา และทางตำรวจของจีนก็ได้ติดตามและนำสมาชิกพรรคซึ่งดำเนินกิจกรรมบางคนเข้าคุก

สมาชิกผู้ก่อตั้งบางคนของพรรคอย่างเซี่ย วานจุนหลบหนีจากประเทศจีนมายังสหรัฐอเมริกาและมาตั้งรกรากในย่านที่มีคนพูดภาษาจีนกลางขนาดใหญ่แถบฟลาชิ่ง เขตควีนส์

ระบบหลายพรรคการเมืองของจีน

การปราบปรามพรรคประชาธิปไตยแห่งประเทศจีนยังสะท้อนถึงธรรมชาติของรัฐที่มีระบอบหลายพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ

จีนมีพรรคการเมืองซึ่งถูกกฎหมายอยู่ 8 พรรค รวมไปถึงสมาพันธ์ประชาธิปไตยแห่งประเทศจีน และสมาคมการก่อสร้างแห่งชาติประชาธิปไตยแห่งประเทศจีน

แต่ไม่เหมือนกับบรรดาพรรคการเมืองในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก ไม่มีพรรคการเมืองใดในจีนได้รับอนุญาตให้ท้าทายอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคถูกกฎหมาย 8 พรรคและพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเป็นทางการคือหนึ่งในการร่วมมือกันไม่ใช่การแข่งขันกัน

และนักสังเกตการณ์จำนวนมากต่างเห็นว่านี่เป็นเส้นตายซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนขีดไว้ไม่ว่าพรรคกล่าวว่าได้พยายามพัฒนาประเทศให้เป็นประชาธิปไตยแค่ไหนก็ตาม

การขาดกระบวนการไม่ให้ประชาชนเลือกอะไรเลยนอกจากพรรคคอมมิวนิสต์ให้เป็นพรรคปกครองประเทศเช่นนี้คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ว่าทำไมนักรัฐศาสตร์และองค์กรสิทธิมนุษยชนเกือบทั้งหมดไม่ถือว่าจีนถูกปกครองโดยประชาธิปไตย

ริชาร์ด แม็คเกรเกอร์ ผู้เขียนหนังสือชื่อ “พรรคการเมือง” และนักวิชาการอาวุโสที่สถาบันโลวลีย์กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่จีนปฏิเสธประชาธิปไตยตามแบบตะวันตกก็คือระบบคู่แข่งต่อการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์

“ซีซีพีมักกลัวว่าตนจะถูกลดทอนอำนาจโดยการเกิดขึ้นของประชาธิปไตยที่แท้จริงในจีน” เขากล่าวกับทางอิงค์สโตนโดยใช้อักษรย่อของพรรค
 
“จีนอ้างว่ามันเป็นประชาธิปไตยจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ อย่างเช่นวาทกรรมของเหมาและของทางพรรคที่มักอ้างว่าการปกครองของตนเป็นประชาธิปไตย” เเม็คเกรเกอร์กล่าว “แต่คุณต้องใช้พจนานุกรมคนละเล่มกัน ถ้าคุณกำลังหานิยามของประชาธิปไตยแบบจีนและแบบตะวันตก”

สภาตรายาง (rubber stamp)

ในกรณีของโครงสร้างทางการเมือง รัฐบาลจีนมีองค์ประกอบสำคัญมากมายเช่น 

ฝ่ายบริหาร-สภาแห่งรัฐ (State Council)

ฝ่ายนิติบัญญัติ – สภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress) ซึ่งได้รับการปรึกษาโดยสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของจีน (Chinese People’s Political Consultative Conference) 

ฝ่ายตุลาการ

ในเชิงปฏิบัติ รัฐบาลดำรงคู่ไปกับพรรคคอมมิวนิสต์และต้องเชื่อฟังพรรค

ยกตัวอย่างเช่น สภาประชาชนแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 3,000 คน ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมดเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ กลุ่มดังกล่าวต้องรับผิดชอบในการออกกฎหมายและดูแลควบคุมรัฐบาล แต่ในทางความเป็นจริง มันถูกครอบงำโดยพรรค

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเรียกสภาประชาชนแห่งชาติว่าเป็น “สภาตรายาง” โดยยกข้อเท็จจริงที่ว่ามันไม่เคยลงมติปฏิเสธสิ่งที่นำเสนอโดยพรรคหรือรัฐบาลนับตั้งแต่ถูกก่อตั้งในปี 1954 นี้ไม่ใช่จะบอกว่าทางสภานั้นไร้สาระหรือไม่สามารถเจริญก้าวหน้าได้อย่างสิ้นเชิง

ลายครั้งในประเด็นไม่ล่อแหลมการเมืองเท่าไรนัก อย่างสิทธิสัตว์หรือการปกป้องสิ่งแวดล้อม ตัวแทนของสภาสามารถเสนอความเห็นได้อย่างหลากหลาย 

ระนั้นมีความกระจ่างที่ว่าในปี 1992 ตัวแทนกว่า 1 ใน 3 ลงมติปฏิเสธหรืองดออกเสียงต่อโครงการสร้างเขื่อนซานเสียต้าป้า แม้จะมีการแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่โครงการก็ผ่านและเขื่อนถูกสร้างไปในที่สุด 

ประชาธิปไตยภายในพรรค (Intra-party democracy) ?

โดยมากในประเทศพัฒนาแล้ว (จีนไม่จัดว่าอยู่ในกลุ่มนี้) การแข่งขันแบบหลายพรรคการเมืองเป็นลักษณะอันโดดเด่นของประชาธิปไตย แต่จีนมีบางสิ่งซึ่งถูกเรียกว่ากระบวนการประชาธิปไตยภายในตัวพรรคเอง

สี จิ้นผิงเคยให้คำสัญญากับพรรคคอมมิวนิสต์ว่าจะ “ขยายประชาธิปไตยภายในพรรค” โดยเน้นย้ำว่าควรมีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจอย่างเป็นรูปธรรมภายในพรรค

แนวคิดเรื่อง ภาวะผู้นำรวมหมู่ (collective leadership) กลายเป็นลักษณะหนึ่งของพรรคนับตั้งแต่เติ้ง เสี่ยวผิงรับมันมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดจอมเผด็จการอย่างเช่นเหมาขึ้นอีก

แต่แนวคิดนี้ก็สุ่มเสี่ยงจะถูกกลับหัวกลับหางภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสี

ในวาระแรกของการมีอำนาจเมื่อปี 2016 สีถูกยกให้มีสถานะเช่นเดียวกับเติ้งผู้ล่วงลับไปแล้วแม้จะไม่ถึงขนาดเหมา และสียังมีอำนาจมั่นคงภายในพรรคในฐานะเป็นผู้นำ “แกนหลัก”

และภายหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์เสนอให้มีการยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่นำโดยพรรค ประธานาธิบดีสีก็สามารถอยู่ในตำแหน่งไปอย่างไม่มีวาระจำกัด

นักวิเคราะห์กล่าวว่าการยกเลิกวาระส่งสัญญาณถึงจุดจบของพัฒนาการของจีนไปยังภาวะผู้นำแบบรวมหมู่ภายหลังนโยบายที่ส่งผลหายนะของเหมาในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์จึงเชื่อว่าแม้ประชาธิปไตยภายในพรรคจะถูกต้องชอบธรรมแต่มันได้หดตัวลง หาได้ขยายไม่

ภาระรับผิดชอบโดยปราศจากประชาธิปไตย

กระนั้น ไม่ว่าประชาธิปไตยจีนจะเปรียบกับประชาธิปไตยแบบตะวันตกได้หรือไม่ มีบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับข้ออ้างของทางการจีนซึ่งฟังดูขัดแย้งในตัวเอง

ในขณะยอมรับความต้องการของประชาชนต่อประชาธิปไตยตามสุนทรพจน์อันยาวเหยียดในปี 2017 ประธานสี จิ้นผิงได้กล่าวว่าจีนนั้นดำเนินตามทั้ง “แนวคิดรวมศูนย์อำนาจซึ่งอิงกับประชาธิปไตยและประชาธิปไตยซึ่งถูกชี้นำโดยลัทธิรวมศูนย์อำนาจ” 

แต่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับส่วนของประชาธิปไตยตามสูตรนั้นเหล่า ?

รัฐบาลจีนไม่ได้ถูกเลือกตั้งโดยตรง แต่มันได้ให้มีการเลือกตั้งในระดับล่างกว่าของประเทศที่ปกครองโดยพรรคการเมืองเดียวเป็นต้น

“แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะผูกขาดอำนาจทางการเมือง แต่ในระดับการนำนโยบายมาใช้ สามารถตั้งอยู่บนการกระจายอำนาจและแปรผันตามส่วนต่างๆ ของประเทศ” จากคำพูดของเคลลี เอส ไช่ คณบดีและศาสตราจารย์อาวุโสของคณะมนุษย์และสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของฮ่องกง

“มีประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้งในระดับหนึ่งของการเลือกคณะกรรมการประจำหมู่บ้านซึ่งการรับผู้สมัครเปิดกว้างและหลากหลาย นั่นคือรวมไปถึงบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์” เธอได้กล่าวกับอิงค์สโตน

นั่นคือ การเลือกตั้งท้องถิ่นระดับล่างเช่นนั้นในจีนไม่ได้จำเป็นต้องนำไปสู่การเลือกตั้งเชิงแข่งขันกันในระดับบนซึ่งเราพบเห็นในประเทศประชาธิปไตยแบบตะวันตก

“หากเราคิดถึงระยะสั้นๆ ประชาธิปไตยแบบอเมริกันในปัจจุบันดูลดถอยการเป็นต้นแบบอย่างที่เคยเป็นมา ในทางกลับกันเรากลับมีรูปแบบที่ ‘วุ่นวายและขัดแย้ง’ ดังที่เจมส์ เมดิสันได้กล่าวไว้” เดวิด สตาซาเวช ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กอ้างถึงแนวคิดประชาธิปไตยของหนึ่งในกลุ่มบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ 

“แถมศักยภาพทางเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่ของจีนในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นการยากที่จะเข้าใจว่าเหตุใดคุณจึงต้องการเปลี่ยนแปลงต้นแบบของคุณอย่างกระทันหัน” สตาซาเวช ผู้เขียนหนังสือที่กำลังจะวางแผงคือ “การพุ่งทะยานของประชาธิปไตยแบบตะวันตก : เหตุใดจึงเกิดขึ้นในยุโรปและไม่ใช่ในจีนหรือตะวันออกกลาง” กล่าวกับอิงค์สโตน

แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าจีนไม่สามารถปรับปรุงการปกครองของตน โดยทำให้ประชาชนมีความสุขโดยปราศจากการให้อำนาจโดยตรงแก่พวกเขาในการปกครอง

ทิตส์จากวิทยาลัยมิดเดิลเบอร์รีกล่าวว่าถึงแม้จีนไม่ได้กลายเป็นประชาธิปไตยได้อีกต่อไป เพราะการถ่ายโอนอำนาจมากขึ้นจากรัฐที่ถูกครอบงำโดยพรรคไปยังประชาชนเป็นเรื่องน่ากังวล ประเทศจีนนั้น “ได้รับการบริหารอย่างดี”

“จีนกำลังรับเอารูปแบบการปกครองแบบกึ่งประชาธิปไตยในการอนุญาตให้ประชาชนมีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐ ฟ้องร้องในศาลและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารงานของข้าราชการในท้องถิ่น” ทิตส์กล่าว เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการบริหารงานในรัฐเผด็จการและเป็นผู้เขียนหนังสือ “ประชาสังคมภายในการปกครองเผด็จการ : ต้นแบบจีน”

 “เมื่อท้องถิ่นทดลองกับนโยบายต่างๆ” เธอกล่าว “ก็จะเป็นเวลาที่คุณได้เห็นผู้นำของจีนเรียนรู้จากประชาชนและองค์กรธุรกิจว่านโยบายใดใช้ได้และจะทำอย่างไรให้ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอจากนโยบาย”

ระเบียบโลกแบบจีน

อิทธิพลทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ถดถอยลง แต่กลับมาแกร่งอีกครั้งในยุคของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

สิ่งนี้พาจีนดำเนินไปบนทางอันแตกต่างจากที่นักการเมืองและนักปราชญ์ตะวันตกได้ทำนายไว้เมื่อไม่นานมานี้ เมื่อจีนเริ่มต้นกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจดังในปัจจุบัน

ในหนังสือปี 1992 อันโด่งดัง คือ “จุดสุดท้ายของประวัติศาสตร์และมนุษย์คนสุดท้าย” นักรัฐศาสตร์คือฟรานซิส ฟุกุยามาอ้างว่าประชาธิปไตยเสรีนิยมได้รับชัยชนะในฐานะรูปแบบการปกครองเหนือคู่แข่งทางอุดมการณ์อื่นๆ 

เมื่อจีนรวยยิ่งขึ้น นักวิเคราะห์ทางการเมืองบางคนทำนายว่าประเทศจะหันมายังแนวคิดเสรีนิยมเช่นให้คุณค่าแก่เสรีภาพ นิติรัฐและสิทธิปัจเจกชนและการเปิดกว้าง
 
แต่คำทำนายเช่นนั้นต้องหยุดชะงัก

ในฐานะผู้นำจีนที่ทรงอิทธิพลที่สุดนับตั้งแต่เติ้ง เสี่ยวผิงหรือแม้แต่เหมา เจ๋อตง สีได้ยกระดับอำนาจของพรรคเหนือทุกด้านของสังคมจีน

“รัฐบาล กองทัพ สังคมและโรงเรียน ตะวันออก ตะวันตก ใต้ เหนือและกลาง -พรรคนำทุกสิ่ง” สีได้กล่าวในสุนทรพจน์ครั้งยิ่งใหญ่ต่อการประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 2017

ถ้าจีนประสบความสำเร็จในยุคของสี ต้นแบบนี้สามารถเป็นตัวอย่างของการปกครองเผด็จการอำนาจนิยมสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ได้เรียนรู้หรือลอกเลียนแบบ

นั้นหมายความว่าไม่ใช่เฉพาะจีนไม่กลายเป็นเสรี แต่การปกครองแบบเผด็จการของจีน ไม่ว่ามันจะพยายามเรียกเสียใหม่ว่าอย่างไร บัดนี้ได้รับการมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อค่านิยมแบบเสรีนิยม  

เควิน รัดด์ อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้เตือนในปี 2012 ถึงการอุบัติขึ้นของระเบียบโลกและภูมิภาคใหม่ซึ่งดูอันตรายต่อคุณค่าแบบตะวันตก  

เขาเห็นว่าควรจัดการอย่างไรกับการอุบัติขึ้นของจีน ในฐานะ “คำถามสำคัญสำหรับครึ่งแรกของศตวรรษที่ 21” 

“ในไม่ช้านี้ เราจะพบตัวเองว่าอยู่ในห้วงประวัติศาสตร์อันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่พระเจ้าจอร์จที่ 3 ของอังกฤษที่ว่ารัฐซึ่งไม่ใช่ตะวันตกและไม่ใช่ประชาธิปไตยจะมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก” เขากล่าว
   
สองสามปีต่อมา ในการกล่าวคำปราศรัยที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ในปี 2018 รัดด์กล่าวว่าความจริงที่ว่าจีนกำลังเพิ่มทวีความพยายามในการเปลี่ยนธรรมาภิบาลระดับโลกให้เหมือนกับการปกครองของตนกลายเป็นปัญหาที่เร่งด่วนยิ่งกว่ามาก

“โลกควรเตรียมพร้อมต่อคลื่นลูกใหม่ของลัทธิเชิงรุกในนโยบายระหว่างประเทศของจีน” อดีตรัฐมนตรีได้ว่าไว้


หมายเหตุ: แปล (และตัดบทสุดท้ายออกไป) จากบทความชื่อ Is China a democracy? A long (and better) answer เขียนโดยอลัน หว่อง จาก https://www.inkstonenews.com/china-translated/china-democracy/article/2163522
  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net