Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสลัม 4 ภาค ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมนำประชาชนชุมนุมหน้าอาคารยูเอ็นเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ยื่นหนังสือเตือนเลขาฯ ยูเอ็น อย่าลืมปัญหาคนไร้ที่อยู่ เสนอรัฐบาลไทยแก้ปัญหาด้านที่ทำกิน ผลกระทบเขตเศรษฐกิจพิเศษ สนับสนุนสร้างบ้าน ชุมชน และสิทธิสวัสดิการทางสังคม เป็นการชุมนุมวันที่สอง หลังเมื่อวานเข้าพบปลัดกระทรวงคมนาคมเรื่องปัญหาที่อยู่อาศัยบนที่ดินการ ร.ฟ.ท. ที่ได้รับผลจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟ

บรรยากาศการชุมนุม (ที่มา: Facebook/Jaktronnin Intasen)

2 ต.ค. 2561 ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จำนวนกว่าหนึ่งพันคน ได้ชุมนุมที่หน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก เพื่อเรียกร้องและยื่นหนังสือข้อเสนอการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยถึงอันโตนิโอ กูเตร์เรซ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติผ่านตัวแทน

วันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) เริ่มขึ้นในปี 1989 สหประชาชาติได้กำหนดให้ วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี  เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกได้ให้ความสนใจกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และเพื่อสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการให้มนุษย์ทุกคนมีที่อยู่อาศัยในอนาคต  เป็นการปฏิบัติกันทั่วโลก ภายใต้การแก้ปัญหาตามแผน 40/202 ในวันที่ 17 ธันวาคม 1985 (ที่มา: guru.sanook.com)

ช่วงบ่าย ผู้สื่อข่าวประชาไทสอบถามหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมได้ความว่า ประมาณ 10.00 น. ตัวแทนของยูเอ็นได้ออกมารับหนังสือของทางเครือข่ายฯ โดยหนังสือที่ยื่นให้กับยูเอ็นนั้นมีใจความขอให้ทางยูเอ็นไม่ลืมเจตนารมณ์ของการมีวันที่อยู่อาศัยโลก ที่ต้องการขจัดปัญหาการไร้ที่อยู่อาศัย และรณรงค์ให้ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน ทุกข์ยากได้มีที่อยู่อาศัยและชุมชนที่มีความมั่นคง โดยยูเอ็นต้องทำงานอย่างหนักกับรัฐบาลนานาประเทศ และนักลงทุนเอกชนใหรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การเบียดขับคนจนออกจากพื้นที่ที่มีความรุนแรงขึ้น สืบเนื่องจากการที่หัวข้อหลักของวันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้คือเรื่องการบริหารจัดการขยะในชุมชน (Waste-Wise Cities)

ผู้ร่วมชุมนุมคนเดิมระบุว่า ในวันนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลเรื่องความปลอดภัย และมีเจ้าหน้าที่บันทึกวิดีโอการชุมนุมอยู่ตลอด

เครือข่ายสลัม 4 ภาคเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่เมื่อวานแล้ว โดยข่าวสดรายงานว่า เมื่อ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ตัวแทนเครือข่ายฯ จำนวน 200 คนจาก 61 ชุมชนได้เดินทางมาค้างคืนที่เกาะกลางถนนหน้ากระทรวงคมนาคมเพื่อทวงถามเรื่องความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทางเครือข่ายฯ ได้ส่งตัวแทนหารือร่วมกับชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รักษาการปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อหาทางออกของปัญหาและขอชะลอการดำเนินคดีผู้บุกรุกตามแนวเขตทางรถไฟ โดยชัยวัฒน์กล่าวว่า ทางเครือข่ายสลัมต้องการความชัดเจนเรื่องค่าเช่าที่ทาง ร.ฟ.ท. จะจัดเก็บกับชุมชน ในวันที่ 12 ต.ค. นี้คณะอนุกรรมการบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท.จะมีการพิจารณาเรื่องอัตราค่าเช่าที่ดิน และเสนอให้บอร์ด ร.ฟ.ท. พิจารณาอนุมัติภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ ทั้งนี้ การกำหนดค่าเช่าจะเกิดขึ้นหลังจากมีการกันพื้นที่เขตทางรถไฟให้กับโครงการรถไฟทางคู่ที่จะสร้างขึ้นทั่วประเทศเสียก่อน

ในขณะที่จำนง หนูพันธ์ กรรมการบริหารเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า จากที่มาติดตามวันนี้ทาง รมว.คมนาคม ไม่ได้มาพบเครือข่ายด้วยตนเอง โดยทางกระทรวงคมนาคมขอไปหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนถึงจะได้ข้อสรุป ซึ่งตนมองว่ากระทรวงฯ ไม่ได้แก้ไขปัญหาจริงจังและทางเครือข่ายสลัมเสียเวลามาโดยตลอด และไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนต่อปัญหาที่ร้องเรียนไว้ตั้งแต่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา มาเรียกร้องทีก็ต้องเริ่มใหม่ ในวันที่ 2 ต.ค. ทาง รมว.คมนาคม จะลงพื้นที่พบเครือข่ายด้วยตนเองหลังจากที่มีการประชุม ครม.แล้ว

'ซิโน-ไทย' จ่ายชดเชยชาวหัวหินกระทบรถไฟทางคู่ ผู้แทนชุมชนหวั่นไม่แฟร์-ยังไม่มีที่ไป

แถลงการณ์ของเครือข่ายฯ เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก มีใจความดังนี้

แถลงการณ์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก

เมืองจะเจริญไม่ได้ ถ้าปราศจากคนจน

สิทธิที่อยู่อาศัย คือสิทธิมนุษยชน

ตามที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก เพื่อให้ประชาคมโลกเห็นความสำคัญของปัญหาความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและการไร้ที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากต้องประสบกับความยากจนและห่างไกลจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ในประเทศไทย จำนวนผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยที่ปรากฎในแผนแม่บทที่อยู่อาศัย 20 ปีของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่ามีประชาชนราว 2.7 ล้านครัวเรือนที่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในเมืองและชนบท ไม่มีศักยภาพในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคง สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากต้องถูกเบียดขับออกจากชุมชน ถูกไล่รื้อออกจากที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเดิม คือการเข้ามาของการพัฒนาที่บังคับคนในพื้นที่ต้องเสียสละให้กับการลงทุนในโครงการต่างๆ ของทั้งทุนภายในประเทศ ทุนข้ามชาติ และโครงการพัฒนาของรัฐเอง อาทิ การให้สัมปทานในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ การลงทุนของอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภค การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น โดยมุ่งหวังมูลค่าทางเศรษฐกิจและไม่รับผิดชอบต่อประชาชนในพื้นที่ ไม่รับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม วิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ต้องถูกทำลายลง

เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ดำเนินการสร้างพื้นที่รูปธรรมของการพัฒนาโดยชุมชนกระจายอยู่ทั่วประเทศ สร้างวิถีชุมชนที่มีความสมดุล ยั่งยืน และได้นำเสนอมาตรการในเชิงนโยบายและกฎหมายต่อรัฐบาล ที่จะสร้างหลักประกันให้กับทุกคนในสังคมไทย ได้เข้าถึงการมีหลักประกันขั้นพื้นฐานที่จะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี และนำไปสู่การลดความเหลื่มล้ำในสังคมลงได้

ข้อเสนอของเครือข่ายสลัม 4 ภาค และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนนการให้บรรลุผลมี 4 ด้าน ดังนี้

การจัดการด้านที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

  1. สนับสนุน ส่งเสริมในการนำที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ของรัฐมาแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้กับประชาชนตามแผนแม่บทที่อยู่อาศัย 20 ปีของรัฐบาล  และมีมาตรการที่ชัดเจน โดยในระยะสั้นให้เป็นมติคณะรัฐมนตรี และในระยะยาวให้บรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ....
  2. นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้มีมติคณะรัฐมนตรี คุ้มครองพื้นที่ชุมชนที่ได้ยื่นขอใช้สิทธิที่ดินตามระเบียบคณะอนุกรรมการประสานงานจัดให้มีโฉนดชุมชน ให้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติและเข้าถึงการพัฒนาขั้นพื้นฐาน
  3. ทบทวนนโยบายการจัดที่ดินชุมชนของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จากการอนุญาตให้ใช้ที่ดินตามกฎหมายของหน่วยงานเป็นการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างมีส่วนร่วมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
  4. พื้นที่ที่มีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รัฐบาลต้องดูแล ปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิต พื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนให้คงวัฒนธรรม เอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดการล่มสลายของชุมชน

การสนับสนุนการจัดสร้างบ้านและชุมชน

  1. พิจารณาอนุมัติปรับเกณฑ์การสนับสนุนงบประมาณโครงการบ้านมั่นคงที่ใช้มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว จาก 80,000 บาทต่อครัวเรือ เพิ่มเป็น 100,000 บาทต่อครัวเรือน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจสังคมในปัจจุบันโดยการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ
  2. โครงการพัฒนาของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่นโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟควาเร็วสูง รัฐบาลต้องจัดให้มีงบประมาณในการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดยมีมติคณะรัฐมนตรีจัดงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาเป็นการเฉพาะ เช่นกรณีการแก้ปัญหาชุมชนริมคลองลาดพร้าว

สิทธิด้านสวัสดิการทางสังคม

  1. คนไทยทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  2. ตั้งกองทุนรักษาพยาบาลสำหรับคนไทยที่รอการพิสูจน์สิทธิและตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์
  3. ต้องออกกฎหมายบำนาญแห่งชาติเพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้ขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุ
  4. การจัดงบอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กเป็นสิทธิที่เด็กทุกคนต้องได้รับอย่างทั่วถึง ถ้วนหน้า

เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก เครือข่ายสลัม 4 ภาค หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการใส่ใจจากรัฐบาลและดำเนินการให้ประสบผลโดยเร็ว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งจะนำสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อวิถีชีวิตคนจนและคนในสังคมไทย

สามัคคีคนสลัม รวมพลังคนจน

เครือข่ายสลัม 4 ภาค และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

2 ตุลาคม 2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net