ประจักษ์ ก้องกีรติ: พรรคอันดับ 1 อาจตั้งรัฐบาลไม่ได้ และประยุทธ์ต้องการ 126 เสียงนั่งนายกฯ

คุยกับประจักษ์ ก้องกีรติ ทบทวนการเลือกตั้งมาเลเซีย เพราะอะไรฝ่ายผู้ครองอำนาจเดิมจึงถูกล้มโดยการเลือกตั้ง จับตาการเลือกตั้งไทยภายใต้การนับคะแนนแบบใหม่  การใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว ตัวชี้วัดอยู่ที่ระบบแบ่งเขต ทุกเสียงมีความหมาย การแข่งขันจะดุเดือด หลังการเลือกตั้งอาจมีโอกาสสูงที่ไทยจะอยู่ในภาวะสุญญากาศ พรรคอันดับ 1 อาจตั้งรัฐบาลไม่ได้ และ ‘ประยุทธ์’ ต้องการ ส.ส. 126 เสียงเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

11 ธ.ค. 2561 เป็นวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรจะมีผลบังคับ หลังจากนั้นการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายใน 150 วัน ช่วงเวลาตั้งแต่ 24 ก.พ. – 5 พ.ค. 2562 เป็นช่วงระยะเวลาที่ กกต. ได้วางกรอบไว้คร่าวๆ สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในครั้งหน้า แต่ตราบที่ยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ก็ยังถือว่าไม่มีอะไรที่ชัดเจน แต่สถานการณ์ที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้มีอย่างน้อย 3 อย่างที่ชัดเจนแล้ว

แรกสุด ระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบมาใหม่ที่กำหนดให้เหลือบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เป็นการเลือก ส.ส. ในระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อไปในตัว และมาพร้อมกับการคำนวณแบบใหม่ที่เป็นการนำผลรวมของคะแนนการเลือกตั้งในระดับเขตของแต่ละพรรคการเมืองมารวมกันเป็นผลรวมของทั้งประเทศเพื่อหาสัดส่วนที่นั่งทั้งหมดที่แต่ละพรรคควรได้

เช่น พรรค A ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งระบบแบ่งเขตทั้งหมด 192 ที่นั่ง แต่เมื่อนำคะแนนที่พรรค A ได้รับเลือกจากทุกเขตที่ลงเลือกตั้งมาคิดเป็นสัดส่วนระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ สมมติพบว่า พรรค A ควรได้ที่นั่งทั้งหมด 200 ที่นั่ง ก็เท่ากับว่า พรรค A จะได้ ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มมาเพียง 8 คนเท่านั้น เมื่อรวมแล้วจะครบ 200 ที่นั่งพอดี ระบบเลือกตั้งที่ออกแบบใหม่นี้ถูกวิจารณ์ว่าจงใจทำให้เกิดรัฐบาลผสม คือ พรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรจะตั้งรัฐบาลได้ยาก

สอง ชัดแล้วว่าในวาระเริ่มแรก 5 ปี สมาชิกวุฒิสภาจะมีจำนวน 250 คน แม้จะแบ่งที่มาเป็น 3 ทาง แต่สุดท้ายทุกทางจะมาจาก คสช. และที่สำคัญ ส.ว. มีโอกาสที่จะเข้ามายกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จากที่ไม่เคยมีสิทธิ์นี้มาก่อน

สาม พรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว รายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคชัดยิ่งกว่า เพราะ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. นั่งอยู่ในนั้นด้วย ปัญหาไม่ได้อยู่เพียงแค่ 4 รัฐมนตรีไม่ลาออก แต่ปัญหาจริงๆ อยู่ที่คนที่ประกาศว่า “สนใจงานทางการเมือง” ต่างหาก เพราะท่านมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการคุมกฎกติกา และชี้ขาดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

บรรยากาศการเลือกตั้งที่ฝ่ายผู้ครองอำนาจอยู่เดิมเป็นผู้มีส่วนในการออกแบบการเลือกตั้ง และพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองได้สืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งมักเกิดขึ้นในหลายประเทศ ประสบความสำเร็จก็มี แต่ล้มเหลวก็มาก ที่ล้มเหลวและอยู่ใกล้กับประเทศไทย ก็คือ ประเทศมาเลเซีย ที่รัฐบาลทำทุกทางเพื่อครองอำนาจต่อ แต่สุดท้ายก็โดนประชาชนโหวตสวนกลับ

เราพูดคุยกับประจักษ์ ก้องกีรติ ถึงบทเรียนการเลือกตั้งของประเทศมาเลเซีย เพื่อทบทวนที่ทางการเลือกตั้งของประเทศไทย ภายใต้ห้วงเวลาที่ผู้ครองอำนาจรัฐต้องการสืบทอดอำนาจต่อไปโดยใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ คำถามแรกคือเป็นไปได้ไหมว่าการเลือกตั้งของไทยจะมีผลสวนทางกับสิ่งที่ผู้มีอำนาจในปัจจุบันต้องการจะให้เป็น คำถามสุดท้ายคือ พฤติกรรมผู้เลือกตั้งจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ภายใต้การปกครองของ คสช. และนโยบายที่เข้าไปพัฒนาท้องถิ่นตลอด 4 ปี

ผลการเลือกตั้งของไทยจะมีโอกาสออกมาสวนทางกับผู้มีอำนาจเหมือนประเทศมาเลเซียหรือไม่

การเลือกตั้งของมาเลเซียในรอบที่ผ่านมา จริงๆ แล้วภาคประชาสังคมมีบทบาทสูงมาก เพราะว่าไม่สามารถพึ่งภาครัฐได้ และมันเกิดขึ้นในบริบทที่ฝ่ายรัฐบาลเดิมคุมการเลือกตั้งทั้งหมด และ กกต. เองก็ไม่ได้เป็นองค์กรที่เป็นอิสระ แต่อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี จึงมีลักษณะเป็นเหมือนแขนขาของรัฐบาล ซึ่งนี่เป็นปัญหาของการเลือกตั้งในมาเลเซียมาโดยตลอด

พูดง่ายๆ คือ รัฐบาลไม่ต้องไปโกงในวันเลือกตั้งหรือตอนนับคะแนน แต่ว่ามันเป็นการคุมกลไกทั้งหมดอยู่แล้ว มันเป็นการโกงในระบบโดยการออกแบบกลไกต่างๆ ทีนี้ภาคประชาสังคมที่ออกมาต่อสู้ เขาจับประเด็นเรื่องนี้ตั้งแต่แรก และเวลาที่มีการพูดถึงเรื่องการปฏิรูปการเมืองในมาเลเซีย เขาเน้นไปที่การปฏิรูปการเลือกตั้ง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพราะเขารู้ว่าหากไม่สามารถปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งให้โปร่งใสได้ การปฏิรูปการเมืองในเรื่องอื่นๆ มันไม่ตามมา เขาจึงโฟกัสไปที่การเลือกตั้งก่อน

กระแสความต้องการของประชาชนก็เป็นไปในทิศทางที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ถึงแม้ต่อให้รัฐบาลไม่เป็นที่นิยมขนาดไหน แต่สามารถคุมกลไก ก็สามารถชนะการเลือกตั้งได้ แม้จะได้เสียงข้างน้อยก็ตาม ภาคประชาชนเขาต่อสู้มายาวนาน สะสมบทเรียน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีคือ ภาคประชาสังคมเขามีการรวมตัวกันหลายองค์กร และรวมคนรุ่นใหม่เข้ามาด้วย ทำให้เขาเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ประเด็นของเขาคือการรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยบอกว่าจะเลือกพรรคไหนก็ได้ แต่อย่างน้อยขอให้ออกไปใช้สิทธิ์แสดงพลังของประชาชน

ขณะเดียวกันเขาก็ทำหน้าที่สังเกตการเลือกตั้ง และมอนิเตอร์การเลือกตั้งคู่ขนานไปกับ กกต. เพราะเขามองว่า กกต. ไม่มีความน่าเขื่อถือ ชัยชนะของฝ่ายค้านในครั้งนั้นพูดง่ายๆ คือติดหนี้ภาคประชาสังคม เพราะถ้าไม่มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องยาวนานผลักดันเรื่องนี้จนทำให้คนตื่นตัวและเห็นความสำคัญ ฝ่ายรัฐบาลก่อนหน้านี้ก็อาจจะชนะต่อไปเรื่อยๆ ก็ได้ เพราะช่วงนั้นก็มีการใช้แทคติกสารพัดมาจัดการการเลือกตั้ง เช่น จัดการเลือกตั้งวันพุธ กลางสัปดาห์ ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน เป็นที่อื่นเขาให้เลือกตั้งเสาร์อาทิตย์เพื่อที่คนจะได้ออกไปใช้สิทธิ์กันเยอะๆ รัฐบาลมาเลเซียกลับจัดการเลือกตั้งวันพุธเพื่อให้คนมาใช้สิทธิ์น้อยลง  ภาคประชาชนก็ต้องออกแบบวิธีการช่วยให้คนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เช่น คนประกาศเชิญชวนให้ติดรถไปด้วยกัน (carpool) สำหรับผู้ที่ต้องออกไปใช้สิทธิ์ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน หรือนายจ้างบางบริษัทก็ประกาศหยุดงานเองเลย เพื่อให้พนักงานในบริษัทไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่ต้องถือเป็นวันลา นี่คือพลังของภาคประชาสังคมที่พยายามจะเอาชนะการเลือกตั้งที่พยายามจะโกงของรัฐบาล

มาเลเซีย ดูจะชัดเจนว่ารัฐบาลพยายามจะโกงการเลือกตั้งอย่างไร แต่ของไทยอาจจะไม่ชัดเจนเท่ามาเลเซียหรือเปล่า  ช่วงที่ผ่านมาก็มีแต่การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ จนทำให้การเมืองหยุดนิ่ง ทีนี้หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ภายใต้ระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป มองว่ามันจะมีมิติของความรุนแรงเกิดขึ้นไหม

ยังเป็นสิ่งที่เราต้องจับตาอยู่ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้การแข่งขันกลับไปโฟกัสที่เขตเลือกตั้งเป็นหลัก ต่างจากครั้งก่อนๆ นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ที่มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นการเลือกในระบบผสม ระหว่าง ระบบบัญชีรายชื่อ (Party-list) และระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งการแข่งในระบบบัญชีรายชื่อมันไม่มีความรุนแรง เพราะเป็นการแข่งกันที่นโยบาย สมมติมีคนไปฆ่าผู้สมัครคนหนึ่ง เขาก็แค่เลื่อนรายชื่อที่อยู่ลำดับถัดไปขึ้นมา มันแตกต่างจากระบบแบ่งเขตหากคู่แข่งถูกฆ่า คุณก็มีโอกาสชนะการเลือกตั้งได้

ครั้งนี้เดิมพันทั้งหมดอยู่ที่เขตเลือกตั้งอย่างเดียวด้วยระบบเลือกตั้งแบบใหม่ 350 เขต สิ่งที่เราเริ่มเห็นก็คือการไปดึงอดีต ส.ส. ที่เป็นผู้มีอิทธิพลเป็นตระกูลการเมืองใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียงยาวนานในพื้นที่ มีเครือข่ายหัวคะแนนเยอะ เราจะเห็นตอนนี้ที่มีการเดินสายชักชวน มีการย้ายพรรคกันเกิดขึ้น เพราะทุกคนรู้ว่าการเลือกตั้งมันแข่งกันที่ระบบเขต พรรคการเมืองจึงต้องการคนที่มีชื่อเสียงและบารมีในพื้นที่ ฉะนั้นการแข่งขันจะดุเดือดมาก แล้วตอนนี้มีพรรคใหม่ๆ เยอะ พรรคของผู้มีอำนาจรัฐก็ลงแข่งขันด้วย พูดง่ายๆ คือระบบแบบนี้มันมีการเเข่งขันที่ดุเดือดที่เขต และมันอาจจะเอื้อให้เกิดความรุนแรงได้ แต่ตอนนี้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทหารคุม ขณะเดียวกันเขาก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นด้วย และเป็นคนที่มีส่วนในการออกแบบกติกา

ช่วงเวลาที่เราต้องจับตา น่าจะแบ่งได้เป็น 2 ช่วงคือความรุนแรงในช่วงรณรงค์หาเสียง เพราะอย่าลืมว่าทุกคะแนนมีความหมายด้วยระบบเลือกตั้งที่ออกแบบมาใหม่นี้ แม้จะไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง แต่คะแนนของคนแพ้ก็จะถูกสะสมเข้าไปในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคอยู่ดี ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อน เพราะเมื่อพรรครู้ชัดแล้วว่า ผู้สมัครของตัวเองในเขตนี้สู้อีกพรรคไม่ได้แน่ๆ ก็จะปล่อยทิ้งได้เลย ไม่ต้องมาแข่งอะไรเพราะไม่มีประโยชน์ ต่อให้แพ้กี่คะแนน ผลก็คือแพ้ เขตเลือกตั้งบางเขตก็ไม่ได้แข่งกันดุเดือดอะไรมาก แต่ครั้งนี้ทุกเขตเลือกตั้งจะดุเดือดขึ้น มีพรรคเกิดขึ้นใหม่เยอะแยะในทุกฝั่งอุดมการณ์ แต่ประชาชนกลับเหลือบัตรเลือกตั้งเพียงแค่ใบเดียว ทุกพรรคการเมืองต้องการคะแนนจากบัตรใบเดียวนี้มากเท่าๆ กัน ฉะนั้นเรายังตัดเรื่องความรุนแรงออกไปไม่ได้ และอย่าลืมว่าการเลือกตั้งล่าสุดคือ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ล้มเหลวเป็นโมฆะ เพราะเกิดความขัดแย้งรุนแรงจนมีการปิดคูหาเลือกตั้ง

อีกประเด็นคือช่วงหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น และมีการนับคะแนน ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องมีการจับตา เพราะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญยังปล่อยให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจอยู่ และยังใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ จนกว่าจะมีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมา ช่วงนี้จะเป็นช่วงสำคัญหลังการเลือกตั้ง เรียกได้ว่าเป็นช่วงชี้ชะตาว่าใครก่อตั้งรัฐบาลก่อน เรื่องเหล่านี้ผูกโยงกับการเปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่ไม่ได้อยู่ใน 3 รายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง บทบาทของ ส.ว. ที่สามารถเข้ามาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ทั้งหมด นี่คือกติกาใหม่ และในช่วงนั้น กกต. มีโอกาสตรวจสอบให้ใบเหลือง ใบแดง มีโอกาสสูงที่จะเกิดสภาวะสุญญากาศทางการเมือง เป็นช่วงเวลาความวุ่นวาย ชิงไหวชิงพริบกันในการตั้งรัฐบาล ซึ่ง คสช. มีอำนาจในการเข้ามากำกับได้ เพราะตัวเองและมาตรา 44 ก็ยังอยู่

หากเกิดสถานการณ์ที่พรรคที่ได้เสียงข้างมากไม่สามารถก่อตั้งรัฐบาลได้ แล้ว คสช. เริ่มขยับเพื่อที่จะทำอะไรบางอย่าง จะมีผลอะไรเกิดขึ้น

ถ้าผลการเลือกตั้งสูสี แต่กลับมีการแทรกแซงให้ฝ่ายที่ได้คะแนนน้อยกว่าได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล การประท้วง คัดค้านจากภาคประชาชนก็อาจจะเกิดขึ้น สังคมไทยไม่เคยปลอดจากการประท้วง ที่สงบก็เพียงชั่วคราว แต่ถ้ามีเหตุให้ประชาชนไม่พอใจว่าเสียงเจตนารมณ์ของประชาชนถูกบิดเบือน ก็เป็นเหตุผลให้คนออกมาประท้วงได้ สมมติว่าคนโหวตไปทางหนึ่งแล้วมีการให้ใบเหลือง ใบแดงเพื่อตัดสิทธิ์ ทำให้อีกฝั่งหนึ่งได้เปรียบและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แทน มีโอกาสที่จะเกิดสุญญากาศเยอะมาก มีโอกาสเกิดความวุ่นวายช่วงหลังเลือกตั้ง เพราะระบบเลือกตั้งนี้ คะแนนที่แต่ละพรรคได้รับจะถูกนำมารวมกัน ทีนี้หากบางเขตถูกตัดสินว่าไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ คะแนนที่แต่ละพรรคได้รับก็จะหายไป และจะกระทบต่อยอดรวม ทำให้ไม่สามารถคำนวณยอดรวมได้

สมมติในกรุงเทพเกิดปัญหา 3 เขต และต้องเลือกตั้งใหม่ คะแนนของทุกพรรคการเมืองใน 3 เขตนี้ก็ยังไม่สามารถนับได้ว่าแต่ละพรรคได้เท่าไหร่ มันก็จะไปกระทบต่อการคำนวณยอดจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคควรจะได้รับ

แต่ดูเหมือนว่า คสช. ก็จะวาง ส.ว. ให้เป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสภาอยู่แล้ว

ตอนแรกร่างรัฐธรรมนูญที่มีการลงประชามติ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 บอกว่าในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีให้ใช้เสียงของสภาผู้แทนเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด คือมากกว่า 250 แต่ถ้าหากมีกรณีที่สภาผู้แทนไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองชื่อเป็นแคนดิเดตได้ ให้สภาผู้แทนลงมติเปิดเปิดทางให้มีการเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ได้ โดยใช้เสียงไม่น้อยว่ากึ่งหนึ่ง และต้องได้รับมติมากกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภาจึงจะสามารถเสนอชื่อนายกฯคนนอก ที่อยู่นอกบัญชีรายชื่อได้

แต่ว่าหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ แล้วคำถามพ่วงที่ให้ช่วง 5 ปี ส.ว. สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ด้วยผ่านความเห็นชอบไปด้วย  มาตรา 272 ก็ถูกแก้ไขใหม่โดยกำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีว่าจะมาจากการโหวตโดยรัฐสภา คือ ส.ส. 500 รวมกับ ส.ว. อีก 250 คน โดยคนที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในตอนแรกจะดำเนินการโดยเปิดทางให้พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากรวบรวมจำนวน ส.ส. ให้ได้เกินกึ่งหนึ่งเพื่อตั้งรัฐบาล หมายความว่า ต้องมี ส.ส. มากเกิน 375 เพราะรัฐสภามีทั้งหมด 750 คน

หากพรรคการเมืองที่เป็นที่นิยมของประชาชนรวมตัวจับมือกันกับพรรคเล็ก หรือพรรคขนาดกลางได้มากกว่า 375 เสียงทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น แต่การจะมี ส.ส. มากถึงขนาดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การทำหน้าที่ของ ส.ว. 250 คนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจึงน่าจับตาว่าเขาจะยกมือหรือไม่ หรือยกมือให้ใคร

แต่ถ้าพรรคการเมืองที่ได้เสียงเป็นอันดับหนึ่งในสภาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยมารยาททางการเมือง พรรคที่ได้อันดับสองก็จะดำเนินการรวบรวมเสียงเพื่อตั้งรัฐบาล ช่วงเวลาตรงนี้มันเอื้อให้เกิดการย้ายฝั่ง เอื้อให้มีการดึงตัว กดดันเพื่อที่จะตั้งรัฐบาลได้ โดยรวมกับเสียงของ ส.ว. 250 คน

สมมติว่าพลเอกประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และมีชื่ออยู่ใน 3 บัญชีรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง เสียงที่เขาต้องการจะเหลืออีกแค่ 126 เสียงจาก ส.ส.ทั้งหมด 500 คน ก็สามารถกลับเป็นนายกรัฐมนตรีได้

แต่ถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่ได้อยู่ในรายชื่อแคนดิเดตที่พรรคการเมืองเสนอไว้ หรือที่สุดแล้วก็ยังไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้ ส.ส. และ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง(ไม่น้อยกว่า 375 เสียง) สามารถเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นการพิจารณาผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อได้ โดยรัฐสภาจะต้องมีมติเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด (ไม่น้อยกว่า 500 เสียง)

พูดให้ง่ายคือ ถ้าพลเอกประยุทธ์ ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อตั้งแต่แรก แล้วพรรคการเมืองฝ่ายที่ไม่เอา คสช. รวมกันได้เสียงมากกว่า 250 เสียง การเข้ามาของนายกรัฐมนตรีคนนอกก็หมดสิทธิ แต่เวลาเราพูดถึงคนนอก เราไม่ได้พูดเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดต แต่รวมถึงคนที่ถูกเสนอชื่ออยู่ในบัญชี แต่ไม่ได้เป็น ส..ส. ด้วย ซึ่งเข้ามาด้อยู่แล้วในบัญชีรายชื่อนายกฯ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้นายกฯ จำเป็นต้องเป็น ส.ส.

เท่าที่ผ่านมา 4 ปี โครงการและนโยบายต่างๆ ที่ลงไปพัฒนาท้องถิ่นของ คสช. จะทำให้พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนในท้องถิ่นเปลี่ยนไปหรือไม่

จำนวนหนึ่งอาจจะเปลี่ยน แต่เราบอกไม่ได้ว่าจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่ สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ 4 ปีมานี้ รัฐราชการ หรือ คสช. เอางบลงไปในท้องถิ่นเยอะมาก มีทั้งไทยนิยมยั่งยืน มีทั้งประชารัฐ และอีกหลายๆ โครงการ ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือกลุ่มผู้นำท้องถิ่น คนเหล่านี้ถือเป็นหัวคะแนนในเขตพื้นที่ แต่ถ้าถามว่าประชาชนจะเปลี่ยนใจเยอะขนาดไหนตอบได้ยาก

ต้องดูว่าผลประโยชน์จากงบประมาณมันไปกระจุกอยู่ที่ผู้นำท้องถิ่นไม่กี่คนหรือเปล่า มันได้มีการกระจายออกไปสู่ประชาชนมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่ามีแน่ๆ สำหรับประชาชนที่จะเปลี่ยนไปเลือกฝ่ายผู้มีอำนาจ แต่ผมยังเชื่อว่ามันไม่ได้เยอะมากแบบถล่มทลาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท