Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดปราจีนบุรี พิพากษาจำคุกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองปราจีนบุรี 1 ปี ปรับ 8,000 บาท ฐานซ้อมทรมาน 'ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร' เพื่อให้รับสารภาพในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ 

3 ต.ค.2561 จากกรณีที่ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร  เป็นโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคน สังกัดกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรีพร้อมพวกเป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.925/2558 ว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2552 จำเลยได้ร่วมกันซ้อมทรมานเพื่อให้ตนรับสารภาพในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ ทั้งๆ ที่ตนไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด เหตุเกิดที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปราจีนบุรีนั้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลปราจีนบุรีได้ มีคำพิพากษาว่า พ.ต.ท.วชิรพันธ์ โพธิราช มีความผิดจริง ส่วน พ.ต.ท.ปัญญา เรือนดี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง

จากพยานหลักฐานที่ได้จากการพิจารณา ศาลเชื่อว่า โจทก์ได้ถูก พ.ต.ท.วชิรพันธ์ จำเลย ทำร้ายเพื่อให้รับสารภาพจริง จึงมีความผิดตามประมวลอาญา มาตรา 157 มาตรา 200 มาตรา 295 มาตรา 309 มาตรา 301 มาตรา 391 และมาตรา 83 ให้ลงโทษฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 12,000 บาท แต่จำเลยที่ 3 ให้การเป็นประโยชน์ ศาลลดโทษกึ่งหนึ่งคือ 1 ใน 3  เหลือจำคุก 1 ปี ปรับ 8,000 บาท  ด้วยวิชาชีพของจำเลย และไม่ปรากฏว่าจำเลย เคยถูกลงโทษมาก่อน ให้รอลงอาญา 2 ปี

ส่วน พ.ต.ท.ปัญญา ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าได้ทำร้ายโจทก์ เพียงแต่เปิดประตูแล้วถามว่า โจทก์รับสารภาพแล้วหรือยัง อีกทั้งโจทก์ไม่ได้เบิกความว่า ได้ร่วมทำร้ายโจทก์ แต่รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่โจทก์ถูกซ้อมทรมาน  แต่เนื่องจากขณะที่ เปิดประตูและถามว่าโจทก์รับสารภาพหรือยังนั้น ไม่ได้เห็นแจ้งว่าพูดในขณะที่โจทก์ถูกคลุมถุงที่จะทราบได้ว่าผู้พูดเป็นใคร คำให้การโจทก์จึงไม่ยืนยันพฤติกรรมการกระทำความผิดของพันตำรวจโทปัญญา เป็นเหตุให้มีข้อสงสัย ศาลจึงยกประโยชน์ต่อความสงสัยนั้นและยกฟ้อง จำเลยดังกล่าว  

ทั้งนี้ประมวลกฎหมายมาตรา 157 ระบุว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ทางมูลนิธิฯ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อผู้เสียหายซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานให้รับสารภาพทั้งนี้ในปัจจุบันการซ้อมทรมานยังพิสูจน์ได้ยากในการต่อสู้คดีและเพื่อไม่ให้มีการปล่อยผู้กระทำความผิดตามกฏหมายลอยนวล การต่อสู้คดีให้กับ ฤทธิรงค์ นั้น เนื่องจาก ฤทธิรงค์ มีพยานหลักฐานที่ชัดเจนคือร่องรอยบาดแผลและผลการรักษาของแพทย์ ซึ่งพบเจออุปสรรคจากการต้องต่อสู้กับอำนาจของเจ้าหน้าที่ และการต่อสู้เพื่อให้ความจริงได้ปรากฏตลอดระยะเวลา 9 ปี 

“เรารอคอยความยุติธรรมมา ตลอด 9 ปี  หวังให้ความจริงปรากฏ ครอบครัวของเราต้องเป็นเหยื่อของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำร้ายร่างกายประชาชน ซ้อมทรมานให้รับสารภาพในความผิดอาญาที่เราไม่ได้เป็นผู้กระทำ สิ่งที่ลูกชายได้พูดมาตลอดระยะเวลา 9 ปี เป็นความจริงมิได้เป็นการใส่ร้าย กล่าวหาตำรวจ   ชาวบ้านธรรมดาที่ต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนในครอบครัวให้มีกินสุขสบายก็ยากลำบากแล้ว ใครจะไปกล้าให้ร้ายกล่าวหาตำรวจผู้ที่มือข้างหนึ่งถืออำนาจรัฐและมืออีกข้างยังถือปืนกุญแจมือพร้อมด้วยกฎหมาย ชาวบ้านกลัวและไม่กล้ายุ่งเกี่ยว คำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 61  พิสูจน์ว่าสิ่งที่ลูกชาย พูดมาตลอด 9 ปี เป็นความจริงมิได้ให้ร้ายกล่าวหาตำรวจ แต่สิ่งที่ไม่เห็นพ้องคือบทลงโทษ ซึ่งก็ต้องร้องขอในชั้นอุทธรณ์ต่อไป  ผมมีหน้าที่ปกป้องครอบครัวและคนที่ผมรัก จึงต้องแสวงหาความยุติธรรมกลับคืนมาให้ได้” สมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดา ฤทธิรงค์ กล่าวภายหลังรับฟังคำพิพากษา 

อนึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและที่ย่ำยีศักดิ์ศรีตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในประเทศเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญยาดังกล่าว ตลอดระยะที่ผ่านมาหลายปี องค์กรสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้ผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานแลเการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .......” ซึ่งเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแล้ว แต่ปรากฎว่า เมื่อวันที่  21 ก.พ. 2560 สนช. กลับส่งร่างกฎหมายดังกล่าวคืนให้รัฐบาล

ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และร่าง พ.ร.บ.อนุวัติการดังกล่าว ถือว่าการกระทำทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ได้คำรับสารภาพหรือข้อมูลสารสนเทศก์ เป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด ไม่สามารถทำได้ในทุกสถานการณ์และไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ โดยให้อาชญากรรมร้ายแรง เจ้าหน้าที่ผู้กระทำและผู้บังคับบัญชาที่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำทรมานต้องได้รับโทษ ทั้งรัฐภาคีจะต้องมีการสอบสวนกรณีทรมานที่เกิดขึ้นโดยพลันและปราศจากความลำเอียง และชดใช้ความเสียหายแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยือของการทรมานด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net