UN ร้อง รบ. มาเลเซียแก้ปัญหาวิวาห์เด็ก ไทยดีขึ้นหลังมีข่าวฉาวแต่ปัญหายังมี

ผู้รายงานพิเศษด้านการใช้ประโยชน์ทางเพศกับเด็กเยือนมาเลเซีย แนะนำให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการแต่งงานกับเด็ก ปัญหาเด็กในกลุ่มเปราะบางและการนำเสนอเนื้อหาล่อแหลมเกี่ยวกับเด็ก ย้อนดูไทย หลังมีข่าวฉาวชายมาเลย์ข้ามมาวิวาห์เด็ก รัฐและองค์กรศาสนาเริ่มแก้ปัญหาแล้ว แต่การแต่งงานยังมีอยู่

ที่มาภาพ: Change.org

3 ต.ค. 2561 ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ด้านการใช้ประโยชน์ทางเพศกับเด็ก  โมด เดอ โบเออ-บูฆิเคียว เรียกร้องให้ทางการมาเลเซียเพิ่มความพยายามในการสิ้นสุดการแต่งงานกับเด็ก และสร้างระบบปกป้องคุ้มครองเด็กแบบไม่เลือกปฏิบัติ

เธอเรียกร้องให้รัฐบาลร่วมพูดคุยกับประชาคมศาสนาและผู้พิพากษา ซึ่งผู้พิพากษาเป็นผู้ที่ปล่อยให้มีการยกเว้นการแต่งงานกับเด็กภายใต้ช่องโหว่ของกฎหมายอิสลามหรือกฎชารีอะห์ ทำให้มีการแต่งงานกับเด็กอายุเท่าไหร่ก็ได้

“ฉันรับทราบเรื่องความซับซ้อนของระบบกฎหมายคู่ขนานของมาเลเซีย รวมถึงความแตกต่างระหว่างกฎหมายของระดับมลรัฐและส่วนกลาง” ผู้รายงานพิเศษกล่าวหลังเยือนประเทศมาเลเซียเพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน รวมถึงตัวเด็กเป็นเวลาแปดวัน “การแต่งงานกับเด็กที่เกิดในมาเลเซีย บ่อยครั้งถูกผลักดันจากความยากจน โครงสร้างแบบปิตาธิปไตย ธรรมเนียมและความเข้าใจแบบผิดๆ เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน”

เจ้าสาวอายุ 15 ปีคนหนึ่งกล่าวกับผู้รายงานพิเศษว่า “การจะช่วยเด็กคนหนึ่งปีนออกจากความยากจน คุณต้องให้การศึกษากับเธอ ไม่ใช่แต่งงานกับเธอ”

เด โบเออ-บูฆิเคียว กล่าวว่ารองนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียได้เป็นหัวหอกในการสร้างการพูดคุยระดับชาติในเรื่องการเพิ่มเกณฑ์อายุที่อนุญาตให้แต่งงานได้สำหรับเด็กหญิงและเด็กชาย ซึ่งควรขี่กระแสนี้ไปหยุดการแต่งงานกับเด็กที่มีผลเสียกับตัวเด็กในแบบที่เยียวยาไม่ได้

รองนายกฯ มาเลเซียประณามกรณีชาย 41 วิวาห์เด็ก 11 ชี้ ผิด กม.อิสลาม

ผู้รายงานพิเศษคนเดียวกันนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องเด็กที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ เด็กไร้รัฐและไม่มีเอกสารระบุตัวตน ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงสวัสดิการด้านต่างๆ การที่มาเลเซียมีแผนจะให้จดสูติบัตรฟรีทั่วมาเลเซียแล้วนั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดี เธอยังเสนอให้รัฐบาลดูแลเรื่องการเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับเด็กตามความผิดของกฎหมายการคุกคามทางเพศต่อเด็ก พ.ศ.2560 ที่มีการบังคับใช้แล้ว ทั้งยังเสนอให้มีการจัดตั้งศาลพิเศษสำหรับอาชญากรรมทางเพศต่อเด็ก หากมีการจัดตั้งศาลขึ้นจริงก็จะถือเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทีเดียว

ไทยปรับตัวหลังเหตุชายมาเลเซียข้ามมาจดทะเบียนสมรสเด็ก 11 ขวบ แต่ปัญหายังมี

ในประเทศมาเลเซียผู้ชายสามารถแต่งงานกับผู้หญิงอายุน้อยกว่า 18 ปีได้อย่างถูกกฎหมายถ้าหากศาลกฎหมายอิสลามหรือศาลชะรีอะฮ์ให้การรับรอง ในขณะที่ประเทศไทยนั้นสามารถทำได้ง่ายกว่าจากช่องว่างทางกฎหมายและเงื่อนไขสังคม

การแต่งงานของผู้เยาว์ในไทยยังคงได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมีข้อยกเว้นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อนุญาตให้ชายที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหญิงไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 สามารถทำการสมรสกับเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศหากได้รับการอนุญาตจากศาลและเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ในขณะที่กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ. 2489 มิได้บัญญัติเรื่องอายุขั้นต่ำในการแต่งงานแต่ให้เป็นดุลพินิจของศาลซึ่งเปิดช่องว่างให้ใช้บรรทัดฐานตามประเพณีปฏิบัติที่ยอมรับการแต่งงานของผู้เยาว์ในหลายกรณี  อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

สังคมและภาครัฐของไทยขยับมากขึ้นทั้งในด้านการสานเสวนา ความตระหนักต่อปัญหาและการหาทางแก้ไข หลังเหตุการณ์อิหม่ามจากรัฐกลันตัน มาเลเซีย ข้ามมายัง อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เพื่อเข้าพิธีแต่งงานกับเด็กหญิงชาวไทยวัยเพียง 11 ขวบเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา หนึ่งรูปธรรมที่เห็นชัดคือการที่ตัดสินใจของที่ประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีข้อตกลงว่าอายุขั้นต่ำของผู้หญิงที่จะสมรสได้ต้องมีอายุ 17 ปีขึ้นไป (ที่มา:มติชน)

20 องค์กรสิทธิฯ จี้ป้องกันสมรสก่อนวัยอันควร หลังอิหม่ามชาวมาเลย์วัย 41 แต่ง ด.ญ.ชาวนราฯ 11 ขวบ

กรรมการสิทธิฯ เสนอออก กม.ห้ามแต่งงานก่อนวัยอันควรครอบคลุมเด็กทุกคน

อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ กลุ่มที่ติดตามปัญหาและให้คำแนะนำด้านสิทธิเด็กในภาคใต้ให้ข้อมูลกับประชาไทว่า หลังเหตุการณ์ แต่การแต่งงานกับเด็กยังคงอยู่ ซึ่งปัญหาหลักนั้นมาจากความเข้าใจของคนในพื้นที่ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ทุกวันนี้ก็มีความคืบหน้ามากขึ้น หน่วยงานรัฐและผู้นำศาสนาก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิเด็กแล้ว

“การแต่งงานเด็กยังมีอยู่ มีการปรึกษาหารือเรื่องเด็กอายุ 13 จะแต่งงานกับผู้ชายอายุ 20 กว่า ซึ่งเราก็ได้บอกถึงความเป็นไปได้เรื่องสภาพร่างกาย จิตใจ อนาคต เราไม่สามารถไปห้ามปรามหรืออะไรได้ ให้ได้แค่คำปรึกษา สะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมยังไม่ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ในระยะยาวเพื่อจะแก้ไขมัน”

“ต้องทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ คนที่เป็นพ่อแม่ ให้เห็นความสำคัญเรื่องโอกาสที่ดีในอนาคตของเด็ก และผลกระทบถ้าเด็กแต่งงานในวัยอายุ 11-15 ปี มีความเสี่ยงต่อร่างกายจิตใจ การเผชิญปัญหาวิกฤติในชีวิตครอบครัว เราไปบังคับไม่ได้ แต่ทำให้เกิดการรับรู้ การตระหนักในสังคม ช่วยกันดูแลสอดส่อง หาโอกาสที่ดีให้กับชีวิตของเขามากกว่านี้” อัญชนากล่าว

ฐานข้อมูลสัดส่วนสถิติการแต่งงานของเด็กอายุไม่เกิน 15 และ 18 ปีจากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือ UNICEF บันทึกเมื่อ มี.ค. 2561 พบว่าในไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจำนวนร้อยละ 4 และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนร้อยละ 23 ที่แต่งงาน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยระดับโลกอยู่ที่ร้อยละ 5 และร้อยละ 21 ตามลำดับ ข้อมูลจาก UNICEF ยังระบุว่า แม้ปัจจุบันอัตราส่วนของการแต่งงานกับเด็กลดน้อยลงแล้ว แต่ยังมีเด็กที่แต่งงานไปแล้ว ทั้งที่ยังเป็นเด็กและที่โตขึ้นแล้วรวมทั้งหมดกว่า 650 ล้านคน

“การแต่งงานก่อนอายุ 18 ปีถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน มีหลายปัจจัยในการทำให้เด็กผู้หญิงเข้าไปมีความเสี่ยงที่จะต้องแต่งงาน ปัจจัยดังกล่าวรวมไปถึงควมยากจน มุมมองว่าการแต่งงานคือ ‘การปกป้อง’ เกียรติของวงศ์ตระกูล บรรทัดฐานทางสังคม ธรรมเนียมหรือกฎหมายทางศาสนาที่ทำให้ (การแต่งานก่อนอายุ 18 ปี) เป็นเรื่องไม่ผิด กรอบทางนิติบัญญัติที่ไม่เพียงพอ และระบบการจดทะเบียนราษฎร์ของประเทศ การแต่งงานกับเด็กบ่อยครั้งเป็นการบั่นทอนพัฒนาการของเด็กผู้หญิงจากการท้องก่อนวัยอันควรและการที่ต้องแยกตัวออกจากสังคม การรบกวนการไปโรงเรียน จำกัดโอกาสทางอาชีพและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และทำให้พวกเธอมีความเสี่ยงต่อความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น การแต่งงานกับเด็กนั้นทำกับเด็กผู้ชายด้วย แต่ว่าอยู่ในสัดส่วนที่น้อยกว่าเด็กผู้หญิง

(ที่มา: UNICEF)

เมื่อ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา อังคณา นีละไพจิตร. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า แม้เรื่องห้ามแต่งงานก่อนวัยอันควรจะมีระบุไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กแล้ว แต่อาจจะมีกรณีที่ขอต่อศาลได้ หรือกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เช่น กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือก็ยังมีประเพณีฉุดเด็กผู้หญิง หรือกรณีเป็นเด็กมุสลิมในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล มีกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดกซึ่งในรายละเอียดไม่ได้ระบุอายุที่สามารถแต่งงานไว้ ทำให้มีผู้นำศาสนาที่อนุญาตให้เด็กอายุน้อยแต่งงานได้ สิ่งที่กังวลมากคือการแสวงประโยชน์จากเด็ก เช่น กรณีที่เด็กอายุน้อยมากอายุ 11-12 ปี อยู่ในครอบครัวยากจนและพ่อแม่ให้แต่งงานเพื่อแบ่งเบาภาระการเลี้ยงดู ขณะที่มาเลเซียใช้กฎหมายอิสลามแต่ก็ระบุไว้ในกฎหมายว่าห้ามแต่งงานก่อนอายุ 16 ปี และกำลังจะขยายเป็น 18 ปี  ดังนั้นรัฐไทยควรจะควรจะพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเด็กและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ มุ่งเน้นให้การศึกษาแก่เด็ก และมีกลไกที่จะคุ้มครองเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กชาติพันธุ์ใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท