Skip to main content
sharethis

ยายอายุ 66 ปี ขอทำบัตรประชาชนมาหลายปี แต่กระบวนการออกบัตรล่าช้า ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองรักษาโรคได้จนอาการถุงน้ำดีอักเสบลุกลามและเสียชีวิตในที่สุด ลูกสาวเผยกว่าจะได้บัตรประชาชนก็ย่างเข้าไปปี 60 รักษาไม่ทันแล้ว ชี้ถ้าได้บัตรเร็วกว่านี้คงใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและแม่คงไม่เสียชีวิตแบบนี้

4 ต.ค.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา มีพิธีฌาปนกิจศพ ไอ๊ วาเส็ง อายุ 66 ปี ชาวบ้านชุมชนพูนทรัพย์ เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ซึ่งเสียชีวิตด้วยอาการถุงน้ำดีอักเสบและติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งการเสียชีวิตครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญเกิดจากการไม่ได้รับบริการทางการแพทย์ที่ทันท่วงทีเนื่องจาก ไอ๊ ไม่มีบัตรประชาชนและไม่สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ กว่าจะขอทำบัตรประชาชนได้ในภายหลัง อาการของโรคก็กำเริบจนไม่สามารถยื้อชีวิตต่อไปได้แล้ว

วิไลย์ แซ่ตัน บุตรสาวของไอ๊ กล่าวว่า มารดาของตนมีโรคประจำตัวคือโรคความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองตีบจนเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีก โดย 5 ปีก่อนเริ่มมีอาการถุงน้ำดีอักเสบและเป็นนิ่วเพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งที่ผ่านมามารดาของตนพยายามดำเนินการขอทำบัตรประชาชนหลายครั้ง ทั้งที่ กทม. และที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นภูมิลำเนาดั้งเดิม ซึ่งจากประสบกาณ์ที่พบคือขั้นตอนขอทำบัตรประชาชนมีความยุ่งยากและไม่มีการให้คำแนะนำใดๆ จากเจ้าหน้าที่ มีการเรียกข้อมูลเอกสารและพยานยืนยันตัวต่างๆ มากมาย กว่าที่มารดาตนจะได้บัตรประชาชนและได้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ปี 2560 แล้ว ซึ่งไม่ทันท่วงทีต่อการรักษาเยียวยาโรค

“การขอทำบัตรมีขั้นตอนยุ่งยากมาก ต้องเดินทางไปกลับ กทม.-สุพรรณบุรีหลายรอบ เราเอาญาติพี่น้องของแม่ไปเป็นยืนยัน ทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่ได้ ต้องเอากำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมายืนยันด้วย แต่เนื่องจากผู้ใหญ่บ้าน-กำนันคนเก่าเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนคนใหม่ก็บอกว่าไม่รู้จักเพราะเราย้ายมาอาศัยใน กทม.นานแล้ว การทำบัตรประชาชนจึงยุ่งยากมาก” วิไลย์ กล่าว

วิไลย์ กล่าวอีกว่า เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นครั้งที่มีโอกาสสูงที่สุดที่มารดาของตนจะได้บัตรประชาชนเพราะมีเอกสารหลักฐาน พยานยืนยันพร้อมหมด แต่ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงปลัดอำเภอเสียก่อน และปลัดอำเภอคนใหม่ไม่กล้าเซ็นอนุมัติเพราะกลัวว่าจะเป็นคนต่างด้าวมาสวมสิทธิ มารดาตนจึงพลาดโอกาสที่จะได้บัตรประชาชนและได้สิทธิหลักประกันสุขภาพอีกครั้ง

“ลองนึกภาพคนเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีกต้องเดินทางไปสำนักงานเขต ไปที่ว่าการอำเภอ แล้ว 5 ปีก่อนก็เริ่มมีอาการถุงน้ำดีอักเสบ เวลาไปโรงพยาบาลก็ไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ ก็ต้องรักษาไปตามอาการจนโรคลุกลาม หมดค่ารักษาไปเป็นแสน เงินเราก็ไม่มี ต้องติดหนี้โรงพยาบาล หมอบอกว่าถ้ามาเร็วกว่านี้ก็สามารถรักษาได้ ซึ่งถ้าแม่ได้บัตรประชาชนตั้งแต่ 5 ปีก่อนก็คงได้สิทธิบัตรทองและได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น แต่กระบวนการทำบัตรประชาชนยุ่งยากและล่าช้า กว่าจะได้บัตรก็ย่างเข้าปี 2560 แล้ว จึงรักษาไม่ทันและเสียชีวิตในที่สุด” วิไลย์ กล่าว

สำหรับสาเหตุที่ นางไอ๊ ไม่มีบัตรประชาชนตั้งแต่แรกนั้นเนื่องจากเป็นคนไร้สถานะมาตั้งแต่เกิด และตกสำรวจ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ในเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2561 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ระบบสุขภาพไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง Leave no one behind” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนไร้บ้านและผู้ไม่มีบัตรประชาชนหรือสถานะทางทะเบียนที่อยู่ ซึ่ง สุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน กล่าวว่า นอกจากคนไร้บ้านแล้ว อีกกลุ่มที่มีปัญหาคือคนไทยที่อาศัยอยู่ในชุมชนแต่ไม่มีบัตรประชาชนหรือสถานะทางทะเบียน เช่น ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ไปแจ้งเกิดหรือไม่พาไปทำบัตรประชาชน คนกลุ่มนี้ก็มีปัญหาในการเข้าถึงการบริการเช่นกัน 

นายกสมาคมคนไร้บ้าน เสนอแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า อยากให้มีการสำรวจผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชนทั่วประเทศ แล้วมาจัดกลุ่มว่าไม่มีบัตรเพราะอะไร เพราะทำหายหรือบัตรหมออายุแล้วไม่ได้ไปทำบัตรใหม่ หรือเป็นกลุ่มที่ไม่มีบัตรมาตั้งแต่แรกเนื่องจากพ่อแม่ไม่พาไปทำให้ ขณะเดียวกันยังเสนอว่าอยากให้รัฐจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งให้แก่หน่วยบริการสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลคนไร้บ้านหรือคนไม่มีบัตรประชาชน เพื่อไม่ให้หน่วยบริการหรือตัวของแพทย์เองต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาให้ เพราะเท่าที่สัมผัสมา แพทย์ก็พยายามช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ในบางเคสแต่จะให้รับภาระไปตลอดก็คงไม่ไหว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net