สนช. รับหลักการกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับรวด เปิดช่องให้มหาดไทยจัดเลือกตั้งได้

สนช. รับหลักการร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 พบเปิดช่องทางให้ กกต. มอบหมายให้หน่วยงานอื่น เช่นกระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ ส่วนการเลือกตั้ง ส.ข. ให้ชะลอออกไปก่อนรอปรับปรุงกฎหมายระเบียบบริหารราชการ กทม. สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติก่อน

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งหมด 12 ฉบับ โดยในจำนวนนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 6 ฉบับด้วยกัน ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ร่างพ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ร่างพ.ร.บ.เทศบาล ร่างพ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด ร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร และร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยพิจารณาพร้อมกัน เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่มีความเชื่อมโยงกัน 

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ เพื่อให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญใหม่ที่บัญญัติให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งและผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น หรือกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจะมาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งหลักเกณฑ์ และวิธีเลือกให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ ซึ่งต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงสมควรปรับปรุงกฎหมาย

สำหรับร่างกฎหมายท้องถิ่น ทั้ง 6 ฉบับ มีรายละเอียดสำคัญ คือ การกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นเทียบเท่าคุณสมบัติของ ส.ส. เช่น จะต้องไม่เคยถูกพิพากษาจนถึงที่สุดว่าทุจริตเลือกตั้ง หรือกระทำผิดกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นต้น และยังกำหนดข้อห้าม ผู้บริหารท้องถิ่น มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือเอื้อประโยชน์ในสัญญาที่ดำเนินการกับท้องถิ่น และห้ามใช้งบประมาณไปอบรมและดูงานต่างประเทศด้วย 

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร กำหนดให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานครและตำแหน่งอื่น ๆ ในปัจจุบันดำรงตำแหน่งจนกว่าจะเลือกตั้งใหม่ แต่หากจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องลาออกจากตำแหน่งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง ส่วนสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) ร่างกฎหมายยังคงกำหนดให้มี แต่ให้ชะลอการเลือกตั้งออกไปก่อน และจะต้องปรับปรุงกฎหมายระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ก่อนจัดการเลือกตั้ง ส.ข. 

สำหรับการจัดการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นระดับต่าง ๆ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จะเป็นผู้จัดการเองหรืออาจจะมอบหมายให้หน่วยงานอื่น อาทิกระทรวงมหาดไทยดำเนินการภายใต้การควบคุมของกกต.ได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งนี้การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งแรก ได้ให้อำนาจกับ คสช. พิจารณาว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทใดสมควรดำเนินการเลือกตั้งแล้ว ให้แจ้งให้ กกต. ทราบ เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง จากนั้นให้ประกาศ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เป็นคำสั่งยุติการเลือกตั้ง และกำหนดได้มาซึ่งสมาชิกและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคำสั่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสิ้นผลบังคับใช้ไป

ขณะที่สมาชิก สนช.หลายคนอภิปรายแสดงความเป็นห่วง เช่น นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสนช.ที่ห่วงเรื่องการใช้งบประมาณและวิธีป้องกันการทุจริตเลือกตั้งท้องถิ่นให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและเสียดายที่ไม่ได้กำหนดหรือจำกัดวาระการทำงานผู้บริหารท้องถิ่นให้ชัด เพราะไม่อยากให้มีเจ้าพ่อท้องถิ่น อยากให้คนหน้าใหม่เข้ามาพัฒนาท้องถิ่น 

ขณะที่พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสนช. อภิปรายถึงวาระของผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เล็งเห็นความสำคัญว่า หากผู้บริหารระดับสูงจะดำรงตำแหน่งยาวนานเกินไปย่อมมีข้อเสียมากกว่าข้อดี และประชาชนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จึงได้บัญญัติวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไว้ไม่ให้เกิน 8 ปี ดังนั้น ผู้บริหารท้องถิ่นควรมีลักษณะเช่นเดียวกัน โดยกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงไม่เกิน 8 ปี ส่วนการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้บริหารท้องถิ่น เห็นว่า ควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี สอดคล้องกับอายุของรัฐมนตรี โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนจังหวัด กทม.และพัทยา เพราะต้องบริหารจัดการงบประมาณจำนวนมาก 

พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงว่า ไม่สามารถคาดการณ์ได้ชัดเจนว่ากฎหมายท้องถิ่นจะแล้วเสร็จเมื่อใด ดังนั้น การกำหนดว่าจะทำอะไรก่อนหรือหลังการเลือกตั้งทั่วไปจึงไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่แน่นอน อีกทั้งกกต.ระบุว่า อยากให้การเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งท้องถิ่นมีระยะห่าง 90 วัน 

จากนั้น ที่ประชุมสนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นวาระแรกด้วยคะแนน 168 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ร่างพ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 168 งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ร่างพ.ร.บ.เทศบาล ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 170 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ร่างพ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 171 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 169 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง และร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 169 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 โดยทั้งหมดมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย กำหนดกรอบการทำงาน 60 วัน แปรญัติ 15 วัน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา สนช. ได้แถลงผลงานตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่ 7 ส.ค. 2557 สนช. ได้ปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ทุกประการ ทั้งในบทบาทการตรากฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลถึง 87 เรื่อง  การให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่ง รวมถึงมีการตั้งคณะกรรมาธิการ และคณะกรรมการต่างๆ  เพื่อขับเคลื่อนงานจนบรรลุเป้าหมาย  มีทั้งการตั้งคณะกรรมาธิการที่เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญโดยตรงและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  โดยรวบรวมความเห็นของประชาชน ส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  เพื่อประกอบการพิจารณายกร่าง สู่การมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกฎหมายลูกครบ 10 ฉบับ มีการตรากฎหมายถึง 347 ฉบับ ประกาศมีผลบังคับใช้แล้ว 315 ฉบับ 

 เรียบเรียงจาก : สำนักข่าวไทย, เว็บข่าวรัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท