Skip to main content
sharethis

5 ต.ค. 2561 เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองรายงานว่า โคอิ มีมิ หรือที่รู้จักกันในชื่อปู่คออี้ผู้นำอาวุโสกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอผืนป่าแก่งกระจาน บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เสียชีวิตอย่างสงบในเวลา 04.14 น. ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเพชรบุรี อายุ 107 ปี

ปู่คออี้ ภาพเมื่อปี 2554

มติชนรายงานว่า ปู่คออี้ถูกส่งตัวจากโรงพยาบาล (รพ.) แก่งกระจานไปรักษาตัวที่ รพ.พระจอมเกล้าเพชรบุรีเมื่อวันที่ 29 ก.ย. ด้าน นพ.ชุมพล เดชะอำไพ ผู้อำนวยการ (ผอ.) รพ.พระจอมเกล้าเพชรบุรีกล่าวว่า ได้รับแจ้งจากสาธารณสุขจังหวัดว่ามีปู่อายุ 107 ปี นอนไม่รู้สึกตัว มีอาการหายใจผิดปกติ ได้ประสานกับ รพ.แก่งกระจานที่เป็นผู้ไปรับมาก่อนอยู่ตลอด จากการตรวจเบื้องต้นที่ รพ.พระจอมเกล้าฯ พบว่ามีปัญหาติดเชื้อทางเดินหายใจและปอดอักเสบ หลังอยู่ รพ.ได้สองวันก็มีอาการรุนแรง มีปัญหาทางเดินอาหารช่วงกระเพาะอาหารเพิ่ม และปู่คออี้ทนสภาพความรุนแรงไม่ไหวก็ได้จากไป

สุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ให้ข้อมูลว่าขณะนี้ได้มีการรดน้ำศพปู่คออี้ที่ รพ. แล้ว ญาติกำลังรับศพไปทำพิธีทางศาสนาความเชื่อที่โป่งลึก บางกลอย ถิ่นที่อยู่อาศัยล่าสุดของปู่คออี้ โดยจะดำเนินพิธีเป็นเวลาสามวันสามคืน และเผาศพในวันที่สี่

ปู่คออี้และสมาชิกครอบครัวชาวกะเหรี่ยงเคยอาศัยอยู่ที่ "บ้านบางกลอยบน" หรือ "ใจแผ่นดิน" ในผืนป่าแก่งกระจานก่อนการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี พ.ศ. 2524 ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 เจ้าหน้าที่อุทยานให้ชาวบ้านอพยพลงมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย แต่ปู่คออี้ไม่ชินกับสภาพแวดล้อมจึงขอกลับไปอยู่ "บ้านบางกลอยบน" กระทั่งในปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หน.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ได้ดำเนินการไล่รื้อบ้านและยุ้งฉาง และยึดเครื่องมือเครื่องใช้รวม 6 ครั้ง และพาปู่คออี้ลงมาอยู่พื้นที่ด้านล่าง  

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ปฏิบัติการตามโครงการขยายผลการอพยพผลักดัน จับกุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-สหภาพเมียนมาร์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ครั้งที่ 4 บริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554  โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ได้ทำการรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง รวมถึงของผู้ฟ้องคดีทั้งหกด้วย รวมแล้วมีบ้านพักอาศัย และยุ้งฉางถูกจุดไฟเผาจำนวน 98 หลัง

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ครั้งนั้นทำให้วันที่ 4 พ.ค. 2555 ปู่คออี้กับพวกรวม 6 คน โดยได้รับความช่วยเหลือจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะหน่วยงานซึ่งกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น

เมื่อปี 2559 ศาลปกครองสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีคือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด โคอิ หรือคออี้ มีมิ กับ พวกรวม 6 คน ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ เข้าดําเนินการรื้อถอนเผาทําลายทรัพย์สิน และสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่อาศัยของโคอิกับพวก คนละ 10,000 บาท ภายใน 30 วัน แต่คออี้ ชาวบ้านและทนายความเห็นว่าคําตัดสินดังกล่าวยังมีความบกพร่อง คลาดเคลื่อน และยัง วินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามคําฟ้องจึงยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาดังกล่าว (อ่านคำพิพากษาศาลปกครองกลางฉบับเต็ม)

12 มิ.ย. 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคําพิพากษาแก้คําพิพากษาของศาลปกครอง (อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มที่นี่)  ให้กรม อุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 คือ คออี้ เป็นเงิน 51,407 บาท และพวกประกอบด้วย ผู้ฟ้องคดีที่ 2 เป็นเงิน 50,032 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็น เงิน 51,407 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 4 เป็นเงิน 45,302 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 5 เป็นเงิน 50,807 บาท และผู้ฟ้องคดีที่ 6 เป็นเงิน 50,032 บาท หากผู้ฟ้องคดีรายใดได้รับค่าสินไหมทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินกรณีนี้ไปแล้วให้หักออกจากค่าสินไหมทดแทนตามคําพิพากษานี้ ทั้งนี้ ภายใน 30 วัน (อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดฉบับเต็ม)

ศาลสั่งจ่าย 'ปู่คออี้กับพวก' เพิ่มเป็น 50,000 แต่ไม่ให้กลับที่เดิม- 'ชัยวัฒน์' ยันไม่ขอโทษ

ในส่วนของเงินสินไหมนั้น สุรพงษ์ให้ข้อมูลว่าปู่คออี้ได้ไปยื่นขอแล้ว และทางกรมอุทยานฯ ก็ได้นำเงินมาให้ศาลแล้ว ศาลกำลังดำเนินกระบวนการออกเช็คให้ปู่รับเงินแต่ก็เสียชีวิตไปก่อน

สําหรับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ที่ขอให้กลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนมีคําสั่งทางปกครองของ เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท เนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ผู้ฟ้องไม่มีหนังสือสําคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทําประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจกําหนดคําบังคับให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 กลับคืนสู่สภาพเดิม

อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของศาลระบุว่าทางพนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการเกินความจำเป็น และไม่สมควรแก่เหตุ ไม่มีหนังสือแจ้งล่วงหน้าให้จัดการกับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินก่อนที่จะเข้ากระทำการโดยสำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้น รวมถึงไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดการใช้อํานาจของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนของการจัดการทรัพยากรที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทํากินในพื้นที่ดั้งเดิม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่าคำพิพากษาดังกล่าวเป็นการยอมรับว่าบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยงในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

มองคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน 4 ประเด็นที่ดีขึ้น 1 ประเด็นที่ต้องผลักดันต่อ

ทางสุรพงษ์ระบุว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนั้นให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 มติดังกล่าวระบุว่าถ้ามีการพิสูจนแล้วว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนดั้งเดิมก็สามารถให้กลับไปได้ ศาลพิพากษาไว้แล้วว่าชุมชนโป่งลึก บางกลอยหรือใจแผ่นดิน เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

“ปู่ (คออี้) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของสังคมไทยของคนที่เกิดและโตในประเทศไทยมานานแล้ว เป็นที่รู้จักดีของคนทั้งเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียงด้วย 107 ปีแล้ว ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่าเป็นคนต่างด้าว คนตัดไม้ทำลายป่า คนบุกรุกป่า ปู่ก็ลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องนี้ ถือเป็นคนที่มีอายุสูงสุดที่ลุกขึ้นมาสู้ แล้วสุดท้ายปู่ก็ชนะ”

“ตอนนี้สู้มาก็ชนะในทางหลักการให้ปู่ ลูกหลานปู่และกลุ่มชาติพันธุ์สามารถใช้สิทธิทางสัญชาติ ที่ดิน ทรัพย์สิน ด้านวัฒนธรรม” สุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติม

ภาพถ่ายเมื่อปี 2493  วุฒิ บุญเลิศ ผู้เชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงระบุว่าพรานที่ถือปืนคือปู่คออี้ (ที่มาภาพ: Transbordernews)

เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จากหลักฐานทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน หรือ ทร.ชข. ปรากฏว่า “ปู่คออี้” เกิดเมื่อปี 2454 บริเวณต้นน้ำลำภาชี รอยต่อของจังหวัดเพชรบุรีและราชบุรี และทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบริเวณที่เรียกว่าบ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบนเรื่อยมา โดยเมื่อ 31 ก.ค ที่ผ่านมา ปู่คออี้เพิ่งทำบัตรประชาชน ณ ที่ว่าการอำเภอแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

ปู่คออี้ทำบัตรประชาชนใบแรกเมื่ออายุ 107 ปี สอบหลักฐานชัดเป็นคนไทยตั้งแต่เกิด

ลำดับเหตุการณ์ โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ก่อนมีคำพิพากษาในวันนี้

2448 ปู่คออี้เกิด และอยู่อาศัยในพื้นที่แก่งกระจาน

2524 ประกาศพื้นที่แก่งกระจานเป็น “อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน”

2539 เจ้าหน้าที่ให้กะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่บางกลอยบน หรือ "ใจแผ่นดิน" อพยพลงมาจากบ้านที่เขาอ้างว่าอยู่ตั้งแต่เกิด มาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย แต่ปู่คออี้ ไม่ชินกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไป จึงกลับขึ้นไปอยู่บ้านเกิดของตน ณ บางกลอยบนตามเดิม

2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ได้ดำเนินการไล่รื้อ เผาบ้าน และยุ้งฉางข้าว รวมทั้งยึดเครื่องมือ เครื่องใช้อุปกรณ์ในการทำไร่ของชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี รวมจำนวน 6 ครั้ง และปู่คออี้ยังถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงสู่พื้นที่ด้านล่าง

2555 ปู่คออี้ต่อสู้คดีในชั้นศาล หมายเลขคดีดำที่ ส.58/2555 กับพวกรวม 6 คนเป็นผู้ฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและขอสิทธิกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าแก่งกระจานที่เป็นพื้นที่ดั้งเดิมที่ชาวกะเหรี่ยงได้ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณลำห้วยเหนือแม่น้ำบ้านบางกลอยบน มาแต่ครั้งบรรพบุรุษเป็นเวลาร่วมกว่าร้อยปี

2557 พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ อายุ 30 ปีแกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หนึ่งในพยานของคดีการรื้อถอนและเผาบ้านกะเหรี่ยง อีกทั้งยังเป็นหลานของปู่คออี้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

2559 ศาลปกครองตัดสินกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้นไปเผาบ้านเรือน ยุ้งข้าว และรื้อทำลายทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติและมีการล่าสัตว์ ถือว่ากระทำความผิดตามมาตรา 16 (1)(ครอบครองที่ดินและแผ้วถางป่า)16(2)(เก็บหาหรือทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมสภาพ) และ 16(3) (นำสัตว์ออกไปหรือทำอันตรายแก่สัตว์) แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ส่วนการรื้อถอนด้วยวิธีเผาทำลายเพิงพักและยุ้งฉาง ศาลตัดสินว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วนและตามควรแก่กรณีสภาพการณ์ เพราะหากรื้อถอนไปแล้วคงเหลือวัสดุก่อสร้างไว้ที่เดิม ย่อมจะทำให้ผู้กระทำความผิดนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ได้ ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยศาลให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดคนละ 10,000 บาท ภายใน 30 วัน  

แต่ปู่คออี้ ชาวบ้าน และทนายความเห็นว่าคำตัดสินดังกล่าวยังมีความบกพร่อง คลาดเคลื่อน และยังวินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามคำฟ้องจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว

2561 ศาลปกครองสูงสุดนัดพิจารณาคดีครั้งแรก  ฝ่ายปู่คออี้โต้แย้งในประเด็นหลัก คือ ความมีอยู่จริงของการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมของตนและชาวบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ซึ่งมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เคยรับรองการมีอยู่ของชุมชนดั้งเดิมชาวกะเหรี่ยง รวมถึงวิถีทางวัฒนธรรมและการผลิตแบบไร่หมุนเวียนว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังโต้แย้งการอ้างอิงแนวปฏิบัติตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ว่าไม่ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเผาบ้านชาวบ้าน และตามขั้นตอนแล้ว ต้องติดประกาศเตือนอย่างชัดเจนก่อน หากชาวบ้านไม่ทำตามจึงใช้อำนาจศาลสั่งให้โยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่

12 มิ.ย. 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคําพิพากษาแก้คําพิพากษาของศาลปกครอง (อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มที่นี่)  ให้กรม อุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 คือ คออี้ เป็นเงิน 51,407 บาท และพวกประกอบด้วย ผู้ฟ้องคดีที่ 2 เป็นเงิน 50,032 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็น เงิน 51,407 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 4 เป็นเงิน 45,302 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 5 เป็นเงิน 50,807 บาท และผู้ฟ้องคดีที่ 6 เป็นเงิน 50,032 บาท หากผู้ฟ้องคดีรายใดได้รับค่าสินไหมทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินกรณีนี้ไปแล้วให้หักออกจากค่าสินไหมทดแทนตามคําพิพากษานี้ ทั้งนี้ ภายใน 30 วัน

สําหรับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ที่ขอให้กลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนมีคําสั่งทางปกครองของ เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท เนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ผู้ฟ้องไม่มีหนังสือสําคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทําประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจกําหนดคําบังคับให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 กลับคืนสู่สภาพเดิม

อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของศาลระบุว่าทางพนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการเกินความจำเป็น และไม่สมควรแก่เหตุ ไม่มีหนังสือแจ้งล่วงหน้าให้จัดการกับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินก่อนที่จะเข้ากระทำการโดยสำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้น รวมถึงไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดการใช้อํานาจของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนของการจัดการทรัพยากรที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทํากินในพื้นที่ดั้งเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net