Skip to main content
sharethis

สรุปคดีฟ้องหมิ่นประมาทประชาธิปัตย์ 'ว.5 โฟร์ซีซันส์' 3 คดี โดยศาลยกฟ้อง 2 คดี กรณีชวนนท์-มัลลิกาแถลงข่าว ถือว่าทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ติชมสุจริต ส่วนกรณีพิธีกรสายล่อฟ้า 'ชวนนท์-ศิริโชค-เทพไท' ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าผิด โดยต่อมายิ่งลักษณ์ได้ยื่นคำร้องถอนฎีกา ทำให้จำเลยทั้ง 3 ทำหนังสือขออภัยดังกล่าว

"บัดนี้ ข้าพเจ้ากับพวกรวมสามคนคือนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต จำเลยที่ 1 นายศิริโชค โสภา จำเลย ที่ 2 และนายเทพไท เสนพงษ์ จำเลยที่ 3 ได้สำนึกผิดแล้ว และขออภัยต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้ให้อภัยต่อข้าพเจ้า และได้ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาให้กับข้าพเจ้ากับพวก ทำให้ข้าพเจ้ากับพวก หลุดพ้นจากคดีนี้ ข้าพเจ้ากับพวกทั้งสามคนขอขอบคุณ และถือโอกาสนี้แจ้งข่าวให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป"

พิธีกรรายการสายล่อฟ้า (จากซ้ายไปขวา) ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต, ศิริโชค โสภา และเทพไท เสนพงษ์ (ที่มา: แฟ้มภาพ/Bluesky Channel)

5 ต.ค. 2561 ศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.สงขลา รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ดำเนินรายการสายล่อฟ้า ทางสถานีโทรทัศน์บลูสกายแชนแนล โพสต์เฟซบุ๊กขออภัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาสั่งจำคุกในคดีหมิ่นประมาทยิ่งลักษณ์ กรณีโฟร์ซีซันส์ โดยร้องขอให้มีการถอนฏีกา โดยมีข้อความดังนี้

จดหมายเปิดผนึก
5 ตุลาคม 2561

ตามที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โจทก์ร่วม ยื่นฟ้องข้าพเจ้าทั้งสามคน คือ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ที่ 1 นายศิริโชค โสภา ที่ 2 และนายเทพไท เสนพงษ์ ที่ 3 เป็นจำเลยต่อศาลอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาทปรากฎตาม คดีหมายเลขดำที่ อ.630/2557 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.2708/2558

โดยวิธีการโฆษณาด้วยการดำเนินรายการสายล่อฟ้า ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่องบลูสกาย ในขณะที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ฯ เดินทางไปปฎิบัตภารกิจที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ แต่ข้าพเจ้านายศิริโชค โสภา กับพวกดังกล่าวได้จัดรายการโดยนำป้ายที่ใช้แขวนหน้าห้องพักของโรงแรมปรากฎข้อความว่า ”เอาอยู่” มานำเสนอในรายการแล้วพูดประกอบว่า ”ห้องนี้เอากันอยู่หรือแขกก็เอากันอยู่ อ๊ะๆๆๆๆ และปูโฟร์ซีซั่นส์ ปู ว.5 ปูเอาอยู่ เยอะมากๆ นะฮะ คำกล่าวขานท่านนายกเนี่ย”

ข้อความและการกระทำของข้าพเจ้ากับพวกดังกล่าว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษาว่าการกระทำดังกล่าวของข้าพเจ้ากับพวกทั้งสามคนเป็นความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ1 ปี ปรับคนละ 50,000 บาท ขณะนี้ข้าพเจ้ากับพวกได้ฎีกาคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง และศาลฎีกาได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 ตุลาคม 2561 เวลา 9.30 นาฬิกา

ข้าพเจ้านายศิริโชค โสภากับพวกอีกสองคน รวมทั้งข้าพเจ้าด้วยเป็นสามคนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่า “ข้อความและการกระทำของพวกข้าพเจ้าดังกล่าว เป็นการหมิ่นประมาทนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมาตรี และในฐานะส่วนตัวจริง ข้อความและป้ายดังกล่าวที่นำมาประกอบนั้นไม่ถูกต้อง และไม่เป็นความจริง

บัดนี้ ข้าพเจ้ากับพวกรวมสามคนคือนายชวนนท์ อินทรโกมาลสุต จำเลยที่ 1 นายศิริโชค โสภา จำเลย ที่ 2 และนายเทพไท เสนพงษ์ จำเลยที่ 3 ได้สำนึกผิดแล้ว และขออภัยต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้ให้อภัยต่อข้าพเจ้า และได้ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาให้กับข้าพเจ้ากับพวก ทำให้ข้าพเจ้ากับพวก หลุดพ้นจากคดีนี้ ข้าพเจ้ากับพวกทั้งสามคนขอขอบคุณ และถือโอกาสนี้แจ้งข่าวให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป (ลงลายมือชื่อ)

ทั้งนี้ข้อมูลจาก นสพ.มติชนออนไลน์ระบุว่า ยิ่งลักษณ์ได้มอบหมายให้ทนายความคือสมหมาย กู้ทรัพย์ ไปยื่นถอนฎีกาในวันที่ 8 ต.ค. นี้ โดยคนใกล้ชิดระบุว่า อดีตนายกรัฐมนตรีได้ให้อภัยและเมตตาอดีต ส.ส.ทั้ง 3 คน ไม่อยากจะทำลายอนาคตทางการเมือง เพราะหากศาลฎีกา ตัดสินว่าอดีต ส.ส.ทั้ง 3 คนมีความผิด นอกจากจะต้องถูกจำคุก ยังขาดคุณสมบัติการลงรับสมัคร ส.ส. ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองอีก 5 ปีด้วย

นอกจากนี้วัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ และแกนนำพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ประสานกับศิริโชค แนะนำให้ทั้ง 3 คนทำจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว

คดี ว.5 โฟร์ซีซัน ยกฟ้อง 2 คดี ส่วน "สายล่อฟ้า" ศาลตัดสินให้ผิด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าสำหรับคดี ว.5 โฟร์ซีซันดังกล่าว มีทั้งหมด 3 คดี คดีที่ศาลฟ้องเอาผิดจำเลยคือคดี 3 พิธีกรสายล่อฟ้าตามข่าวข้างต้น ส่วนอีก 2 กรณีที่ศาลยกฟ้องจำเลย เป็นการแถลงข่าวระหว่าง 19-21 ก.พ. 2555 ของทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์คือชวนนท์ อินทรโกมาล์สุต และมัลลิกา บุญมีตระกูล

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อ 16 มี.ค. 2558 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ คดีหมายเลขดำ 2492/2556 และเมื่อ 27 เม.ย. 2558 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ คดีหมายเลขดำ อ.2493/2556

กรณีคดีของชวนนท์ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่สองฝ่ายนำสืบหักล้างกันแล้วพยานโจทก์ นำสืบทำนองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์โจทก์ร่วม ได้ร่วมประชุมกับนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายอนันต์ อัศวโภคิน และบุคคลอื่นๆ รวม 5 คน เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น แม้ในการประชุมดังกล่าวจะไม่เป็นความลับ แต่ก็ไม่เปิดเผยในรายละเอียด โดยขณะนั้นโจทก์ร่วมและ ครม. ได้เลื่อนประกาศการปรับโครงสร้าง การประเมินราคาที่ดินและการปรับผังเมืองการใช้ที่ดิน

ศาลเห็นว่า ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นด้านธุรกิจ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าทำไมจึงเป็นการประชุมกันเพียงกลุ่มย่อย ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อประเทศ แต่กลับไม่มีการประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อีกทั้งการประชุมดังกล่าวก็เป็นความลับไม่เปิดเผยต่อบุคคลภายนอก จึงทำให้เป็นที่สงสัยของฝ่ายจำเลยในฐานะโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาล นอกจากนี้ เมื่อสอบถามไปยังนายอนันต์ อัศวโภคิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าวด้วย แต่เจ้าตัวกลับปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด ถ้าหากนายอนันต์ เข้าร่วมประชุมด้วยจริงก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องปฏิเสธ

จากทางนำสืบ ศาลจึงเห็นว่าพฤติการณ์โจทก์มีเหตุสมควรที่ทำให้จำเลยสงสัย และมีเหตุสมควรที่จำเลยจะออกมาแถลงข่าว ซึ่งแม้จำเลยพิสูจน์เรื่องดังกล่าวไม่ได้ และข้อความที่จำเลยแถลงข่าวนั้นอาจหมิ่นประมาทก็ตาม แต่การที่จำเลยแถลงข่าวในฐานะพรรคฝ่ายค้านอันมีลักษณะเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ดังนั้นยังไม่เป็นความผิด ศาลจึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

ส่วนกรณีของมัลลิกา ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมนำพยานขึ้นเบิกความ แต่ประเด็นการเบิกความของพยานโจทก์แตกต่างกัน ทั้งในประเด็นเรื่องของห้องที่ใช้ในการประชุมที่โรงแรมโฟรซีซั่นส์ก็เบิกความเป็นคนละห้องกัน ส่วนพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ติดตามโจทก์ร่วมก็ไม่ได้อยู่ภายในห้องประชุมด้วย โดยนั่งรออยู่ด้านนอกห้องประชุมชั้น 7 รวมทั้งตัวโจทก์ร่วมเองและนักธุรกิจที่เข้าร่วมประชุมกับโจทก์ร่วมในวันดังกล่าวก็ไม่ได้มาเบิกความเป็นพยานต่อศาล จึงมีข้อพิรุธสงสัยว่าโจทก์ร่วมอยู่ในการประชุมที่โรงชั้นโฟร์ซีซั่นส์ชั้น 7 ด้วยหรือไม่ อีกทั้งโจทก์ร่วมไม่ได้แจ้งกำหนดการดังกล่าวให้สื่อมวลชนทราบ จึงเป็นที่สงสัยแห่งสาธารณชน และไม่ปรากฎว่าโจทก์ร่วมได้ออกมาชี้แจงหรือแถลงข่าวในกรณีดังกล่าวให้ทราบแต่อย่างใด จำเลยในฐานะประชาชนและในฐานะรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมมีสิทธิที่จะติชมการทำงานของฝ่ายรัฐบาลและสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้

ส่วนข้อความที่จำเลยแถลงข่าวนั้นก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นการกล่าวหาโจทก์ร่วมในประเด็นเรื่องที่โจทก์ร่วมผิดจริยธรรมหรือไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไรบ้าง พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง การแถลงข่าวของจำเลยจึงเป็นการติชมด้วยความสุจริตเป็นธรรม จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net