Skip to main content
sharethis

หอภาพยนตร์ กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศขึ้นทะเบียนภาพยนตร์ 20 เรื่อง เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 8 ในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย

5 ต.ค.2561 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งกำกับดูแลหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ทำการประกาศรายชื่อภาพยนตร์ 20 เรื่องขึ้นทะเบียนเป็ยมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 8 ประจำปี พ.ศ. 2561 ซึ่งกิจกรรมขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ หอภาพยนตร์ทำการได้ประกาศรายชื่อภาพยนตร์ต่อเนื่องมาทุกปี โดยรวมในปีนี้แล้วจะมีภาพยนตร์ทั้งหมด 185 เรื่อง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ เพื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ เป็นหลักประกันว่าภาพยนตร์เหล่านี้จะได้รับการอนุรักษ์อย่างดีเพื่อส่งต่อให้ชนรุ่นหลัง โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคือการเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่า บันทึกประวัติศาสตร์ ความทรงจำ มีความเสี่ยงต่อการสูญเสีย บูรณภาพ หรือมีอิทธิพลต่อสังคมในยุคสมัยต่างๆ

ในปีนี้ หอภาพยนตร์ได้ใช้วิธีสรรหาเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตัดสินขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2561 จำนวน 8 ท่าน จากหลากหลายสาขาอาชีพได้แก่ ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ราชบัณฑิต ประเภทวิชาวรรณศิลป์ ร.ศ.อรชุมา ยุทธวงศ์ นักวิชาการและแอคติ้งโค้ช, ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการและนักเขียน, พรพิชิต พัฒนถาบุตร นักวิชาการอิสระ, ก้อง ฤทธิ์ดี สื่อมวลชน, อัษฎาวุธ สาคริก นักดนตรี, ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการและนักเขียน โดยมี ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารหอภาพยนตร์ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ โดยปีนี้คณะกรรมการพิจารณาตัดสินได้คัดเลือกภาพยนตร์จำนวน 20 เรื่อง จากภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอให้พิจารณา 325 เรื่อง จากประชาชนที่ร่วมเสนอกว่า 1,000 ราย ให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติได้แก่

1. [งานพระบรมศพพระพุทธเจ้าหลวง] (2453) 2. [การถ่ายภาพยนตร์เสียงในฟิล์มครั้งแรกในสยาม] (2472) 3. [แข่งขันกอล์ฟ ๒๔๗๔] (2474) 4. ขนมเปี๊ยะของอากง (2496) 5. หนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่ [2500] 6. [ภาพยนตร์โฆษณาสี่คิงส์] (2502) 7. งานศพนายอ๋องซิมผ่าย ถาวรว่องวงศ์ (2512) 8. ไอ้ทุย (2514) 9. พิธีพระราชทานเพลิงศพวีรชนผู้เสียชีวิต ณ บริเวณท้องสนามหลวง 13-15 ตุลาคม 2517 (2517) 10. เพื่อนรัก (2520) 11. มนต์รักแม่น้ำมูล (2520) 12. เมียหลวง (2521) 13. เลือดสุพรรณ (2522) 14. รุ่งอรุณวันใหม่ในป่า (2523) 15. แก้ว (2523) 16. อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป (2535) 17. กล่อง (2541) 18. สัตว์ประหลาด ! (2547) 19. ก้านกล้วย (2549) 20. ฉลาดเกมส์โกง (2560)

อนึ่ง ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม หอภาพยนตร์ได้นำภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติครั้งที่ 8 บางส่วน มาจัดฉายที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา และทางช่องทาง Youtube ของหอภาพยนตร์ www.youtube.com/FilmArchiveThailand โดยสามารถติดตามโปรแกรมได้ที่ www.fapot.org หรือ www.facebook.com/thaifilmarchivepage สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 02-482-2013-14 ต่อ 111

สำหรับ หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 8

ประกอบด้วย 

1. คุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ สถานที่ กาลสมัย บุคคล เหตุการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับคนไทยและสังคมไทย ในมิติต่างๆ เช่น มานุษยวิทยา สังคมวิทยา เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ทั้งในฐานะปัจเจกและกลุ่มหรือมวลชน สามารถทำให้ผู้ชมเข้าถึงและเข้าใจมิติเหล่านั้นในเชิงประวัติศาสตร์หรือความทรงจำ

2. คุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ เป็นผลงานภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ อันแสดงถึงศิลปะวิทยาทางด้านภาพยนตร์

3. มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เป็นภาพยนตร์ที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น การนำเสนอภาพยนตร์นั้นไม่ว่าการถ่ายทำ การแสดง การตัดต่อ ฯลฯ  มีความคิดริเริ่ม ไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อนในภาพยนตร์อื่นๆ

4. บูรณภาพ คือความสมบูรณ์ครบถ้วนของผลงานภาพยนตร์ตรงตามต้นฉบับของผู้สร้างสรรค์ ภาพยนตร์ที่ออกฉายแล้วอาจถูกตัดทอน ถูกเสริมเติมแต่งเพิ่มเติม ถูกดัดแปลงไปด้วยเหตุต่างๆ

5. ความเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือยากแก่การหาทดแทน เป็นภาพยนตร์ที่ยังมีฟิล์มต้นฉบับหรือสำเนาในรูปแบบอื่นใดอยู่ แต่ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะสูญเสียภาพยนตร์นั้นไป ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น มีต้นฉบับหรือสำเนาอยู่เพียงชุดเดียว หรือภาพยนตร์นั้นกำลังเสื่อมสภาพ หรือสภาพการจัดเก็บไม่ปลอดภัย ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น

6. อิทธิพลต่อคนและสังคม ภาพยนตร์ที่สามารถส่งผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อปัจเจกชนและหรือต่อสังคม ไม่ว่าทางด้านพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อ อารมณ์ ฯลฯ อาจก่อให้เกิดกระแสสมัยนิยมเกิดการเปลี่ยนแปลง ค่านิยม ขนบธรรมเนียม ไม่ว่าชั่วระยะเวลาสั้นหรือยั่งยืนนาน

เรื่องย่อความสำคัญของภาพยนตร์

1. [งานพระบรมศพพระพุทธเจ้าหลวง]

ภาพยนตร์ข่าวบันทึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าและความสำคัญยิ่งต่อคนไทย ภาพยนตร์ข่าวเรื่องนี้ นอกจากเป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์แล้ว ยังบอกเล่ารายละเอียดแวดล้อมอื่นๆที่สามารถต่อยอดความรู้อีกมากมาย และที่พิเศษคือ เป็นราวที่เกี่ยวกับ พระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งมิได้เป็นเพียงพระมหากษัตริย์ของสยาม แต่คือพระมหากษัตริย์สำคัญของโลกพระองค์หนึ่งในยุคสมัยนั้น

2. [การถ่ายภาพยนตร์เสียงในฟิล์มครั้งแรกในสยาม]

ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำโดยมีการบันทึกเสียงในฟิล์มเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ทั้งภาพและเสียงของภาพยนตร์ยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก สิ่งที่คณะกรรมการประทับใจคือ เสียงสนทนาที่ปรากฏในภาพยนตร์มีสำเนียงและน้ำเสียงของผู้คนที่พูดคุยกันในสมัยนั้นที่ฟังดูแปลกหูแตกต่างจากสำเนียงและน้ำเสียงของการพูดในสมัยปัจจุบันอย่างมาก อันที่จริงคณะถ่ายทำภาพยนตร์ชุดนี้ได้พยายามขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตเพื่อขอถ่ายสัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ ด้วยทรงเกรงว่าภาพยนตร์อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม

3. [แข่งขันกอล์ฟ ๒๔๗๔]

ภาพยนตร์สมัครเล่นส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ซึ่งได้บันทึกภาพประวัติศาสตร์ของการแข่งขันกีฬาอาชีพในเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่หอภาพยนตร์ค้นพบในปัจจุบัน โดยบันทึกการแข่งขันกอล์ฟอาชีพ ประเภทเปิดทั่วไป รายการ Open Championship ครั้งที่ 2 ซึ่งนับเป็นรายการแข่งขันกอล์ฟอาชีพรายการแรกในเมืองไทย จัดขึ้นโดยพระบรมราชูปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ภาพยนตร์บันทึกบรรยากาศที่หาชมได้ยากยิ่ง และที่น่าตื่นเต้นคือ ผู้ชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้ได้แก่ ทิม ทัพพวิบูล ผู้เป็นนักกอล์ฟอาชีพคนแรกของสยาม ซึ่งต่อมาเป็นครูกอล์ฟคนแรกของสยามด้วย เป็นการค้นพบทิมครั้งแรกในภาพยนตร์

4. ขนมเปี๊ยะของอากง

ภาพยนตร์สารคดีนี้ ได้นำเสนอขั้นตอนการทำขนมเปี๊ยะ ตั้งแต่การปอกเปลือกลูกฟัก หั่นเป็นชิ้น นวดแป้ง กวนไส้ขนมในกระทะใบใหญ่ ปั้นไส้ ชั่งน้ำหนักและอื่นๆอีกมากมายที่หลังร้าน ซึ่งปกติจะเป็นความลับ จนถึงการขายที่หน้าร้าน ดูแล้วเพลิดเพลินมาก เพราะด้วยความรู้สึกแรกคือ ไม่เคยเห็นมาก่อน ในปัจจุบันเราคงไม่ได้เห็นวิธีการแบบนี้อีกแล้ว เพราะปัจจุบันเขาใช้เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ทำ  ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สังคมได้ถ่ายทอดวิถีชีวิตและวัฒนธรรม แม้จะเป็นผลงานของครอบครัวหนึ่ง แต่ก็สมควรได้รับการถ่ายทอดและเผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป

5. หนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่

ภาพยนตร์ชุดนี้เป็นภาพยนตร์การ์ตูนยุคแรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ผลงานของอาจารย์ปยุต เงากระจ่าง ซึ่งได้รับสมญานามว่า วอล์ท ดิสท์นี่ของเมืองไทย เขาคือผู้บุกเบิกงานภาพยนตร์การ์ตูนในประเทศไทย นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังมีความสำคัญในฐานะสะท้อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในช่วงระหว่างที่ไทยเป็นสมรภูมิของการทำสงครามเย็นซึ่งไทยได้เข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ในข้างฝ่ายสหรัฐอเมริกา ถือเป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาและความหวาดกลัวต่อภัยคอมมิวนิสต์ในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี

6. ภาพยนตร์โฆษณา สี่คิงส์

ภาพยนตร์โฆษณาหนังไทยเรื่อง สี่คิงส์ ซึ่งแท้ ประกาศวุฒิสาร ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง เป็นทั้งตากล้องและทำโฆษณาด้วยตัวเอง นับเป็นตัวอย่างอันดีและหายากของแบบฉบับการโฆษณาหนังไทยยุค 16 มิลลิเมตร นอกจากฝีไม้ลายมือของการตัดภาพยนตร์โฆษณา การใส่เพลงลงไปในโฆษณาหนังที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคุณแท้แล้ว เรายังได้เห็นทั้งบรรยากาศความคึกคักของโรงหนังซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งของหนังไทยยุค 16 มิลลิเมตร คือต้องจัดรอบปฐมทัศน์ มีการจัดรายการแสดงต่างๆ เช่น ละครย่อย ตลกจำอวด ดนตรี การโชว์ตัวของดารา และปิดท้ายด้วยการฉายหนัง ทำให้เห็นวิถีชีวิตการดูหนังในฐานะมหรสพมวลชนของสังคมไทย และเห็นรสนิยมของหนังไทยแท้ๆ

7. งานศพนายอ๋องซิมผ่าย ถาวรว่องวงศ์

หนังบ้านของครอบครัวถาวรว่องวงศ์ที่ไม่บ่อยนักที่เราจะได้ชมภาพบันทึกงานศพของบุคคลธรรมดา กลายเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นความทรงจำที่ทับซ้อนระหว่างหนังบ้านส่วนตัวกับความทรงจำของพื้นที่ ผู้คน และจังหวัดภูเก็ต ภาพบันทึกงานศพของนายอ๋อง ซิมผ่าย หรือนายผ่าย แซ่อ๋อง ต้นตระกูลถาวรว่องวงศ์ บุคคลซึ่งมีความสำคัญต่อชาวเมืองภูเก็ต ซึ่งมีความยาวถึง 132 นาที ปรากฏรายละเอียดทางประเพณี วัฒนธรรม และสังคมในยุคสมัยนั้นอย่างครบถ้วน แสดงให้เห็นถึงพลังของภาพเคลื่อนไหวในการเขียนประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้รับการเขียนเขียนอย่างเป็นทางการ

8. ไอ้ทุย

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือเป็น “บูรณภาพ” ที่สร้างได้ตามต้นฉบับของผู้สร้างสรรค์ ภาพยนตร์ที่เป็นตัวแทนของยุคสมัย ที่ดีและชัดเจน เนื้อเรื่องดี มีเพลง มีตลก มีโป๊ มีบู๊ และมีการถ่ายทำที่ดีที่สุดในยุคนั้นโดยดอกดิน กัญญามาลย์  ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยรักสนุก รักชีวิตที่สนุกสนาน มีรอยยิ้มเสมอ เสื้อผ้าหน้าผมของนักแสดง แสดงถึงความเป็นไทยอย่างชัดเจน

ไอ้ทุย เป็นเหมือน Time capsule ที่กักเก็บเวลาที่ไม่สามารถหวนกลับคืนมาได้อีกแล้วไว้ เมื่อใดที่อยากย้อนกลับไปรำลึกถึงคุณค่าแห่งยุคสมัยนั้น ก็เปิดออกดู

9. พิธีพระราชทานเพลิงศพวีรชนผู้เสียชีวิต ณ บริเวณท้องสนามหลวง 13-15 ตุลาคม 2517

ภาพยนตร์ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่ได้บันทึกพิธีพระราชทานเพลิงศพวีรชนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2516  ณ บริเวณท้องสนามหลวง 13-15 ตุลาคม พุทธศักราช 2517 ทุกขั้นตอน โดยพิธีดังกล่าวเป็นพิธีศพสำหรับสามัญชน ครั้งที่ 2 นับจากพิธีศพสำหรับสามัญชนที่เสียชีวิตในคราวปรากบฎบวรเดช เมื่อปีพุทธศักราช 2477 ที่ได้รับการจัดขึ้นที่สนามหลวง หรือ “ทุ่งพระเมรุ” ซึ่งเดิมใช้ปลูกสร้างพระเมรุมาศในงานพระบรมศพของกษัตริย์และเจ้านายระดับสูงเท่านั้น  สิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์ชุดนี้จึงเป็นการชี้ให้เห็นความสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลา สำหรับคนในยุคนั้น เพื่อว่าวันหนึ่งสังคมไทยจะหวนกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะมีรูปแบบการรำลึกที่แตกต่างไปก็ตาม

10. เพื่อนรัก

ตัวอย่างอันโดดเด่นของภาพยนตร์ไทยที่ใช้นักแสดงเด็กเป็นตัวละครหลักและถ่ายทอดออกมาได้อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังบันทึกสภาพสังคมไทยในช่วงปลายสงครามเวียดนามที่ “มหามิตร” อย่างสหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพ และยังกระตุ้นเตือนให้ผู้ใหญ่หวนนึกถึงมิตรภาพที่แท้จริงของมนุษย์ในวัยที่ยังไม่มีเงื่อนไขใดมาแบ่งแยก เพศ เชื้อชาติ พรมแดน หรืออุดมการณ์ทางการเมืองภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อนรัก ยังสะท้อนคุณค่าในฐานะผลงานศิลปะที่เชิดชูความเป็นเด็กอย่างบริสุทธิ์

11. มนต์รักแม่น้ำมูล

ภาพยนตร์สะท้อนชีวิตของคนอีสาน ที่เข้ามาเสี่ยงโชคในเมืองกรุง ซึ่งในตอนนั้น คนอีสานยังถูกดูถูกดูแคลนจากคนเมือง ทำให้พวกเขาที่กำลังถูกกดทับจากโครงสร้างทางสังคม ภาพยนตร์ได้รับการตอบรับกับการนำเสนอในทันทีในวันแรกที่ภาพยนตร์เข้าฉาย ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จจากคนอีสานในกรุงเทพฯ ต่างตีตั๋วเข้ามาชม จนเกิดปรากฏการณ์นอนหน้าโรงหนัง  และเกิดกระแสความนิยมในเพลงประกอบภาพยนตร์ เป็นการแสดงให้เห็นพลังคนอีสานที่เปรียบเสมือนชายขอบของเมืองหลวง ทว่ามีพลังมากพอที่จะทำให้ภาพยนตร์เป็นที่นิยมในระดับปรากฏการณ์

12. เมียหลวง

เรื่องราวของภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้ ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา แต่เราได้พบเห็นกันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสากล มีมาต่อเนื่องจนปัจจุบัน ภาพยนตร์ เมียหลวง ทำหน้าที่เสนอความจริงที่เป็นสากลนั้นให้ผู้ได้ชมต้องไม่ละเลยต่อความจริงว่า ความมั่นคงของครอบครัวเป็นเรื่องของคนมีคู่ ไม่ใช่ของผู้หญิงอยู่คนเดียวฝ่ายเดียวและไม่ใช่คนเสียสละ ต้องให้อภัยอยู่ตลอดเวลา และต้องรู้ว่าเมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจเด็ดขาด ผู้หญิงก็จะทำได้ และทำได้ดีอย่างผู้ที่รู้จักไตร่ตรองจากเหตุและผล

13. เลือดสุพรรณ

ความโดดเด่นของ เลือดสุพรรณ มีหลายมิติ นับแต่บทประพันธ์ที่เกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ของการสร้างชาติ รูปแบบของการแสดงที่เริ่มมาจากละครเวทีเรื่องสำคัญของกรมศิลปากร ที่สามารถจัดแสดงจนหาทุนสร้างโรงละครได้ สำหรับ เลือดสุพรรณ ฉบับเชิด ทรงศรี ที่ได้นำบทประพันธ์เดิมที่ทรงคุณค่า มาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่สง่างาม ทั้งฉาก นักแสดง ความสมจริง อารมณ์ที่ถ่ายทอด ที่อดจะคารวะไม่ได้ดนตรีประกอบ วงดุริยางค์สากล ทำหน้าที่ดำเนินเพลงร้อง พิเศษคือ การใช้เครื่องดนตรีไทยบรรเลงประกอบด้วยวิธีใหม่ ไม่ได้ประสมวงและบรรเลงเพลงไทยเดิมเช่นที่ผ่านมา แต่เลือกใช้เครื่องดนตรีบางประเภท มาสร้างทำนองใหม่ เพื่อสนับสนุนการเล่าเรื่อง ทั้งสำเนียงไทย และพม่า นับเป็นความกล้า และล้ำสมัย

14. รุ่งอรุณวันใหม่ในป่า

การเปิดเผยตัวของผู้ปฏิบัติงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ปกติเพราะการที่เป็นขบวนการปฏิวัติใต้ดินนั้นจำเป็นจะต้องปิดลับ เพื่อความปลอดภัยทั้งของตัวเองและองค์กร  แต่การเมืองไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการสังหารหมู่อย่างโหดร้ายและตามมาด้วยรัฐประหาร ทำให้คนจำนวนมากเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้เกิดการเคลื่อนย้ายแนวรบจากในเมืองสู่ป่าเขา

ภาพยนต์สารคดีเรื่องนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศที่จะทำสงครามอย่างเปิดเผยกับรัฐไทย เนื้อหาของภาพยนตร์แม้เข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำสงครามจิตวิทยา แต่ก็ได้เห็นชีวิตการเป็นอยู่ในเขตป่าเขานั้นก็นับว่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์และมรดกอันล้ำค่าของสังคมไทย

15. แก้ว

ภาพยนตร์เรื่องนี้คุณเปี๊ยก โปสเตอร์ ได้แสดงความสามารถที่เหนือชั้นในการตัดต่อ โดยอาศัยเพลง ความรักเพรียกหา เชื่อมโยงอารมณ์ ตัวละคร ได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ยังเป็นการบันทึกชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยรุ่นแรก ๆ ที่เริ่มอยู่แฟลต  การกล่าวถึงชีวิตการเป็นภรรยาน้อยของเสี่ย ตลอดจนความนิยมทางด้านเสียงเพลงของยุค 70 และ 80 เมื่อเพลงและการเต้นรำประเภทดิสโก้ได้รับความนิยม เพลงความรักเพรียกหา ในเรื่องนี้ยังเป็นตัวแทนของความนิยมทางด้านเสียงเพลงที่นักฟังเพลงไทยเริ่มให้ความสนใจนักร้องนักดนตรีของไทยที่แต่งเพลง ร้องเพลง และเล่นดนตรีเองด้วย ซึ่งนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนจากความนิยมที่คนในวงการเพลงมักจะทำหน้าที่แยกกัน

16. อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป

ภาพยนตร์ของผู้กำกับคุณบัณฑิต ฤทธิ์กล มีปัจจัยในการ “ขายของ” อย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องราวความสัมพันธ์ของกลุ่มเด็กนักเรียน ดารานำแสดงที่หน้าตาดี การใช้ความตลกขบขันเป็นรสชาตินำ ผ่านทางเรื่องราวที่ดูเผินๆแล้วไม่น่าจดจำ ปราศจากความลึกซึ้ง แต่กลับกลายเป็นว่า ยิ่งเวลาผ่านไป ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับยิ่งทวีความหนักแน่นในความทรงจำ และพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นภาพยนตร์ที่บันทึกความรู้สึกแห่งช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตคนเรา ท่ามกลางมุขตลกหรือเสียงหัวเราะ คือความแยบยลในการนำเสนอเรื่องราวของมิตรภาพ และการเติบโตทางอารมณ์และความคิดของกลุ่มเด็กนักเรียน  ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้ เสียงวิจารณ์ และรางวัล เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่น่าจดจำที่สุดของคุณบัณฑิต ฤทธิ์กล

17. กล่อง

ภาพยนตร์เรื่อง กล่อง มีความพิเศษที่ฉีกแนวไปจากภาพยนตร์ไทยเรื่องใดๆที่ผ่านมา และแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ทรงเขียนบทและกำกับเรื่องนี้โดยใช้กล่อง เป็นสัญลักษณ์ ตีแผ่ความเป็นมนุษย์ปุถุชน ที่ยังวนเวียนอยู่ในรัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นการหยิบยกประเด็นที่เป็นนามธรรมมาปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างน่าสนใจ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ เปิดโอกาสให้คนดูตีความหมายของกล่อง ผ่านตัวละครหลักเพียง 2 ตัว ที่พลิกภาพลักษณ์ของนักแสดงนำชายหญิงโดยสิ้นเชิง ลูกเกด เมทินี กิ่งโพยม แสดงเป็นหญิงชาวบ้าน ปากร้าย โลภโมโทสัน โน้ต อุดม เปลี่ยนจากดาราตลกชื่อดัง เป็นผู้ชายทึ่มๆ ธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่ทั้งคู่ก็สามารถตีแผ่ธรรมชาติมนุษย์และเสียดสีสังคมได้อย่างสนุกเพลิดเพลิน ชวนติดตาม

18. สัตว์ประหลาด !

หนึ่งในภาพยนตร์ที่ปักธงชัยของภาพยนตร์ไทยในกระแสสำนึกของผู้ชมและนักวิจารณ์ทั่วโลก ภาพยนตร์เรื่องสัตว์ประหลาด ของผู้กำกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล สร้างทั้งความตื่นเต้น ความภูมิใจ ความประหวั่นจิต และความฉงนฉงาย เป็นภาพยนตร์ที่อ่อนโยน ท้าทาย และน่าสะพรึงกลัวไปพร้อมๆกัน

สัตว์ประหลาดออกฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2547 และได้รับรางวัล Jury Prize สร้างประวัติศาสตร์เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้

19. ก้านกล้วย

การทำเรื่องยากๆให้เข้าใจง่ายนั้นเป็นความพิเศษ  แต่ความพิเศษนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้อย่างง่ายๆ ก้านกล้วย นับเป็นแอนิเมชั่นที่แฝงไว้ด้วย “สาร” ที่ผู้ชมจะได้รับต่างกันไปตามประสบการณ์ตรงของตนเอง จากความรักใกล้ตัว ถูกขับขยายใหญ่ขึ้นสู่ความรักในหน้าที่และประเทศชาติ มีการออกแบบตัวละคร การกำหนดสีสัญลักษณ์ การสร้างบุคลิกของตัวละครทั้งคนและสัตว์ที่โดดเด่น การเลือกใช้ เรียบเรียงเพลงที่ติดหู ดึงการรับรู้เดิมกับเพลง “ช้าง” เพื่อประสานเข้ากับการรับรู้ใหม่ได้อย่างกลมกลืน

20. ฉลาดเกมส์โกง

ภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง ผู้เขียนบทสามารถนำเสนอ เรื่องราวเป็นเรื่องใกล้ตัว นักเรียนและนักศึกษา การโกงข้อสอบจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จนขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มีการนำเสนอที่เร้าใจ โดยใช้องค์ประกอบทางศิลป์ด้านฉาก แสง เสียง อย่างมีรสนิยม เมื่อประกอบกับการแสดงที่เป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง ทำให้คนดูลุ้นระทึกตามไปอย่างใจจดจ่อราวกับเรื่องจริงปรากฏอยู่ตรงหน้า ฉลาดเกมส์โกง จึงเป็นภาพยนตร์ไทยที่ครองใจคนดูทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ในเวลาอันรวดเร็วด้วยจุดเด่นที่เป็นสากล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net