Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วัดอยู่ริมถนนใหญ่ แต่โรงแรมที่ผมไปพักต้องเข้าซอยไปอีกสัก 500 เมตร แม้กระนั้นเมื่อเข้าห้องพักในตอนเย็น ก็ได้ยินเสียงลำโพงซึ่งเทศบาลตำบลนั้น ตั้งกระจายเข้ามาในซอยเป็นระยะอย่างชัดเจน หลังจากเพลงลูกทุ่งต่อเนื่องกัน 1 ชั่วโมงแล้ว พระท่านก็เริ่มพูด ทำให้ผมเข้าใจว่านี่เป็นรายการของวัด ไม่ใช่ของ อปท.

ท่านเล่าถึงกิจกรรมต่างๆ ของวัดอยู่นาน ก่อนจะนำไปสู่ประเด็นที่เป็นเป้าหมาย นั่นคือในเทศกาลออกพรรษาซึ่งกำลังจะมาถึงนั้นทางวัดจะจัดให้มีเทศน์มหาชาติ ดังนั้น ทางวัดจึงเชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธาได้จองกัณฑ์เทศน์ ท่านอธิบายด้วยว่า จองกัณฑ์หนึ่งเขาก็เรียกว่า “ชาติ” หนึ่ง บางคนในชีวิตได้จองมาสองกัณฑ์สามกัณฑ์แล้ว ก็ถือว่าได้จองมาสองสาม “ชาติ” แล้ว เป็นประเพณีด้วยว่า หากพ่อ-แม่จองกัณฑ์ต่างๆ เอาไว้มาก่อนเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ลูกหลานก็อาจจองกัณฑ์ต่อๆ มา เป็นการสืบ “ชาติ” ของบรรพบุรุษ

ผมไม่ทราบว่าเป็นประเพณีท้องถิ่นอย่างนั้นจริงหรือไม่ แต่การเรียกกัณฑ์เป็น “ชาติ” ทำให้ฟังดูเหมือนทำบุญเผื่อชาติต่อๆ ไปข้างหน้า ยิ่งได้หลาย “ชาติ” ก็ยิ่งมั่นคงขึ้น ภรรยาผมซึ่งเรียนมาทางสายสื่อสารมวลชนบอกว่านี่เป็นวิธีทางการตลาดอย่างหนึ่ง คือเพิ่มคุณค่าให้แก่ “สินค้า” ที่จะ “ขาย”

เมื่อเอาศาสนประเพณีมาอธิบายด้วยอรรถหรือความหมายของวิชาการสมัยใหม่ซึ่งเป็นฆราวาสวิสัย (secular) ก็ดูเหมือนลดทอนคุณค่าของศาสนาลง แต่ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาใหญ่สุดของพุทธศาสนาไทยมาตั้งแต่เราเปิดประเทศเมื่อกว่าศตวรรษครึ่งมาแล้ว นั่นคือ ในโลกที่ฆราวาสวิสัยนิยม (sucularism) ครอบงำทุกด้านของชีวิตของผู้คน มิติด้านศาสนธรรมจะดำรงอยู่ได้อย่างไร

ฆราวาสวิสัยนิยมแบ่งออกอย่างง่ายๆ ได้เป็นสองด้าน หนึ่งคือด้านที่อยู่ในโลกธรรมชาติ และอีกด้านคือที่อยู่ในโลกสังคม ทั้งสองโลกนี้เคยถูกอธิบายด้วยมุมมองทางศาสนา ในหมู่ชนที่เชื่อในพระผู้สร้าง โลกธรรมชาติและโลกทางสังคมล้วนถูกกำหนดให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า

เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้พูดถึง “พระผู้สร้าง” (มีหรือไม่มีก็ไม่เกี่ยวกับความพ้นทุกข์) ฉะนั้น ธรรมชาติหรือกระบวนการทางธรรมชาติจึงเป็นไปตามเหตุปัจจัยทางธรรมชาติหรือ “อย่างนั้นเอง” อยู่แล้ว วิทยาศาสตร์จึงไม่กระทบต่อคำสอนของศาสนา

และปัญญาชนไทยพร้อมจะรับโลกทัศน์แบบฆราวาสวิสัยทางด้านที่เกี่ยวกับโลกธรรมชาติมาเกือบสองศตวรรษแล้ว ตั้งแต่เมื่อเราเริ่มเปิดประเทศ

แต่ด้านโลกสังคม พุทธศาสนาแบบไทยสอนให้เชื่อว่าเป็นไปตามแรงบุญแรงกรรมของบุคคล ไม่แต่เพียงความเชื่อทางศาสนาเพียงอย่างดียว นักปราชญ์ไทยแต่โบราณยังใช้หลักการข้อนี้เพื่อให้ความชอบธรรมทางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมแก่โครงสร้างทางสังคมของไทยที่เป็นอยู่อีกด้วย อำนาจ, โภคทรัพย์ และเกียรติยศถูกแรงกรรมจัดอันดับไว้อย่างลงตัวอยู่แล้ว ยากที่บุคคลจะฝืนพลังที่ครอบงำจักรวาลอยู่ได้ ดังนั้น ทัศนะด้านโลกสังคมแบบฆราวาสวิสัยนิยม จึงขัดแย้งกับเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมของไทยเป็นอย่างยิ่ง

นี่เป็นอีกครึ่งหนึ่งของฆราวาสวิสัยนิยมที่ปัญญาชนไทยไม่อาจยอมรับได้ ตั้งแต่โบราณสืบมาจนปัจจุบัน ผลก็คือพุทธศาสนาไทยให้คำตอบแก่ความทุกข์ของบุคคลได้ แต่ไม่มีคำตอบให้แก่ความทุกข์ของสังคม นอกจากหลักการว่า หากทุกคนเป็นคนดี สังคมก็จะดีเอง หรือหากมีผู้ปกครองที่ดี สังคมก็จะดีอย่างแน่นอน

โดยไม่เคยนิยามความ “ดี” ของบุคคลและผู้ปกครองให้ต่างจากความ “ดี” ทางศาสนาเลย ทั้งๆ ที่ความ “ดี” ที่คำสอนทางศาสนาพุทธแบบไทยนิยามไว้นั้น เป็นไปเพื่ออำนวยให้บุคคลพ้นทุกข์หรือมีชีวิตอยู่เหนือทุกข์ ไม่ใช่ “ดี” แก่บุคคลหรือผู้ปกครองของสังคมและรัฐในโลกปัจจุบัน

ตักบาตรนั้นดีแน่ แต่ไม่ช่วยป้องกันการรัฐประหาร, การทุจริตของบุคคลสาธารณะและข้าราชการ, หรือการฆ่าข่มขืนของฆาตกร

เช่นเดียวกับความซื่อสัตย์ของผู้ปกครองก็ดีแน่เหมือนกัน แต่เท่านี้ไม่พอที่จะสร้างรัฐและสังคมซึ่งเป็นธรรมและสงบสุขได้

ผมออกจะสงสัยด้วยว่า ความไม่ใส่ใจต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นนี้ ทำให้องค์กรสงฆ์สูญเสียบทบาทสำคัญในสังคมไทยไป เหลือแต่ด้านศาสนพิธี หรือมิฉะนั้นก็เหลือแต่บทบาทของพระอาจารย์บางรูปที่ทรงคุณวิเศษบางด้านจนเป็นที่นับถือของคนหมู่มาก

แม้แต่เสียงพระเทศน์ซึ่งผมได้ยินที่โรงแรมในเช้าวันรุ่งขึ้น ก็เป็นความพยายามอีกอย่างหนึ่งของวัดที่จะเชื่อมโยงกับสังคมอย่างที่เคยทำมาแต่อดีต แม้ปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่นลำโพงกระจายเสียง แต่เนื้อหาก็ยังเหมือนเดิม

ผมไม่แน่ใจว่าลำโพงกระจายเสียงจะช่วยให้สาธุชน “เข้าถึง” วัดได้เหมือนในสมัยโบราณ เพราะส่วนใหญ่ออกจากบ้านแต่เช้าเพื่อไปทำงาน หลายคนคงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันนี้เป็นวันพระ คนที่ได้ฟังเทศน์อย่างไม่ตั้งใจคือนักท่องเที่ยวและคนซึ่งมาพักในโรงแรมด้วยกิจธุระแบบ “ฆราวาสวิสัย” ต่างๆ เช่น มาสัมมนาของบริษัทห้างร้าน, มาวิ่งเต้นทางธุรกิจ, ตระเวนส่งสินค้า ฯลฯ

อย่าว่าแต่ลำโพงเลยครับ พระหลายรูปและวัดหลายวัดใช้เทคโนโลยีล้ำหน้ากว่านั้นอีกมาก เช่น ซีดีรอม, เว็บไซต์, เฟสบุ๊คฯลฯ หรือการจัด “ธรรมะทอล์กโชว์” ต่างๆ, สวดมนต์ข้ามคืนข้ามปี ฯลฯ ซึ่งดึงคนเข้าฟังและร่วมได้จำนวนไม่น้อย

ช่องทางเหล่านี้ล้วนกระจายการ “เทศน์” ไปได้กว้างขวางกว่าลำโพงทั้งสิ้น แต่ทั้งหมดล้วนเป็นช่องทางสำหรับถ่ายทอดเนื้อหาเดิม คือหลักความเชื่อและการปฏิบัติเพื่อให้บุคคลพ้นทุกข์หรือจัดการกับความทุกข์ของตนเองได้ดีขึ้น ไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวกับบุคคลในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ทั้งๆ ที่ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยปัจจุบัน ซึ่งต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำอย่างสูง ความทุกข์จำนวนมากของบุคคลเกิดจากการกระทำของสังคม ไม่ใช่เกิดจากการวางท่าทีต่อชีวิต (หรือ “ทิฏฐิ”) ที่ผิดเพียงอย่างเดียว เพียงเปิดโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมให้ได้ จะมีคนจำนวนหลายล้านพ้นจากทุกข์ที่เผชิญอยู่เวลานี้ (แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าจะมีทุกข์อย่างอื่นแทน แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลว่าด้วยเหตุ ดังนั้นจึงไม่ควรขจัดทุกข์ที่เผชิญอยู่เวลานี้เสียเลย)

พลังขององค์กรสงฆ์นั้นอยู่ที่สังคม หากไม่สามารถปรับเปลี่ยนสร้างสรรค์บทบาทใหม่ๆ ที่สังคมยอมรับและเห็นความสำคัญได้ องค์กรสงฆ์ก็จะสูญเสียพลังลง เสี่ยงต่อการล่มสลายหรือสูญสิ้นไป ผมเข้าใจว่า พระจำนวนมากเข้าใจและสำนึกเรื่องนี้อย่างดี หลายรูปคงเติบโตมาในชนบทเมื่อสมัยที่วัดและชุมชนชาวบ้านยังสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด แต่สังคมไทยกำลังเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนไปเป็นสังคมเมืองอย่างรวดเร็ว ความสัมพันธ์เช่นนั้นจึงแทบมองไม่เห็นอีกแล้ว แม้ในชนบทเอง

นี่คือเหตุผลที่พระภิกษุกลายเป็นแกนกลางในการเรียกร้องให้ตราพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ แนวโน้มความพยายามจะผูกมัดศาสนาไว้กับรัฐให้แนบแน่นขึ้นไป เห็นได้ตั้งแต่ครั้งที่รณรงค์ให้ตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยตรง จนมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่รัฐเข้ามาปกป้องตัวลัทธิคำสอน (doctrine) โดยตรง (ปกป้องจากใคร? ชาวพุทธด้วยกันเองหรือ?) แม้ยังไม่ถึงกับประกาศศาสนาประจำชาติก็ตาม

แต่ทั้งหมดเหล่านี้จะช่วยให้สังคมหันมาใกล้ชิดกับองค์กรสงฆ์เพิ่มขึ้นไปกว่าเดิมหรือ?

ปราศจากสังคม การอุปถัมภ์ของรัฐและอำนาจรัฐในการจัดระเบียบภายในขององค์กรสงฆ์ไม่มีความมั่นคงแต่อย่างใด เมื่อไรก็ตามที่ระบอบประชาธิปไตยมีความมั่นคงมากขึ้น รัฐก็จะตกอยู่ใต้อำนาจของสังคมที่ไม่มีความสัมพันธ์ที่มีนัยยะสำคัญกับองค์กรสงฆ์ ถึงตอนนั้น การอุปถัมภ์ของรัฐและอำนาจรัฐจะยังดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างไร

ยิ่งฝากความมั่นคงของตนให้แก่รัฐมากเท่าไร องค์กรสงฆ์ก็จะยิ่งจำเป็นต้องขัดขวางพัฒนาการของประชาธิปไตยในสังคมไทยมากเท่านั้น

ความรู้ในพุทธธรรมของผมไม่มากพอจะพูดได้อย่างแน่ชัด แต่โดยทั่วไปแล้ว คำสอนในศาสนาใดๆ จะมีความหมายแก่คนในสังคมและยุคสมัยต่างๆ ได้ก็เพราะการตีความ ดังนั้น การตีความพุทธธรรมให้เชื่อมโยงกับสังคมจึงควรเป็นไปได้ วัดจะมีความสำคัญใกล้ชิดกับผู้คนได้มากเหมือนสมัยโบราณ ก็ต่อเมื่อพุทธศาสนาต้องมีความหมายแก่คนไทยในยุคปัจจุบัน ซึ่งนอกจากเป็นบุคคลผู้มีทุกข์แล้ว ยังเป็นสมาชิกของสังคมที่มีทุกข์อย่างมากอีกด้วย

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กันยายน - 4 ตุลาคม 2561

ที่มา: Matichon Weekly www.matichonweekly.com/column/article_137569

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net