9 คำถามประเด็นแรงงานต่อ “อนาคตใหม่” ที่ยังไม่เห็น “ความก้าวหน้าในอนาคต”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หากอ้างอิงจากข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ พ.ศ. 2561 ที่ระบุเรื่องนโยบายด้านสวัสดิการและแรงงาน เมื่อมาพิจารณาที่นโยบายสำหรับกลุ่ม “แรงงานในระบบหรือแรงงานภาคอุตสาหกรรมโดยตรง” (สำหรับแรงงานกลุ่มอื่น พรรคมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมแล้ว จึงไม่ขออภิปรายในที่นี้) มีทั้งหมด 6 เรื่อง ได้แก่

(1) การปรับเปลี่ยนชั่วโมงการทำงานในกฎหมายแรงงานให้ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยมีอัตราค่าตอบแทนจากการทำงานเพียงพอต่อการเลี้ยงดู 3 ชีวิต 

(2) การขยายสิทธิวันลาพักร้อนโดยได้รับค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน 

(3) การเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตโนมัติอย่างน้อยตามอัตราเงินเฟ้อที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย 

(4) สิทธิการลาคลอด การเลี้ยงดูบุตร โดยได้รับค่าจ้างในระยะเวลาที่เป็นมิตรกับผู้ใช้แรงงานมากขึ้น 

(5) รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรอง 

(6) สนับสนุนการจัดตั้งสภาสวัสดิการและแรงงานในระดับท้องถิ่น เพื่อทำงานพัฒนาสวัสดิการของประชาชนอย่างเป็นอิสระ เพื่อสะท้อนประโยชน์ด้านสวัสดิการของประชาชน 

มีประเด็นใดบ้างที่เป็นข้อกังวลของดิฉันและยังไม่เห็นในนโยบายพรรคนี้ ที่ประกาศตนเองว่ามี “ปีกแรงงาน” เป็นปีกสำคัญของพรรค

(1) นโยบายด้านแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะในภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) มีลักษณะอย่างไร เพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ การให้อิสระทุนในการประกอบการเชิงเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการลดข้อจำกัดต่างๆผ่านนโยบายรัฐรูปแบบต่างๆ ในที่นี้ย่อมรวมถึงการลดอุปสรรคด้านการรวมตัว เจรจาต่อรองของคนงานหรือสหภาพแรงงาน เพื่อการเข้าถึงสวัสดิการที่คนงานควรได้รับตามผลประกอบการในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ รวมถึงการผ่านรูปแบบต่างๆทั้งทางการและไม่ทางการที่สถานประกอบการนำมาจัดการโดยตรงร่วมด้วย เช่น การเสนอสวัสดิการระดับบุคคลแทนสวัสดิการในรูปข้อตกลงสภาพการจ้างผ่านองค์กรสหภาพแรงงาน (เพื่อทำลายอำนาจต่อรองสหภาพแรงงาน) เป็นต้น 

นี้ยังไม่นับเรื่องการให้สิทธิในการใช้แรงงานข้ามชาติในหลายๆกิจการแบบเต็มพิกัด ที่ลดการจ่ายสวัสดิการที่นอกเหนือจากสวัสดิการขั้นต่ำตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดไว้เป็นพื้นฐาน

(2) ปัจจุบันรูปแบบการจ้างงานในประเทศไทย พบว่า มีการใช้ระบบการจ้างแบบเหมาค่าแรง รายวัน ชั่วคราว มากกว่าการบรรจุเป็นพนักงานประจำที่มีสวัสดิการที่มั่นคงจากบริษัท ทำให้คนงานมีความเสี่ยงในการทำงานแบบไม่มั่นคงตลอดเวลา ซึ่งแนวโน้นการจ้างงานแบบนี้ รัฐไทยได้อนุญาตให้ทุนสามารถดำเนินการได้เต็มพิกัด ทั้งผ่านการระบุไว้ในมาตรา 11/1 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และอ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อกุมภาพันธ์ 2561 พรรคอนาคตใหม่มองรูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงนี้อย่างไร และการตระหนักถึงผลกระทบระยะยาวต่อคนงานในสายพานการผลิตที่ขาดการคุ้มครองและมีความเสี่ยงสูงมาก

มีรูปธรรมสำคัญในประเด็นนี้ ดังที่พบกรณีนายจ้างในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ เลือกจ้างงานแรงงานข้ามชาติมากกว่าแรงงานในประเทศ กระทั่งแรงงานนักศึกษาฝึกงานแบบระบบสหกิจศึกษาหรือทวิภาคี เพื่อไม่ต้องแบกรับสวัสดิการระยะยาว ทำให้ระบบสวัสดิการในการดูแลคนงานจะลดลง นอกเหนือจากที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดไว้เท่านั้น เช่น จ่ายเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น

(3) ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ณ วันนี้ สถานประกอบการต่างๆต้องนำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ เช่น หุ่นยนต์ เข้ามาทดแทนการจ้างงาน เฉกเช่นที่บริษัทไทยซัมมิทฯหรือบริษัทต่างๆในอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ใช้หุ่นยนต์อยู่แล้ว พรรคอนาคตใหม่จะมีนโยบายรองรับสถานการณ์นี้อย่างไร ในช่วงการเปลี่ยนผ่านการจ้างงานแบบนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ให้แรงงานตกในความเสี่ยงซ้ำซ้อนจากการเปลี่ยนรูปแบบของทุนในการจ้างงาน ท่ามกลางที่ทุกวันนี้รัฐไทยเองก็ไม่มีนโยบายหรือแนวปฏิบัติข้อกฎหมายในการคุ้มครองคนงานจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีแบบใหม่นี้เช่นกัน (ดิฉันไม่ได้พูดแค่ค่าชดเชยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการมีงานแบบใหม่รองรับคนงานในอนาคตร่วมด้วย)

(4) ในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยที่มีการปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในหลายๆรูปแบบ และนำมาสู่การเลิกจ้างคนงานติดตามมา แต่ด้วยข้อจำกัดของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ไม่สามารถเอาผิดนายจ้างที่ละเมิดสิทธิแรงงานได้ โดยเฉพาะการปิดโรงงานกะทันหัน และไม่มีความชัดเจนในการจ่ายชดเชยต่างๆ และส่งผลให้ลูกจ้างต้องตกงานเฉียบพลัน ดังกรณีที่เกิดกับสหภาพแรงงานบริติชไทยซินเทติคเท็กสไทล์ เมื่อมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา 

แม้มีการเรียกร้องจากผู้ใช้แรงงานมาอย่างต่อเนื่องให้รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ คำถามคือ พรรคอนาคตมีแนวนโยบายในการคุ้มครองคนงานในกรณีนี้อย่างไร รูปแบบใดบ้าง 

(5) การสร้างรัฐสวัสดิการที่คุณภาพดี เท่าเทียมกันทั้งประเทศ คือ การใช้ภาษีมหาศาลมาจัดการสวัสดิการต่างๆ แม้พรรคอนาคตใหม่จะระบุชัดเจนว่าการเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการจำเป็นต้องเกิดควบคู่กับการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำผ่านมาตรการภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีมรดก ภาษีการถือครองที่ดินปริมาณสูง ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนงบประมาณด้านการสงเคราะห์ต่างๆ

คำถามคือ ในส่วนของทุนหรือสถานประกอบการหรือภาคเอกชนต่างๆโดยตรง ควรถูกจัดเก็บภาษีนิติบุคคลในอัตราที่สูงกว่าปัจเจกบุคคลมากกว่าหลายเท่า ไม่ใช่มาจากภาษีประชาชนหรือคนทำงานเพียงเท่านั้น กล่าวได้ว่า “ภาคเอกชนไม่ควรตีตั๋วเด็ก” เฉกเช่นเดียวกับการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ที่เป็นปัญหามาโดยตลอดกว่า 28 ปี ที่นายจ้างจ่ายสมทบเงินประกันสังคมเท่ากับลูกจ้าง

พรรคอนาคตใหม่มีท่าทีต่อการจัดเก็บภาษีภาคเอกชนต่างๆโดยตรงอย่างไร ในสัดส่วนขนาดไหน รวมทั้งประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเพื่อนำมาใช้ในเรื่องนี้โดยตรง ไม่ใช่การลดภาษีแบบที่เป็นอยู่อย่างมหาศาลในทุกวันนี้ เช่น กรณีการส่งเสริมการลงทุนผ่านระบบ BOI เป็นต้น และก็ต้องไม่ใช่การผลักภาระภาษีให้ประชาชนในรูปแบบต่างๆ โดยละเลยทุนขนาดใหญ่ที่เอารัดเอาเปรียบอยู่ในทุกวันนี้ และมีมายาคติเรื่อง “เก็บภาษีคนรวยไปจัดสวัสดิการให้กับคนจน” ด้วยเช่นเดียวกัน

(6) โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ มักมาพร้อมกับการเวนคืนที่ดินและย่อมส่งผลกระทบต่อชุมชนเดิมอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุที่ยังจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนั้นต่อไป วิถีชุมชนกลายเป็นชุมชนมลพิษจากอุตสาหกรรมแทน สุขภาพความปลอดภัยของคนในชุมชนรวมถึงคนงานในโรงงาน ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพติดตามมา 

พรรคอนาคตใหม่จะมีแนวทางแก้ไขสถานการณ์แบบนี้อย่างไร ด้วยรูปธรรมใดบ้าง แน่นอนพรรคอนาคตใหม่มีการระบุเรื่องนโยบายสิทธิชุมชนและให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใช้ทรัพยากรด้วย คำถาม คือ ที่ผ่านมาก็มีการระบุแบบนี้ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ อะไรคือความแตกต่างในนโยบายด้านนี้ของอนาคตใหม่จากที่เป็นมาแต่เดิม

(7) ปัจจุบันรัฐสนับสนุนให้มีการจ้างงานคนพิการและผู้สูงอายุมากขึ้น แต่การคุ้มครองคนพิการและผู้สูงอายุในระบบการจ้างงาน ยังคงใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เป็นกลไกการคุ้มครองเฉกเช่นลูกจ้างทั่วไป ซึ่งยังคงมีข้อจำกัดที่ขาดความเข้าใจในลักษณะเฉพาะของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ดูแล ปกป้องเพิ่มขึ้น เช่น การจ้างงานผู้สูงอายุยังไม่มีระบบการคุ้มครองที่ชัดเจน นอกจากการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้มีการจ้างงาน โดยจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 

อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดของแรงงานในภาคอุตสาหกรรม การจ้างงานผู้สูงอายุต้องมาพร้อมกับระบบรองรับรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพและระบบความปลอดภัยในการทำงานด้วยเช่นเดียวกัน รวมถึงในกลุ่มแรงงานข้ามชาติสูงอายุก็ยังขาดระบบรองรับการจ้างงานที่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย พรรคอนาคตใหม่จะมีท่าทีต่อการจ้างงานในประชากรกลุ่มเฉพาะที่เปราะบางนี้อย่างไร

(8) กองทุนประกันสังคม คือ กองทุนที่ขนาดใหญ่มากในประเทศไทย มีความพยายามจากผู้ใช้แรงงานในการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกองทุนประกันสังคมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมีการเสนอร่างกฎหมายโดยตรงจากผู้ใช้แรงงานให้เกิดการปรับเปลี่ยน ทั้งการมีระบบบริหารกองทุนประกันสังคมที่เป็นองค์กรอิสระ มีมืออาชีพเข้ามาบริหารงานแทนภาคราชการ โปร่งใส มีการตรวจสอบได้ กระทั่งการพัฒนาเป็นระบบประกันสังคมถ้วนหน้าเพื่อคนทำงานทุกคน พรรคอนาคตใหม่มีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

(9) กระบวนการเข้าถึงความยุติธรรมของคนงานผ่านกลไกศาลแรงงานที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ด้วยข้อจำกัดของศาลแรงงาน ที่ผู้พิพากษามาจากกระบวนการยุติธรรมปกติ ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องแรงงานโดยตรง และมักนำเอาทัศนคติหรือวิธีการปฏิบัติแบบเดิมที่เชื่อว่า ลูกจ้างและนายจ้างมีสถานะเท่ากันในการพิจารณาทางคดี ศาลมีหน้าที่รับฟังผ่านข้อมูลต่างๆ โดยศาลจะเป็นผู้สืบเสาะหาข้อเท็จจริงเอง จึงขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดจะหาข้อมูลได้มากกว่ากัน 

ในความเป็นจริงก็พบชัดเจนว่าลูกจ้างไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาได้เท่ากับนายจ้างอยู่แล้ว มีลูกจ้างจำนวนมากไม่สามารถจ้างทนายความได้ หรือว่าไม่อาจนำสืบพยานหลักฐานที่สมบูรณ์ให้สามารถได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนต่อสู้คดีได้เต็มที่ ไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องทนายอาสาต่างๆ ยิ่งไม่มีความเชี่ยวชาญคดีแรงงานที่เป็นคดีเฉพาะด้าน 

อีกทั้งยังพบว่า ศาลแรงงานมักเน้นใช้ระบบไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกันได้ตลอดระยะเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา และจำนวนไม่น้อยพบว่าไกล่เกลี่ยเชิงบังคับให้ยอมความต่ำกว่าที่กฎหมายด้านแรงงานกำหนดบรรทัดฐานไว้ เพื่อให้คดีจบโดยไว 

คำถามคือ พรรคอนาคตใหม่มีท่าทีต่อการปฏิรูปกลไกศาลแรงงานอย่างไรเพื่อให้คนงานได้รับความคุ้มครองได้อย่างแท้จริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท