Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ: www.matichonweekly.com/culture/article_10087

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองหลังปี 2553 นักเขียนไทยจำนวนไม่น้อยหันกลับไปเขียนถึงความทรงจำทางประวัติศาสตร์ กล่าวโดยเจาะจงลงไปคือเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษา 6 ตุลา 2519 ซึ่งธงชัย วินิจจะกูล วิเคราะห์ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ลงรอยกับประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมของไทย การย้อนกลับไปหาความทรงจำดังกล่าวอาจจะเพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในปัจจุบัน หรือกระทั่งการสร้างความทรงจำใหม่ผ่านการตีความเหตุการณ์ในอดีตเพื่อเป็นความทรงจำที่จะมาคัดง้างความทรงจำครอบงำ

อันที่จริงการศึกษาความทรงจำในวงวิชาการปัจจุบันหักเหจากอดีตอย่างมีนัยสำคัญ ในหนังสือ Memory in Culture ของ Atrid Erll ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า ความทรงจำศึกษาเปลี่ยนแปลงจากยุคแรกเริ่มจากสมัยของ Maurice Halbwach และปิแอร์ นอรา ที่ได้รับอิทธิพลจากวิธีการแบบปฏิฐานนิยม ทำให้แบ่งระหว่างประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความเป็นภววิสัยและเป็นเรื่องของอดีต และความทรงจำซึ่งเป็นเรื่องของผู้คนปัจจุบันมองอดีต อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของหลังโครงสร้างนิยมและความคิดสัมพัทธนิยมทางประวัติศาสตร์ทำให้การศึกษาความทรงจำในยุคต่อมาพิจารณาว่าไม่มีเส้นแบ่งเด็กขาดระหว่างประวัติศาสตร์กับความทรงจำ ผลก็คือวรรณกรรมซึ่งเป็นสัญญะที่สื่อความหมายทางวัฒนธรรมกลายเป็นตัวสื่อความทรงจำอีกแบบหนึ่ง

การเข้าใจอดีตขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ตีความ หากพูดด้วยคำของปีเตอร์ เบิร์ค นักประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชาวอังกฤษผู้ชูธงสัมพันธนิยมทางประวัติศาสตร์ก็คงจะเป็นว่า ใครตีความอะไร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ส่วน Stanley Fish พูดถึงชุมชนแห่งการตีความ (Interpretative communities) นั่นหมายความว่า การตีความย่อมขึ้นอยู่กับว่าอิงอยู่กับชุมชนการตีความใด และการตีความย่อมมีความแตกต่างไปจนถึงขัดแย้งกัน

นวนิยายไทยหลังปี 2553 ดูเหมือนจะมี 3 ทิศทาง (จากการอ่านของผู้เขียนซึ่งก็เป็นการเลือกอ่าน) ได้แก่ แบบแรก นวนิยายที่หมกมุ่นกับภาวะอัตวิสัยหรือตัวตนของตัวละคร ซึ่งสะท้อนผ่านอารมณ์ความรู้สึกบางแบบ อาทิ ความเหงา ความเศร้า ซึ่งนวนิยายแนวนี้อาจจะเป็นแรงเฉื่อยจากช่วงเวลาก่อนหน้า แบบที่สอง คือการหมกหมุ่นกับสภาวะอัตวิสัยหรือตัวตนโดยโยงกับโครงสร้างของสังคม ตัวละครมักจะสับสน หรือมีปัญหาอัตลักษณ์ไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง ตัวอย่างเช่นนวนิยายเรื่อง ลักษณ์อาลัย ของอุทิศ เหมะมูล หลงลบลืมสูญ ของวิภาส ศรีทอง และไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ของวีรพร นิติประภา แบบที่สาม เป็นสุดขั้วที่ตรงข้ามกับแบบแรก เป็นนวนิยายที่สนใจ 'เหตุการณ์' ทางสังคมการเมือง ตัวอย่างเช่น เนรเทศ ของ ภู กระดาษ ซึ่งเราจะเห็นภาพของฉากและเหตุการณ์ต่างๆ มากกว่าสภาวะภายในของตัวละคร

นวนิยายที่พูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยตรงและน่าสนใจยิ่งได้แก่ หลงลบลืมสูญ ของวิภาส ศรีทอง เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ผู้เขียนคือวิภาส ศรีทองให้สัมภาษณ์นิตยสาร Writer Magazine ว่า จุดตั้งต้นของการเขียนนวนิยาย หลงลบลืมสูญ คือ เขาเห็นว่าสังคมปัจจุบันที่คนเชื่อมโยงผ่านโลกออนไลน์นั้น เป็นไปได้หรือไม่และจะเกิดอะไรขึ้นหากเราพยายามตัดตัวเองจากการเชื่อมโยงดังกล่าว (วิภาสใช้คำว่า disconnect) เปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่ วิทย์ นักศึกษาแพทย์ที่ตัวตนแหว่งวิ่น ล้มเหลวในเรื่องการเรียน กระทั่งต้องใช้ยาระงับประสาทเพื่อทำให้นอนหลับ การพยายามทำตัวหลงป่า

การพยายามหลงป่าของวิทย์ก็คือการพยายามหลงลืมตัวเองไปชั่วขณะ และเขานำประสบการณ์ดังกล่าวมาเผยแพร่ผ่านข้อเขียนทางออนไลน์ ต่อมาปกรณ์ ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่รู้สึกว่าตนถูกคนรุ่นใหม่แซงหน้า ได้อ่านข้อเขียนของวิทย์ ทำให้สองคนรู้จักและนัดดื่มกัน เหตุการณ์พัวพันจนกระทั่งการทดลองหลงลืมตนเองไม่ใช่การหลงป่า แต่ชวนกันหลงเมืองด้วยกันดื่มแอลกอฮอล์และยา ฉากที่น่าตื่นใจและสะเทือนใจก็คือปกรณ์เข้าไปทำความรู้จักกับหนึ่งในผู้ชุมนุมฝ่ายเสื้อแดง สุดท้ายมีปากเสียง และนำไปสู่การฆาตกรรมอันโหดเหี้ยม ขณะที่วิทย์มึนเมาทั้งยาและแอลกอฮอล์ ทำให้เขาจำแนกไม่ออกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้าเป็นภาพหลอนหรือภาพจริง! ถึงที่สุดแล้ว การหมกมุ่นกับตัวเอง ทำให้ปัจเจกบุคคลที่เป็นประจักษ์พยานความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อหน้าไม่อาจจำแนกจริงหลอนได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่ต่างจากโลกแห่งความเป็นจริงนัก

ฉากตอนท้ายของนวนิยายเรื่องนับว่าเป็นที่สุดของความเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ความรุนแรง นั่นก็คือ Big Cleaning Day ความรุนแรงปี 2553 ยังไม่ทันกลายเป็นความทรงจำ ก็พยายามลบเลือนร่องรอย เกลี่ยเกลื่อนสิ่งที่เป็นปมปัญหา กระนั้นก็ตาม หลงลบลืมสูญ ดูจะเบี่ยงเบนจากจุดตั้งต้นของนักเขียนคือวิภาสเอง ตอนจบดูจะเป็นคำประกาศที่ทรงพลังและท้าทาย นั่นก็คือนักศึกษาแพทย์ผู้ล้มเหลว นัยว่าชีวิตของเขาดับสูญไปในเหตุการณ์ปี 53 ด้วย ได้กลายมาเป็นผู้ชันสูตรพลิกศพเหยื่อความรุนแรงของ 6 ตุลา 2519 ตัวตนที่แท้จริงที่วิทย์พยายามตามหาด้วยการทำตัวให้หายไป กลับพบตนเองในการตอบสนองต่อเสียงเรียกของเหยื่อทางการเมือง 6 ตุลา เขาใช้ความสามารถเชิงวรรณศิลป์เขียนประวัติเหยื่อการสังหารโหด ผนวกกับความสามารถด้านการแพทย์ในการชันสูตรศพ (ที่จริงแล้ว วรรณศิลป์ หรือ poetics ซึ่งมีรากจากคำภาษากรีกที่มีความหมายว่า ‘การกระทำ’ ด้วย นักปรัชญาบางคนจึงถือว่า การเมืองเป็นเรื่องของวรรณศิลป์ และวรรณศิลป์เกี่ยวกับการเมือง) นอกจากนี้ ดูเหมือนวิภาสจะสะท้อนเสียงของนักปรัชญาเยอรมัน ฟรีดริช นีทเชอ เรื่องการอุบัติซ้ำอันเป็นนิรันดร์ (eternal recurrence) ถึงชีวิตจะเต็มไปด้วยเคราะห์ร้ายก็ยังยืนยันการมีชีวิตอยู่นั่นเอง 

สิ่งที่ วิภาส ศรีทอง ทำในนวนิยายเรื่อง หลงลบลืมสูญ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ได้ทำในการศึกษาประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2559 ในงานรำลึก 6 ตุลา 2519 ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ธงชัยนับศพเหยื่อ 6 ตุลา ทีละคน นักปรัชญาฝรั่งเศส ปอล ริเกอร์ พูดถึงบทบาทของจินตนาการทั้งในงานวรรณกรรมและงานประวัติศาสตร์ว่า จินตนาการนำพาเราไปไกลจากโลกแห่งความเป็นจริง แต่จะยิ่งทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น ขณะที่นักประวัติศาสตร์นำพาอดีตที่อยู่ไกลมาอยู่ใกล้ต่อหน้าเรา อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมกับประวัติศาสตร์ก็คือ ประวัติศาสตร์เรียกร้องให้เรานับศพ (count) เหยื่อก่อนที่จะอธิบาย (account) ให้แจ่มชัด เพื่อที่ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงนั้นจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นจะต้องเกิด (หรือ banality)

ในงาน 6 ตุลาที่จัดในปี 2559 นี้เองที่สุรชัย จันทิมาธร ขุนพลเพลงเพื่อชีวิตขึ้นเวทีหลังจากอาจารย์ธงชัย หนึ่งในเพลงที่เขาร้องในคืนนั้นคือเพลง “จากลานโพธิ์ถึงภูพาน” ที่ประพันธ์โดย วัฒน์ วรรลยางกูร และสุรสีรห์ ผาธรรม สุรชัยพูดถึงวัฒน์ ซึ่งกำลังลี้ภัยทางการเมืองว่า กำลังศึกษาต่อต่างประเทศ

วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นนักเขียนที่เขียนนวนิยายที่พูดถึง 6 ตุลา 2519 โดยตรงเช่นกัน แต่แตกต่างจากวิภาส ศรีทอง ที่เขาเป็นประจักษ์พยานต่อเหตุการณ์โดยตรง อย่างไรก็ตาม เราอาจจะกล่าวได้ว่าความทรงจำที่ถ่ายทอดผ่านนวิยายจากวัฒน์ถึงวิภาสนั้นถือเป็น 'ห่วงโซ่ความทรงจำ' (chain of memory) ที่ส่งต่อจากนักเขียนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง เราจะเห็นได้ว่าตัวละครชื่อวิทย์ใน หลงลบลืมสูญ รับรู้เหตุการณ์ 6 ตุลาผ่าน 'การอ่าน' จริงอยู่ เราไม่อาจจะเหมาเอาว่าวิภาสอ่านวัฒน์ แต่ความหมายหรือความทรงจำต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา มีความเชื่อมโยงกัน

นวนิยาย ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ (2524) ตีพิมพ์อีกครั้งเมื่อปีที่แล้วโดยโปรยปกว่า "โครงสร้างเผด็จการสังคมไทยยังไม่เปลี่ยน เพียงแต่เผด็จการตัวย่อม และเผด็จการตัวใหญ่" (น่าสังเกตว่าสิ่งที่อยู่นอกเหนือตัวบท อย่างคำนำหรือคำโปรยปกการตีพิมพ์ครั้งใหม่ก็มีนัยความหมายของการอ่านหรือตีความใหม่) นวนิยายเริ่มต้นด้วยบทที่ตัวละครรำลึกถึงเหตุการณ์เดือนตุลาหลังจากหนีเข้าป่าไปแล้ว จากนั้นก็พูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ไปจบที่พิน บางพูด หนีเข้าป่าเพื่อร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลัง 6 ตุลา 2519

เหตุการณ์สำคัญของนวนิยายเรื่องนี้คือการสัมมนาวรรณกรรม หลังจากชัยชนะของนักศึกษาประชาชนใน 14 ตุลา ประเด็นคือ 'การเผาวรรณคดี' ที่แสดงสำนึกของศักดินา ไปจนถึงตอนท้ายเรื่องที่นักศึกษาปัญญาชนจะต้องเซนเซอร์ตัวเองด้วยการ 'เผางานนักคิดฝ่ายซ้าย' เรื่องราวความรักของหนุ่มสาวที่เชื่อมโยงกับความรักอุดมการณ์จบลงด้วยบันทึกของ พิน บางพูด เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 "คุณจะเจ็บปวดเพียงไหน เมื่อกระดูกของคุณ ถูกดึงรั้ง กระชาก ทุบ ตี จนแตกหัก" คือคำเกริ่นนำของบันทึกดังกล่าว นวนิยายจบลงตรงเหตุการณ์ด้วยการกลับไปยังเหตุการณ์ตอนเริ่มเรื่อง นั่นคือเด็กหนุ่มสองคนที่หนีเข้าป่ากับเสียงกีตาร์โปร่ง

นวนิยายอาจจะจบลงแต่เพียงนั้น แต่การรื้อฟื้นเสียงของอดีตก็ยังสำคัญ แม้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จะมีความฝันที่ยังไม่บรรลุ แต่ก็ได้ให้บทเรียนสำคัญ ดังที่สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เขียนไว้ในบทความ "ว่าด้วยบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" (ในวารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับ มาร์กซิสต์ในศตวรรษที่ 21) ไม่ว่าจะเป็นการพยายามหาคำอธิบายสังคมไทยด้วยกรอบคิดของมาร์กซิสต์ หรือการที่รัฐจัดสรรโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นปฏิกิริยาต่อ พคท.เอง

กล่าวถึงที่สุดแล้ว "ความหวังสร้างฟ้าไทยให้เรืองรอง" ในบทเพลงของนพดล เพื่อนของพิน บางพูด ใน นวนิยายเรื่อง ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ อาจจะยังไม่บรรลุผล เผด็จการน้อยใหญ่ก็ยังอยู่ แต่ความทรงจำของความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลา 2519 ก็ส่งผ่านมายังคนรุ่นหลัง แน่ละ 'หนี้ต่อผู้ตาย' ที่เรา 'ชำระ' ให้ได้ก็คือ หน้าที่ที่จะไม่ลืม อย่างที่วิภาส ศรีทอง ได้ย้ำเตือนเราอีกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำอีก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net