Skip to main content
sharethis

เภสัชกรลูกจ้างชั่วคราวบุกทำเนียบ ขอความเป็นธรรมบรรจุเข้ารับราชการ/เตรียมใช้ 'การจ้างเหมารายวัน' แทนตำแหน่ง 'ภารโรง' โรงเรียนรัฐทั่วประเทศ/ปลดล็อกแบล็กลิสต์แรงงานไทยในเกาหลีใต้ 1.2 แสนคน แจ้งรายชื่อกลับไทย 21 ต.ค. 2561 - 31 มี.ค. 2562 เกาหลีใต้ไม่เอาผิด-เปิดโอกาสกลับไปอย่างถูกกฎหมายได้อีกรอบ/ก.แรงงาน สรุปผลฝึกอาชีพคนจน 2 พันล้าน ยอดไม่เข้าเป้า เตรียมขยายเวลา/'รมว.แรงงาน' เผยผลสอบโกง 'คนพิการ' 1,500 ล้าน ไม่พบข้อมูลทุจริต แต่พบผู้ประกอบการบางรายปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย

ระเบิดสนั่น โรงงานหลอมเหล็กบริษัทรถดัง ควันฟุ้งโขมง พนักงานเจ็บ 3 คน

วันที่ 6 ต.ค. 2561 พ.ต.อ.อรรฆพงษ์ สุนทรวิภาค ผกก.สภ.มาบตาพุด ระยอง ได้รับแจ้งเกิดเหตุมีเสียงดังคล้ายระเบิดขึ้นภายในบริษัททาทา สตีล (ประเทศไทย) ตั้งอยู่ถนนไอ 7 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง จึงประสานสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจเข้าไปตรวจสอบ

เมื่อเดินทางไปถึงบริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นโรงงานหลอมเหล็ก และผลิตเหล็กเส้น พบกลุ่มควันสีขาวฟุ้งกระจายอยู่ในโซนผลิต ส่งกลิ่นฉุนของสารเคมีไปทั่วบริเวณ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของบริษัทเปิดเผยว่า ได้เกิดเสียงดังคล้ายระเบิดดังขึ้น 1 ครั้ง มาจากบริเวณจุดเตาหลอมเหล็ก จนทำให้พนักงานต่างวิ่งกรูกันออกมาจากจุดเกิดเหตุ และมีพนักงานได้รับบาดเจ็บจากแรงระบิด ซึ่งได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลกรุงเทพระยอง

ส่วนเจ้าที่การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เปิดเผยว่า ได้รับการรายงานเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่บริษัท ชี้แจงมาว่า ช่วงเวลาประมาณ 08.30 น. เกิดเหตุเสียงดัง ขณะอุ่นเตาหลอม EAF คาดว่าน่าจะเกิดจากปัญหาระบบจุดระเบิดเชื้อเพลิงเพื่อให้ความร้อนเตาหลอม EAF ขัดข้อง อยู่ระหว่างสอบสวนหาสาเหตุ และดำเนินการแก้ไข มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 3 คน ได้นำส่งรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง ซึ่งอาการพ้นขีดอันตรายแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดให้เข้าตรวจสอบได้ โดยทางบริษัทยังไม่เปิดให้เข้าไปยังจุดเกิดเหตุยังคงปิดกั้นพื้นที่หวั่นอันตราย ต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบก่อน จึงจะสรุปสาเหตุการระเบิดต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 6/10/2561

'รมว.แรงงาน' เผยผลสอบโกง 'คนพิการ' 1,500 ล้าน ไม่พบข้อมูลทุจริต แต่พบผู้ประกอบการบางรายปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่ นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ ได้ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับคนพิการ จำนวน 9 เรื่อง ซึ่ง จากการตรวจสอบข้อมูลทั่วไป และข้อมูลเฉพาะกรณีจากผู้ร้อง และ กลุ่มผู้พิการที่มาให้ข้อเท็จจริงจำนวน 150 คน และ การสอบข้อเท็จจริงสถานประกอบการ ผู้พิการในพื้นที่ ในชั้นนี้ พบว่า มีข้อมูลบางส่วนเป็นไปตามที่ร้องเรียนมา จำนวนผู้พิการเกี่ยวข้อง 200 คน มูลค่าความเสียหาย 14 ล้านบาท แต่เป็นการปฏิบัติของผู้ประกอบการที่ไม่ครบถ้วนตามสัญญาการยื่นขอให้สิทธิ จำนวน 7 เรื่อง ยังไม่พบความบกพร่องและทุจริตของเจ้าหน้าที่  

โดยกรณี มาตรา 33 พบ จำนวน 2 เรื่อง เป็นการจ้างไม่ครบระยะสัญญา และ มาตรา 35 จำนวน 5 เรื่อง เป็นปฏิบัติไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามสัญญา เช่น จัดอบรมไม่ครบตามระยะเวลา จำนวนผู้พิการเข้าอบรมไม่ครบตามจำนวนที่แจ้ง ซึ่งกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตตนพิการ พ.ศ.2550 พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน

ทั้งนี้สำหรับผู้พิการในประเทศไทยจำนวน 1.9 ล้านคน มีสถานประกอบการที่ต้องจ้างแรงงานผู้พิการ จำนวนทั้งสิ้น 64,570 คน โดยมาตรา 33 เป็นการจ้างงานโดยตรงระหว่างผู้พิการกับผู้ประกอบการจำนวน 36,315 คน กระทรวงแรงงานมีส่วนช่วยเหลือโดยการขึ้นทะเบียนคนพิการที่ประสงค์จะทำงาน และประสานส่งต่อเพื่อให้นายจ้างคัดเลือกและบรรจุงาน ซึ่งในปี 2561 บรรจุงานได้ จำนวน 1,565 คน

มาตรา 34 มีการส่งเงินเข้ากองทุน จากผู้ประกอบการประมาณ 1,200 แห่ง เป็นการทดแทนการจ้างผู้พิการ 14,623 คน รวมเป็นเงินประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี (ปี 60) ซึ่งคิดอัตรา 1 คนเท่ากับ 109,500 บาทต่อคนต่อปี

ส่วนมาตรา 35 เป็นกรณีสถานประกอบการให้สิทธิผู้พิการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพ 7 ประเภท มีผู้พิการใช้สิทธิจำนวน 12,499 คน โดยของกระทรวงแรงงานร่วมดำเนินการในการพิจารณาเห็นชอบโครงการที่ผู้ประกอบการเสนอให้สิทธิแก่ผู้พิการ คือ

1.กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเห็นชอบในการพิจารณาความเหมาะสมของหลักสูตรการฝึกอบรม 2.กรมการจัดหางานตรวจสอบว่าคนพิการมีตัวตนจริงหรือไม่ 3.กรมการจัดหางานตรวจสอบผู้พิการรับทราบประเภทสิทธิ และมูลค่าที่จะได้รับจากการส่งเสริมอาชีพหรือไม่ และ 4.กรมการจัดหางานตรวจสอบว่าสิทธิที่ผู้พิการจะได้รับจากการเข้ากิจกรรม หรือโครงการเป็นไปตามที่ผู้ประกอบการยื่นขอสิทธิหรือไม่

พล.ต.อ.อดุลย์ ได้กล่าวขอบคุณ ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการและผู้พิการที่มาให้ข้อมูลในครั้งนี้ เพื่อสิทธิประโยชน์ของคนพิการ และขอฝากให้มูลนิธิ สมาคมและกลุ่มผู้ดูแลผู้พิการทั้งหลายได้ร่วมกันปกป้องสิทธิและประโยชน์ของผู้พิการ หากมีข้อมูล ข้อเท็จจริงใดๆ เกี่ยวกับความบกพร่องในการปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว ขอให้ผู้พิการซึ่งเป็นผู้เสียหายเข้ามาพบเจ้าหน้าที่เพื่อให้ข้อเท็จจริง เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบและปกป้องสิทธิและประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของผู้พิการ และดำเนินการกับผู้ปฏิบัติบกพร่อง หรือ ผู้มีพฤติกรรมทุจริตตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายต่อไป

ที่มา: เรื่องเล่าเช้านี้, 5/10/2561

ก.แรงงาน สรุปผลฝึกอาชีพคนจน 2 พันล้าน ยอดไม่เข้าเป้า เตรียมขยายเวลา

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงผลการฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ หลังครบกำหนดฝึกอาชีพตามปีงบประมาณ 2561 เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน มีเป้าหมายดำเนินการฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ จำนวน 652,120 คน แต่มีผู้แจ้งเข้ารับการฝึกเพียง 436,329 คน ผลการดำเนินการฝึกอาชีพ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม – 30 กันยายน 2561 มีผู้เข้าฝึก 281,827 คน แบ่งออกเป็น ฝึกอาชีพ หลักสูตรช่างอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) จำนวน 11,607 คน และการฝึกอาชีพเสริมเพื่อการมีงานทำ หรือการประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 270,265 คน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอยู่ในช่วงปิดงบประมาณ จึงอยู่ระหว่างการสรุปผลภาพรวมโครงการฯ ก่อนจะรายงานผลเสนอไปที่กระทรวงการคลัง เพื่อสรุปภาพรวม นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาขยายเวลาออกไปเพื่อให้สามารถดำเนินการฝึกอาชีพได้ต่อเนื่อง และเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยที่แจ้งความประสงค์ไว้ได้รับฝึกอาชีพครบถ้วน

สำหรับ 5 จังหวัดที่มีจำนวนผู้เข้ารับการฝึกมากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี นราธิวาส เพชรบูรณ์ และเชียงใหม่ หลักสูตรที่มีผู้เข้ารับการฝึกมากที่สุด ได้แก่ การทำขนมไทย การประกอบอาหารไทย การทำศิลปะประดิษฐ์ การทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร และช่างอเนกประสงค์ สัดส่วนของผู้ผ่านการฝึกเป็นเพศหญิง จำนวน 213,785 คน เพศชาย จำนวน 68,052 คน สำหรับช่วงอายุระหว่าง 35-50 ปี เข้าฝึกมากที่สุด จำนวน 86,489 คน รองลงมาอายุระหว่าง 51-60 ปี จำนวน 69,956 คน มากกว่า 60 ปี จำนวน 64,374 คน และน้อยกว่า 35 ปี จำนวน 61,012 คน โดยได้รับจัดสรรงบประมาณ 2,068,157,600 บาท เบิกจ่าย จำนวน 510,223,500 บาท คิดเป็นร้อยละ 45.31

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 5/10/2561

ปลดล็อกแบล็กลิสต์แรงงานไทยในเกาหลีใต้ 1.2 แสนคน แจ้งรายชื่อกลับไทย 21 ต.ค. 2561 - 31 มี.ค. 2562 เกาหลีใต้ไม่เอาผิด-เปิดโอกาสกลับไปอย่างถูกกฎหมายได้อีกรอบ

3 ต.ค. 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมชี้แจงการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System : EPS) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อร่วมหารือวางแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) เพื่อบรรเทาปัญหาการลักลอบไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีอย่างผิดกฎหมาย

“พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ประมาณ 188,202 คน เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 66,010 คน เป็นการจัดส่งโดยรัฐ (EPS) จำนวน 24,158 คน แรงงานผิดกฎหมาย โดยอยู่เกินกำหนด (Over stay) และลักลอบทำงานโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว ซึ่งแชร์กันมากในโซเชียลมีเดีย รู้จักกันในชื่อ “ผีน้อย” จำนวน 122,192 คน ประเทศไทยได้รับโควต้า 5,000 คนต่อปี

ทั้งนี้ สถานการณ์การลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่า “ผีน้อย” มีมานาน โดยสาเหตุของปัญหาเนื่องจากเกาหลีใต้มีอัตราค่าจ้างสูง แรงงานไทยเป็นที่ต้องการของนายจ้างเกาหลี ขณะที่จำนวนโควตาที่ได้รับมีจำนวนไม่มากนักและมีหลายประเทศ รวมทั้งการไปทำงานต้องผ่านการทดสอบฝีมือแรงงาน ทักษะด้านภาษา และขั้นตอนการจัดส่งใช้เวลานาน/เอกสารจำนวนมาก ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว

และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เดินทางไปเกาหลีใต้เพื่อขยายตลาดแรงงานไทยในเกาหลี เยี่ยมเยียนคนงานไทยเพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการของแรงงานและการให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งนายจ้างชาวไทยที่ไปทำธุรกิจในเกาหลีใต้ที่มีความต้องการอยากให้รัฐบาลไทยรับทราบถึงปัญหาและต้องการแรงงานทักษะฝีมือ ตลอดจนเข้าพบและเจรจากับทางการเกาหลีเพื่อแก้ไขปัญหาผีน้อยที่ลักลอบทำงานอยู่ประมาณ 1.2 แสนคน เพื่อดูแลให้กลับเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ดังนั้น ในวันนี้กระทรวงแรงงานจึงเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยหลักการจะดูแลแรงงานที่ไปให้ถูกต้องก่อน ขณะเดียวกันจะดูแลแรงงานที่ไม่ถูกต้องอย่างไร พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมของแรงงานที่จะเดินทางไปใหม่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงไปทำงาน การแก้ไขปัญหาแบ่งเป็น

1. กลุ่มที่อยู่แล้ว กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการในการรองรับที่จะนำแรงงานที่เดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีอย่างผิดกฎหมายให้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะปลดล็อกแบล็กลิสต์แรงงานไทยในเกาหลีใต้ประมาณ 1.2 แสนคนที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย โดยทางการเกาหลีใต้เปิดโอกาสให้กลับประเทศของตนเองได้ หากต้องการกลับประเทศโดยสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 – 31 มีนาคม 2562 โดยผู้ที่สมัครใจกลับประเทศตนเอง ทางการเกาหลีใต้จะไม่ส่งรายชื่อให้ทางราชการ เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถเดินทางกลับมาอย่างถูกกฎหมายได้อีกครั้ง ทั้งนี้ หากถูกจับได้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะถูกส่งกลับและห้ามเข้าประเทศเกาหลีใต้ 10 ปี เมื่อกลับมาประเทศไทยจะต้องมีงานรองรับ และขยายระยะเวลาการทำงานจากเดิมกฎหมายอนุญาตให้ทำงานได้ 2 ช่วง ไม่เกิน 9 ปี เป็น 14 ปี และอายุเกิน 39 ปีได้

สำหรับแรงงานที่มีความซื่อสัตย์สามารถทำงานต่อได้โดยไม่ต้องเดินทางกลับมายังประเทศไทย มีการเพิ่มทักษะฝีมือและภาษาให้กับแรงงานที่จะทำงานต่อ ทั้งยังให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือและสอบภาษาเกาหลีโดยมีคะแนนจาก 88 คะแนน เป็น 95 คะแนน จากคะแนนเต็ม 200 คะแนน รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือคนงานไทยดำเนินการในวัดไทยที่สาธารณรัฐเกาหลี และมีศูนย์ดูแลแรงงานเรื่องประกันสังคม

2. กลุ่มที่จะเดินทางไปใหม่ โดยเพิ่มโควตาให้กับแรงงานไทยมาทำงานมากกว่าปีละ 5,000 คน เตรียมความพร้อมโดยการฝึกอบรมภาษา/พัฒนาทักษะฝีมือ/ให้ความรู้ด้านกฎหมายและวัฒนธรรม จัดระบบคัดเลือกด้านภาษาให้มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนและระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณาทางด้านเอกสารให้น้อยลง เข้าเป็นผู้ประกันตนของระบบประกันสังคม ตลอดจนรับแรงงานสตรีเพิ่มขึ้น

และ 3. มาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและบทลงโทษกรณีที่ลักลอบไปทำงาน ขึ้นบัญชีดำบริษัทและสาย/นายหน้าที่หลอกลวงและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ป้องกันและตรวจเข้มเพื่อสกัดกั้นการลักลอบไปทำงานที่สนามบิน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคน เตรียมการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน และสนับสนุนให้แรงงานไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและช่วยเหลือแรงงานที่ถูกหลอกลวง ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้จัดตั้งชุดเฝ้าระวัง และตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีพฤติกรรมในการโฆษณาชักชวนคนหางานไปทำงานต่างประเทศ และใช้สายตรวจออนไลน์คอยตรวจสอบ เฝ้าระวังพฤติการณ์ของขบวนการค้ามนุษย์และกลุ่มมิจฉาชีพอย่างเข้มงวด หากพบการกระทำผิดจะดำเนินคดี และโพสต์ข้อความเตือนชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการไปทำงานต่างประเทศไปยัง Facebook ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการในการดูแลแรงงานที่ไม่ถูกต้อง เมื่อกลับมาประเทศไทย โดยหาตำแหน่งงานให้ทำงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน

ซึ่งหากคนหางานใดประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศขอให้ตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางาน ซึ่งมีสำนักงานจัดหางานจังหวัดอยู่ทั่วประเทศก่อนตัดสินใจ อย่าหลงเชื่อคำชักชวน โดยปราศจากข้อมูล โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ใช้วีซ่าท่องเที่ยวในการทำงานไม่ได้ ควรเตรียมความพร้อมก่อนไปทำงาน เช่น ด้านร่างกาย ทักษะฝีมือ ภาษา เป็นต้นคิดให้รอบคอบ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในการเดินทาง เช่น ค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับค่าจ้างที่จะได้รับ หรือการที่ต้องอยู่ห่างจากครอบครัว เป็นต้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 3/10/2561

สธ.ขอ 10 วันให้คำตอบเภสัชกรลูกจ้างเรื่องการจัดสรรอัตราตั้งใหม่บรรจุราชการ

ภญ.ปิยะภากร ผลภิญโญ ประธานเครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประมาณ 10.00 น. วันที่ 2 ต.ค.2561 ทางเครือข่ายฯพร้อมสมาชิกประมาณ 100 คนจากทั่วประเทศ ได้เดินทางไปรวมตัวยื่นข้อร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาล บริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยมีผู้อำนวยการสำนักงาน ก.พ.ร.และตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นตัวแทนรับเรื่องส่งต่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างแห่งประเทศไทยได้อ่านแถลงการณ์โดยมีสาระสำคัญระบุว่าแม้จะมีการจัดสรรตำแหน่งสำหรับเภสัชกรจบใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่การบรรจุเภสัชกรเพียงปีละ 300 กว่าตำแหน่ง ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการในภาครัฐ ณ ปัจจุบัน จำนวนเภสัชกรในกระทรวงสาธารณสุขมีจำนวนไม่ถึง 50% ของจำนวนที่ควรมี โดยปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐมีอัตราเภสัชกร 1.3 คน ต่อ 10,000 ประชากร ขณะที่ตามเกณฑ์ต้องการ 3.7 คน ต่อ 10,000 ประชากร

ขณะที่เภสัชกรลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และพนักงานราชการ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชนอย่างเต็มความสามารถ เภสัชกรหลายราย ปฏิบัติหน้าที่มากว่า 10 ปี แต่ยังไม่ได้ตำแหน่งบรรจุเป็นข้าราชการ ทั้งๆ ที่ภาระงานเทียบเท่ากับเภสัชกรที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ เกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิ สวัสดิการและความมั่นคงในอาชีพ แม้ว่าที่ผ่านมา สธ.มีการจัดสรรตำแหน่งข้าราชการใหม่ใช้ทุนสำหรับหรับเภสัชกรอย่างต่อเนื่อง แต่เภสัชกรลูกจ้างที่ทำงานมาก่อนกลับไม่มีอัตราบรรจุข้าราชการแบ่งมาให้ ส่งผลให้เภสัชกรลูกจ้างเสียขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ รู้สึกขาดความมั่นคงในวิชาชีพ หลายคนเลือกที่จะออกจากระบบราชการไปยังภาคเอกชน ทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการทำงาน

ดังนั้นเพื่อให้เภสัชกรลูกจ้างมีขวัญและกำลังใจในการทำงานสืบเนื่องต่อไปทางเครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างแห่งประเทศไทย จึงรวมตัวกันขึ้นเพื่อขอความเป็นธรรม และเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการ ดังนี้

1.จัดสรรตำแหน่งข้าราชการให้กับเภสัชกร พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว ที่รอการบรรจุข้าราชการให้ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน

2.กระทรวงสาธารณสุขโปรดดำเนินการบริหารจัดการตำแหน่งว่างที่ไม่ใช่อัตราตั้งใหม่ ให้กับเภสัชกร พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว

ภญ.ปิยะภากร กล่าวอีกว่า ตัวแทนจาก สธ.กล่าวว่า ขณะนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา ดังนั้นกระทรวงขอเวลาอย่างเร็ว 7-10 วันเพื่อให้คำตอบว่าจะมีการจัดสรรอัตราตั้งใหม่เพื่อบรรจุข้าราชการสำหรับเภสัชกรลูกจ้างหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ หลังจากอ่านแถลงการณ์และยื่นข้อเรียกร้องแล้ว สมาชิกเครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างแห่งประเทศไทยยังคงชุมชนบริเวณทำเนียบรัฐบาลจนถึงเวลา 14.00 น. ก่อนจะแยกย้ายเดินทางกลับภูมิลำเนาต่อไป

ที่มา: Hfocus, 3/10/2561

เตรียมใช้ 'การจ้างเหมารายวัน' แทนตำแหน่ง 'ภารโรง' โรงเรียนรัฐทั่วประเทศ

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา ตนได้เซ็นหนังสือจัดจ้างผู้ปฏิบัติงานทางธุรการ แทนครูผู้สอนแล้ว จึงอยากฝากแจ้งไปถึงโรงเรียนทุกแห่งได้รับทราบ ซึ่งขณะนี้ สพฐ.มีโรงเรียนอยู่ 29,000 กว่าโรงเรียน ในปีนี้ สพฐ.ได้รับงบฯในการจัดจ้างผู้ปฏิบัติงานทางธุรการ 11,000 กว่าอัตรา ดังนั้น สพฐ โดยนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ มีโครงการนี้เพื่อลดภาระให้ครูผู้สอน สพฐ.ก็จะเพิ่มให้อีกประมาณ 17,000 อัตรา โดยตนได้ลงนามให้โรงเรียนเริ่มจ้างผู้ปฏิบัติหน้าที่ธุรการได้ตั้งแต่ ต.ค. 2561- ก.ย. 2562

สำหรับในส่วนของนักการภารโรง ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วน มีในส่วนที่โรงเรียนใช้งบประมาณจ้างเป็นรายเดือนอยู่แล้ว ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่ง ส่วนโรงเรียนที่ยังไม่มีนักการภารโรง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 9,000 กว่าโรง ดังนั้น สพฐ.ได้จัดงบตามโครงการลดภาระครูไปให้กับโรงเรียนใช้วิธีจ้างเหมาบริการเฉพาะเรื่อง เช่น โรงเรียนอยากตัดหญ้า หรือซักผ้าปูที่นอน กรณีโรงเรียนชั้นปฐมวัย ก็ให้จ้างแม่บ้านซักผ้าให้ในอัตราขั้นต่ำวันละ 300 บาท โดย สพฐ.จัดงบให้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 วันต่อ 1โรงเรียน รวมจำนวน 104 วัน แล้วแต่โรงเรียนจะใช้วิธีจ้างทุกสัปดาห์ตามงานที่ต้องทำจริง หรือระดมจ้างหลายวันติดต่อกันก็ได้

“ดังนั้นอนาคต หากภารโรงเกษียณโดยนโยบายของรัฐ ไม่น่าจะมีการบรรจุนักการภารโรงใหม่เข้ามา แต่จะให้โรงเรียนใช้วิธีจ้างเหมาบริการแทน เพราะการจ้างนักการภารโรง 1 คน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ทุกอย่าง แต่รัฐก็ให้เงินสนับสนุนมา และสพฐ.เติมไปให้อีก” นายบุญรักษ์ กล่าว

สำหรับโรงเรียน 9,000 กว่าโรงที่ยังไม่มีนักการภารโรง เพราะโรงเรียนมีขนาดเล็กเด็ก 40-50 คน หากต้องการเปลี่ยนสายไฟ ก็จ้างช่างไฟมาทำวันละ 300 บาท หรือจ้างคนในพื้นที่เพื่อให้เขามีรายได้เพิ่มจากการทำงาน เป็นการกระจายรายได้ให้คนในพื้นที่ ส่วนโรงเรียนที่คิดว่าอยากได้ภารโรงประจำเป็นรายเดือน สพฐ.ก็ไม่ได้ห้าม ถ้ามีเงินเหลือนำมาสมทบกับที่ สพฐ. จัดให้ สพฐ.ต้องการสนับสนุนครูเพราะการสอนให้ดีครูต้องมีเวลาเตรียมอย่างน้อย 3 ส่วน โดยส่วนแรกเตรียมก่อนการสอน เตรียมคิดกิจกรรม เตรียมสื่ออุปกรณ์ ส่วนช่วงสอน ครูก็จะได้เต็มที่กับเด็ก และหลังสอนซึ่งเรามีจุดอ่อนอยู่เพราะครูมีภาระเยอะ ซึ่งหลังสอนครูจะต้องมีเวลาบันทึกเด็กเป็นรายคน เช่น เด็กเก่งแล้วก็ให้ไปทำกิจกรรมต่อยอดต่อไป ส่วนเด็กที่ยังเรียนไม่ทันเพื่อน ครูก็จะได้ไปเพิ่มเติมให้กับเด็ก ตนก็บอกครูอยู่เสมอว่าหลังจากนี้ครูจะต้องทุ่มเทช่วยเหลือเด็กและให้นักเรียนเป็นหน้างานให้มาก

“ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่จะทำให้มีผู้ปฏิบัติงานธุรการแทนครูผู้สอนให้ครบทุกโรงเรียน ซึ่งต้องใช้งบ 2 พันกว่าล้านบาท โดยวันที่ 1 ต.ค.นี้ เริ่มดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมด ส่วนงบภารโรงเหมาจ่ายบริการ อีกประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งสพฐ.ได้กันงบไว้แล้ว จะจัดสรรตามไปให้ เนื่องจาก สพฐ.เพิ่งจะคิดเกณฑ์เสร็จ ซึ่งงบใน 2 ส่วนที่ใช้นี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพการศึกษาของเด็ก เพราะจะทำให้ครูมีเวลาให้กับเด็กมากขึ้น” นายบุญรักษ์ กล่าว

ที่มา: แนวหน้า, 2/10/2561

เภสัชกรลูกจ้างชั่วคราวบุกทำเนียบ ขอความเป็นธรรมบรรจุเข้ารับราชการ

2 ต.ค. 2561 เครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างชั่วคราวแห่งประเทศไทย นำโดย ภญ.ปิยะภาภร ผลภิญโญ ประธานเครือข่าย เดินทางมาที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมบรรจุเข้ารับราชการ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ไม่ได้เพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ของเภสัชกรแม้แต่ตำแหน่งเดียว

เครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างชั่วคราวฯ อ้างข้อมูลว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐมีอัตราเภสัชกร 1.3 คน ต่อประชากร 10,000 คน ขณะที่ตามเกณฑ์ต้องการคือ 3.7 คน ต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งถือว่าไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนเภสัชกรในโรงพยาบาลรัฐที่ควรจะมี ขณะที่ปัจจุบันมีการบรรจุเภสัชกรปีละ 300 กว่าตำแหน่ง ซึ่งยังไม่เพียงพอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดสรรตำแหน่งข้าราชการใหม่ ใช้ทุนสำหรับเภสัชกรอย่างต่อเนื่อง แต่เภสัชกรลูกจ้างที่ทำงานมาก่อน กลับไม่เคยมีตำแหน่งข้าราชการบรรจุแบ่งมาให้ จึงเดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ขอให้จัดสรรตำแหน่งข้าราชการให้กับเภสัชกร พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราวที่รอบรรจุข้าราชการให้ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน

ที่มา: THE STANDARD, 2/10/2561

เตรียมดันตั้ง 'ศูนย์บริการคนพิการต่างจังหวัด'

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2561 ว่า ที่ประชุมจะพิจารณาเรื่องการผลักดันจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการตามต่างจังหวัด เพื่อให้คนพิการในแต่ละภูมิภาคได้รับการดูแลช่วยเหลือ รวมถึงเป็นศูนย์ประสานงานให้คนพิการ ซึ่งจะมีการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณในปี 2562 จัดตั้งศูนย์บริการคนพิการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว นอกจากนี้ที่ประชุมยังเตรียมผลักดันตั้งศูนย์นวัตกรรมวิจัยเกี่ยวกับเรื่องคนพิการ ทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์การช่วยเหลือคนพิการ เพื่อให้เข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากทำได้สำเร็จประเทศไทยจะเป็นผู้นำในภูมิภาค

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ส่วนปัญหาการทุจริตเงินคนพิการ กระทรวงแรงงาน ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว แต่ในส่วนของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้มีการกำชับ ให้ไปดูเรื่องการเพิ่มมาตรการทางกฎหมายที่ทำให้การทุจริตทำได้ยากขึ้น

ที่มา: สยามรัฐ, 1/10/2561

ยอดต่ออายุแรงงานต่างด้าวประมงทะเล ม.83 จำนวน 6,082 คน

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล โดยได้เปิดต่ออายุแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วออกไปอีกเป็นเวลา 2 ปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ซึ่งจะอนุญาตให้คราวละ 1 ปี ตามที่แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม - 30 กันยายน 2561 ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดติดชายทะเล

ปรากฏว่ามีแรงงานต่างด้าวมายื่นขอขยายระยะเวลาการทำงานจำนวนทั้งสิ้น 6,082 คน คิดเป็นร้อยละ 55.29 เป็นกัมพูชามากที่สุดจำนวน 4,565 คน รองลงมาเป็นเมียนมา 1,397 คน และลาว 120 คน โดยจังหวัดที่มีผลการดำเนินการมากที่สุด 5 อันดับคือ 1. ระยอง 2. ตราด 3. ชลบุรี 4. ปัตตานี 5. สงขลา

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงงานประมงโดยการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามระบบ MOU เป้าหมาย 42,000 คน ซึ่งขณะนี้มีนายจ้างยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงานแล้ว 13,949 คน และได้ดำเนินการจัดส่งคำขออนุญาตนำเข้าแรงงานไปสถานทูตทั้ง 3 ประเทศแล้ว 9,099 คน เป็นกัมพูชา 4,588 คน เมียนมา 4,159 คน ลาว 352 คน โดยได้รับใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) แล้วจำนวน 1,656 คน

รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า สำหรับแรงงานประมงตามมาตรา 83 ที่ไม่ได้ต่ออายุการทำงานในครั้งนี้พบว่า บางส่วนเปลี่ยนสถานะเป็น MOU แล้ว และบางส่วนเดินทางกลับประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้จะสามารถนำเข้าแรงงานประมงได้ทันต่อความต้องการ ซึ่งขอย้ำว่า แรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีใบอนุญาตทำงาน หากฝ่าฝืนทำงานมีความผิดในข้อหา ‘ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน’ ต้องระวางโทษปรับ 5,000-50,000 บาท ตรวจพบจับปรับแล้วส่งกลับประเทศทันที

ส่วนนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย มีความผิดในข้อหา ‘รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน’ ต้องระวางโทษปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน และหากทำผิดซ้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 50,000-200,000 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/10/2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net