Skip to main content
sharethis

พิชญ์ชี้ เผด็จการอาจจะสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้ แต่ไม่กระจายความมั่งคั่ง วรเจตน์ระบุ ชนชั้นนำในสังคมมีส่วนปูทางให้อำนาจเผด็จการอยู่ยาว และการปกครองที่ห้ามถามคือเชื้อมูลแห่งการทำลายสติปัญญามวลรวมของสังคม ภาณุย้ำ เมื่อผู้คนเริ่มเห็นว่าเสรีภาพเป็นสิ่งที่น่าอึดอัด นั่นคือการเปิดทางให้เขาหวนกลับมา

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2561 ที่ร้านหนังสือบุ๊คโมบี้ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหาคร  ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการ “จากไวมาร์ ถึงเผด็จการวิทยา: ประชาธิปไตยไขว้เผด็จการ” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ ‘เผด็จการวิทยา’, ศาสตราจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และภาณุ ตรัยเวช ผู้เขียนหนังสือ ‘ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง’ ดำเนินรายการโดยเอกภัทร เชิดธรรมธร

ระบอบเผด็จการ เป็นเหมือนเชื้อโรคสามารถย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกได้เสมอ เมื่อภูมิคุ้มกันประชาธิปไตยตกต่ำ

พิชญ์ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาว่า ในยุคสมัยปัจจุบันคำว่า เผด็จการ ดูกลายเป็นคำต้องห้ามจนในหลายๆ ครั้งมีการหยิบคำว่า อำนาจนิยม มาใช้แทน แต่เมื่อพูดถึงสองคำนี้มีสิ่งที่ต้องอธิบายเพิ่มสามอย่างด้วยกันคือ ระบบการเมือง-ระบอบแบบไหนที่เป็นเผด็จการ การใช้อำนาจ-อะไรคือการใช้อำนาจเผด็จการ และวัฒธรรมหรือตัวตนของสังคมเผด็จการ

เขาอธิบายต่อไปว่า ระบอบการเมืองอาจดูง่ายๆ ว่าในสังคมนั้นมีการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งการเลือกตั้งในความหมายนี้ไม่ได้ได้หมายถึงการที่ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกผู้แทนในคูหาเท่านั้น แต่ว่าต้องมีองค์ประกอบอีก 4 อย่างคือ Free(อิสระ) Fair(เป็นธรรม) Regular(สม่ำเสมอ) และ Meaningful(มีความหมาย) เพราะการเลือกตั้งไม่ได้ดูกันเพียงแค่ความเป็นอิสระ กับความยุติธรรม แต่ต้องดูไปถึงความสม่ำเสมอ และต้องดูว่าการเลือกตั้งมีความหมายหรือไม่ หากเป็นการเลือกตั้งที่มีลักษณะของการเอาเปรียบ ก็จะทำให้การเลือกเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าสำหรับประชาชน

นอกเหนือไปจากการเลือกตั้งแล้วสิ่งที่ต้องดูต่อไปคือในสังคมนั้นมีระบบที่ตรวจสอบการใช้อำนาจหรือไม่ เขากล่าวต่อว่าทุกระบอบการปกครองต่างมีการใช้อำนาจในการปกครอง ซึ่งก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ อำนาจนิยม และไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร แต่สิ่งที่ผิดแปลกคือ การนิยมใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบต่างหาก

นอกจากนี้ พิชญ์ ยังระบุว่าเผด็จการมีลักษณะในทางวัฒนธรรมด้วย กล่าวคือ ระบอบเผด็จการจะอยู่ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้คนในสังคม ฉะนั้นระบอบเผด็จการที่อยู่ได้นานเป็นเพราะมีกระบวนการซึ่งเข้าไปกำหนดตัวตนของประชาชนให้สอดรับไปกับระบบ เช่น กำหนดให้มีการร้องเพลง การท่องคำขวัญ หรือมีการสร้างวัฒนธรรมแบบหนึ่งขึ้นมา เผด็จการมีหลากหลายรูปแบบ แต่เผด็จการที่พยายามจะกำหนดวิถีชีวิตของผู้คน หรือปรับเปลี่ยนธรรมชาติของผู้คน เราเรียกกระทำของระบอบนั้นว่า เผด็จการเบ็ดเสร็จ

“เผด็จการธรรมดา อาจจะแค่สั่งให้เราไม่ยุ่งกับการเมือง การเมืองเป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งที่มีความชำนาญเฉพาะ หรือบอกเราว่าอย่าเพิ่งเลือกตั้งยังไม่พร้อม แต่ถ้าเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จมันเปลี่ยนธรรมชาติของเราไปด้วย มันทำให้ตัวเราต้องออกมาร้องเพลง ออกมายืน ออกมาเต้นตามเวลา เพราะเขาต้องการให้เราเปลี่ยนตัวเองให้ฟิกซ์กับระบอบของเขา” พิชญ์ กล่าว

เขา กล่าวด้วยว่า แม้ว่าโลกในปัจจุบันนี้จะชูอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่ระบอบเผด็จการก็สามารถย้อนกลับมาได้เสมอถ้าระบบภูมิคุ้มกันของระบอบประธิปไตยบกพร่อง หากเราเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีการตรวจสอบ เป็นระบอบที่อ้างแต่เสียงข้างมาก โดยไม่สนใจองค์ประกอบอื่นๆ ของระบอบประชาธิปไตย ถึงที่สุดแล้วระบอบประชาธิปไตยก็อาจจะใช้อำนาจแบบเผด็จการได้เช่นกัน หากไม่ฟังเสียงคนอื่น

“หัวใจสำคัญของประชาธิปไตยคือ เสรีภาพ แต่ถ้าคุณไม่มีการรู้จักควบคุมตัวเอง มันก็เหมือนปัญหาสุขภาพ ผมผ่านความตายมาแล้ว ผมเล่าได้ ผมเข้าใจ เหมือนกับว่า คุณมีเสรีภาพที่จะกินอะไรก็ได้ แต่ถ้าคุณไม่รู้จักระมัดระวัง ไม่ดูแลตัวเอง ไม่ควบคุมตัวเอง โรคมันก็มาหาคุณไง ความฉิบหายของบ้านเมืองมันก็เกิดจากการที่เราไม่มีวินัย ซึ่งวินัยตัวนี้ไม่ใช่วินัยแบบที่คนอื่นมาสั่งเรา... มันไม่ใช่ว่าประชาธิปไตยมันคือการทำอะไรตามใจคุณก็ได้ ไม่งั้นมันก็ยุ่งเหมือนสุขภาพคุณนั่นแหละ” พิชญ์ กล่าว

พิชญ์ กล่าวต่อว่า ระบอบเผด็จการสามารถกลับมาได้ทุกวัน หากเราไม่มีสติ เขายกตัวอย่างว่า ตอนที่ยังเป็นประชาธิปไตย หลายๆ คนก็ไม่ชอบนักการเมือง มีการวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองอยู่ตลอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นฐานที่ทำให้คนไม่ศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย แต่สิ่งที่สำคัญคือ เมื่อเราไม่ชอบนักการเมือง ไม่ชอบระบอบประชาธิไตยแบบที่เป็นอยู่ เราจะยกเลิกมัน หรือจะปรับปรุงให้มันดีขึ้น

รากเหง้าของเผด็จการมาจากความไม่มั่นคงของคนในสังคม ชนชั้นนำในสังคมมีส่วนทำให้เผด็จการอยู่ยาวได้

วรเจตน์ ระบุว่า คำว่าเผด็จการ(Dictator) เริ่มใช้ครั้งแรกในสมัยโรมัน ซึ่งกฎหมายของโรมันได้ยอมให้มีผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในช่วงเวลาหนึ่ง ความคิดของชาวโรมันเวลานั้นเห็นว่า ในกรณีที่บ้านเมืองเกิดสภาวะวิกฤติ เขาจึงเป็นต้องมอบอำนาจให้บุคคลคนหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อแก้ไขปัญหานั้น เช่นอยู่ในภาวะสงคราม แต่ต้องมีการมอบอำนาจจากสภา ซึ่งได้แสดงถึงความเห็นพ้อง หรือฉันทามติได้ประมาณหนึ่ง เช่น จักพรรดิซีซาร์ที่ขึ้นมาปกครองโรมันได้ ก็เกิดจากการที่โรมันกำลังเผชิญกับสงครามจึงมีการมอบอำนาจให้ซีซาร์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด โดยมอบอำนาจจากสภา แต่จากนั้นโรมันก็กลายเป็นรัฐเผด็จการมาโดยตลอด

เขา กล่าวต่อว่า เผด็จการ มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน ไม่ได้มีความหมายในแง่ลบแบบในปัจจุบันนี้ กลับมีความหมายกลางๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นโรมันสามารถบอกอะไรเราได้อย่างหนึ่งคือ อำนาจเผด็จการมักจะมาพร้อมกับอะไรบางอย่าง คือความรู้สึกมันคงปลอดภัยในทรัพย์ส่วนบุคคล คำถามที่ว่าทำไมเผด็จการจึงเกิดขึ้นได้ คำตอบคือเมื่อบ้านเมืองเกิดภาวะผิดปกติบางอย่าง เมื่อกฎหมายและคำสั่งเริ่มไม่ทำงาน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่า จำเป็นต้องมีคนที่มีอำนาจเข้มแข็งเข้ามาแก้ไขปัญหา ฉะนั้นระบอบเผด็จการจึงมีโอกาสกลับมาได้ตลอดเวลา แต่เมื่อมาแล้วจะอยู่ได้นานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในทางประวัติศาสตร์ และสภาพสังคมของแต่ละสังคม

“เราลองย้อนกลับไปดูสิ่งที่มันเป็นช่วงกำเนิดประชาธิปไตย ในช่วงแรกก่อนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้จะมีกษัตริย์ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งในทัศนะของผมก็มีลักษณะเป็นเผด็จการอย่างหนึ่ง ในยุคนั้นถามว่าทำไมระบอบแบบนี้จึงดำรงอยู่ได้ คำตอบคือเพราะผู้คนต้องการความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต คนที่เป็นนักรบมีความสามารถในการทำให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นเขาก็ขึ้นมาปกครอง ทหารกับกษัตริย์ก็จะหลอมรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่ต่อมาระบอบแบบนี้ก็จะกลายเป็นคณาธิปไตยคือ คนที่อยู่วงในสุดของระบอบนี้จะได้ประโยชน์มากกว่าคนทั่วไป การเลื่อนตำแหน่งก็จะดูจากชาติกำเนิด เป็นลูกเจ้านายไหม เป็นคนที่อยู่ในตระกูลสูงหรือเปล่า นานไปความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรมก็จะเกิดขึ้นในหมู่ของคนทั่วไป และการเรียกร้องประชาธิปไตยก็จะเกิดขึ้นตามมา” วรเจตน์ กล่าว

วรเจตน์ กล่าวต่อว่า เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว ทำไมระบอบเผด็จการจึงหวนกลับมา คำตอบที่มีหลายสาเหตุ หนึ่งคือ แม้บ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่อำนาจโครงสร้างในสังคมยังไม่เท่ากัน เสียงของชนชั้นนำในสังคมบางสังคมอาจจะดังกว่าคนอื่น และมีอำนาจบ่งชี้ หรือสนับสนุนให้เกิดระบอบเผด็จการได้ จนสามารถอยู่ต่อไปได้อย่างยาวนาน ฉะนั้นชนชั้นในสังคมที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางการเมือง จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ระบบเผด็จการดำรงอยู่ได้ เว้นเสียแต่ว่าจะมีการแตกหักกันภายใน

สาเหตุที่สอง วรเจตน์ คิดว่า เผด็จการอยู่ได้ในยุคสมัยนี้เป็นเพราะประชาชนมีส่วน ระบบกฎหมายก็มีส่วน และความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตยก็เป็นสาเหตุอีกส่วนหนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นการเปิดทางที่ทำให้ กลุ่มบุลคลสามารถสร้างความฝันให้ผู้คนในสังคมเห็นว่า ยอมให้เขาขึ้นมาปกครองดีกว่า เขาจะเข้ามาแก้ไขปัญหาทุกอย่าง จะสังเกตได้ว่า หลังจากการที่มีการเปลี่ยนจากประชาธิปไตยไปเป็นเผด็จการ มักมีการสร้างความฝันใหม่ๆ ความสวยงามใหม่ๆ ให้ผู้คนตลอดเวลา เช่นมีการจัดระเบียบ จัดการความวุ่นวาย

“ความรู้สึกเบื่อหน่ายของประชาชนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เผด็จการดำรงอยู่ได้ ซึ่งหากเขาฉลาดพอภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จ เขาสามารถเปลี่ยนโครงสร้างความคิดทางวัฒนธรรมในจิตใจของผู้คนได้ด้วย พอคุณมีเครื่องมือ คุณใช้กฎหมายเป็นกลไกในการหล่อหลอมความคิดของคน ด้วยอำนาจทั้งทางกายภาพ ทางกฎหมาย อำนาจทางวัฒนธรรม ซึ่งมันมีอยู่แล้วในสังคม ความรู้สึกไม่มั่นคงมันมีอยู่แล้วในสังคม บางสังคมถามว่าทำไมเผด็จการจึงดำรงอยู่ได้ ตอบง่ายๆ เลยก็เป็นเพราะสังคมมันแตกแยก ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เมื่อสังคมแตกแยกเป็นสองฝ่ายการที่จะรวมกันเพื่อกำจัดเผด็จการมันจะไม่เกิด สิ่งนี้แหละที่ทำให้เผด็จการดำรงอยู่ได้” วรเจตน์ กล่าว

เขา อธิบายต่อไปว่า ระบอบเผด็จการมีหลายประเภท มีหลายระดับ สิ่งที่เกิดขึ้นในบางประเทศอาจจะไม่ได้เข้มข้นถึงขั้นเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ เพราะอาจจะรู้สึกว่าการเป็นเผด็จการถึงขั้นนั้นจะทำให้ไม่สามารถทนทานต่อการต่อต้านได้ และการที่ไม่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ แต่กุมอำนาจบางอย่างเอากลับกลายเป็นเครื่องมือชั้นดีในการกำหนดรูปร่างสังคมในระยะยาว และถ้าเขาทำสำเร็จ จนสามารถฝังความคิดชุดหนึ่งให้คนได้แล้วก็จะอยู่ได้นานกว่าที่ควรจะเป็น แม้ว่าโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม

ที่มาภาพ: ชนกนันท์ เสรีธรรมาชน

จุดหวนกลับสู่เผด็จการเกิดจากผู้คนเห็นว่า เสรีภาพเป็นสิ่งที่ทำให้อึดอัด

ภาณุ ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่ได้รับจากการอ่านหนังสือเรื่องเผด็จการวิทยา คือการได้รับคำตอบว่า ทำไมผู้คนจึงต้องการเผด็จการอยู่ ทำไมเผด็จการจึงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบัน แม้ระบอบประชาธิปไตยจะพัฒนามาจากความเป็นระบอบเผด็จการ แต่ความเป็นเผด็จการจะยังอยู่ในสังคม เขากล่าวต่อว่า ภาพจินตนาการที่ง่ายที่สุดสำหรับการมองหาความเป็นเผด็จการ คือการมองเข้าไปในความรัก ซึ่งจะพบว่าความรักแท้จริงแล้วไม่เรียกร้องเหตุผลที่จะรัก และตราบใดที่โลกของเรายังมีความรักอยู่ เผด็จการก็จะยังมีพื้นที่อยู่เสมอ

เขากล่าวต่อว่า ผู้คนจำนวนหนึ่งมองเห็นว่า เสรีภาพ เป็นสิ่งที่น่าอึดอัด เพราะการมีเสรีภาพจะเปิดโอกาสให้มีคนสามารถที่จะไม่เห็นด้วยกับเรา มีคนที่สามารถด่าเราแรงๆ ใช้คำพูดกับเราแรงๆ ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ต้องการจะเจอ ฉะนั้นเมื่อย้อนไปดูที่ไวมาร์ สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่งคือ ชุดคำถามของคนเยอรมันจำนวนหนึ่งที่ดังขึ้นจากทั่วทุกทิศทางว่า ทำไมคนเยอรมันจึงทะเลาะกันเอง ทำไมฝ่ายซ้าย กับฝ่ายขวาถึงทะเลาะกัน และความคิดที่ว่าหากไม่มีการทะเลาะกันจะทำให้เยอรมันมีความยิ่งใหญ่มากก็เกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นเพราะเสรีภาพ และการมีเสรีภาพนี้เองที่เปิดโอกาสให้คนทะเลาะกัน และเมื่อมีระบอบเผด็จการเกิดขึ้น ทุกอย่างถูกกำหนดไว้หมดแล้วว่า อะไรถูก อะไรผิด เราควรจะชอบอะไร และเราควรจะไม่ชอบอะไร ข้อถกเถียงทั้งหมดที่เคยมีมาก็สิ้นไป

“ฉะนั้นเสรีภาพมันเป็นสิ่งที่น่าอึดอัด และมีบางแง่มุมที่เราก็โหยหาผู้มีอำนาจที่จะเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์บางอย่างให้เรา เราไม่ต้องไปมองไกลที่สังคมโดยรวมก็ได้ เรามองในหมู่ของคนที่ทำงานเพื่อประชาธิปไตยเอง ไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม เราจะได้ยินบ่อยๆ ว่ามันมีดราม่ากันอีกแล้ว มันทะเลาะกันทางเฟซบุ๊กอีกแล้ว ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องตลก สองสัปดาห์ก่อนก็เพิ่งจะทะเลาะกันเรื่องเฌอปราง ในแง่หนึ่งเราอยู่ภายใต้เสรีภาพที่เราจะมีความเห็นต่างกัน แต่คำถามคือเราจะสามารถทำงานร่วมกันในขณะที่เราแตกต่างกันได้อย่างไร อันนี้มันเป็นโจทย์ที่สำคัญของเสรีภาพที่เราต้องคิด ซึ่งถ้าเราหยุดคิดตรงนี้ และเราไปคิดว่าฉันอยากจะได้คนมากำหนดเลย อยากได้คนมาบอกเลยว่า เราควรจะด่า หรือเราควรให้อภัยเฌอปราง มันคือการที่เราได้ละทิ้งแนวทางของเสรีภาพไปแล้ว แม้ว่ามันจะง่ายกว่าก็ตาม” ภาณุ กล่าว

เผด็จการอาจจะไม่ได้ทำให้ประเทศล้าหลังทางเศรษฐกิจ แต่มีปัญหาที่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจไม่ถูกกระจายออกอย่างเท่าเทียม

ต่อคำถามว่า หลายคนมักมองว่าเผด็จการเป็นสิ่งที่ล้าหลัง แต่ก็อาจจะมีหลายคนเห็นว่ามีหลายประเทศที่เป็นเผด็จการแต่มีความเจริญ เราสามารถอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างไร พิชญ์ กล่าวว่า แม้ในภาษาที่ใช้ในการเคลื่อนไหวบนท้องถนนมักจะจับคู่เผด็จการไว้กับคำว่า ล้าหลัง หรือคู่ไว้กับอนุรักษนิยม แต่เอาเข้าจริงแล้ว คำว่า ประชาธิปไตย เผด็จการ ก้าวหน้า อนุรักษนิยม ที่เราพูดถึงกันในทุกวันนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องสมัยใหม่ทั้งสิ้น เผด็จการในแบบของฮิตเลอร์ก็เป็นเผด็จการที่มีความทันสมัยนอกจากเรื่องทางวิทยาศาสตร์แล้วก็ยังมีความทันสมัยในแง่ของการใช้อำนาจด้วย

พิชญ์ กล่าวต่อว่า อนุรักษนิยมแบบไทย ไม่ได้เป็นการย้อนกลับไปสู่อดีตอย่างเดียว แต่มีการปรับภาษาของตัวเองให้เข้ากับความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งคือการปลดปล่อยตัวเองออกจากการชี้นำ ฉะนั้นภาษาของอนุรักษนิยมไทยอาจจะมีความก้าวหน้ากว่าฝ่ายก้าวหน้าเองเสียด้วยซ้ำ เพราะหลายๆ ครั้งภาษาของฝ่ายก้าวหน้ามีลักษณะที่บังคับ เช่น มีทางเดียวเท่านั้น เป็นไปตามหลักการสากล นี่คือคำที่ฝ่ายก้าวหน้ามักหยิบมาใช้ ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยใช้คำว่า อย่าเป็นทาสประเทศตะวันตก ไทยมีความภูมิใจในประเทศของเราเอง เราต้องมีเอกราชของเราเอง ภาษาหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะคำว่า เอกราช ถูกฉกฉวยไปใช้โดยฝ่ายอนุรักษนิยม และกลายเป็นการสร้างตนตัวที่พิเศษกว่าคนอื่น

“เวลาเราคุยกันเรื่องเผด็จการ เราไม่ได้หมายความว่าเผด็จการมันไม่ทำให้ประเทศชาติเจริญ มันเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ประเทศเจริญได้ แต่หัวใจสำคัญของเผด็จการคือ มันต้องแลกด้วยเสรีภาพ ซึ่งก็อย่างที่ภาณุบอก เสรีภาพในตัวมันเองก็มีปัญหา ประชาธิปไตยตัวของมันเองมันก็อาจจะตอบได้ว่ามีความเจริญในบางส่วน แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ตายตัวว่าประชาธิปไตยทำให้ประเทศเจริญมากกว่าเผด็จการในแง่ของตัวเลข ประชาธิปไตยบางครั้งก็ไม่เจริญ แต่มันเจริญกว่าในแง่ของการกระจายความเท่าเทียม เจริญกว่าในแง่ของการเปิดเผยข้อมูล และการเคารพซึ่งกันและกัน” พิชญ์ กล่าว

พิชญ์ กล่าวต่อว่า เผด็จการอาจจะไม่ได้ทำให้สังคมมีความล้าหลังทางเศรษฐกิจเสมอไป แต่สิ่งสำคัญคือ ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้กระจายออกไปหรือไม่ ปัญหาของเผด็จการเป็นปัญหาสองด้านในตัวของมันเอง เผด็จการขายความมั่นคง เสถียรภาพ และประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่เผด็จการต้องการเสมอคือข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะถ้าไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องก็ไม่สามารถบริหารประเทศให้เจริญได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ข้อมูลที่ถูกต้องที่ผู้มีอำนาจได้รับกลับเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกใจ เขาจึงพยายามยัดข้อมูลใหม่ใส่เข้าไป นี่คือจุดที่เผด็จการทำลายตัวเอง ถ้าเขาได้รับข้อมูลที่ถูกต้องสังคมก็เจริญได้

“ทางหนึ่งเผด็จการสมัยใหม่มันต้องอ้างตัวว่า กูเปิดแล้วนะ อยากให้ข้อมูลก็ไปศูนย์ดำรงธรรมดิ คือมันมีข้อมูลไม่ใช่ไม่มี แต่มันเชื่อว่าตัวเองมีข้อมูลที่ดีกว่า และบางครั้งข้อมูลที่มีคนมาให้มันไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง มันเป็นข้อมูลที่มีความรู้สึก ซึ่งคนที่ให้เขารับคุณไม่ได้ และคุณก็รับเขาไม่ได้ การตัดสินใจ การพูดจาก็จะดูเกรี้ยวกราดบ้าง น้อยใจว่าทำไมคนไม่เข้าใจ เพราะเผด็จการมันเชื่อว่ามันมีข้อมูลที่ถูกต้อง สมัยที่ผมกับอาจารย์วรเจตน์โดนเรียกไปปรับทัศนคติสิ่งที่เขาบอกเราเสมอคือ อาจารย์ได้ข้อมูลมาผิด อาจารย์ต้องไปแก้ ไปเล่าให้นักเรียนฟังว่าสิ่งที่จริงมันเป็น 1 2 3 4 อย่างนี้” พิชญ์ กล่าว

ที่มาภาพ: ชนกนันท์ เสรีธรรมาชน

เผด็จการคือเชื้อมูลแห่งการทำลายสติปัญญามวลรวมของสังคม

วรเจตน์ กล่าวต่อว่า การจะตอบคำถามว่าเพราะอะไรประเทศบางประเทศที่เป็นเผด็จการถึงมีความเจริญ อาจตอบอย่างชี้ขาดในทางวิชาการไม่ได้ เพราะเราไม่มีห้องทดลองทางสังคมที่สามารถกำหนดปัจจัยทั้งหมดได้ แล้วนำระบอบเผด็จการ กับระบอบประชาธิปไตยมาเทียบกัน แต่เราอาจจะดูแนวโน้มจากประเทศสองประเทศคือ เยอรมันตะวันตก และเยอรมันตะวันออกในอดีต กับเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ในปัจจุบัน เยอรมันแยกกันอยู่ประมาณ 40 ปี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีไอเดีย มีอุดมการณ์ในการปกครองคนละแบบ รัฐหนึ่งอาจจะบอกได้ว่าเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย อีกรัฐหนึ่งค่อนไปทางเผด็จการ แล้วถามว่าเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านเกิดอะไรขึ้น เราคงตอบไม่ได้ว่าเยอรมันตะวันตกเจริญกว่าเยอรมันตะวันออกทุกด้าน แต่อย่างน้อยความเจริญทางวิชาการ ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเราปฏิเสธไม่ได้

เขาเล่าว่า ได้ไปเรียนต่อที่เยอรมันหลังจากมีการทำลายกำแพง และรวมประเทศได้เพียงแค่ 3 ปี เขามีโอกาสนั่งรถไฟข้ามไปฝั่งตะวันออก ในทางกายภาพมีความแตกต่างระหว่างสองประเทศนี้อย่างมีนัยสำคัญ

วรเจตน์กล่าวด้วยว่า เมื่อมองกลับมาที่ฝั่งเอเชียทุกวันนี้เราเห็นสองประเทศเกาหลี ก็พอจะบอกได้ว่าตัวระบอบการปกครองมีอิทธิพลอย่างมากต่อบุคลิกภาพของผู้คน ชีวิตจิตใจ การดำเนินการทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางวิชาการ มันสามารถบอกได้ในระดับหนึ่ง

"สำหรับตัวผมเองคิดว่าประชาธิปไตยมันมีทิศทางในทางที่ดีกว่า แม้ตอนนี้เราพูดถึงจีนที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแต่มันอาจจะเป็นข้อยกเว้น หรือมันอาจจะยังไม่ถึงเวลาที่ผลของมันจะแสดงออกมา เราอาจจะไม่ได้มีชีวิตอยู่ยาวนานมากพอที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในทางการเมือง เราอาจจะยู่ในจังหวะซึ่งทั้งชีวิตของเราอาจจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเลยก็ได้” วรเจตน์ กล่าว

เขากล่าวต่อว่า ระบอบประชาธิปไตยอย่างน้อยที่สุดดีกว่าเผด็จการในแง่ที่มีการเปิดโอกาสให้คนตั้งคำถาม เพื่อที่จะทำให้เราพิสูจน์ได้ว่าความจริงแล้ว สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่มันเป็นอย่างไรกันแน่ ซึ่งระบอบเผด็จการไม่เอื้อให้คนสามารถตั้งคำถามได้ จนถึงที่สุดจะทำให้สติปัญญาโดยรวมของสังคมต่ำลง เพราะสิ่งที่จะทำให้สติปัญญาของมนุษย์พัฒนาได้คือ การมีเสรีภาพในการตั้งคำถาม

“ผมไม่ได้บอกว่าประชาธิปไตยมันคือ ความไร้วินัย ประชาธิปไตยไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้ทั้งหมด มันมีองค์ประกอบอะไรที่มากไปกว่านั้น การจะพูดถึงเรื่องความมีวินัยในระบอบประชาธิปไตย มันต้องย้อนกลับไปถามว่าวิธีคิดแบบเผด็จการนี่มันสร้างวินัยเหรอ หรือมันทำให้คนไม่มีวินัยกันแน่ เราลองย้อนไปดูสมัยเราเป็นนักเรียน สมัยผมเข้าแถวแดดร้อนๆ ครูก็ยืนอยู่ในร่ม มีร้องเพลงชาติ แล้วก็เข้าห้องเรียน นี่คือพิธีกรรมที่ทำอยู่ทุกวันหน้าเสาธง ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับภาพรวมของวินัยในสังคมทั่วไปบ้างละ แปลว่ามันต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ ในแง่ของการอบรมบ่มเพาะพลเมืองของเรา และแน่นอนความเข้าใจเรื่องวินัยแบบที่ทำกันอยู่ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้มีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่เอาทหารเข้ามาฝึกวินัยนักศึกษาปี 1 เพื่อให้เกิดวินัยขึ้น นี่คือความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งหมดนี้มันรวมถึงระดับปัญญามวลรวมของสังคมด้วยที่ทำให้เราคิดได้แค่นี้” วรเจตน์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net