โนเบลสันติภาพ 2018 แด่ 2 นักสู้ต่อต้านความรุนแรงทางเพศในสงคราม

นาเดีย มูราด เป็นผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศในสงคราม โดยเคยถูกบังคับให้เป็นทาสบำเรอกามภายใต้กลุ่ม ISIS ส่วนเดนิส มักวีจ เป็นหมอผู้ดูแลหญิงที่ถูกข่มขืนในสงครามกลางเมืองคองโก ทั้งสองต่างก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้ที่ดูเหมือนจะหันสปอตไลท์มาที่ประเด็นปัญหาเรื่องความรุนแรงทางเพศทั้งที่เกิดในสงครามและที่เกิดในสังคมทั่วไป

(จากซ้ายไปขวา) นาเดีย มูราด และเดนิส มักวีจ
ที่มา:
Frank Schwichtenberg/Wikipedia และ Claude TRUONG-NGOC/Wikipedia

ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีนี้คือนาเดีย มูราด และ เดนิส มักวีจ ในฐานะที่ทั้งสองเป็นผู้เคลื่อนไหวต่อต้านความรุนแรงทางเพศในสงคราม โดยที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลกล่าวถึงเหตุผลที่ให้รางวัลแก่พวกเขาในปีนี้ว่า เพราะต้องการให้คนหันมาสนใจประเด็นความรุนแรงนี้โดยเฉพาะเรื่องที่ "ผู้หญิงมักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในสงคราม"

หนึ่งในผู้ได้รับรางวัล นาเดีย มูราด เคยเป็นผู้ที่ถูกบังคับเป็นทาสบำเรอกามในปี 2557 หลังจากที่กลุ่มก่อการร้ายไอซิสบุกโจมตีชุมชนชาวยาซิดีในเมืองโคโช กลุ่มไอซิสสังหารผู้คนไปมากกว่า 600 ราย รวมถึงพี่น้องของมูราด 6 ราย แล้วก็จับผู้หญิงที่ยังอายุไม่มากไปเป็นทาสบำเรอกาม หลังจากนั้นชีวิตของมูราดก็ต้องเผชิญกับความโหดร้าย น่าสยดสยอง

"ฉันเคยตกเป็นทาสบำเรอกามของกลุ่มไอซิสมาก่อน ฉันเล่าเรื่องของตัวเองเพราะมันเป็นอาวุธอย่างเดียวที่ฉันมี" มูราดระบุในพาดหัวบทความที่เธอเขียนให้เดอะการ์เดียนหลังการประกาศรางวัล

มูราดเล่าถึงสภาพแบบตลาดค้าทาสของพื้นที่ๆ ถูกไอซิสยึดครอง ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อถูกจับกุมมาไว้ในที่นั่นทั้งตะโกนและคร่ำครวญในขณะที่กลุ่มติดอาวุธที่มาสำรวจร่างกายพวกเธอและถามว่าพวกเธอยังบริสุทธิ์หรือไม่ เธอเล่าต่อไปว่าพวกคนจากกลุ่มก่อการร้ายจะตะโกนและตะคอกคำสั่งใส่พวกเธอในขณะที่พยายามจับต้องส่วนต่างๆ ขณะที่พวกเธอพยายามดิ้นรนขัดขืนอย่างสุดกำลัง

มูราดสามารถหลบหนีจากการคุมขังของกลุ่มไอซิสได้ในที่สุด เธอลอบเข้าไปในอิรักตั้งแต่ช่วงปี 2558 ก่อนที่จะกลายเป็นผู้ลี้ภัยในเยอรมนี หลังจากนั้นในปีเดียวกันเธอก็เริ่มรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมขางยาซิดียังคงมีการทำให้คนที่ถูกข่มขืนรู้สึกอับอาย แต่มูราดก็ออกมาพูดถึงประสบการณ์ของตัวเอง รวมถึงในปี 2560 เธอยังได้ขึ้นพูดที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในฐานะนักสิทธิมนุษยชนในประเด็นเรื่องการนำกลุ่มผู้กระทำผิดในสงครามมาลงโทษ

นอกจากรางวัลโนเบลแล้วเธอยังเคยได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนวาคลาฟ ฮาเวล รางวัลซาคารอฟ และเป็นทูตสันถวไมตรีด้านศักดิ์ศรีของผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์คนแรกของสหประชาชาติ

ทางด้านเดนิส มักวีจ เป็นหมอจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ผู้ที่คอยดูแลเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วในบ้านเกิดตัวเอง คณะกรรมการรางวัลโนเบลกล่าวว่าทั้งมูราดและมักวีจต่างก็เสี่ยงตัวเองเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมสงครามและทำให้เกิดความยุติธรรมต่อเหยื่อได้ มักวีจกล่าวว่าเขายินดีที่ได้เห็นใบหน้าของผู้หญิงจำนวนมากมีความสุขที่มีคนเล็งเห็นความสำคัญของพวกเธอ 

มักวีจเป็นผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลปันซีในบุคาวูทางตะวันออกของคองโกที่มีการดูแลผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศหลายพันคนในช่วงที่ประเทศของพวกเขาเกิดสงครามกลางเมืองในรอบปัจจุบัน เขาเคยถูกลักพาตัวในปี 2555 แต่ก็รอดชีวิตมาได้

เดอะการ์เดียนตั้งข้อสังเกตว่าการประกาศรางวัลในปีนี้มาพร้อมกับกระแสความสนใจเรื่องการข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ #MeToo ไม่ว่าจะในระดับสังคม ที่ทำงาน หรือความรุนแรงทางเพศในระดับสงคราม

ทางคณะกรรมธิการระบุว่าผู้รับรางวัลสันติภาพทั้งสองคนต่างก็มีส่วนในการทำให้คนหันมาสนใจ รวมถึงมีส่วนต่อสู้กับอาชญากรรมสงคราม โดยที่มักวีจอุทิศตนช่วยเหลือคุ้มครองเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

"MeToo และอาชญากรรมสงครามอาจจะไม่ใช่อย่างเดียวกันเสียทีเดียว แต่ประเด็นนี้ก็มีอะไรบางอย่างเป็นจุดร่วม คือความสำคัญของการเล็งเห็นความทุกข์ยากของผู้หญิง" เบริต รีสส์-แอนเดอร์เซน ประธานกรรมาธิการรางวัลโนเบลกล่าว

มูราดเปิดเผยว่าเธออยากจะแบ่งปันรางวัลนี้ให้กับชาวยาซิดีทุกคน รวมถึงชาวอิรัก ชาวเคิร์ด และชนกลุ่มน้อยรวมถึงผู้ที่เคยเผชิญกับความรุนแรงทางเพศมาก่อนทั่วโลก ในฐานะที่เธอเป็นผู้ที่เคยเผชิญเรื่องนี้มาก่อนเช่นกัน เธออยากจะใช้โอกาสนี้ในการทำให้ทั่วโลกสนใจความทุกข์ยากของชาวยาซิดีที่ต้องเผชิญกับอาชญากรรมโหดร้ายอย่าง "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" จากน้ำมือของพวก "ดาอิซ" ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งที่คนใช้เรียกไอซิส

เรียบเรียงจาก

Nobel peace prize 2018 winners: who are Denis Mukwege and Nadia Murad?, Stock News Press, 05-10-2018

Nobel peace prize goes to campaigners against sexual violence, The Guardian, 05-10-2018

I was an Isis sex slave. I tell my story because it is the best weapon I have
Nadia Murad, The Guardian, 06-10-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท