ทูตยุโรปชี้ 'การเจรจาต่อรอง' ช่วยสร้าง 'งานที่มีคุณค่า'

ทูตยุโรปชี้ 'การเจรจาต่อรอง' สามารถส่งเสริมให้เกิด 'การจ้างงานที่มีคุณค่า' ระบุแรงงานนอกระบบจะอยู่ในสภาวะยากจนหากไม่ได้รับการคุ้มครอง 

เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (กลาง)

8 ตุลาคม 2561 ที่ ศูนย์การประชุม รัชนีแจ่มจรัส ถนนพิชัย กรุงเทพฯ สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ได้จัดเวทีเสวนา “งานที่มีคุณค่ากับการพัฒนาแรงงานนอกระบบ” 

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประธานเปิดงานกล่าวว่า งานที่มีคุณค่ากับการพัฒนาแรงงานนอกระบบ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการแก้ไขปัญหาหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบ  ได้ออกกฎหมายหลายฉบับ มีการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว มีการขึ้นค่าแรงสูงสุดในรอบ 4-5 ปี ฝึกอาชีพแรงงานมากกว่า 6 แสน และได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่จัดการแรงงานเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างงานที่มีคุณค่าของแรงงานนอกระบบ ทั้งผู้รับงานไปทำที่บ้าน หาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และขับเคลื่อนให้เข้าถึงหลักประกันต่าง ๆ มีรายได้ที่เป็นธรรม มีที่อยู่อาศัย เข้าถึงแหล่งทุน รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกองคุ้มครองแรงงาน ทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี เช่นการขยายประกันสังคม มาตรา 40 ให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่หลักประกันต่าง ๆ เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่เท่าเทียม และได้รับการพัฒนาต่อไปตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี เพื่อให้ประชาชนพ้นจากความยากจนรวมทั้ง การใช้เทคโนโลยี 4.0 รัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และเปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า แรงงานนอกระบบมีความหลากหลายและมีจำนวนมากกว่า 24 ล้านคน ย่อมต้องมีปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนางานอาชีพอย่างแน่นอน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และจะทำต่อไปจนกว่าพี่น้องแรงงานจะมีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้พอเพียงสำหรับการดำรงชีวิต และได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นอย่างทั่วถึง สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย

“การสัมมนาในวันนี้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะได้ปรึกษาหารือในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแรงงานนอกระบบ เพื่อรณรงค์ให้แรงงานนอกระบบทุกสาขาอาชีพ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพัฒนากฎหมาย นโยบาย มาตรการ รวมถึงแนวปฏิบัติ อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” รมว.แรงงาน กล่าว

เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงานด้วยว่าอันที่จริง วัน Decent Work เป็นวันที่ 7 แต่ตรงกับวันหยุดจึงมาจัดงานในวันนี้ งานที่มีคุณค่ากับการพัฒนาแรงงานนอกระบบมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้ทุกคนมีสิทธิได้รับการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบ มีความปลอดภัยในการทำงาน มีการเจรจาทางสังคม มีมาตรฐานการจ้างงานที่เท่าเทียม มีเกียรติ ศักดิ์ศรี ครอบครัวมั่นคง กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

หลักการทำงานที่มีคุณค่าเป็นหลักการสำคัญที่สหภาพยุโรปใช้ในการพัฒนาแรงงาน ทั้งด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่าแก่ทุกคน ช่วยคุ้มครองสิทธิแรงงาน ทำให้เกิดการเจรจาทางสังคม และการเสริมพลัง โดยเฉพาะผู้เปราะบาง ต้องมั่นใจว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปฯ ระบุว่า แรงงานนอกระบบจะอยู่ในสภาวะยากจนหากไม่ได้รับการคุ้มครอง ถูกบังคับทำงานล่วงเวลา ไม่ปลอดภัยในการทำงาน จึงต้องมีระบบและมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครอง ชาวยุโรปเชื่อว่าการเจรจาจะสามารถส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานหญิง สหภาพยุโรปจึงได้สนับสนุนทุนแก่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ คือโครงการพัฒนาเมืองที่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ เพื่อให้ส่งเสริมการจ้างงานที่มีคุณค่าและมีคุณภาพทั้งระดับชาติและท้องถิ่นให้ได้รับการจ้างงานที่มั่นคงและยั่งยืน

สำหรับ “วันงานที่มีคุณค่า” (World Day for Decent Work) วันงานที่มีคุณค่าสากล ตรงกับวันที่ 7 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งมีที่มาจากการประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ครั้งที่ 87 พ.ศ. 2547 ขบวนการแรงงานทั่วโลกได้จัดรณรงค์เพื่อการจ้างงานที่ดีและมั่นคง โดยเชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานและส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืน “งานที่มีคุณค่า” หมายถึง งานซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์ อันประกอบด้วย หลักการที่สำคัญ ดังนี้  1. การมีโอกาสและรายได้ (Opportunity and income) 2. การมีสิทธิ (Rights) 3. การได้แสดงออก (Voice) 4. การได้รับการยอมรับ (Recognition) 5. ความมั่นคงของครอบครัว (Family stability) 6. การได้พัฒนาตนเอง (Personal development) 7. การได้รับความยุติธรรม (Fairness)  และ 8. การมีความเท่าเทียมทางเพศ (Gender equality)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท