Skip to main content
sharethis

ฝ่ายสืบสวนของกรีนพีซเปิดเผยว่าสหรัฐฯ เริ่มหันมาส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยในช่วงครึ่งปี 2561 แรก หลังจากที่ขานำเข้าพลาสติกเพื่อรีไซเคิลรายใหญ่อย่างจีนสั่งคุมเข้มจำกัดการนำเข้า โดยที่ไทยได้นำเข้าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 20 เท่า ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่ากลุ่มประเทศโลกที่หนึ่ง "ฉวยโอกาส" กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องนี้

ที่มาภาพ:Pixabay

9 ต.ค. 2561 มีงานวิจัยจากกลุ่มอันเอิร์ธเธด กลุ่มสืบสวนสอบสวนจากองค์กรสิ่งแวดล้อมกรีนพีซระบุว่าทางการสหรัฐฯ ส่งออกขยะพลาสติกไปสู่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นหลังจากที่ทางการจีนประกาศคุมเข้มห้ามการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ

ข้อมูลสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ระบุว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีการส่งออกขยะพลาสติกจากสหรัฐฯ เพื่อทำการรีไซเคิลเกือบครึ่งหนึ่งมาที่ประเทศไทย มาเลเซียและเวียดนาม จากเดิมที่ในปีที่แล้วสหรัฐฯ ส่งออกขยะพลาสติกเหล่านี้ร้อยละ 70 ไปยังจีนและฮ่องกง

ในปีนี้ ทางการจีน ซึ่งเดิมเป็นประเทศนำเข้าขยะพลาสติกเพื่อรีไซเคิลรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้สั่งห้ามการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ ทำให้ตอนนี้ประเทศตะวันตกพยายามหาทางกำจัดขยะพลาสติกที่ล้นเกิน กลุ่มประเทศที่ส่งออกขยะพยาสติกรายใหญ่ให้กับจีนคือ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่ปุ่นและเม็กซิโก

อันเอิร์ธเธดยังเปิดเผยอีกว่าสหรัฐฯ ใช้ให้ประเทศกำลังพัฒนาเป็นที่รองรับขยะของพวกเขาโดยที่ไม่มีขอบข่ายการกำกับดูแลการกำจัดขยะในแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จอห์น โฮเซวาร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการรณรงค์ประเด็นท้องทะเลของกรีนพีซสหรัฐฯ กล่าวว่า แทนที่จะรับผิดชอบกับขยะของตัวเอง บริษัทของสหรัฐฯ กลับใช้งานให้ประเทศกำลังพัฒนาทำเรื่องนี้ให้โดยไม่มีการกำกับดูแล โดยมีทั้งขวดพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ถุงพลาสติก ที่ห่ออาหาร และบางครั้งก็เป็นวัตถุมีสารพิษ

โฮเซวาร์กล่าวอีกว่าในตอนนี้จีนไม่ยอมรับขยะเหล่านี้แล้ว ในขณะเดียวกับที่กำลังเกิดวิกฤตพลาสติกทั่วโลกจากการผลิตพลาสติกจำนวนมากโดยที่ไม่มีการจัดการที่ดี "คนทั่วไปเวลาที่พวกเขาทิ้งขยะพลาสติกใส่ในถังขยะรีไซเคิลก็หวังว่าพวกมันจะถูกรีไซเคิล ไม่ใช่ถูกส่งไปยังจีนหรือในตอนนี้คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะถูกนำไปเผาหรือฝัง"

ข้อมูลสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ระบุอีกว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ สหรัฐฯ ส่งออกขยะพลาสติกลดลง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จาก 949,789 เมตริกตันเหลือ 666,780 เมตริกตัน มีการส่งออกไปที่จีนลดลงร้อยละ 92 ส่งออกไปที่ฮ่องกงลดลงร้อยละ 77

ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ส่งออกขยะพลาสติกมาที่ไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2,000 ในปีนี้อยู่ที่ 91,505 เมตริกตัน ส่วนประเทศอื่นๆ อย่างมาเลเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 273 อยู่ที่ 157,299 เมตริกตัน และเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 อยู่ที่ 71,220 เมตริกตัน นอกจากนี้ยังมีการส่งออกไปที่ตุรกีและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันด้วย

รายงานจากองค์กรย่อยของกรีนพีซระบุว่าการที่ประเทศเอเชียอาคเนย์ต้องรองรับขยะปริมาณมากแทนจีนนั้นสร้างปัญหากับในประเทศตัวเอง เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมามีกรณีวาฬนำร่องเสียชีวิตโดยมีถุงพลาสติก 80 ใบอยู่ในท้อง ทางการไทยกำลังพิจารณาสั่งห้ามการนำเข้าขยะทุกรูปแบบหลังจากที่พบว่าโรงงานรีไซเคิลไม่ได้มาตรฐาน ทางเวียดนามและมาเลเซียต่างก็เริ่มมีมาตรการสั่งห้ามหรือสั่งลดการนำเข้าขยะพลาสติกแล้วเช่นกัน

แดเนียง ฮูร์นเวก ผู้ช่วยศาตราจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ระบบพลังงานและนิวเคลียร์จากมหาวิทยาลัยแห่งออนแทริโอกล่าวว่าการที่สหรัฐฯ ส่งออกขยะไปที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นนี้ถือเป็น "การฉวยโอกาส" อีกทั้งยังเชื่อว่าประเทศปลายทางจะเริ่มคุมเข้มการนำเข้าขยะเหล่านี้มากขึ้นในอนาคต ฮูร์นเวกยังบอกอีกว่าสิ่งที่น่าสนใจคือพลาสติกรีไซเคิลเหล่านี้ถูกส่งกลับไปยังสหรัฐฯ อีกครั้งในรูปแบบของของเล่นพลาสติกในซูเปอร์มาร์เก็ต

ทางด้าน อดินา เรเน แอดเลอร์ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านกิจการระหว่างประเทศของสถาบันอุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะซึ่งเป็นองค์กรสายการค้ากล่าวว่าการส่งออกขยะของสหรัฐฯ "ไม่ถือเป็นการนำขยะไปถมทิ้งใส่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" เพราะมันมีตลาดของวัตถุเหล่านี้อย่างชอบธรรมอยู่ แอดเลอร์บอกว่าจริงๆ แล้วมันเป็น "การซื้อขยะ" มากกว่าการขาย แต่ปัญหาจริงๆ คือการขาดการกำกับควบคุมมากกว่า รัฐบาลประเทศปลายทางอาจจะรู้สึกว่าท่าเรือนำเข้าของพวกเขาล้นหลามด้วยขยะจนอยากจะสั่งห้าม แต่แอดเลอร์ก็หวังว่าการสั่งห้ามจะเป็นคำสั่งชั่วคราวเพราะการขายทอดขยะเป็น "การซื้อขายอย่างถูกกฎหมาย" และมีตลาดการแปรรูปพลาสติกรีไซเคิลกำลังขยายตัวขึ้นในสหรัฐฯ และแคนาดา

เรียบเรียงจาก

Huge rise in US plastic waste shipments to poor countries following China ban, The Guardian, Oct. 5, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net