Skip to main content
sharethis

‘เครือข่ายสิทธิที่ทำกิน-ที่อยู่อาศัย’ ยื่น 37 ข้อเสนอ ต่อ กทม. ก.เกษตรฯ ก.คมนาคม และรัฐบาล ระงับการไล่รื้อ-เก็บค่าเช่า ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ยันไม่ขัดขวางการพัฒนา ผช.รมว.คมนาคม ระบุหลักการคือให้มีการสำรวจชุมชนทั้งหมด ให้ได้ข้อเท็จจริงทั้งหมด เร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไข ยืนยันว่าจะไม่มีการทิ้งใครไว้ข้างหลังแน่นอน

9 ต.ค.2561 เนื่องในช่วงสัปดาห์ของการรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2561 (World Habitat Day 2018) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เวลาประมาณ 8.00 น. สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และเครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ (คทช.) ในนามเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนที่ขับเคลื่อนด้านที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย ชุมนุมบริเวณศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและเดินขบวนไปหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ยื่นหนังสือแถลงการณ์เจตนารณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของ สอช. และ คทช.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า หลังจากนั้น เวลาประมาณ 9.30 น. กลุ่มดังกล่าวเคลื่อนขบวนต่อไปที่กระทรวงคมนาคม และทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องอีกด้วย

พรเทพ บูรณบุรีเดช รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า ที่เราเครือข่าย คทช. และ สอช. มากันวันนี้โดยรวมแล้วเรามีปัญหาทั้งเรื่องที่ดินที่ทำกิน ซึ่งเราได้มายื่นข้อเสนอให้แต่ละกระทรวง ทาง กทม. เรามายื่นเรื่องให้ระงับการไล่รื้อ ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของชุมชน ทางกระทรวงเกษตรฯ เราขอให้รัฐบาลเร่งนำนโยบายจัดสรรที่ดินมาจัดสรรให้แก่คนไร้ที่ทำกิน ทางกระทรวงคมนาคมส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอให้ระงับการไล่รื้อที่ดินการรถไฟ โดยเราขอให้มีการพูดคุย ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา ให้เรามีส่วนร่วม ส่วนทางทำเนียบรัฐบาลเราจะมีภาพรวมทั้งหมดเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้ โดยให้ยกเลิกกฎหมายบางเรื่อง เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า เพื่อเอื้อกับชุมชุนและที่ดินทำกิน ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโดยมีสัดส่วนจากภาคประชาชน เปิดรับฟังเรามากขึ้น ตั้งกองทุนที่ดินและที่อยู่อาศัยช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล

“ขณะนี้เราได้ยื่นหนังสือให้ทางกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งทั้งสองกระทรวงก็บอกว่าจะนำเข้าอนุกรรมการแก้ไขปัญหาในแต่ละเรื่อง อย่างเรื่องชุมชนกัลยาณมิตร ทางกระทรวงคมนาคมก็บอกว่าวันที่ 12 ต.ค. นี้ เขาก็จะเอาเข้าที่บอร์ด” พรเทพระบุ

เมื่อถามว่ามีการกำหนดช่วงเวลาในการดำเนินการหรือไม่ พรเทพกล่าวว่า ไม่ได้กำหนดช่วงเวลา แต่จะมีการตามโดยอาจจะไม่ได้มาเป็นม็อบใหญ่แบบนี้ หรืออาจจะเป็นม็อบใหญ่กว่านี้ถ้าหากยังไม่มีความคืบหน้า อย่างเคสที่หัวหินมีคนประมาณ 4,000 คนได้รับผลกระทบ ดังนั้นหากไม่คืบหน้าก็อาจจะมีคนมาเยอะกว่านี้ ถ้าไม่ได้มาที่กรุงเทพฯ ก็อาจจะอยู่ที่หัวหิน

“ทางเครือข่ายฯ ไม่ได้ต้องการขัดขวางการพัฒนา แต่ขอให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ทำอย่างไรให้การพัฒนากับคุณภาพชีวิตคนไปด้วยกันได้” พรเทพ กล่าว

ธีระพงษ์ รอดประเสริฐรับหนังสือจากตัวแทนเครือข่ายฯ

ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า นโยบายของกระทรวงคมนาคมคือทั้งการพัฒนาและชุมชนของทั้งประเทศต้องอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมได้มีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ทั้งที่ดินการรถไฟ ที่ดินของหน่วยงาน กระทรวง กรม ขณะนี้ในระดับประเทศมีคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งไว้แล้ว เป็นคณะกรรมการประจำสำนักนายกฯ ซึ่งได้ตั้งอนุกรรมการที่ดินของกระทรวงคมนาคม โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ได้ดำเนินการ 61 ชุมชนซึ่งมีข้อตกลงกัน มอบหมายนโยบายต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงกับ 61 ชุมชนเรียบร้อย

ธีระพงษ์ ระบุว่า สำหรับชุมชนอื่นนอกเหนือจาก 61 ชุมชน ในหลักการคือให้มีการสำรวจชุมชนทั้งหมด ให้ได้ข้อเท็จจริงทั้งหมด เร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไข ยืนยันว่าจะไม่มีการทิ้งใครไว้ข้างหลังแน่นอน

ต่อกรณีข้อโต้แย้งจากเครือข่ายฯ ถึงผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคมว่า ที่ว่าอนุกรรมการที่จัดตั้งขึ้นนั้นไม่มีเครือข่ายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมด้วยนั้น ธีระพงษ์ กล่าวว่า จะนำเรื่องนี้ไปเรียนแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นลำดับต่อไป

สำหรับปัญหาของทางเครือข่ายดังกล่าว โดยสรุปจากแถลงการณ์พบว่า เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายบายของภาครัฐ ในที่ดินของหน่วยงานต่างๆ และพื้นที่เอกชน เช่น ผู้เดือดร้อนริมคลองลำราง คลองย่อย กลุ่มถูกไล่รื้อในที่ดินเอกชน ที่ดินรถไฟ กลุ่มคนไร้ที่ทำกิน ส่วนปัญหาที่ดินรถไฟซึ่งมีกรณีที่ยกมาคือ ชุนชนริมทางรถไฟใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งชาวบ้านได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาริมทางรถไฟ เนื่องจากการดำเนินการได้มีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนเรื่องค่าเยียวยาในการย้ายไปอยู่ที่ใหม่ และไม่มีที่ดินรองรับชัดเจน รวมทั้งชุมชนมีความเดือดร้อนทางสังคมและการทำมาหากินเป็นอย่างมาก อีกปัญหาที่ถูกยกตัวอย่างคือชุมชนพระรามหก (สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงกัลยาณมิตร จำกัด) เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการรถไฟฯ เก็บค่าเช่าที่เกินกว่าตามมติ ครม.ปี2548 ที่อยู่ใน 61 ชุมชน เก็บค่าเช่าไม่เกิน 7 – 20 บาท/ตารางเมตร/ปี แต่การรถไฟฯ กลับเก็บค่าเช่าที่ดินของ ชุมชนพระรามหก ในราคา 150 บาท/ตารางเมตร/ปี

 

เปิด 37 ข้อเสนอของเครือข่ายฯ ต่อ กทม. -นายกฯ - ก.เกษตรฯ - ก.คมนาคม

 


ข้อเสนอต่อกรุงเทพมหานคร

1. กรุงเทพมหานครควรจัดให้มีกลไกร่วมในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในทุกระดับ เช่น ผู้เดือดร้อนริมคลองลำราง คลองย่อย กลุ่มถูกไล่รื้อในที่ดินเอกชน และที่ดินรถไฟโดยมีคณะกรรมการเพื่อทำการสำรวจชุมชนผู้เดือนทั้งเขต และนำเสนอแผนเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันเป็นเขตนำร่องในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในระดับเขต

2. กรุงเทพมหานครจัดระเบียบที่อยู่อาศัยริมคลองลำราง คลองย่อย กลุ่มถูกไล่รื้อในที่ดินเอกชน และที่ดินรถไฟโดยการพัฒนาใน   ที่ดินเดิมหรือจัดสรรให้สามารถอยู่ร่วมกับการพัฒนาสายคลองได้เท่าเทียม

3. กรุงเทพมหานครควรจัดให้มีงบประมาณในการเยียวยากรณีไล่รื้อชุมชนริมคลองลำรางและ คลองย่อย โดยใช้เกณฑ์เดียวกันกับนโยบายการพัฒนาชุมชนริมคลองหลัก(คลองลาดพร้าว)

4. เสนอให้มีกองทุนเพื่อที่อยู่อาศัยในการจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยริมคลองลำราง คลองย่อย กลุ่มถูกไล่รื้อในที่ดินเอกชน และที่ดินรถไฟ

5. ข้อให้สำนักงานเขตสนับสนุนงบประมาณระบบการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และแผนการแก้ไขปัญหาในเทศบัญญัติ

6. ที่ กทม.  ให้มีการหยุดการไล่รื้อทันกรณีเร่งด่วน วิภา 80 และ 33

7. ให้กรุงเทพมหานครทำ mou ร่วมกับ พอช. ในการสนับสนุนงบประมาณ และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยร่วมกัน

 

ข้อเสนอต่อสำนักนายกรัฐมนตรี

1. ให้รัฐบาลดำเนินการยุติการไล่รื้อ และดำเนินคดีในทุกพื้นที่ในที่ดินของภาครัฐ  เอกชน การทวงคืนผืนป่า และขอขยายระยะเวลาในการหารือแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา

2. ให้รัฐบาลทบทวนและตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินแห่งชาติ โดยมีองค์ประกอบร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งมีบทบาทภารกิจในการดำเนินการด้านนโยบาย กฎหมาย ระเบียบข้อตกลง ในการพัฒนาที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย ในระดับชาติ และระดับจังหวัด

3. ให้รัฐบาลตั้งกองทุนที่ดินและที่อยู่อาศัยช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล และเยียวยา ช่วยเหลือเงินที่เกี่ยวกับการรื้อถอนอย่างเป็นธรรม

4. ให้รัฐบาลดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และใช้ที่ดินรัฐเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาของประชาชน

5. ให้รัฐบาลแก้ญัตติกฎหมายและต้องสนับสนุนงบประมาณ ดูแลระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งไฟฟ้า น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร

6. ให้รัฐบาลมีแนวทางให้ชาวบ้านสามารถดำรงชีวิตในที่อยู่อาศัยและที่ดินเดิมจนกว่าจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ในระหว่างการดำเนินการ

7. ให้รัฐบาลปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และแก้ไข ระเบียบกฎหมาย ที่ส่งผลให้ผู้ประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงที่ดินทำกิน และอยู่อาศัยได้ เช่น อัตราค่าเช่าที่ดิน ระเบียบสหกรณ์ ผังเมือง ระยะเวลาการเช่าที่ดินฯลฯ

8. ให้มีแต่งตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด โดยสำนักนายกรัฐมนตรีและเสนอให้ท่าน กรอบศักดิ์ เป็นประธาน คณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนตามกลุ่มปัญหาต่างๆ ตามความเหมาะสม และ สอช/คทช เป็น เลขานุการคณะกรรมการร่วมกันเพื่อติดตามความคืบหน้า

 

ข้อเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

1. ให้ สปก. เร่งรัดนำนโยบายการจัดสรรที่ดินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ในพื้นที่ สปก.มาดำเนินการจัดสรรให้กับผู้ไร้ที่ดินทำกินให้ครอบคลุมทั้งประเทศ

2. ให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ระดับจังหวัด ใช้เกณฑ์การคัดเลือกมีถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ ทีจะจัดสรรที่ดิน หรือใกล้เคียง เช่น ตำบล ,อำเภอ ,จังหวัด  ตามลำดับ

3. กระบวนการคัดเลือกเกษตรกรที่จะได้รับการจัดสรรที่ดิน ต้องเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการประชาคมร่วมกันทั้งหมู่บ้านและตำบล

4. กระบวนการได้มาของกลุ่มเป้าหมาย ให้มีกระบวนการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายมาจากชุมชนท้องถิ่น

5. ให้หน่วยงานสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการจัดสรรที่ดิน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับท้องที่ ท้องถิ่น และคำนึงถึงความต้องการการมีส่วนร่วมและความต้องการเกษตรกร

6. ให้มีกระบวนการเตรียมความพร้อมและสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการจัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินและการพัฒนาคุณภาพชีวิต

    1) การออกแบบวางผังพื้นที่ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรร

    2) จัดพื้นที่ตามผังที่ได้วางไว้ ก่อนเกษตรกรที่ได้รับจัดสรรเข้าพื้นที่

    3) จัดระบบสาธารณูปโภคให้พร้อมก่อนที่เกษตรกรเข้าพื้นที่

    4) ส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินต้องให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตทักษะตามบริบทพื้นที่

    5) การสร้างระบบการตลาดและกองทุนชุมชนเป็นต้น

7. สนับสนุนการรวมกลุ่มจัดตั้ง สหกรณ์ทำความเข้าใจและให้ความรู้ต่อเกษตรกรให้เข้าใจถึงระบบ การบริหารจัดการ ก่อนการจัดตั้งเป็นสหกรณ์

8. ให้มีแต่งตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด ในระดับกรถทรวง เพื่อติดตามความคืบหน้า เครือข่าย สอช/คทช เข้าร่วมตามความเหมาะสมของจำนวนพื้นที่ของปัญหา

 

ข้อเสนอต่อกระทรวงคมนาคม

1. เสนอให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ จัดหาที่ดินเพื่อรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนารถไฟรางคู่ในกรณีที่ต้องรื้อย้ายออกจากพื้นที่ ในรัศมี ไม่เกิน 5 กิโลเมตร โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มาหนุนเสริมเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ

2. ขอให้การรถไฟฯ เยียวยาค่ารื้อถอนของผู้ที่ได้รับกระทบอย่างเป็นธรรม

3. ต้องการให้การรถไฟฯ ปฏิบัติตามผลการศึกษาวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามที่การรถไฟฯ ได้ศึกษาผลกระทบและออกแนวปฏิบัติไว้

4. ต้องการให้การรถไฟฯ กำหนดระเบียบระยะเวลาการเช่าที่ดินการรถไฟฯของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เป็นระยะเวลา 30 ปี ต่อการเช่าหนึ่งครั้ง การเช่าที่ดินของการรถไฟฯ ต้องการขอเช่าในอัตราเช่าเดียวกับ 61 ชุมชน (อัตราค่าเช่า 7 บาท ไม่เกิน 20 บาท ต่อตารางเมตร ต่อปี)

5. ขอแบ่งปันที่ดินรถไฟ ที่เหลือจากการพัฒนารถไฟระบบรางคู่ เพื่อให้ชุมชนได้เช่า และทำโครงการบ้านมั่นคง

6. ให้การรถไฟฯ เปิดเผนแผนพัฒนา และระยะเวลาที่การรถไฟฯจะดำเนินการที่ชัดเจนในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบได้เตรียมตัวในการพัฒนาที่อยู่อาศัย

ข้อเสนอ(เฉพาะพื้นที่ เมืองหัวหินและชุมชนพระราม6)

- กรณีผู้เดือดร้อนที่มีผลกระทบจากโครงการรถไฟรางคู่ เมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

  • ให้ชะลอการไล่รื้อจนกว่าผู้ได้รับผลกระทบหาที่ดินรองรับการสร้างบ้านใหม่ได้ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยริมทางรถไฟ อำเภอหัวหิน ครั้งที่ 1/2561 และครั้งที่ 2/2561 ของคณะกรรมการการแก้ไขระดับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  • ขอให้การรถไฟเปิดเผยแผนการก่อสร้างรถไฟรางคู่ และขอเช่าที่ดินที่เหลือจากการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ต่อผู้เดือดร้อน
  • ขอให้การรถไฟจ่ายค่าเยียวยาให้กับผู้เดือดร้อน อย่างเป็นธรรม
  • ขอให้การรถไฟมีคณะทำงานร่วมในการสำรวจบ้าน ประเภทบ้าน และเนื้อที่การอยู่อาศัย ร่วมกับตัวแทนชุมชน
  • กรณีการเก็บค่าเช่าที่ดิน ชุมชนพระรามหก (สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงกัลยาณมิตร จำกัด) เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ
  • ขอให้การรถไฟเก็บค่าเช่าให้เป็นไปตามมติ ครม.ปี2548 เนื่องจากการรถไฟเก็บค่าเช่าที่เกินกว่าตามมติ ครม.ปี2548 ซึ่งอยู่ใน 61 ชุมชน เก็บค่าเช่าไม่เกิน 7 – 20 บาท/ตารางเมตร/ปี แต่การรถไฟได้เก็บค่าเช่าที่ดินของ ชุมชนพระรามหก ในราคา 150 บาท/ตารางเมตร/ปี

ข้อเสนอการตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องการแก้ไขปัญหาชุมชนริมทางถไฟ

  • ข้อให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วม การแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบกับชุมชน โดยให้มีตัวแทนผู้เดือดร้อนทุกชุมชน ชุมชนละ 1 คน
  • ให้มีคณะอนุกรรมการเรื่องการขอใช้ที่ดินจากการรถไฟ ที่เหลือจากการทำรถไฟรางคู่ โดยให้สิทธิการเช่าต่อชุมชน

 

สำหรับ วันที่อยู่อาศัยโลก หรือ World Habitat Day)”  องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันดังกล่าวเพื่อให้ความสำคัญและสะท้อนปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของหลายๆ เมืองทั่วโลก และเพื่อให้รัฐและผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงสิทธิในการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม รวมทั้งเพื่อย้ำเตือนผู้คนทั่วโลกว่าเราทุกคนมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดอนาคตของเมืองที่เราอาศัยอยู่ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 25 ที่กล่าวไว้ว่า "ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิใน หลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชราหรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน อีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net