Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (FFFE) แถลงข่าวเปิดตัวพร้อมจับตาการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นวันที่ 24 ก.พ. 2562 ระบุเลือกตั้งต้องเป็นอิสระ เป็นธรรม และมีผลในทางปฎิบัติ และเตรียมเดินหน้าจัดกิจกรรมไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

ภาพจาก Banrasdr Photo

9 ต.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เวลา 10.30 น.ที่ ตึกคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ในฐานะแกนนำเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง พร้อมตัวแทนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง, โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG), กลุ่ม Startup People, องค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปัตตานี (2P2D) ,สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS), กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์, ตัวแทนเครือข่ายแรงงาน และสมัชชาคนจน ร่วมแถลงเปิดตัวเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (Free, Fair & Fruitful Election) หรือ FFFE

เครือข่ายดังกล่าวระบุว่า เป็นการรวมตัวของภาคประชาชนกว่า 10 องค์กร เพื่อรณรงค์ขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ ซึ่งตั้งเป้าจัดกิจกรรมเป็นระยะตั้งแต่ปลายสัปดาห์นี้ถึงการเลือกตั้ง เน้นการแสดงจุดยืนและรณรงค์เพื่อขจัดเงื่อนไขที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่เสรี ไม่เป็นธรรมและไร้ความหมาย ผ่านแถลงการณ์ งานเสวนา กิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อการสื่อสาร การเข้าชื่อรณรงค์ และสร้างพลังเครือข่ายภาคประชาชนที่จะมีส่วนในการจับตาสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 62

นักวิชาการชี้ เลือกตั้งต้องเสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฎิบัติ-เจตนารมย์ของประชาชนต้องได้รับการตอบสนอง

อนุสรณ์กล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเดิมพันของสังคมไทยอีกครั้งว่าจะสามารถใช้กลไกประชาธิปไตยในการพาประเทศกลับเข้าไปสู่สภาวะปรกติ คลี่คลายปัญหาและความขัดแย้งที่เคยมีมากว่าทศวรรษได้หรือไม่ และเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้สามารถมีนัยสำคัญอย่างที่เราคาดหวังได้จริง จะต้องมีคุณลักษณะ 3 ประการ ได้แก่ 1. เสรี หมายถึง เปิดโอกาสให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้สื่อสารถึงปัญหาของพวกตนต่อสาธารณะ และพรรคการเมืองได้สื่อสารแนวทางแก้ปัญหาต่อสาธารณะด้วยเช่นกัน 2. เป็นธรรม หมายถึง ทุกภาคส่วนในสังคมและพรรคการเมืองต้องมีโอกาสสื่อสารต่อสาธารณะและเข้าถึงประชาชนได้อย่างเท่าเทียมกัน และ 3. มีผลในทางปฏิบัติ หมายถึง ปัญหาของประชาชนต้องได้รับการตอบสนอง พรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องนำเจตนารมณ์ของประชาชนไปปฏิบัติให้เป็นมรรคผล

นักกิจกรรมระบุมีการโกงการเลือกตั้งแล้ว ตั้งแต่ยังไม่ได้เลือก

ชลธิชา แจ้งเร็ว ตัวแทนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวถึงการจัดกิจกรรมของกลุ่มกว่า 10 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ซึ่งมีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหากว่า 130 คน และการที่ คสช. ออกมาประกาศวันเลือกตั้งในเวลาต่อมานั้นถือเป็นความสำเร็จขั้นแรก อย่างไรก็ตามทางกลุ่มต้องการมั่นใจว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะวางบนหลักการและมีความหมาย จะต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ หรือพรรคการเมืองได้แสดงความคิดเห็น สะท้อนความต้องการ หรือแสดงแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างเปิดเผย ปราศจากการใช้อำนาจรัฐคุกคามหรือสร้างความหวาดกลัว ซึ่งเมื่อมองสถานการณ์ปัจจุบันกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับที่คาดหวังไว้ โดยเฉพาะปรากฏว่ากลุ่มการเมืองที่สนับสนุน คสช. สามารถเดินหน้าสร้างฐานเสียงได้ ในขณะที่กลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกลับถูกคุกคาม ซึ่งตนมองว่าเป็นการโกงการเลือกตั้งที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่ยังไม่มีการเลือกตั้ง จึงต้องจำเป็นต้องร่วมตัวกันจับตามองและผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งที่มั่นในหลักการ มีความหมาย ยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. และกำหนดอนาคตของเราอีกครั้ง

iLaw เผยการเลือกตั้งยังมีโซ่ล็อก เพราะ คสช. ยังมี ม.44 และคำสั่งที่เป็นการละเมิดสิทธิยังมีผลบังคับใช้

ณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน ตัวแทน iLaw กล่าวว่า มีความน่ากังวลในแง่ของกฎหมายและการใช้อำนาจที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่เสรีและเป็นธรรมอยู่ 2 ประการ คือ 1. คสช. ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 ของ อยู่ในขณะที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งอาจใช้สั่งการใดๆ ก็ได้ 2. ยังมีประกาศและคำสั่งของ คสช. จำนวนหนึ่งที่ยังคงอยู่และอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง เช่น คำสั่งที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมือง คำสั่งคลายล็อคที่ยังคงไม่ให้พรรคการเมืองหาเสียง คำสั่งที่จำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนที่อาจลงโทษสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์ คสช. ซึ่งประกาศและคำสั่งเหล่านี้ควรถูกยกเลิกก่อนมีการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน

นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงานแนะ การเลือกตั้งไม่ใช่พิธีกรรม รัฐต้องเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนสะท้อนปัญหาตลอด 4 ปี ให้พรรคการเมืองมารับฟัง สร้างบรรยากาศสู่การเลือกตั้ง

ศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนภาคแรงงาน กล่าวว่า แรงงานและชาวบ้านไม่ได้ต้องการแค่ให้มีการเลือกตั้งแล้วจบไป แต่ต้องการเห็นว่าเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วจะมีอะไรที่ตอบสนองให้กับประชาชนที่ยากจนหรือด้อยโอกาสในสังคมบ้าง ตั้งแต่ที่ คสช. ยึดอำนาจเข้ามา ประชาชนสูญเสีย และถูกบอกให้ซุกปัญหาไว้ใต้พรม ถูกปิดกั้นไม่ให้นำเสนอปัญหาของตัวเองได้ ถึงวันนี้ที่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 5 เดือนจะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่ประชาชนก็ยังคงนำเสนอปัญหาไม่ได้ พรรคการเมืองก็ยังเข้าถึงประชาชนไม่ได้ มีแต่บรรยากาศของความหวาดกลัว เช่นนี้แล้วการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาของประชาชนได้อย่างไร ดังนั้น คสช. จะต้องวางอาวุธลง และปลดล็อคคำสั่งต่างๆ โดยเร็วที่สุด

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยเผยช่วงหลัง คสช. เดินสายพบประชาชนถี่ขึ้น พร้อมหว่านโปรยงบประมาณลงจังหวัด หวังเลือกตั้งครั้งนี้คือการกำจัดระบอบ คสช.

ธนพล พันธุ์งาม ตัวแทนกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กล่าวว่า ที่ผ่านมา คสช. ได้กระทำการหลายอย่างโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงประชาชนเลย เพราะพวกเขาไม่รู้สึกว่าเสียงของประชาชนมีผลต่อสถานะของตัวเอง แต่ในระยะหลังจะเห็นว่า คสช. หรือรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ต่างเริ่มออกมาใช้เงินภาษีในการเดินสายหาเสียง โปรยงบประมาณไปตามจังหวัดต่างๆ เพราะคิดว่าพวกเขาไม่มีความชอบธรรมมากพอที่จะอยู่ในอำนาจได้นานกว่านี้อีกแล้ว จึงต้องหันเข้าหาการเลือกตั้งและเร่งหาเสียงกับประชาชนอย่างช่วยไม่ได้ โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ คสช. มีความได้เปรียบจากการมี ส.ว. ในมือแล้วถึง 250 คน ต้องการเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. อีก 126 คนเท่านั้น เป็นความไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือการรณรงค์ให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงการสื่อสารต่อประชาชน ไม่ว่าจะพรรคไหนก็ตาม นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษาและประชาชนในระดับฐานรากที่อยากใช้สิทธิเลือกตั้งและต้องการให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.เพื่อกำจัดระบอบ คสช. ออกไป

ประธานสภานิสิตจุฬาฯ ย้ำอย่ายอมให้การเลือกตั้งเป็นการฟอกขาวให้ คสช.

ธนวัฒน์ วงศ์ไชย ตัวแทนสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่จำเป็นและจะเป็นทางออกของปัญหาที่เรากำลังเผชิญภายใต้การบริหารงานของ คสช. แต่การเลือกตั้งจะต้องเสรีและเป็นธรรม มิฉะนั้นจะกลายเป็นเพียงพิธีกรรมในการสืบทอดอำนาจและการฟอกขาวให้กับเผด็จการ ตัวอย่างการเลือกตั้งที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม เช่น เมียนมาร์ มีการขัดขวางพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ ใช้รัฐธรรมนูญกีดกันนักการเมืองบางกลุ่ม ให้ที่นั่ง ส.ส. แก่กองทัพถึง 25% ห้ามแก้รัฐธรรมนูญหากกองทัพไม่เห็นชอบ กัมพูชา ใช้สื่อของรัฐโฆษณาผลงานของพรรครัฐบาล ซื้อเสียงประชาชน จับกุมและยุบพรรคคู่แข่ง นอกจากนี้ยังชวนสังเกตถึงประเด็นความเป็นธรรมในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ต้องแยกแยะการปฏิบัติราชการแผ่นดินส่วนรวมกับการหาเสียงไม่ให้ปะปนกัน หากคนในรัฐบาลใช้อำนาจหน้าที่ไปสนับสนุนพรรคของพวกตนหรือขัดขวางพรรคอื่น ย่อมไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะล่าสุดที่มีการตั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่มีรัฐมนตรีของ คสช. เข้าร่วมถึง 4 คน 2. รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกจะเอื้อให้ คสช. แทรกแซงการเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะการใช้อำนาจมาตรา 44 รวมถึงการมี ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน กลายเป็น "พรรค" ที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภา 3. การแทรกแซงการบริหารประเทศโดยกองทัพในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ชวนให้นึกถึงการเลือกตั้งอัปยศในปี 2500 ที่กองทัพสนับสนุนพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งทหารเฝ้าคูหาเลือกตั้ง ใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิวหาเสียง ดังนั้นจึงต้องจับตาดูว่ากองทัพจะออกตัวพรรคพลังประชารัฐหรือไม่อย่างไร สุดท้ายได้เรียกร้องให้ คสช. ยกเลิกอำนาจมาตรา 44 และ 4 รัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาลเพื่อไม่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เครือข่าย FFFE จะจัดกิจกรรมแรกคือ "การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมกับอนาคตสังคมและการเมืองไทย" ในวันที่ 14 ต.ค. 2561 ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 12.00-16.30 น. โดยภายในงานจะมีการประกาศจุดยืนผ่านแถลงการณ์ร่วมของภาคประชาชนและพรรคการเมือง และการเสวนาว่าด้วยการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมกับอนาคตสังคมและการเมืองไทย โดยแบ่งเป็นภาคประชาชนและพรรคการเมือง ซึ่งจะมีผู้แทนระดับแกนนำพรรคการเมืองที่ได้รับความสนใจถึง 7 พรรคเป็นเบื้องต้นเข้าร่วมทั้งเวทีแถลงการณ์และการเสวนาด้วย

นอกจากนี้จะยังมีกิจกรรมเสวนาว่าด้วยการเลือกตั้งที่มีผลในทางปฏิบัติในวันที่ 11 พ.ย. 2561 (ยังไม่กำหนดสถานที่) และเวทีให้ตัวแทนพรรคการเมืองได้ตอบคำถามในจุดยืนและประเด็นสำคัญต่างๆ ในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net