สุรพศ ทวีศักดิ์: แยกศาสนาจากรัฐแล้วจะเอาอะไรมาแทน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภาพเหตุการณ์ประท้วงของพระสงฆ์เรียกร้องให้ “ตั้งสมเด็จพระสังฆราชตามมติ มส.”
สะท้อนความไม่ลงรอยกันระหว่างพระสงฆ์กับทิศทางการใช้อำนาจปกครองคณะสงฆ์ของระบบเก่า
(สะท้อนความจริงว่า พระสงฆ์ไม่มีอิสระปกครองกันเองและไม่มีอำนาจต่อรองอย่างแท้จริง)
ที่มาภาพ https://www.khaosod.co.th/show_image.html?image=online/2016/02/14555936411455593673l.jpg
 

ผมได้ฟังการอภิปรายเรื่อง “รัฐกับศาสนา”[1] ในชั้นเรียนปริญญาเอกของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยอาจารย์ผู้บรรยายคือ ศ.ดร.สมภาร พรมทา กับนักศึกษา ผู้บรรยายอ้างถึงงานวิจัยเรื่อง “จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ”[2] เพื่อเกริ่นนำเข้าสู่การอภิปรายที่นำมาสู่คำถามหลักว่า “สังคมไทยควรแยกศาสนาจากรัฐหรือไม่?” ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาใหม่ในสังคมไทย ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะถกเถียงกันในมิติที่กว้างและลึกมากขึ้น จึงอยากร่วมอภิปรายผ่านบทความนี้

ปัญหาว่าสังคมไทยควรแยกศาสนาจากรัฐหรือไม่ เท่าที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการถกเถียงเรื่องนี้ ผมพบว่าฝ่ายที่เห็นว่า “ไม่ควรแยก” อ้างเหตุผลหลักๆ 2-3 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก การแยกศาสนาจากรัฐเป็นความคิดและประวัติศาสตร์ตะวันตก โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐในยุโรปผ่านยุคกลาง, ยุคมืด (ที่เกิดขึ้นในบางช่วงของยุคกลาง) ที่อำนาจศาสนจักรกดขี่ ล่าแม่มดคนคิดต่าง ผ่านสงครามศาสนา สงครามระหว่างนิกายศาสนาที่ทำให้ยุโรปสูญเสียมหาศาล เพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องแยกศาสนาจากรัฐ

เมื่ออ้างเช่นนั้น ก็นำไปสู่ข้อสรุปว่า ไทยไม่ได้มีประวัติศาสตร์การกดขี่ในนามศาสนาเหมือนเขา จึงไม่จำเป็นต้องแยกศาสนาจากรัฐตามเขา
 

ผมมีข้อสังเกตว่า การอ้างว่าการแยกศาสนาจากรัฐเป็นเพราะยุโรปมีประวัติศาสตร์ศาสนายุคกลาง,ยุคมืด มีการกดขี่และความรุนแรงในนามศาสนานั้น แม้ข้ออ้างนี้จะจริง แต่ก็ไม่ครอบคลุมสาระสำคัญที่จำเป็นต้องแยกศาสนาจากรัฐจริงๆ

สาระสำคัญกว่าหรือที่จำเป็นต้องทำให้ยุโรปหรือตะวันตกแยกศาสนาจากรัฐคือ ความคิดฆราวาสนิยมหรือโลกวิสัย (secularism) ที่เฟื่องฟูขึ้นราวศตวรรษที่ 18 หรือในยุครู้แจ้ง (the Enlightenment) คือความคิดที่เสนอ “หลักการโลกวิสัย” (secular principles) ได้แก่ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และประชาธิปไตยมาใช้เป็นหลักการปกครอง หรือเป็นหลักการตัดสินใจและการกำหนดติกาสาธารณะต่างๆ แทนที่หลักศาสนา

พูดง่ายๆ คือยุคกลาง ยุโรปปกครองด้วยหลักศาสนา ถือว่ากษัตริย์และพระสันตะปาปาใช้อำนาจเทวสิทธิ์หรืออำนาจในนามของพระเจ้า การแยกศาสนจักรจากรัฐ (separation of church and state) จึงเป็นผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีการนำหลักการโลกวิสัยมาใช้เป็นหลักการปกครองแทนหลักศาสนา

ผลของการนำหลักการโลกวิสัยมาใช้ปกครองแทนหลักศาสนาคือ ระบบกษัตริย์ในหลายประเทศถูกล้มไป ส่วนที่ยังมีกษัตริย์อยู่ก็เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) คือกษัตริย์ที่มีอำนาจจำกัดตามกฎหมายกำหนดไว้ ไม่ใช่มีอำนาจไม่จำกัดแบบกษัตริย์ที่ใช้อำนาจในนามของพระเจ้าอีกต่อไป ขณะที่ศาสนาก็ยังอยู่ทั้งในประเทศที่มีและไม่มีระบบกษัตริย์ แต่เป็นศาสนาที่ “ถูกถอดเขี้ยวเล็บแล้ว”[3] เพราะองค์กรทุกศาสนาเป็นเอกชน ไม่มีอำนาจรัฐหรืออำนาจทางกฎหมายปกป้องความเชื่อและปราบปรามคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ภัยศาสนา” อีกต่อไป เรื่องการนับถือ ไม่นับถือศาสนา เป็นเสรีภาพส่วนบุคคล รัฐเป็นกลางทางศาสนาและยึดถือหลักความเสมอภาคทางศาสนา ไม่สถาปนาศาสนาใดๆ เป็นศาสนาประจำชาติ รัฐจึงให้หลักประกันเสรีภาพทางศาสนาได้จริง

 

ประเด็นที่สอง อ้างเหตุผลว่าไทยไม่ได้มีปัญหาการกดขี่จากอำนาจศาสนจักรและสงครามระหว่างศาสนา/นิกายศาสนาแบบยุโรป เราเป็นสังคมที่มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ และมีหลายศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสันติมายาวนาน การที่ศาสนาเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐและรัฐให้ความอุปถัมภ์ศาสนาจึงเกิดประโยชน์ทั้งต่อชนชั้นปกครองเองและประชาชนส่วนใหญ่

เหตุผลข้อนี้เป็นเหตุผลบนสำนึกทางประวัติศาสตร์ “ราชาชาตินิยม” ที่เชื่อว่า กษัตริย์ไทยสร้างชาติบ้านเมืองให้รุ่งเรืองและทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภ์ภกที่ให้ความอุปถัมภ์ทั้งพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ให้เจริญรุ่งเรืองคู่ชาติไทยมาช้านาน

เป็นความจริงในแง่ว่าพุทธศาสนารุ่งเรืองมากภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ เห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ความอลังการของวังกับวัด สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ ถือว่าเป็นรัฐพุทธผสมพราหมณ์ ผี ที่มีกษัตริย์เป็นธรรมราชา พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว สมมติเทพ อาจเรียกได้ว่ายุคนี้ถือเป็น “ยุคประเพณี” หรือยุคกลางของพุทธศาสนาในสยามไทยและเอเชียอาคเนย์ที่พุทธศาสนาถูกส่งเสริมให้รุ่งเรืองทั้งในแง่ศาสนวัตถุ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณี การแต่งคัมภีร์ และอื่นๆ

แต่คำถามคือ ในยุคประเพณีหรือยุคกลางของพุทธศาสนาที่พุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุดนั้น ก็คือ “ยุคศักดินา” (feudalism) ที่แบ่งชนชั้นหลักๆ เป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายชนชั้นปกครอง คือกษัตริย์ ราชวงศ์ ขุนนาง พระ และฝ่ายชนชั้นผู้ถูกปกครอง คือไพร่ ทาส พุทธศาสนาที่เป็นอุดมการณ์ในการปกครองและพระสงฆ์ที่อยู่ในเครือข่ายชนชั้นปกครอง ไม่มีส่วนใดๆ ในการสนับสนุนความรุ่งเรืองและการคงอยู่ยาวนานหลายร้อยปีของระบบศักดินาเลยหรือ

สงครามระหว่างรัฐพุทธผสมพราหมณ์ ผีในเอเชียอาคเนย์ที่มีอย่างต่อเนื่องตลอดยุคกลางนั้น ไม่ใช่ความรุนแรงในนามศาสนาแม้แต่น้อยเลยหรือ บางครั้งกษัตริย์พุทธทำสงครามเพื่อปล้นพระไตรปิฎก เผาวัด เผาพระพุทธรูปเอาทองคำและทรัพย์สินอื่นๆ ก็เคยมีไม่ใช่หรือ สมเด็จพระสังฆราชและคณะสงฆ์สนับสนุนขุนนางทำรัฐประหารชิงบัลลังก็เคยมีไม่ใช่หรือ วัดหลวงมีทั้งที่ดินและ “ข้าพระ” หรือเลกวัด มีการเกณฑ์แรงงานไพร่มาสร้างศาสนสถานที่ไพร่ผู้ถูกเกณฑ์แรงงานนอกจากจะไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ แล้วยังต้องจัดหาเสบียงอาหารมากินประทังชีวิตของตนเองอีกด้วย นอกจากถูกเกณฑ์แรงงานแล้วบรรดาไพร่ยังต้องเสียกากรและส่วยให้ทั้งแก่วัดและวัง[4]  เหล่านี้เป็นต้นไม่ได้มีความหมายเป็นการกดขี่ใดๆ เลยหรือ

 

ประเด็นที่สาม มีการตั้งคำถามในการอภิปรายว่า ถ้าแยกศาสนาจากรัฐแล้วจะเอาอะไรมาแทน เอาคานท์, มิลล์มาแทนหรือ?

ผมคิดว่า ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ตะวันตก เมื่อเขาเอาหลักการโลกวิสัยมาใช้เป็นหลักการปกครองและหลักการสาธารณะอื่นๆ แทนหลักศาสนา เขาก็เน้นหลักศีลธรรมโลกวิสัย (secular morality) มาเป็นศีลธรรมทางสังคมแทนศีลธรรมศาสนาที่ถือว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคลไป มี “การแยกศีลธรรมออกจากศาสนา แยกกฎหมายออกจากศีลธรรม”[5]

ศีลธรรมโลกวิสัยคือแนวคิดที่ถือว่า ปัจเจกบุคคลเป็นผู้ตัดสินเองว่าอะไรถูก ผิด อะไรคือชีวิตที่ดีของปัจเจกบุคคล และสังคมที่ยุติธรรมควรเป็นเช่นไร ไม่คอยแต่จะเชื่อคำตัดสินที่ศาสนาคิดแทน แต่เขามีหลักในการคิดหรือตัดสินถูก ผิด ควร ไม่ควรว่า ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และประโยชน์ส่วนรวมที่คิดคำนวณจากการยืนยันว่า แต่ละคนถูกนับเป็น “1 คนเท่ากัน” ในการมีสิทธิรับการกระจายผลประโยชน์อย่างยุติธรรม แนวคิดศีลธรรมโลกวิสัยก็มีทั้งของคานท์, มิลล์, รอลส์, และฯลฯ

ทำไมต้องเอาหลักศีลธรรมโลกวิสัยมาเป็นหลักศีลธรรมทางสังคมแทนศีลธรรมศาสนา ก็เพราะหลักศีลธรรมศาสนาหลายๆ เรื่องทั้งผิดศีลธรรมเสียเองเมื่อมองจากกรอบคิดของหลักการโลกวิสัย เช่นหลักความเชื่อหรือศีลธรรมศาสนาที่ละเมิดความเท่าเทียมทางเพศ มองเพศที่สามที่สี่เป็นเรื่องผิดบาปหรือเป็นผลกรรมเก่า ความคิดทางศีลธรรมศาสนาที่เน้นความเป็นคนดีของผู้ปกครองเหนือหลักการโลกวิสัยที่มักสนับสนุนอำนาจเผด็จการและรัฐประหาร เป็นต้น
 

พูดเฉพาะศีลธรรมพุทธศาสนาเอง เมื่อนำมาใช้ในทางสังคมและการเมือง ก็เป็นศีลธรรมที่ใช้สรรเสริญชนชั้นปกครองที่ตรวจสอบไม่ได้เป็นด้านหลัก และใช้ตัดสินนักการเมืองที่ตรวจสอบได้ รวมทั้งเป็นศีลธรรมที่เชิดชู “คนดี” เหนือหลักการโลกวิสัย อย่างที่เห็นในปัจจุบันคือ พุทธศาสนาทั้งในรูปโครงสร้างและความคิดล้วนแต่สนับสนุนอำนาจเผด็จการที่อิงศีลธรรม ความดี ความเป็นคนดีมากกว่าที่จะยึดความชอบธรรมตามหลักการสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และประชาธิปไตย  
 

พูดให้ชัดคือ ขณะที่โลกเสรีประชาธิปไตยเอาหลักการโลกวิสัยมาเป็นหลักการปกครองแทนหลักศาสนาและแยกศาสนาจักรจากโครงสร้างสถาบันอำนาจรัฐ จึงทำให้สังคมเขามีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยได้จริง แต่รัฐไทยจะเป็นรัฐโลกวิสัยก็ไม่ใช่ จะเป็นรัฐศาสนาก็ไม่เชิง และจะเป็นเสรีประชาธิปไตยก็เป็นไม่ได้ เป็นเผด็จการเต็มรูปแบบก็ไม่เชิง เดี๋ยวก็มีเลือกตั้ง เดี๋ยวก็มีรัฐประหาร เพราะอะไร หากไม่ใช่เพราะไม่สามารถนำหลักการโลกวิสัยมาใช้เป็นหลักการปกครองแทนระบบเก่าได้จริง
 

แล้วพุทธศาสนาจะอยู่ตรงไหน ค้ำระบบเก่า เป็นเครื่องมือสร้างอุดมการณ์จิตสำนึก สร้างความชอบธรรมแก่ระบบเก่าอันเป็นบทบาทเดิมที่ตกทอดมาแต่ยุคกลาง หรือควรปรับตัวไปในทางเคารพหรือหนุนเสริมหลักการโลกวิสัย
 

พูดอีกอย่าง ในโลกสมัยใหม่เวลาพูดถึง “ประโยชน์สุขส่วนรวม” ย่อมหมายถึง ประโยชน์สุขในความหมายที่สอดคล้องหนุนเสริมหลักการโลกวิสัย แล้วพุทธศาสนาที่อ้างว่าดำรงอยู่เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมหนุนเสริมประโยชน์สุขในความหมายที่อำนาจแบบเก่าสงเคราะห์แก่ “ผู้ใต้ปกครอง” หรือในความหมายที่หนุนเสริมอำนาจปกครองตัวเองของประชาชนในฐานะผู้เป็นเจ้าของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  

 

 

 

อ้างอิง

[1] ดู (นต ๐๘) รัฐกับศาสนา (ตอนที่ ๑) สมภาร พรมทา https://www.youtube.com/watch?v=T6w9-EfcML0 และ (นต ๐๙) รัฐกับศาสนา (ตอนที่ ๒) สมภาร พรมทา

https://www.youtube.com/watch?v=UDCAneexJCU

[2] ดู สุรพศ ทวีศักดิ์, จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ, (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2560)

[3]ดู ริชาร์ด ฮัลโลเวย์, ศาสนา: ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์, (กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์, 2560), หน้า 343-349

[4] จิตร ภูมิศักดิ์, ประวัติศาสตร์สนทนา ตำนานแห่งนครวัด, (กรุงเทพฯ: ชนนิยม, 2557), หน้า 64

[5] วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา, (กรุงเทพฯ: อ่าน, 2561), หน้า 352

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท