Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มองข้อเสนอของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธด้วยความเป็นมิตรและความเห็นใจที่สุด นั่นคือข้อเสนอที่พยายามยุติเผด็จการ คสช.โดยสันติ ไม่ต้องมีฝ่ายใดเสียเลือดเสียเนื้อ ได้รัฐบาลแห่งชาติที่อำนาจสูงสุดอันปราศจากการโต้แย้งตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่นำประเทศกลับสู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม และกลับสู่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วไป

ส่วนความแตกแยกในสังคมซึ่งดำรงอยู่มาเกินทศวรรษแล้ว ก็ปล่อยไว้ก่อน เพียงแต่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับกติกาอันใหม่ที่ไม่ใช่เผด็จการกองทัพ แล้วก็ต่อสู้กันไปตามวิถีทางอารยะภายใต้กฏหมายที่เป็นธรรม หลังรัฐบาลแห่งชาติได้นำเอารัฐธรรมนูญอันเป็นที่ยอมรับและการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมกลับคืนมาแล้ว

ก็ฟังดูดีนะครับ และคงจะตรงกับความต้องการของคนจำนวนไม่น้อย ที่อยากเห็นความสงบเรียบร้อยในสังคมซึ่งเกิดขึ้นเพราะกติกาที่เป็นธรรม มากกว่าความสงบที่เกิดจากการใช้อำนาจเถื่อนและป่าเถื่อน ในการ กดขี่ฝ่ายตรงข้ามมิให้เคลื่อนไหวต่อสู้ใดๆ แม้ด้วยวิถีทางอันถูกต้องตามกฏหมาย

แต่ข้อที่ตะขิดตะขวงใจจนไม่อาจยอมรับได้ของคนอีกจำนวนไม่น้อยก็คือ ต้องอาศัยอำนาจสูงสุดอันปราศจากการโต้แย้งเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองโดยสงบ ข้ออ้างเช่นนี้มีอันตรายทางการเมือง ในด้านหนึ่งจะถูกอ้างซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองนอกระบบ อย่างที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว อีกด้านหนึ่งก็คือทำให้อำนาจสูงสุดอันปราศจากการโต้แย้งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแย่งอำนาจทางการเมือง กลายเป็นอำนาจที่มีฝักมีฝ่าย และมีผลประโยชน์ (ทางอำนาจ, ทางเศรษฐกิจ, หรือทางอุดมการณ์และวัฒนธรรม) ซึ่งจะทำให้คุณสมบัติปราศจากการโต้แย้งหายไป เพราะขัดกับหลักการแห่ง"พระราชอำนาจ"ในวัฒนธรรมไทย

อันที่จริงพลเอกชวลิตคิดถูกที่ไม่หวังจะยุติความขัดแย้งครั้งนี้ด้วยการ"ปรองดอง"อย่างที่หลายคนชอบอ้าง เพราะความขัดแย้งในสังคมไทยครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของนโยบาย เช่นควรหรือไม่ควรจำนำข้าวในราคาสูง, ควรหรือไม่ควรสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, ควรใช้วิธีอะไรในการทำให้ชาวบ้านซึ่งกำลังปรับตัวเข้าสู่ระบบทุนนิยมเข้าถึงทุนได้สะดวกขึ้น, และ ฯลฯ

ความขัดแย้งในสังคมไทยครั้งนี้เป็นความขัดแย้งกันของกลุ่มคนที่สนับสนุน"ระบอบปกครอง"ต่างกัน ความขัดแย้งเชิงนโยบายนั้นปรองดองกันได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่ความขัดแย้งเชิงระบอบปกครองไม่มีทางจะปรองดองกันได้เลย ด้วยเหตุดังนั้นกติกาของความขัดแย้งจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะจำกัดมิให้ความขัดแย้งบานปลายไปสู่การจลาจลและสงครามกลางเมือง

"รัฐบาลแห่งชาติ"ที่พลเอกชวลิตอ้างถึงนั้นแหละเป็นตัวอย่างอันดี เหตุที่รัฐประชาธิปไตยต้องตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นในระหว่างที่ประเทศเข้าสู่สงคราม ก็เพราะการตรวจสอบนโยบายสงครามนั้น เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ เช่นฝ่ายค้านจะนำนโยบายนั้นมาอภิปรายในสภาไม่ได้ เพื่อรักษาความลับมิให้แพร่หลายออกไป เท่ากับว่าสภาไม่อาจทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบายสำคัญยิ่งของรัฐบาลได้ในระหว่างสงคราม ด้วยเหตุดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม (fair play) ซึ่งเป็นแกนหลักอันหนึ่งของประชาธิปไตย ฝ่ายค้านจึงควรเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลใน ค.ร.ม.เสียเลย

นี่เป็นวิธีระงับความขัดแย้งเชิงนโยบายที่ไม่เอาเปรียบฝ่ายใด ตราบเท่าที่เป็นความขัดแย้งเชิงนโยบาย หนทาง"ปรองดอง"ย่อมมีอยู่ และเป็นไปได้เสมอ แต่หากฝ่ายค้านเสนอ"ระบอบ"ใหม่ เช่นคนที่ไม่จบปริญญาตรีไม่มีสิทธิ์ทางการเมืองเท่ากับคนจบปริญญาตรี ฝ่ายค้านกำลังเปลี่ยน"ระบอบ"ประชาธิปไตยที่ต้องยอมรับความเท่าเทียมของพลเมือง ไปสู่"ระบอบ"ใหม่เสียแล้ว ในกรณีเช่นนี้ รัฐบาลแห่งชาติไม่อาจระงับความขัดแย้งได้

ตรงกันข้าม ควรปล่อยให้ความขัดแย้งดำเนินไปอย่างเปิดเผย แต่ต้องอยู่ภายใต้กติกาที่รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมได้ และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย การเอาทหารออกไปตั้งตามจุดต่างๆ เพื่อปกป้องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนทำให้ตำรวจไม่อาจทำหน้าที่ตามกฏหมายได้ ทำให้ความขัดแย้งเชิงระบอบต้องลงเอยที่การยึดอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่อำนาจดิบของกองทัพเพียงอย่างเดียวไม่อาจยุติความขัดแย้งเชิงระบอบได้ และไม่เคยทำได้ที่ไหนสักแห่งทั่วโลก

หลายคนคิดว่า หากความแตกแยกในสังคมยังดำรงอยู่เช่นนี้ ประเทศชาติจะก้าวต่อไปได้อย่างไร ผมกลับคิดว่าความขัดแย้งเชิงระบอบในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้ของการ"ก้าวต่อไป"ของไทยด้วยซ้ำ หากมัวแต่หาทาง"ปรองดอง"โดยไม่มีคำตอบไปเรื่อยๆ เราก็ไม่วายต้องหันกลับมาสู่ความขัดแย้งที่ร้าวลึกเช่นนี้อีก ต่างจากความขัดแย้งเชิงนโยบายว่าเราควรรับจำนำข้าวทุกเม็ดในราคาสูงหรือไม่ หนทางประนีประนอมระหว่างสองฝ่ายมีอยู่ และหากใช้กติกาของระบอบประชาธิปไตยโต้แย้งกัน ในที่สุดก็คงจะได้นโยบายที่พอยอมรับได้ว่า จะช่วยให้ชาวนาไทยพัฒนาไปสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพขึ้นในระบบทุนนิยมอย่างไรจนได้

ในประวัติศาสตร์ของทุกประเทศทั่วโลก ความขัดแย้งเชิงระบอบต้องดำเนินไปสู่จุดแตกหักโดยวิถีใดวิถีหนึ่ง ไม่อย่างนั้นประเทศชาติก็ก้าวต่อไปไม่ได้ หากไม่มี"การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์" อังกฤษก็ต้องเผชิญสงครามกลางเมืองอย่างที่ครอมเวลล์ได้ทำมาแล้วอีก และอังกฤษก็คงตกต่ำลงจนไม่อาจเป็นแหล่งกำเนิดของการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ หากนักการเมืองและนายทุนอเมริกันบางส่วน ไม่หันมาใช้นโยบาย"ก้าวหน้า" (progressive policy) ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ไม่มีวันจะทำให้การประท้วงต่อต้านของแรงงานภายใต้การนำของกลุ่มสังคมนิยมผ่อนคลายลงได้ อุตสาหกรรมอเมริกันก็คงเสื่อมทรุดลงจนไม่ต่างจากอาร์เจนตินาในที่สุด (หากเห็นด้วยกับ Howard Zinn ใน The People's History of the US)

ไม่มีใครสัญญาว่าจุดแตกหักจะนำไปสู่ความรุ่งโรจน์งอกงามเพียงอย่างเดียว แต่จุดแตกหักปลดล้อคที่ทำให้ประเทศชะงักงันลงได้ และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยในความขัดแย้งเชิงระบอบ หากคนไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าเสี่ยงแตกหัก และยอมอยู่ภายใต้ คสช.ต่อไปเรื่อยๆ ในที่สุดระบอบใหม่ที่ปลดล้อคประเทศได้ก็คือประชาธิปไตยภายใต้การนำตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะดีหรือไม่ดีก็ตาม แต่ประเทศชาติก้าวต่อไปได้ ส่วนจะก้าวไปไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนสุดท้ายที่ผมอยากพูดถึงคืออำนาจสูงสุดอันปราศจากการโต้แย้ง

คงจำวลีที่นายทหารกลุ่มหนึ่งใช้เมื่อสามสิบปีที่แล้วได้ นั่นคือวลีที่เรียกว่า "อำนาจบริสุทธิ์" พวกเขาคิดว่าอาชีพทหารทำให้พวกเขาเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองบ้านเมืองให้ไปรอดปลอดภัยได้ดีที่สุด เพราะถึงพวกเขามีอำนาจจากกำลังอาวุธก็จริง แต่เป็นอำนาจบริสุทธิ์

ถามว่า"บริสุทธิ์"จากอะไร? คำตอบคือบริสุทธิ์จากผลประโยชน์ทุกชนิด แตกต่างจากนักการเมืองซึ่งมีอำนาจตามกฏหมาย แต่เป็นอำนาจไม่บริสุทธิ์ เพราะมีผลประโยชน์ส่วนตัวหลายด้าน และที่จริงทหารต่างจากคนในอาชีพอื่นๆ ด้วย (อาจยกเว้นพระภิกษุกระมัง) เพราะคนในอาชีพอื่นทำงานเพื่อความเจริญก้าวหน้าของหน่วยงาน แต่ก็ผูกความเจริญของหน่วยงานไว้กับความเจริญส่วนตัว แต่ทหารคิดว่าตัวอยากให้หน่วยงานก้าวหน้ามั่นคง โดยตนไม่ได้เอาประโยชน์อะไรเลยจากความก้าวหน้ามั่นคงนั้น (?)

การศึกษาของนายทหารไทยเน้นด้านอุดมการณ์เสียจนมองไม่เห็นความเป็นจริงด้านอื่นเลย จึงไม่แปลกที่นายทหารบางกลุ่มจะคิดว่าอาชีพทหาร"บริสุทธิ์"จากผลประโยชน์ส่วนตัว

ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเพื่อชี้ให้เห็นว่า ความคิดถึง"อำนาจบริสุทธิ์"เช่นนี้ เป็นแกนกลางสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณ แต่ยังดำรงอยู่อย่างค่อนข้างมีชีวิตทีเดียวในหมู่คนบางประเภทสมัยหลัง

พระมหากษัตริย์ในความคิดของไทย คืออำนาจที่ปราศจากผลประโยชน์ทุกด้านเข้ามาพ้องพาน นอกจากประโยชน์ของ "สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร"เท่านั้น แรงกรรมที่ครอบจักรวาลอยู่บันดาลให้คนซึ่งมี"อำนาจบริสุทธิ์"อย่างนี้ได้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์

นักประวัติศาสตร์ไทยสมัยหนึ่งอธิบายการกระทำของพระเจ้าแผ่นดินไทยในแง่นี้ทั้งหมด คือทรงทำหรือไม่ทำเช่นนั้นเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างไร แม้แต่ความหรูหราของราชสำนัก (เช่นการสร้างสวนขวาในต้นรัตนโกสินทร์) ก็เพื่อเป็นที่นิยมยินดีและยอมรับของเจ้าประเทศราช

ทั้งนี้เพราะพระมหากษัตริย์ย่อมไม่มี"ส่วนพระองค์"ใดๆ ทั้งสิ้น ความคิดเรื่อง"อำนาจบริสุทธิ์"จึงมีรากมีเหง้าในวัฒนธรรมไทย และยังมีความหมายแก่คนไทยปัจจุบันอยู่ไม่น้อย

ดังนั้น การที่คณะราษฎรยกพระมหากษัตริย์ขึ้นอยู่เหนือ (แปลว่าพ้นไปจาก) การเมือง จึงนับว่าสอดคล้องกับคติความเชื่อของไทยมาแต่โบราณในส่วนหนึ่ง การอ้างพระมหากษัตริย์เพื่อต่อสู้ทางการเมืองทำให้คติ"อำนาจบริสุทธิ์"ของพระมหากษัตริย์แปดเปื้อน เพราะการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์อย่างปฏิเสธไม่ได้ แม้เป็นผลประโยชน์ที่จับต้องไม่ได้เช่นผลประโยชน์ทางอุดมการณ์ก็ยังเป็นผลประโยชน์อยู่นั่นเอง

แม้แต่อ้างว่า การตั้งนายกฯ พระราชทานเป็นพระราชอำนาจ ก็เท่ากับพูดว่าพระมหากษัตริย์ไม่ได้อยู่พ้นไปจากการเมือง จึงอาจมีผลประโยชน์ทางใดทางหนึ่งกับความเป็นไปทางการเมืองจนได้

ถ้าคนไทยส่วนใหญ่เริ่มมองว่าพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งใน"ผู้เล่น"ทางการเมือง จะเป็นผลดีต่อสถาบันนี้หรือไม่? จะเป็นผลดีต่อคนไทยหรือไม่? จะเป็นผลดีต่อประชาธิปไตยไทยหรือไม่? ผมไม่มีคำตอบ เพราะเป็นเรื่องที่คนไทยต้องตอบตัวเอง

 

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net