Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“กิตติวุฑฺโฒภิกขุ” เป็นพระภิกษุในตำนานการเมืองไทยที่ได้รับกล่าวถึงในทุกปีในฐานะ “แขกประจำ” เมื่อมีการรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 และเป็นเจ้าของวลี “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

(พระ)กิตติวุฑฺโฒภิกขุออกโรง

นับแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 กระทั่งถึง 6 ตุลาคม พ.ศ.2519  สังคมไทยอยู่ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งทางอุดมการณ์อย่างรุนแรง พระสงฆ์ก็ตกอยู่ภายใต้ภาวะดังกล่าวด้วย พระสงฆ์จำนวนมากมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง มีการรวมกลุ่มแยกตามอุดมการณ์ซ้าย-ขวาอย่างเด่นชัด พระสงฆ์ฝ่ายซ้ายที่มีความคิดโน้มเอียงไปในทางสังคมนิยมซึ่งส่วนใหญ่พระสงฆ์หนุ่ม ได้เข้าร่วมเดินขบวนกับชาวนาและกรรมกรเรียกร้องความเป็นธรรม รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์นายทุน และบทบาทของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน การเคลื่อนไหวของกลุ่มพระการเมืองฝ่ายซ้ายนำไปสู่ปฏิกิริยาโต้ตอบของกลุ่มพระการเมืองฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยม ซึ่งมีทัศนะแบบจารีตนิยม เห็นว่าพฤติกรรมของบรรดาพระสงฆ์ฝ่ายซ้าย รวมถึงบรรดานักศึกษานั้นเป็นคอมมิวนิสต์ ที่บ่อนทำลาย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์[1]

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตติศักดิ์ เจริญสถาพร) หรือที่รู้จักกันดีในนาม กิตติวุฑฺโฒภิกขุ เป็นพระภิกษุที่มีบทบาทสำคัญในการตีความพระพุทธศาสนากับการเมืองอย่างเข้มข้น ชาร์ลส์ เอฟ.คายส์ (Charles F Kyes) ระบุว่าไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดนักเกี่ยวกับชีวิตของกิตติวุฑฺโฒภิกขุในช่วงก่อนบวช ทราบแต่เพียงว่าเขาเป็นหนึ่งในชายไทยหลายคนที่ออกบวชในช่วงงานเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ โดยเริ่มจำพรรษาที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ และย้ายมายังวัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร ภายในเวลาไม่กี่ปีกิตติวุฑฺโฒภิกขุสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักด้วยการเป็นพระนักเทศน์ฝีปากกล้า และก่อตั้ง “กลุ่มอภิธรรม”ขึ้น แต่ที่ทำให้กิตติวุฑฺโฒภิกขุเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น คือ การเข้าไปมีบทบาทนำในขบวนการ “นวพล” และ “กระทิงแดง” กิตติวุฑฺโฒภิกขุยังได้ก่อตั้ง “จิตตภาวันวิทยาลัย” ขึ้นที่จังหวัดชลบุรีทำหน้าที่อบรมพระภิกษุและฆราวาส[2] อนึ่งจิตตภาวันวิทยาลัยนั้นเป็นนามที่ได้รับพระราชทาน[3] การดำเนินของกิตติวุฑฺโฒภิกขุเหล่านี้อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ และได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากจอมพลถนอม กิตติขจรและภรรยารวมไปถึงบรรดานายทหารระดับสูงในยุคนั้น[4]

“วารสารช่อฟ้า” กับโลกการเมืองของกิตติวุฑฺโฒภิกขุ

ข้อวิจารณ์เกี่ยวกับจุดยืนทางการเมืองของกิตติวุฑฺโฒภิกขุที่ผ่านมามักอ้างเอกสารเพียงชิ้นเดียวเป็นหลัก นั่นคือ บทสัมภาษณ์ของเขาในหนังสือพิมพ์จตุรัส[5] อย่างไรก็ตาม กลุ่มของเขายังมี “ช่อฟ้า” วารสารพระพุทธศาสนารายเดือนเป็นช่องทางสำคัญในการแสดงทรรศนะทางการเมืองด้วย “ช่อฟ้า” เป็นวารสารที่ออกโดย “มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย” มูลนิธินี้ก่อตั้งเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2510 โดยมีพลเอกประภาส จารุเสถียร (ยศในขณะนั้น) รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ[6] วารสารเผยแพร่ครั้งแรกใน พ.ศ.2509 โดยภาพรวมของเนื้อหาก่อนหน้า พ.ศ.2516 นั้น เป็นการนำเสนอสาระธรรมโดยทั่วไป วารสารดังกล่าวแจ้งวัตถุประสงค์อย่างเป็นทางการว่า เพื่อชำระและแปลคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดให้มีการปาฐกถา อภิปราย เผยแพร่สารธรรมทาง “สถานีวิทยุยานเกราะ 790” จัดอบรมพระภิกษุ “พระหน่วยพัฒนาการทางจิต” เพื่อกลับไปเผยแพร่ธรรมยังภูมิลำเนาเดิม ทั้งนี้ “ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง”[7] แม้จะแจ้งว่าการดำเนินกิจกรรมต่างๆไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ตาม แต่จากการสำรวจวารสารช่อฟ้ากลับพบว่าช่วงระหว่าง พ.ศ.2516- 2519 เป็นช่วงเวลาที่ ช่อฟ้า นำเสนอข้อเขียนที่แสดงทรรศนะทางการเมืองเด่นชัดที่สุด เช่นเดียวกับสถาการณ์ทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ

กิตติวุฑฺโฒภิกขุซึ่งตีความพระพุทธศาสนาแบบอนุรักษ์นิยม[8] ได้รับความสำคัญสูงสุดในช่อฟ้า ได้รับการตีพิมพ์เป็นบทความแรกในทุกฉบับต่อจาก ช่อฟ้ากถามุก (บทบรรณาธิการ-ผู้เขียน) และจำนวนไม่น้อยมีเนื้อหายาวกว่าทุกๆบทความในวารสารเล่มเดียวกัน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เพียงหนึ่งเดือนกิตติวุฑฺโฒภิกขุซึ่งได้รับอารธนานิมนต์จาก “ชมรมพุทธศาสตร์ประเพณี มหาวิทยาลัยมหิดล” เนื่องในงานทำบุญให้กับวีรชนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ กิตติวุฑฺโฒภิกขุบรรยายหัวข้อ ศีลกับประชาธิปไตย เขาชี้ว่า ทั้งกรีกและสหรัฐอเมริกาที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยนั้นหาได้มีความเจริญก้าวหน้าแท้จริงดังที่เข้าใจไม่ ตรงข้ามระบอบกษัตริย์ตามคติพระพุทธศาสนาต่างหากที่เป็นประชาธิปไตยที่ดีที่สุดและนำความงอกงามไพบูลย์มาสู่ชาติอย่างแท้จริง[9]

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯเป็นช่วงเวลาของความวุ่นวายและฝันร้ายสำหรับกิตติวุฑฺโฒภิกขุ เพราะเขาเชื่อว่ามีศัตรูคอยยุแยงให้เกิดความเข้าใจผิดต่อกัน โดยการใช้คำพูดต่างๆมาแบ่งแยกชนชั้น เช่น นายทุน กรรมกร ศักดินา จักรวรรดินิยม การขูดรีด ไม่ได้รับความเป็นธรรม ในท่ามกลางการยุแยงเช่นนี้พุทธศาสนิกชนจึงควรตั้งมั่นในหลักคุณธรรมสามัคคีแห่งพระพุทธศาสนา[10] ขณะเดียวกันกิตติวุฑฺโฒภิกขุชี้ชวนให้เห็นว่าคอมมิวนิสต์ซึ่งกำลังคุกคามพุทธศาสนาในประเทศเพื่อนบ้านนั้นเป็นสิ่งที่ชาวพุทธต้องใส่ใจ และจำเป็นต้องปลูกฝังความสามัคคีขึ้นในชาติ เมื่อชาติมั่นคงแล้ว ความมั่นคงของศาสนาและพระมหากษัตริย์ก็จะตามมา กิตติวุฑฺโฒภิกขุย้ำด้วยว่าสิ่งที่เขาทำมิใช่เพื่อความมั่นคงของศาสนาอย่างเดียวแต่เพื่อความมั่นคงของพระมหากษัตริย์ด้วย เพราะในเมืองไทยนี้ไม่มีใครดีกว่าพระมหากษัตริย์[11]และเมื่อมีคนจุดไฟหวังทำลายบ้านเมืองของเรา เราทุกคนจึงต้องช่วยกันดับไฟนั้น และร่วมกันพิทักษ์ ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ไว้ให้มั่นคง[12]

กิตติวุฑฺโฒภิกขุเน้นย้ำว่า ความแตกต่างของบุคคลและชนชั้นมีรากฐานมากจากผลกรรม ไม่ใช่การเอารัดเอาเปรียบกัน เขาเห็นว่าพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่สามารถสร้างความเสมอภาคและล้มเลิกวรรณะได้โดยหลักธรรม ทำนองเดียวกันกับระบบกรรมสิทธิ์ร่วมที่เกิดขึ้นได้โดยลดความโลภด้วยการเสียสละ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้โดยธรรมะไม่ใช่การปฏิวัติข่มขู่บังคับแบบคอมมิวนิสต์[13] กิตติวุฑฺโฒภิกขุชี้ว่า ในระบอบคอมมิวนิสต์ก็ยังมีชนชั้นปกครองและชนชั้นผู้ถูกปกครอง กรรมกรและชาวนาก็ยังคงเป็นกรรมกรและชาวนาเช่นเดิม และเป็นที่น่าวิตกว่านักศึกษาจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อคอมมิวนิสต์ออกยุยงปลุกปั่นชาวบ้านให้คล้อยตามและก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามไปด้วย[14]

ความรู้สึกในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของกิตติวุฑฺโฒภิกขุขึ้นสู่ขีดสุด เมื่อกิตติวุฑฺโฒภิกขุให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ จตุรัส ในเดือนมิถุนายน 2519 จนนำมาสู่วาทะประวัติศาสตร์ที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”[15]เขาให้เหตุผลว่าเมื่อจตุรัสถามว่า การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือ คอมมิวนิสต์บาปหรือไม่ว่า “อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ชื่อว่าถือเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ  เราไม่ได้ฆ่าคนแต่ฆ่ามารซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน[16]

 


ภาพการ์ตูนล้อเลียนกิตติวุฑฺโฒภิกขุ ประชาชาติรายวัน วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม 2519

ส่วนประเด็นคำถามที่ว่า ผิดศีลหรือไม่ กิตฺติวุฑฺโฒชี้ว่า แม้ผิดก็ผิดน้อยเพราะการฆ่าคนเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเป็นการฆ่าที่เป็นกุศล ถึงบาปก็บาปเล็กน้อย  เหมือนฆ่าปลาทำแกงใส่บาตรพระ กิตฺติวุฑฺโฒจึงเห็นว่าการที่คนฆ่าฝ่ายซ้ายแต่ไม่ถูกจับนั้น คงเป็นเพราะบุญกุศลช่วย[17] ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2519 ช่อฟ้าตีพิมพ์บทความของกิตฺติวุฑฺโฒ เรื่อง ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป [18]อันเป็นเสมือนคำขยายความขนาดยาวที่เขามีต่อบทสัมภาษณ์ก่อนหน้า ซึ่งนอกจากจะชี้ถึงพระคุณของพระมหากษัตริย์ต่อชาติและพระศาสนา รวมถึงความชั่วร้ายของคอมมิวนิสต์ ขบวนการฝ่ายซ้ายที่แทรกแซงคณะสงฆ์และนักศึกษา ยังได้ชี้ถึงชะตากรรมอันน่าสยดสยองของพระพุทธศาสนาและสถาบันกษัตริย์ของเขมร เวียดนาม ภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์[19] กิตติวุฑโฒภิกขุอธิบายถึงประเด็นที่เขาเคยกล่าวว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปอันเป็นเสมือนคำแก้ตัวว่า การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปนั้นหมายถึง การฆ่ากิเลสไม่ใช่ตัวบุคคล การตีความว่าเขาสนับสนุนการฆ่าบุคคลเป็นการใส่ร้ายและไม่เข้าใจสิ่งที่เขาต้องการสื่อ[20]ควรกล่าวด้วยว่า แม้ว่าข้อเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมลงโทษกิตติวุฑโฒภิกขุจะไม่เป็นผลก็ตาม แต่ข้อแก้ตัวของเขาดังกล่าวนี้ก็มิอาจทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ว่าเขาเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงกับขบวนการฝ่ายซ้าย[21]

 

นักเขียนฆราวาส

วารสารช่อฟ้ายังมีนักคิดฆราวาสคนสำคัญที่ผลิตงานเขียนอย่างสม่ำเสมอ อาทิ จำนงค์ ทองประเสริฐ งานเขียนของเขาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองปรากฏอย่างเด่นชัดในช่วง พ.ศ.2519 เช่น ในบทความเรื่อง พระพุทธศาสนาซ้ายหรือขวา จำนงค์อธิบายว่าแท้ที่จริงนั้นพระพุทธศาสนามิได้เป็นทั้งซ้ายและขวา หากแต่เป็นทางสายกลางที่ไม่สุดโต่งไปทั้งซ้ายและขวา ส่วนที่คอมมิวนิสต์โจมตีว่าศาสนาเป็นยาเสพติดนั้น จำนงค์เห็นว่าศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าเท่านั้นที่เข้าข่าย ส่วนพระพุทธศาสนานั้นสอนให้เชื่อตนเองมิได้ให้งมงายในพระผู้สร้างเช่นศาสนาอื่นๆ[22]ดังนั้น คนไทยจึงควรยึดมั่นในระบอบปกครองที่เราเคยมีมาอย่าได้หลงเชื่อระบอบการเมืองอื่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยที่ใกล้ชิดประชาชนและไม่เหมือนชาติใดในโลก[23] จำนงยังอธิบายเห็นด้วยว่า พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเป็นเผด็จการเช่นกันในการวางพื้นฐานปกครองคณะสงฆ์แต่มิได้ทรงเป็นนักเผด็จการ จำนงค์อ้างว่าซุนยัตเซนก็เอาแบบนี้ไปใช้ และอ้างถึงแนวคิดของโธมัส อไควนัส ว่าระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด[24]

สมพร เพชรอาวุธ นักเขียนฆราวาสคนสำคัญอีกผู้หนึ่งซึ่งมีทรรศนะในการต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเด่นชัด งานเขียนของสมพรส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่สถานการณ์ในขณะนั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนาของเพื่อนบ้านภายใต้การปฏิวัติคอมมิวนิสต์ สมพรอธิบายว่าไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งเขมรและลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพระพุทธศาสนานั้นทั้งสามชาติต่างมีความแนบแน่นทั้งในแง่ประเพณีปฏิบัติและนิกาย มีการไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนระหว่างคณะสงฆ์ทั้งสามชาติเสมอๆ แต่แล้วภายใต้สถานการณ์การสู้รบทั้งในลาวและเขมรได้ส่งผลกระทบให้พระพุทธศาสนาของทั้งสองชาติตกอยู่ในภาวะอันตรายแสนสาหัส พระสงฆ์ถูกเข่นฆ่า ศาสนสถานถูกเผาทำลาย ที่เหลือรอดก็มิอาจปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเป็นปกติสุข ดังที่สมเด็จพระสังฆราชเขมรต้องทรงออกมาเรียกร้องสันติภาพให้ยุติการสู้รบ สมพรเน้นย้ำว่าความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาที่ดีของไทยต่อทั้งสองชาติต้องมาขาดสะบั้นลงเพราะการรุกรานของคอมมิวนิสต์[25] สมพรยังได้ตอบโต้ผู้ที่เห็นว่าพระสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งพาดพิงถึงกลุ่มของกิตติวุฑฺโฒภิกขุว่า พระสงฆ์สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ตราบเท่าที่เป็นไปตามหลักธรรมาธิปไตย เพื่อยกระดับชีวิตของชาวบ้านในชนบทให้พ้นจากอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และข้าราชการท้องถิ่นที่ฉ้อฉล กรณีการเคลื่อนไหวของกิตติวุฑฺโฒภิกขุและจิตตภาวัณวิทยาลัยนั้นไม่ใช่ขบวนการทางการเมืองดังที่เข้าใจกัน แต่เป็นขบวนการพระพุทธศาสนา ส่วนที่มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่อยู่ในองค์กรนั้นก็เพราะมีศรัทธาเดียวกันหาได้มีผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝงไม่[26]

นอกจากงานเขียนลักษณะดังกล่าวข้างต้นแล้ว ช่อฟ้ายังได้ตีพิมพ์งานเขียนประเภทนิยายและบทกวีที่น่าสนใจด้วย ดังที่ในปี 2518 ภายใต้สถานการณ์การชุมนุมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมที่มีนักศึกษาเป็นแกนนำที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในขณะนั้น ช่อฟ้าได้ตีพิมพ์บทกวีชิ้นหนึ่งอันมีเนื้อหาดังนี้

หาก “มนุษย์” เกิดได้คล้ายกันหมด    “เครื่องชูรส” ทั้งหลายคงไร้ค่า

ดีแต่นี้พรหมท่านบันดาลมา                     ให้ชะตาแตกต่างกันอย่างดี

ทุกข์-สุข น้ำตาและรอยยิ้ม            เป็นแบบพิมพ์เอกลักษณ์ต่างศักดิ์ศรี

พร้อม “ช่องว่าง” หว่างคนจนและคนมี         คือสิ่งที่โลกสร้างเราต่างกัน[27]

 

อิทธิพลทางความคิดของพุทธทาสภิกขุกับกลุ่มช่อฟ้า

ในท่ามกลางงานเขียนที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์เหล่านี้ ความคิดทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุก็ได้ถูกผลิตซ้ำเพื่อหนุนเสริมความคิดของพวกเขาด้วย ดังที่ปรากฏว่าช่วงปี 2519 ภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียด ช่อฟ้าได้ตีพิมพ์ข้อเขียนของพุทธทาสภิกขุจำนวนหลายชิ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทความบางชิ้นที่เป็นส่วนหนึ่งของ “ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ” อันเป็นข้อเสนอทางการเมืองที่โด่งดังของพุทธทาสภิกขุ ที่เรียกร้องหา “คนดี”มากปกครองประเทศด้วยเผด็จการที่เป็นธรรม บทความชิ้นหลักๆของพุทธทาสภิกขุที่ถูกตีพิมพ์ซ้ำในช่อฟ้า คือ “ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม”[28]ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในฉบับเดียวกันกับบทความ เรื่อง “พระพุทธศาสนากับลัทธิคอมมิวนิสต์” ของกิตติวุฑฺโฒภิกขุ[29] ต่อจากนั้นคือ เรื่อง โลกรอดได้เพราะเผด็จการโดยธรรม[30] ขณะที่บทความเรื่อง สังคมนิยมที่ช่วยโลกได้[31] ขณะที่บทความเรื่อง อาหารใจ ซึ่งพุทธทาสภิกขุมุ่งอธิบายว่าความสำราญทางกาย/วัตถุนั้นมิใช่ความสุขที่แท้ แต่ความสุขทางใจ/นิพพานต่างคือความสุขที่แท้จริงนั้นได้รับการตีพิมพ์พร้อมกับบทความเรื่อง ลัทธิคอมมิวนิสต์กับศาสนา ของ กิตติวุฑโฒภิกขุ นอกจากนี้ยังมีบทกวี เรื่อง “มองแต่แง่ดีเถิด ตาบอดตาดี”และ “เป็นมนุษย์หรือเป็นคน”อันเป็นบทกวีมีชื่อของพุทธทาสภิกขุ[32] บทกวีดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในฉบับเดียวกับบทความ เรื่อง ความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ของกิตติวุฑโฒภิกขุ[33] การผลิตซ้ำงานเขียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของพุทธทาสภิกขุโดยช่อฟ้ายังคงดำเนินไปในช่วง พ.ศ.2520  ด้วย ดังปรากฏว่าคำโปรยปกในของช่อฟ้าเดือนมิถุนายนนั้น ได้ยกเอาข้อความบางส่วนจากธรรมเทศนาของพุทธทาสภิกขุ มาตีพิมพ์ในชื่อหัวเรื่องว่า “ประชาธิปไตย?” ดังนี้

“.......เมื่อพูดว่า ประชาธิปไตยก็เอาประชาชนเป็นใหญ่ เมื่อพูดว่าธรรมาธิปไตย ก็เอาธรรมะเป็นใหญ่ การเอาประชาชนเป็นใหญ่นั้น มันยังกำกวมและเป็นอันตราย เพราะเรายังรู้ไม่ได้ว่าประชาชนนั้นเป็นคนดีหรือคนเลว ถ้าประชาชนเป็นคนเลวขาดธรรมะแล้ว สิ่งที่ทำโดยประชาชนเพื่อประชาชน ก็คือการทำโลกนี้ให้เป็นนรกนั่นเอง...ทีนี้เราจะเห็นได้ว่า ประชาชนในโลกสมัยนี้กำลังตกเป็นทาสของวัตถุนิยมหนักขึ้นๆๆๆอย่างรั้งไว้ไม่อยู่ เมื่อประชาชนทั้งหมดตกเป็นทาสของวัตถุนิยมแล้ว ประชาธิปไตยก็มีความหมายแต่เพียงว่า ช่วยกันทำโลกนี้ให้เป็นทาสของวัตถุเร็วเข้าๆเท่านั้นเอง และผลที่เกิดขึ้นก็คือการเบียดเบียนกัน เพราะว่าวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความลุ่มหลง ปราศจากธรรมะแล้วก็ยิ่งมีความลุ่มหลงแล้วก็เห็นแก่ตัว แล้วก็เบียดเบียนกัน---การศึกษามุ่งไปแต่ในทางวัตถุ---ประชาชนในโลกกำลังเป็นทาสของวัตถุมากขึ้น จึงนำโลกนี้ไปสู่ความเป็นนรกมากขึ้น---”[34]

ในที่นี้ ไม่อาจทราบได้ว่า งานเขียนของพุทธทาสภิกขุที่ถูกตีพิมพ์ในช่อฟ้าเหล่านี้ เป็นไปโดยความรับรู้และยินยอมจากพุทธทาสภิกขุหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ย่อมเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุทรงพลังมากพอในการอธิบายว่า พระพุทธศาสนาแบบไทยเหนือกว่าคอมมิวนิสต์อย่างไร ขณะเดียวกันธัมมิกสังคมนิยมเผด็จการมีส่วนสำคัญในการหนุนเสริมแนวคิดธรรมราชาตามคติพระพุทธศาสนาให้ทรงพลังขึ้นในท่ามกลางการต่อสู้ทางความคิดในบริบทดังกล่าวด้วย อาจกล่าวในเบื้องต้นได้ว่า ภายใต้ปลุกระดมอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่มีกิตติวุฑโฒภิกขุเป็นแกนกลางและสื่อสารผ่านทางวารสารช่อฟ้านี้ พวกเขาก็ยอมรับ/ผนวกเอาแนวคิดทางการเมืองพุทธทาสภิกขุเพื่อบรรลุเป้าหมายในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ของพวกเขาด้วย ความเข้าใจก่อนหน้าที่คิดว่าพระภิกษุทั้งสองมีความคิดที่เป็นปฏิปักษ์กัน อาจเป็นประเด็นที่ต้องทบทวนใหม่

หลัง 6 ตุลาฯ ช่อฟ้าประกาศชัย

ความคิดในเพื่อต่อต้านและทำลายความชอบธรรมขบวนการคอมมิวนิสต์ และขบวนการนักศึกษาที่ถูกตีตราว่าเป็นภัยที่มีต่อชาติ ศาสนา ราชบัลลังก์ และความเชื่อว่าการฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปนั้น ความพยายามดังกล่าวที่เรียกว่า “พระพุทธศาสนาที่พร้อมรบ” (Militant Buddhism)[35] หรือ  “การทำสงครามอันศักดิ์สิทธิ์” (Holy War)[36] เพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสนา และราชบัลลังก์ที่มีกิตติวุฑโฒภิกขุเป็นหนึ่งในหัวหอกสำเร็จลงได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ถัดจากนั้นหนึ่งเดือนบทบรรณาธิการวารสารช่อฟ้าฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2519 โปรยคำนำอันเป็นเสมือนคำประกาศชัยชนะบนเส้นทางการต่อสู้ของพวกเขาว่า

“เหตุการณ์บ้านเมืองที่เป็นภัยต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เราก็ได้ร่วมมือกันขจัดให้ผ่านพ้นไปอีกเปลาะหนึ่ง แม้จะต้องเสียเลือดเนื้อชีวิตไปบ้าง แต่เราก็สามารถปองกันสถาบันอันเป็นโครงร่างของประเทศชาติไว้ได้ ด้วยความร่วมมือของชาวไทยผู้รักชาติทุกคน และเวลานี้เราก็ได้รัฐบาลพลเรือนเพื่อบริหารประเทศแล้ว  โดยความร่วมมือของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ได้ยึดอำนาจไว้ชั่วระยะสั้น  เพื่อให้ชาติรอดพ้นจากภัยคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่นี้ต่อไปชาวไทยทุกคนต้องร่วมมือกับรัฐบาลใหม่นี้ ด้วยการปฏิรูปตนเองให้เป็นคนขยัน ประหยัด อดทน  และกตัญญูกตเวที  ต่อสถาบันศักดิ์สิทธิ์ของชาติ และเอกลักษณ์ของความเป็นไทยตามระบอบประชาธิปไตย  ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ประเทศไทย  เป็นเมืองพุทธศาสนา  ประชากร 98 เปอร์เซ็นต์  เป็นพุทธศาสนิกชน  หากพุทธศาสนิกชนประพฤติตนตามคำสอนของพระพุทธเจ้าคือ  มีความสามัคคีต่อกันและกันแล้ว การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน  เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ก็จะถึงจุดมุ่งหมายโดยเร็ว”[37]  

 

 

เชิงอรรถ

[1] ดู สมบูรณ์ สุขสำราญ.ความขัดแย้งทางการเมืองและบทบาทของพระสงฆ์.เอกสารสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย 28 ธันวาคม 2522.

[2] ดูเพิ่มเติมใน Charles F. Kyes. Political Crisis and Militant Buddhism in Contemporary Thailand, in Bardwell L. Smith (editors) Religion and Legitimation of Power in Thailand, Laos, and Burma. Chambersburg PA: ANIMA Books, 1978.pp.147-163. ดูงานเขียนอื่นๆ Somboon Suksamran. Buddhism and Politics in Thailand. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies,1982.pp.132-157.,Peter A. Jackson. Buddhism, Legitimation, and Conflict : The Political Function of Urban Thai Buddhism. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies,1989.pp.147-158.

[3]“รู้หรือยัง? 50 ปีที่แล้ว ในหลวง ร.9 ทรงปลูกต้นสาละ เปิดอาคารที่จิตตวันวิทยาลัย บางละมุง” https://mgronline.com/local/detail/9600000108327 สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2561

[4] Peter A. Jackson. Buddhism, Legitimation, and Conflict : The Political Function of Urban Thai Buddhism.1989.p.149.

[5] จัตุรัส ปีที่ 2 ฉบับที่ 51 วันอังคารที่ 29 มิถุนายน 2519 น.28-32

[6] ดู เบื้องหลังอภิธรรมมูลนิธิ กิตติวุฑฺโฒภิกขุ กอ.รมน.และซี.ไอ.เอ ใน ข่าวไทยนิกร ปีที่ 2 ฉบับที่(30)+43 สิงหาคม 2521.น.10.

[7] ดูรายละเอียดวัตถุประสงค์ของวารสารได้ในปกในหรือปกหลังของวารสารช่อฟ้าทุกฉบับ

[8] Peter A. Jackson. Buddhism, Legitimation, and Conflict : The Political Function of Urban Thai Buddhism.p.150.

[9] กิตติวุฑฺโฒภิกขุ.ศีลกับประชาธิปไตย ใน ช่อฟ้า  ปีที่ 9 ฉบับที่ 4 เมษายน 2517 น.4-15.(บรรยายเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2516-ผู้เขียน)

[10] กิตติวุฑฺโฒภิกขุ.อปริหานิยธรรม ใน ช่อฟ้า ปีที่ 10 ฉบับที่ 3 มีนาคม 2518 น.5,10-11.

[11] กิตติวุฑฺโฒภิกขุ.พุทธศาสนากับความมั่นคง ใน ช่อฟ้า ปีที่ 10 ฉบับที่ 7 กรกฎาคม 2518 น.11,16.

[12] กิตติวุฑฺโฒภิกขุ.สิ่งที่ควรคำนึง ตอนที่ 1 ใน ช่อฟ้า ปีที่ 10 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2518 น.5-13.,กิตติวุฑฺโฒภิกขุ.สิ่งที่ควรคำนึง ตอนที่ 1 ใน ช่อฟ้า ปีที่ 10 ฉบับที่ 11 พฤศจิกายน 2518 น.5-11.

[13] กิตติวุฑฺโฒภิกขุ.คำบรรยายเรื่อง พระพุทธศาสนากับลัทธิคอมมิวนิสต์ ใน ช่อฟ้า ปีที่ 10 ฉบับที่ 12 ธันวาคม 2518 น.5-16.

[14] กิตติวุฑฺโฒภิกขุ.คำบรรยายเรื่อง พระพุทธศาสนากับลัทธิคอมมิวนิสต์ ใน ช่อฟ้า ปีที่ 11ฉบับที่ 1มกราคม พ.ศ.2511 น.6-8.

[15] จัตุรัส ปีที่ 2 ฉบับที่ 51 วันอังคารที่ 29 มิถุนายน 2519 น.28-32.

[16] เรื่องเดียวกัน น.31.

[17] เรื่องเดียวกัน น.32.

[18] กิตติวุฑโฒภิกขุแสดงปาฐกถานี้เมื่อ 2 กรกฎาคม 2519 ก่อนที่จะถูกตีพิมพ์ในเดือนถัดมา ดูกิตติวุฑโฒภิกขุ.ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ใน ช่อฟ้า ปีที่ 11 ฉบับที่ 9 กันยายน 2519.น.5-21.

[19] กิตติวุฑโฒ.ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ช่อฟ้า ปีที่ 11 ฉบับที่ 9 กันยายน 2519 น.10.

[20] เรื่องเดียวกัน น.14.

[21] ดูสมบูรณ์ สุขสำราญ.ความขัดแย้งทางการเมืองและบทบาทของพระสงฆ์ เอกสารสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย 28 ธันวาคม  2522 น. 26.

[22] จำนงค์ ทองประเสริฐ.พระพุทธศาสนาเอียงซ้ายหรือขวา ใน ช่อฟ้า ปีที่ 11ฉบับที่ 5 พฤษภาคม 2519 น.66-72.

[23] จำนงค์ ทองประเสริฐ.พระพุทธศาสนาเอียงซ้ายหรือขวาใน ช่อฟ้า ปีที่ 11ฉบับที่ 6 มิถุนายน 2519 น.43-49.

[24] จำนงค์ ทองประเสริฐ.คำบรรยายเรื่อง ประชาธิปไตยกับธรรมาธิปไตย ใน ช่อฟ้า ปีที่ 11 ฉบับที่ 8กรกฎาคม 2519 น.42,47,46.,จำนงค์ ทองประเสริฐ.คำบรรยายเรื่อง ประชาธิปไตยกับธรรมาธิปไตย ใน ช่อฟ้า ปีที่ 11 ฉบับที่ 9 สิงหาคม 2519 น.17-27.และดูงานเขียนอื่นเช่น จำนงค์ ทองประเสริฐ.ศีลธรรมกับแผนเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ใน ช่อฟ้า ปีที่ 11 ฉบับที่ 3 มีนาคม 2519 น.,จำนงค์ ทองประเสริฐ.ศีลธรรมกับแผนเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ใน ช่อฟ้า ปีที่ 11 ฉบับที่ 4เมษายน 2519 น.40-50.

[25] ดู สมพร เพชรอาวุธ.พุทธศาสนาในสาธารณรัฐเขมรปัจจุบัน ใน ช่อฟ้า ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 มีนาคม 2517 น., สมพร เพชรอาวุธ.สถานการณ์ทางการเมืองกับเสถียรภาพพระพุทธศาสนาในเขมร ใน ช่อฟ้า ปีที่ 9 ฉบับที่ 6 มิถุนายน 2517 น.37-43.,สมพร เพชรอาวุธ.สารคดีเพื่อชาติ “สิ่งควรคำนึง” ใน ช่อฟ้า ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 มกราคม 2519 น.41-49.

[26] สมพร เพชรอาวุธ.พระภิกษุสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ใน ช่อฟ้า ปีที่ 9 ฉบับที่ 4 เมษายน 2517 น.27-34.

[27] ประพันธ์โดย ชาตรี ธีรวุฒิ แห่งชมรมวรรณกวีศรีบุณย์ ดู ช่อฟ้า  ปีที่ 10 ฉบับที่ 5 พฤษภาคม 2518 น.32.

[28]  พระเทพวิสุทธิเมธี.ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม ใน ช่อฟ้า ปีที่  11 ฉบับที่  1มกราคม2519  น.26-34.

[29] กิตติวุฑโฒภิกขุ.คำบรรยายเรื่องพระพุทธศาสนากับลัทธิคอมมิวนิสต์ ใน ช่อฟ้า ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 มกราคม 2519.น.5-10.

[30] พระเทพวิสุทธิเมธี.โลกรอดได้เพราะเผด็จการโดยธรรม ใน ช่อฟ้า ปีที่ 11 ฉบับที่ 6 มิถุนายน 2519 น.11-18.

[31] พระเทพวิสุทธิเมธี.สังคมนิยมที่ช่วยโลกได้ ใน ช่อฟ้า ปีที่ 11ฉบับที่ 10 ตุลาคม น. 19-34.

[32] พระเทพวิสุทธิเมธี.มองแต่แง่ดีเถิด ตาบอดตาดี เป็นมนุษย์หรือเป็นคน? ใน ช่อฟ้า ปีที่ 11 ฉบับที่ 4 เมษายน 2519 ไม่ปรากฏเลขหน้า.

[33] กิตติวุฑโฒภิกขุ.ความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ใน ช่อฟ้า ปีที่ 11 ฉบับที่ 4 เมษายน 2519 น.5-14.

[34] พุทธทาสภิกขุ.ประชาธิปไตย? ใน ช่อฟ้า ปีที่ 12 ฉบับที่ 6 มิถุนายน 2520 ไม่ปรากฏเลขหน้า.

[35] Charles F. Kyes. Political Crisis and Militant Buddhism in Contemporary Thailand, Bardwell L. Smith (editors). Religion and Legitimation of Power in Thailand, Laos, and Burma. Chambersburg PA : ANIMA Books, 1978. pp. 147 – 163.

[36] Somboon Suksamran. Buddhism and  Politics in Thailand. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies,1982. pp.132-157.

[37] ช่อฟ้ากถามุข ใน  ช่อฟ้า ปีที่ 11 ฉบับที่ 11 พฤศจิกายน 2519 น.3.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net