Skip to main content
sharethis

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เผยเตรียมร้อง ประยุทธ์ พรุ่งนี้ เพื่อขอให้สั่งการให้มีการตรวจสอบเป็นการด่วนและสั่งระงับการประมูลอินเตอร์เน็ตประชารัฐไว้ก่อน จนกว่าจะสร้างความโปร่งใส พร้อมเตือนหากไม่เป็นผล จะร้อง ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป

10 ต.ค.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ว่า พรุ่งนี้  (11 ต.ค.61) เวลา 10.30 น. สมาคมฯ จะเดินทางไปยื่นเรื่องร้องเรียน ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ตึก กพร.เดิม ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้สั่งการให้มีการตรวจสอบเป็นการด่วน และสั่งระงับการประมูลอินเตอร์เน็ตประชารัฐในวันที่ 12 ต.ค.นี้ไว้ก่อน จนกว่าจะสร้างความโปร่งใสในการประมูลได้

"หากการร้องเรียนนี้ไม่เป็นผล สมาคมฯจะนำความไปร้อง ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป" ศรีสุวรรณ แจ้ง

แถลงการณ์ของสมาคมฯ ระบุถึงการยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวด้วยว่า ตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ผลักดันให้มี “โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ” หรือ “อินเตอร์เน็ตประชารัฐ” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และสนองนโยบายนำพาประเทศไทยก้าวสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” โดยจำนวนหมู่บ้านในประเทศไทยที่มีอยู่ราว 74,965 หมู่บ้านพบว่า มีสัญญาณไวไฟเข้าถึงแล้ว 41,000 หมู่บ้าน อีก 33,965 หมู่บ้านยังไม่มีโครงข่ายและสัญญาณอินเตอร์เน็ตเข้าถึง รัฐบาลจึงแบ่งมอบงานโครงการออกเป็น 3 ส่วน คือ เฟสที่ 1(โซน A และ B) จำนวน 24,700 หมู่บ้าน มอบให้กระทรวงดีอีรับไปดำเนินการภายใต้วงเงิน 15,000 ล้านบาท และมอบหมายให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ลงทุนขยายเคเบิลใยแก้วระหว่างประเทศ (อินเตอร์เน็ตเกตเวย์) วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตที่จะเพิ่มขึ้น

ส่วนเฟสที่ 2 (โซน C) มอบให้ กสทช.ดำเนินการ 15,000-16,345 หมู่บ้าน โดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อบริการสาธารณะ(กองทุน กทปส.) ซึ่ง กสทช. ได้สำรวจพบว่ายังคงมีหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ “ชายขอบ” อีกกว่า 3,920 หมู่บ้าน ที่ยังไม่มีโครงข่ายอินเตอร์เน็ต และเครือข่ายมือถือใดๆ เข้าไปให้บริการ จึงได้แยกโครงการดังกล่าวออกมาดำเนินการก่อน อันเป็นที่มาของโครงการ “เน็ตชายขอบ” ที่เปิดให้บริษัทสื่อสารเข้ามาดำเนินการภายใต้วงเงินดำเนินการราว 13,000 ล้านบาทไปแล้ว

ในการเปิดประมูลเฟสที่ 2 กสทช.จะมีการดำเนินการ E-bidding กันในวันที่ 12 ต.ค.2561 นี้(เวลา 8.00-16.30 น.)มีมูลค่า 23,000 ล้านบาท โดยในเงื่อนไขการประมูลนั้น กสทช.กำหนดให้บริษัทใด ๆ ที่จะเข้าร่วมประมูลจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน หนึ่งในคุณสมบัตินั้นคือ การได้รับหนังสือแต่งตั้งและรับรองของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนตาม TOR จากบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ แต่พบว่ามีผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ 5 รายที่มีคุณสมบัติครบ แต่ปฏิเสธการออกหนังสือรับรองให้กับผู้ใดหรือบริษัทใดได้อีก เนื่องจากผู้ผลิต 5 รายถูกคำสั่งจากผู้มีอำนาจที่ทำการล็อคสเปคและรวมตัวกันเพื่ออกหนังสือแต่งตั้งละรับรองให้กับรัฐวิสาหกิจบางราย และบริษัทเอกชนใหญ่บางรายที่ซูเอี๋ยกันเท่านั้น โดยผู้มีอำนาจใน กสทช.ดังกล่าวได้สั่งให้ตัวแทนการนำเข้าคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย 2 รายสั่งห้ามผู้ผลิต 5 ราย ไม่ให้ออกหนังสือรับรองหรือห้ามแตกแถวหากไม่ใช่พวกของตน

แถลงการณ์ของสมาคมฯ ระบุด้วยว่ากรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 11, 12 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์ เพราะทำให้มีผู้เข้าแข่งขันประมูล E-bidding จำนวนน้อยรายและสามารถซูเอี๋ยราคากันได้ ดังนั้นสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้สั่งการให้มีการตรวจสอบเป็นการด่วน และสั่งระงับการประมูลอินเตอร์เน็ตประชารัฐในวันที่ 12 ต.ค.นี้ไว้ก่อน จนกว่าจะสร้างความโปร่งใสในการประมูลได้ โดยสมาคมฯจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันพฤหัสที่ 11 ต.ค.2561 เวลา 10.30 น. ณ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ตึก กพร.เดิม ทำเนียบรัฐบาล

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net