Skip to main content
sharethis

นักวิชาการ พบ 28 รายป่วยโรคเหตุใยหิน 5 รายเกิดจากประกอบอาชีพ แนะบังคับใช้กฎหมายตรวจสุขภาพ ชี้สถิตินำเข้าแร่ใยหินสูงขึ้นทุกปี ด้านเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานฯ ชี้ มีปัญหาความไม่โปร่งใสนโยบายรัฐ เสนอกองทุนเฉพาะสำหรับโรคเหตุใยหิน-มาตรการติดตามคนป่วยระยะยาว

ที่มาภาพ wikimedia.org

 

นักวิชาการพบ 28 รายป่วยโรคเหตุใยหิน แนะบังคับใช้กฎหมายตรวจสุขภาพ ชี้สถิตินำเข้าสูงขึ้นทุกปี

 

เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Hfocus รายงานว่า ข้อมูลจากคณะทำงานในโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ศึกษาข้อมูลจากฐานข้อมูลสุขภาพ (Health data center: HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระหว่างปี 2558-2559 โดยพบว่าสามารถยืนยันผู้ป่วยจากโรคเหตุใยหินได้แล้วถึง 28 ราย

จากการตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยโรคเหตุใยหินที่รายงานในฐานข้อมูล HDC เพื่อหาจำนวนผู้ป่วยที่แท้จริงและประวัติการสัมผัสใยหินจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมในผู้ป่วย ซึ่งพบรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุใยหินที่ลงรหัสถูกต้องจำนวน 123 ราย แบ่งเป็น mesothelioma 83 ราย โรคปอด asbestosis 30 ราย และโรคปอดหนา pleural plaque 10 ราย และเมื่อแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ดำเนินการยืนยันความถูกต้องการวินิจฉัยโรคเหตุใยหินจากฐานข้อมูล HDC พบว่ามีผู้ป่วยโรคเหตุใยหินจริงจำนวนทั้งสิ้น 28 ราย

ทั้งนี้ แบ่งเป็น ผู้ป่วยมะเร็ง mesothelioma 26 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีประวัติการสัมผัสแร่ใยหินจากการประกอบอาชีพ 5 ราย แบ่งเป็นทำงานก่อสร้าง 4 ราย และผลิตกระเบื้องมุงหลังคา 1 ราย และมีผู้ป่วยด้วยโรคปอด asbestosis 1 ราย และ โรคปอดหนา pleural plaque 1 ราย โดยทั้งคู่มีประวัติการสัมผัสแร่ใยหินผ่านการประกอบอาชีพทั้งสิ้น

คณะทำงานในโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ได้เสนอแนวทางการเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ได้แก่ การตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงในโรงงานหรืออาชีพที่สัมผัสใยหิน ควรมีการบังคับใช้กฎหมายในการให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หากไม่ดำเนินการต้องมีการลงโทษตามกฎหมาย

นอกจากนี้ จัดทำทะเบียนคนงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหิน โดยสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ควรจัดระบบเฝ้าระวังติดตามกลุ่มคนงานทั้งในกลุ่มคนงานที่สัมผัสแร่ใยหินและคนงานก่อสร้างอิสระในระยะยาว รวมถึงหาแนวทางในการดูแลสุขภาพคนเหล่านั้นหากเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคเหตุใยหินภายหลังออกจากงานไปแล้ว ที่สำคัญคือการหาแนวทางติดตามคนงานในระยะยาวโดยไม่สูญหาย

สำหรับข้อมูลการนำเข้าแร่ใยหิน พบว่า ปี 2560 มีสถิติการนำเข้าสูงกว่า ปี 2559 ถึง 21.13% หรือจาก 33,896 ตัน เป็น 41,060 ตัน และคาดว่าภายในสิ้นปี 2561 จำนวนการนำเข้าจะสูงกว่า 4 หมื่นตัน

 

เครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานฯ ชี้ปัญหาความไม่โปร่งใสนโยบายรัฐ เสนอกองทุนเฉพาะสำหรับโรคเหตุใยหิน

 

สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมไทยกล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการยกเลิกแร่ใยหิน โดยคณะกรรมการมีมติว่าแร่ใยหินเป็นสารอันตราย การป้องกันที่ดีที่สุดคือการยกเลิกใช้และยกเลิกการนำเข้า แต่มาติดที่มติครม. ให้ชะลอการยกเลิก เนื่องจากมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนทางการค้า

ข้อมูลจากสำนักข่าว PPTV ระบุว่า ไทยนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ปีละประมาณ 60,000 ตัน จากรัสเซีย เพื่อนำมาผลิตกระเบื้องมุงหลังคา ท่อซีเมนต์และผ้าเบรกรถยนต์ การพิจารณายกเลิกนำเข้าแร่ใยหินคงทำได้ยาก ต้องเจรจากันหลายรอบ เพราะอาจกระทบความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย ดังนั้นในฐานะผู้บริโภคที่ตกอยู่ในความเสี่ยงจึงทำได้เพียงหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่ใยหินเท่านั้น

สมบุญ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีนักวิชาการที่ทำวิจัยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขพบว่ามีหลายโรงงานที่มีคนป่วยด้วยโรคแร่ใยหิน ส่วนเรื่องการเคลื่อนไหว กระบวนการแรงงานได้เสนอข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลอยู่ทุกปีในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาให้ยกเลิกแร่ใยหิน และมีการเรียกร้องให้ให้ออกเป็นกฎหมายเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของคนทำงานที่อยู่ในโรงงานจากเดิมที่ในสภาพแวดล้อมการทำงานจำกัดให้มีฝุ่นแร่ใยหินในชั้นบรรยากาศ 0.5 มิลลิกรัม เปลี่ยนเป็น 0.1 มิลลิกรัม มีการประสานไปยังหน่วยงานทุกส่วนให้มีการระงับหรือลดการใช้แร่ใยหิน เช่น หน่วยงานราชการก็พยายามจะไม่ใช้วัสดุที่มาจากแร่ใยหิน มีการรณรงค์ตามเว็บไซต์ของทางสภาเครือข่ายผู้ป่วยด้วยโรคจากการทำงาน

เมื่อถามว่าหลังจากมีข้อมูลที่ชี้ชัดว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคเหตุใยหินจากการทำงานอยู่จริงจะทำให้การเคลื่อนไหวขั้นต่อไปสะดวกขึ้นหรือไม่ สมบุญชี้ว่า อยู่ที่นโยบายของรัฐ เพราะขนาดสารเคมีอันตราย 3 ตัว ก็ยังไม่ถูกแบน เป็นปัญหาเรื่องการไม่โปร่งใสทางนโยบาย ทำให้กลไกที่จะยกเลิกหยุดชะงัก

“ถือว่ามีความคืบหน้าแต่ยังไม่เป็นที่พอใจของเราและนักวิชากการ เพราะเราทำเรื่องนี้มา 7-8 ปีแล้ว ทั้ง ILO และองค์การอนามัยโลกก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ สำหรับเราถ้าจะให้เป็นที่พอใจที่สุดคือยกเลิกการใช้และการนำเข้าแร่ใยหิน และต้องมีมาตรการติดตามคนป่วยในระยะยาว เพราะของแบบนี้สะสมจะเกิดเป็นมะเร็งได้ในอีกหลายปีให้หลัง นอกจากนี้ยังต้องมีกองทุนเฉพาะสำหรับโรคเหตุใยหิน มีศูนย์วินิจฉัยที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องโรคแร่ใยหิน เป็นต้น” สมบุญ กล่าว

อนึ่งแร่ใยหินถูกค้นพบว่าเป็นสารก่อมะเร็งและโรคเกี่ยวกับระบบหายใจในมนุษย์ ได้แก่ มะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งปอด และปอดเป็นพังผืด ส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้ไม่นานและไม่มียารักษาโดยตรง  เมื่อปี 2554 คณะรัฐมนตรีได้เล็งเห็นความสำคัญ มีมติเห็นชอบสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน แต่จนปัจจุบันกลับยังไม่มีการออกประกาศหรือข้อบังคับเด็ดขาด

ศาลสหรัฐสั่งจอห์นสันฯชดเชยกว่า 1.5 แสนล้าน หลังหญิง 22 รายใช้แล้วเป็นมะเร็งรังไข่ ด้านบริษัทยันไม่มีสารอันตราย

 

สำหรับประเด็นแร่ใยหินในต่างประเทศนั้น เมื่อ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา โพสต์ทูเดย์ รายงานว่าศาลประจำรัฐมิสซูรีตัดสินให้ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน บริษัทผลิตสินค้าบำรุงและดูแลร่างกายรายใหญ่ของสหรัฐ จ่ายค่าชดเชยความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 4,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.56 แสนล้านบาท) แก่ผู้เสียหายจำนวน 22 คน ซึ่งกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์แป้งทาตัวของจอห์นสันปนเปื้อนแร่ใยหินและส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่

โดย มาร์ก ลาเนียร์ ทนายความของผู้เสียหายในคดีนี้ระบุว่า จอห์นสันปกปิดหลักฐานการปนเปื้อนของแร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ของบริษัทมานานกว่า 40 ปี และคาดหวังว่าคำตัดสินนี้จะทำให้ผู้บริหารของบริษัทใส่ใจมากขึ้น และแจ้งให้ประชาชนได้ทราบถึงอันตรายของแร่ใยหินที่ก่อให้เกิดมะเร็งรังไข่

ขณะที่ บริษัทจอห์นสัน ออกแถลงการณ์ว่า รู้สึกผิดหวังอย่างมากกับคำตัดสิน เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีในครั้งนี้ไม่มีความยุติธรรม เพราะอนุญาตให้โจทก์ 22 คนซึ่งไม่ได้อยู่ในรัฐมิสซูรีฟ้องร้องร่วมกันในคดีเดียว รวมถึงตัดสินให้ได้รับค่าชดเชยเท่ากัน ซึ่งควรพิจารณาเป็นรายบุคคล พร้อมยืนยันว่า แป้งของจอห์นสันไม่มีการปนเปื้อนแร่ใยหินอย่างแน่นอน เนื่องจากมีการตรวจสอบหลายครั้งแล้ว และจะยื่นอุทธรณ์ในทุกช่องทางที่สามารถทำได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net