Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่ออาณัติสัญญาณการเลือกตั้งมีความชัดเจนมากขึ้น ปี่กลองทางการเมืองก็เริ่มรัวดังขึ้นตามลำดับ ทุกพรรคการเมืองเริ่มคึกคักและขยับตัวเพื่อเตรียมหาเสียงด้วยเช่นกัน จึงมีคำถามตามมาว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นบันไดขั้นแรกที่นำพาประเทศไทยออกจากวังวนความวุ่นวายและความขัดแย้งได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงประตูไปสู่ความขัดแย้งบานใหม่ อีกทั้งคนกลุ่มใดกันแน่จะมีบทบาทนำในการกำหนดทิศทางการเมืองในอนาคต อย่างไรก็ตาม สังคมก็ได้ตั้งความหวังกับคนรุ่นใหม่ว่า อาจเป็นกลุ่มคนที่สามารถพลิกผันผลการเลือกตั้งได้ในระดับหนึ่ง ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการจากสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งถือเป็นนักวิจัยหนุ่มรุ่นใหม่ที่เฝ้าติดตามการเมืองไทยมาอย่างใกล้ชิด ได้อธิบายภาพรวม มุมมอง และบทบาทของคนกลุ่มนี้ไว้ดังนี้

1. หากพูดถึงบทบาทของคนรุ่นใหม่ในยุคประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่าน มีมุมมองอย่างไรบ้าง

คนรุ่นใหม่ที่เป็น New Voter จะมีคนพูดถึงในฐานะที่เป็นฐานคะแนนเสียงที่ใหญ่ เนื่องจากประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้งมานานหลายปี คนกลุ่มนี้จึงเกิดการสะสมไว้ ถ้านับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2562 ก็จะมีคนกลุ่มนี้จำนวน 8 รุ่น จากการคำนวณเบื้องต้น จะมี New Voter ประมาณ 6-7 ล้านคน ซึ่งพอนำไปวิเคราะห์กับตัวเลขประมาณการจากการคิดคำนวณเสียงและที่นั่งตามระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องการคะแนนเสียงประมาณ 70,000 เสียงเพื่อให้ได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง นั่นเท่ากับว่าเสียงของ New Voter ถ้าออกมาเลือกตั้งทั้งหมดสามารถเปลี่ยนเป็น ส.ส. ได้ประมาณ 100 ที่นั่ง พรรคการเมืองทุกพรรคจึงให้ความสนใจกับเสียงของคนรุ่นใหม่เป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าคนเหล่านี้ยังไม่มีรสนิยมทางการเมืองในแบบที่มีความผูกพันเป็นพิเศษกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือผู้นำทางการเมืองคนใดคนหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากคนที่เคยเลือกตั้งมาก่อนแล้วที่อาจจะมีพรรคการเมืองหรือนักการเมืองในดวงใจอยู่แล้ว


2. คนรุ่นใหม่เหล่านี้จะแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงได้จริงหรือไม่

หากวิเคราะห์ในเชิงปริมาณแล้วก็น่าสนใจ แต่ถ้าวิเคราะห์ในเชิงคุณภาพ คนเหล่านี้มีวิถีชีวิต ค่านิยม แนวคิด การดำเนินชีวิตหรือมีความสนใจการเมืองมากน้อยแค่ไหน และสนใจในแง่มุมไหนบ้าง เป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครรู้หรือคาดเดาได้ แต่ถ้าพรรคการเมืองรู้หรือเข้าใจก็มีโอกาสได้คะแนนจากคนเหล่านี้ และที่สำคัญต้องเข้าถึงด้วยช่องทางที่ถูกต้องด้วย


3. คนรุ่นใหม่มีค่านิยม แนวคิด ทัศนคติหรือมีพฤติกรรมทางการเมืองเป็นอย่างไร

ถ้าแบ่งประเภทกลุ่มคนออกเป็นเจนเนอเรชันต่างๆ ได้แก่ เจนเนอเรชัน Baby Boomer (เกิดปี พ.ศ.2489-2507) เจนเนอเรชัน X (เกิดปี พ.ศ.2508-2522) เจนเนอเรชัน Y (เกิดปี พ.ศ.2523-2543) จะพบว่า คนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกจะอยู่ในคนรุ่น Gen Y เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียน่าจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนกลุ่มนี้ แต่ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วในแง่ของวิถีชีวิต รสนิยมและแนวคิดของคนกลุ่มนี้เป็นอย่างไร

คนรุ่น Baby Boomer ในทางการเมือง จะมีแนวคิดหรือทัศนคติที่ชื่นชอบถ้อยคำที่ดูเป็นหลักการใหญ่ๆ อย่างเช่น คำว่า ปฏิรูป ประเทศชาติ ความเจริญก้าวหน้าวัฒนาสถาพร มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นคำที่บ่งบอกเป้าหมายและอุดมการณ์ คนรุ่นนี้ถ้ามาทำงานเป็นนักการเมือง ก็จะมีสโลแกนในการหาเสียงเป็นคำกว้างๆ แต่วิธีการยังไม่ชัดเจน ไม่ได้บ่งบอกขั้นตอนว่าต้องทำอย่างไร เช่น จะทำการเมืองอย่างไร ก็อยากจะปฏิรูปการเมือง อยากพัฒนาประเทศ อยากพัฒนาเศรษฐกิจ อยากแก้ปัญหาความยากจน

คนรุ่น Gen Y ในทางการเมือง จะมีลักษณะชอบตั้งคำถาม เช่น ปฏิรูปคืออะไร ปฏิรูปอย่างไร อยากได้รายละเอียดและความชัดเจน ชอบซักไซ้ไล่เลียง ต้องการสิ่งที่กระชับและเข้าใจง่าย ไม่ชอบสิ่งที่เป็นนามธรรม ต้องการความเป็นรูปธรรมมากกว่า มีแต่คำพูดที่สวยหรูอย่างเดียวไม่พอ ต้องแสดงวิธีการด้วย

ในทางอุดมการณ์นั้น คนรุ่น Baby Boomer จะมีแนวโน้มเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่มองโลกแบบสวยงามตามครรลองครองธรรม ชอบสิ่งที่เป็นนามธรรมและเป็นอุดมคติ แต่คนรุ่น Gen Y จะมีแนวโน้มเป็นพวกเสรีนิยมที่อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง เป็นปัจเจกชน ต้องการความเป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้ ส่วนคนรุ่น Gen X จะเป็นคนที่อยู่ตรงกลาง เป็นรอยต่อระหว่าง Baby Boomer กับ Gen Y

คนรุ่น Gen X จะมีลักษณะทำงานตามที่สั่ง เช่น คนรุ่น Baby Boomer จะบอกหลักการหรืออุดมการณ์มาให้ และส่งต่อให้คนรุ่น Gen X ไปบริหารจัดการและทำให้ถึงเป้าหมาย ที่สำคัญคนกลุ่มนี้จะต้องอธิบายให้คนรุ่น Baby Boomer ฟังว่า เหตุผลที่ต้องทำแบบนี้คืออะไร ทำไมต้องเลือกวิธีการแบบนี้ นักการเมือง Gen X จะเป็นคนที่ชอบเล่าเรื่องอธิบายขยายความ มีวาทศิลป์ ชอบการโน้มน้าวจูงใจ หรือแจกแจงรายละเอียด

แต่เมื่อมาเปรียบเทียบกับคนรุ่น Gen Y เช่น เมื่อนักการเมือง Gen X ขึ้นเวทีปราศรัย คนรุ่น Gen Y จะมองว่า คนพวกนี้พูดเยอะ เวิ่นเว้อ แต่คนรุ่น Gen Y จะชอบสิ่งที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา ดังนั้นวิธีการหาเสียงหรือการสื่อสารก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เพราะวิธีการแบบเดิมจะไม่ประสบผลสำเร็จ เช่น ใช้วิธีหาเสียงแบบป้ายสีสาดโคลน การติดโปสเตอร์ การขึ้นเวทีปราศรัย อาจเข้าไม่ถึงคนรุ่น Gen Y ดังนั้นพรรคที่ทำการเมืองแบบเก่าจะไม่ได้คะแนนเสียงจากคนกลุ่มนี้เลย แต่ถึงแม้จะรู้ว่าคนรุ่น Gen Y ชื่นชอบช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่ถ้าข้อความหรือสารที่ส่งออกไปไม่โดนใจ ก็จะเข้าไม่ถึงเช่นกัน เนื่องจากวิถีชีวิตของคนรุ่น Gen Y จะเติบโตขึ้นมาท่ามกลางข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมาก จึงมีทักษะในการคัดกรองข้อมูลให้เข้ากับจริตของตนเอง ดังนั้นสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่ถูกจริตก็จะปล่อยผ่านไป หรืออาจกล่าวได้ว่า จะเลือกรับเฉพาะแต่สิ่งที่ถูกจริตเท่านั้น


3. ความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่มีมากน้อยแค่ไหน

มีข้อสังเกตว่า เด็กไทยที่เติบโตมาในสังคมปัจจุบัน จะเริ่มสนใจการเมืองเมื่ออายุเท่าไหร่ อาจเริ่มสนใจเมื่ออยู่ในมหาวิทยาลัย เพราะเริ่มทำกิจกรรม เริ่มเปิดประตูเข้าสู่สังคมที่กว้างขึ้น เริ่มสนใจข่าวสารบ้านเมือง รวมทั้งสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวมากกว่าตำราเรียน

ปัญหาอยู่ที่ว่า เด็กที่กำลังเปิดประตูไปสู่โลกภายนอกหรือสังคมสาธารณะ เช่น เด็กมหาวิทยาลัยปี 1 ที่เริ่มสนใจการเมืองเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่การเมืองปิดเพราะถูกยึดอำนาจ จนถึงเด็กที่จบแล้วเป็นบัณฑิตในปีนี้ (ปี 2561) คนกลุ่มนี้ก็ยังไม่เคยอยู่ในระบบสังคมการเมืองแบบเปิดเลย พบเจอแต่รัฐสภาที่มีฝ่ายนิติบัญญัติเพียงฝ่ายเดียว ไม่มีฝ่ายค้าน ได้เห็นการพิจารณาผ่าน พ.ร.บ. งบประมาณ 3 ล้านล้านบาทภายใน 3 ชั่วโมง รวมทั้งไม่เคยเห็นบรรยากาศการตรวจสอบรัฐบาลของฝ่ายค้านแบบจริงจังเลย ดังนั้นเด็กที่เติบโตมาในสภาพการเมืองแบบปิดเช่นนี้จะมีลักษณะอย่างไร ก็เป็นคำถามที่น่าสนใจ ที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมทางการเมืองในยุคปิดจะมีคนสนใจกันมาก ถึงแม้จะมีทหารเข้ามาคอยสอดส่องดูแลหรือเรียกคนไปปรับทัศนคติอยู่เป็นระยะๆ ในขณะที่การเมืองแบบเปิดนั้น กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นเรื่องปกติทั่วไป ซึ่งเด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้ก็อาจมีวิธีคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันไปด้วย
ระบบการเมืองแบบปิดมีแนวโน้มจะทำให้คนรุ่นใหม่กลายเป็นคนเบื่อหน่ายทางการเมืองหรือไม่ หรือคิดในทางลบว่า การเมืองเป็นเรื่องไกลตัวที่น่ารังเกียจ จนทำให้ไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ถ้าเป็นเช่นนี้ เมื่อถึงวันเลือกตั้งก็จะรู้สึกเฉยๆ จะไปหรือไม่ไปเลือกตั้งก็ได้ เช่น ถ้าวันเลือกตั้งจัดใกล้กับช่วงสอบ เด็กก็อาจเลือกอ่านหนังสืออยู่ที่บ้านหรือหอพักมากกว่าไปเลือกตั้ง หรือถ้าต้องกลับบ้านต่างจังหวัดเพื่อไปเลือกตั้งก็จะเสียทั้งเงินและเวลา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ต้องรณรงค์ว่า การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน อีกทั้งต้องลงลึกไปถึงระดับสถานศึกษาเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ไปให้ความรู้หรือประชาสัมพันธ์แบบจริงจังถึงวิธีการใช้สิทธิ์เลือกตั้งว่า จะต้องทำอย่างไร จึงจะทำให้คนรุ่นใหม่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันมากขึ้น รวมถึงต้องใช้สื่อออนไลน์หรือภาพอินโฟกราฟฟิกให้มากขึ้น เพื่อให้กระชับ เข้าใจง่าย และสะดวกต่อการให้ความรู้


4. สถาบันพระปกเกล้ามีโครงการอะไรบ้างในการสนับสนุน ส่งเสริม และให้ความรู้เกี่ยวกับการเมืองสำหรับคนรุ่นใหม่

หน้าที่หลักของสถาบันฯ ก็คือ การส่งเสริมประชาธิปไตย โครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ หลักสูตรให้ความรู้ทางการเมืองแก่คนรุ่นใหม่ (เด็กอายุ 18 ปี) ว่า ระบบการเลือกตั้งเป็นอย่างไร กลไกทางการเมืองทำงานอย่างไร มีระบบการคิดคะแนนเสียงอย่างไร การเลือกตั้งมีความสำคัญอย่างไร ทำไมคนไทยต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งด้วย รวมถึงการชี้ชวนให้ตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้งแบบมีวิจารณญาณ มีการคิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล เช่น การชั่งน้ำหนักระหว่างการเลือกโดยพิจารณาที่ตัวบุคคลหรือเลือกนโยบายของพรรค มีข้อมูลอะไรบ้างที่จำเป็นต่อการตัดสินใจ จะแยกแยะข้อมูลจริงหรือข้อมูลเท็จอย่างไร โดยใช้รูปแบบในการบรรยายอย่างสั้นๆ ภายใน 1 วัน และใช้คลิปวิดีโอหรือแอนิเมชันเพื่อช่วยอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น มีการถามตอบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีการจำลองการเลือกตั้งโดยสร้างคูหาเลือกตั้งให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทดลองของจริง เป็นหลักสูตรการเมืองภาคพลเมืองของสถาบันพระปกเกล้า สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ โดยจะจัดส่งชุดเครื่องมือไปตามจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้จากการทดลองปฏิบัติจริง


5. คนรุ่นใหม่ที่เป็นนักศึกษาในสมัย 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 นั้นมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองค่อนข้างมาก หากเปรียบเทียบกับคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักศึกษาในปัจจุบัน บทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะมีลักษณะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

มีความแตกต่างกันมาก หากเปรียบเทียบกับบทบาทคนรุ่นใหม่ในยุคหลังพฤษภาคม 2535 เมื่อไปดูสัดส่วนของแกนนำก็จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางหรือเรียกว่าเป็น “ม็อบมือถือ” ที่เติบโตมาจากยุค 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 ส่วนขบวนการนิสิตนักศึกษาจะกลายเป็นแกนนำระดับรอง ปัจจุบันนี้ขบวนการนิสิตนักศึกษาก็ไม่ได้เข้มแข็งเหมือนสมัยก่อน เมื่อมีเสื้อเหลือง-เสื้อแดงเกิดขึ้น อีกทั้งการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่างคนต่างทำกิจกรรม ไม่ได้มีองค์กรที่เป็นตัวกลางในการดึงให้กลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วมจัดตั้งหรือเคลื่อนไหวแต่อย่างใด

สถาบันฯ มีการจัดทำหลักสูตรค่ายอบรมเยาวชน โดยนำผู้นำจากสโมสรนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมาอบรมให้ความรู้และสร้างความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ก็มีความสนใจและต้องการขับเคลื่อนทางการเมืองเช่นกัน แต่เหตุผลหนึ่งที่ไม่ออกไปร่วมทำกิจกรรม เช่น ไปร่วมกับกลุ่มที่มีแกนนำอย่างจ่านิวหรือรังสิมันต์ โรม ก็เพราะว่า ต้องการเป็นผู้นำด้วยตัวเอง นั่นคือต้องการมีบทบาทและมีพื้นที่ของตัวเองมากกว่าที่จะต้องไปเดินตามใคร ถึงแม้จะมีรสนิยมทางการเมืองหรือเป้าหมายเดียวกันก็ตามที ดังนั้นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องการการสนับสนุนก็ต้องเข้าหานิสิตนักศึกษา และต้องสร้างขบวนการให้มีกลไกที่เป็นโครงข่ายแบบตัวแทน รวมทั้งสร้างบทบาทให้กับคนเหล่านี้ด้วย เพราะนิสิตนักศึกษารุ่นนี้ต้องการการยอมรับนับถือหรือชื่นชมจากคนรอบข้าง การทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะก็ต้องการจำนวนยอด Like ในเฟสบุ๊ค หรือจำนวนยอด Follow ในอินสตาแกรม เป็นต้น จึงมีลักษณะเป็นพลังย่อยที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน แต่กระจายอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งจะแตกต่างจากขบวนการนิสิตนักศึกษาในยุค 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 อย่างสิ้นเชิง การเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่จึงต้องสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นเจ้าของร่วมกันหรือเป็นหุ้นส่วนกับขบวนการนั้นอย่างเต็มที่ ดังนั้นการขับเคลื่อนทางการเมืองจึงต้องสร้างขบวนการเชิงเครือข่ายในแนวระนาบที่มีความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แนวดิ่งที่รับนโยบายจากส่วนกลางไปปฏิบัติ

ทั้งนี้คนรุ่นใหม่ไม่ได้ยึดติดกับหัวโขนมากนัก จึงไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งเป็นประธานหรือเป็นนายกสโมสรนิสิตนักศึกษาถึงจะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ แต่จะรวมกลุ่มจัดกิจกรรมกันเองในนามส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับคณะหรือมหาวิทยาลัย คิดหัวข้อหรือนโยบายสาธารณะและพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นจริง เช่น นำไปเสนอให้กับพรรคการเมือง เป็นต้น เหตุผลหนึ่งก็คือ ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ มีช่องทางในการเผยแพร่ในโลกออนไลน์เพื่อให้ผู้ติดตามเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งถือเป็นไวรัลมาร์เก็ตติ้งทางการเมืองอย่างหนึ่ง จึงดูเหมือนว่า ขบวนการนิสิตนักศึกษามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากเดิม แต่อย่างไรก็ยังมีพลังแฝงอยู่ เพียงแต่กระจัดกระจายอยู่ในสังคมทั่วไป หากพรรคการเมืองใดสามารถทำแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ที่สื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ได้ก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงได้เช่นกัน

แต่ความท้าทายที่สำคัญก็คือ การทำวิจัยหรือการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจทางการเมืองในยุคปัจจุบันยังก้าวไม่ทันพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากสังคมไทยมีความสลับซับซ้อนมากกว่าในอดีต ประกอบกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่นักวิจัยรัฐศาสตร์และนักวิเคราะห์การเมืองส่วนหนึ่งก็มุ่งสนใจงานที่เป็นแนวคิดเชิงปรัชญาการเมือง อีกส่วนหนึ่งก็สนใจงานที่เป็นแนวคิดเชิงสถาบันทางการเมือง เช่น สนใจการออกแบบรัฐธรรมนูญหรือการเขียนกติกาการเลือกตั้ง เป็นต้น แต่ทั้ง 2 ส่วนนี้ยังอาศัยการออกแบบการวิจัยแบบเดิม ยังใช้เครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลแบบเดิม จึงทำให้ตามพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ไม่ทัน


6. นักศึกษารุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

จากการทำวิจัยที่ผ่านมา ในเชิงกายภาพจะมีความแตกต่างกันไม่มากนัก ความเป็นเมืองในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดไม่ได้มีผลต่อรสนิยมทางการเมือง แต่ก็มีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกันไป มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด นักศึกษาจะมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันจึงส่งผลให้รสนิยมทางการเมืองต่างกันไป ยกตัวอย่าง นักศึกษาที่เกิดและเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ จะแตกต่างกันอย่างชัดเจนกับนักศึกษาที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดและอยู่หอพัก ความสนใจทางการเมืองก็อาจแตกต่างกัน เช่น ในหอพักอาจไม่มีทีวีหรือไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทำให้นักศึกษาไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง ดังนั้นถ้าไม่ได้เป็นข่าวดังก็จะไม่มีใครสนใจ เมื่อวิถีชีวิตแตกต่างก็อาจทำให้วิธีคิดหรือรสนิยมทางการเมืองแตกต่างกันไป แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ความแตกต่างตรงนี้จะมีผลเมื่อใกล้วันเลือกตั้ง คนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารก็อาจหลงไปกับกระแสมากกว่าคนที่ติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ เปรียบเทียบกับคนที่ติดตามข่าวสารก็จะมีรสนิยมอยู่ในใจแล้วว่าจะเลือกพรรคการเมืองไหน จึงไม่ถูกโน้มน้าวไปกับกระแสการเมืองในช่วงนั้นๆ

ส่วนพรรคการเมืองเองก็ต้องการเข้าถึง New Voter ให้ได้ ถึงแม้จะรู้ว่าต้องใช้ช่องทางออนไลน์ในการติดต่อสื่อสาร แต่ยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่เข้าใจคนกลุ่มนี้อย่างถ่องแท้และลึกซึ้งเพียงพอ ส่วนเนื้อหาในการสื่อสารก็ต้องตรงใจกับคนรุ่นใหม่ด้วย ซึ่งจะไปวัดกันอีกทีในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ในความไม่ชัดเจนเหล่านี้จึงทำให้ทุกพรรคมองเห็นเป็นโอกาสในการหาเสียง แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ New Voter จะแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงได้มากน้อยแค่ไหน จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะในอดีตที่ผ่านมา New Voter ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งไม่มากนัก จึงยังไม่เป็นพลังที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นคนรุ่น Baby Boomer และคนรุ่น Gen X จึงยังมีบทบาทและเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งไม่แตกต่างจากประเทศประชาธิปไตยในตะวันตกที่คนรุ่น Baby Boomer ยังคงเป็นกลุ่มสำคัญที่สามารถกำหนดทิศทางและตัดสินใจทางการเมืองได้ หรืออีกนัยหนึ่ง การเลือกตั้งเป็นวิถีการเมืองของคนรุ่นเก่า อย่างเช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 มีตัวเลขที่น่าตกใจมากว่า คนอายุ 18-29 ปี ออกไปเลือกตั้งแค่ 19% ส่วนคนอายุ 45-64 ปี ออกไปเลือกตั้งถึง 49%

คนรุ่น Baby Boomer เชื่อว่าการเลือกตั้ง คือ การออกจากบ้านไปคูหาเลือกตั้งเพื่อลงคะแนน เนื่องจากเติบโตมากับสภาพแวดล้อมแบบนี้ ส่วนคนรุ่น Gen Y ก็อาจชอบการลงคะแนนผ่านมือถือ ส่วนคนรุ่น Gen X จะอยู่ตรงกลาง ถ้ามีเวลาหรือสะดวกก็ออกไปเลือกตั้ง สัดส่วนการไปสิทธิ์เลือกตั้งจะมาจากคนรุ่น Baby Boomer เป็นหลักเพราะอยู่ติดพื้นที่ ชีวิตมีความมั่นคงแล้ว หรืออยู่ในวัยเกษียณ อีกทั้งหน่วยเลือกตั้งก็อยู่ในชุมชนใกล้บ้านจึงสะดวกต่อการออกไปใช้สิทธิ์ สำหรับคนรุ่น Gen X อาจต้องทำงานในวันเสาร์-อาทิตย์หรือไปต่างจังหวัด เพราะยังอยู่ในวัยทำงานสร้างฐานะ ส่วนคนรุ่น Gen Y ถึงแม้จะมีเวลาว่างก็อาจไม่ไปเลือกตั้งเลยก็เป็นได้

มีการประเมินกันว่า คนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y อาจจะไปใช้สิทธิ์เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น อย่างเช่น การเลือกตั้งในมาเลเซียที่ผ่านมา กลุ่ม New Voter ที่ออกไปใช้สิทธิ์ก็มีเพียงแค่ 30% ในแง่จำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิ์จึงไม่ได้เป็นพลังที่ใหญ่เพียงพอที่จะทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลง ดังนั้นชัยชนะอย่างถล่มทลายของ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด จึงเกิดจากการผนึกกำลังของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เข้าด้วยกันมากกว่าการใช้แค่พลังของคนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net