Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกายกฟ้อง 6 ตำรวจกาฬสินธุ์ คดีร่วมกันฆ่าแขวนคอวัยรุ่น 17 ปี ผู้ต้องหาคดีลักรถจักรยานยนต์ช่วงสงครามยาเสพติด ชี้คำให้การของพยานเป็นพิรุธ ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งหมด ด้านทนายเคารพคำพิพากษา แต่ก็ยังไม่เห็นพ้อง เหตุศาลฎีกาหยิบยกคำให้การของพยานปากเพียงปากเดียวมาวินิจฉัย ทั้งที่คดีที่มีพยานหลักฐานจำนวนมาก

11 ต.ค.2561 จากกรณีที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ คดีฆาตกรรมอำพราง เกียรติศักดื์ ถิตย์บุญครอง ช่วงสงครามยาเสพติด คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3252/2552 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.2600/2555 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 โจทก์ กับ ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 54 ปี ด.ต.สุดธินันท์ โนนทิง อายุ 49 ปี ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 48 ปี พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 57 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 68 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 51 ปี อดีตรอง ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ (ทั้งหมดมียศและตำแหน่งขณะนั้น) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในฐานความผิดร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ

ไทยโพสต์ รายงานว่า วันนี้ศาลเบิกตัว ด.ต.อังคาร ด.ต.สุดธินันท์ และด.ต.พรรณศิลป์ จำเลยที่ 1-3 จากเรือนจำมาศาล จำเลยที่ 4, 6 ซึ่งได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล ส่วนจำเลยที่ 5 ยังหลบหนี

ต่อมาศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลได้วินิจฉัยถึงพยานโจทก์ที่มีเพียงปากเดียว ไม่ใช่ประจักษ์พยาน โดยวิเคราะห์ถึงคำให้การโดยละเอียดหลายครั้งว่ามีพิรุธ ไม่น่าเชื่อถือ กับจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธโดยตลอด จึงน่าสงสัยว่าร่วมกระทำผิดจริงหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหก

สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. 2547 จำเลยที่ 1-3 และจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันฆ่า เกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปีเศษ ผู้ต้องหาคดีลักรถ จยย. ขณะนำตัวออกจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ด้วยการบีบรัดคอจนเสียชีวิต ก่อนนำศพไปอำพรางคดีด้วยการแขวนคอ โดยจำเลยทั้ง 6 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

โดยที่ เมื่อวันที่ 6 ก.ย ศาลได้ออกหมายจับ พ.ต.อ.มนตรี จำเลยที่ 5 ปรับนายประกัน 1 ล้านบาท เนื่องจาก พ.ต.อ.มนตรี ไม่มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2555 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ และย้ายศพเพื่อปิดบังสาเหตุการตาย ส่วนจำเลยที่ 6 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ ขณะที่จำเลยที่ 5 ลงโทษจำคุก 7 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ต่อมาอัยการโจทก์, โจทก์ร่วมและจำเลย ได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว จึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1-3 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ และเคลื่อนย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 มีประโยชน์ในการพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 50 ปี อีกทั้งพิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ ลงโทษประหารชีวิต แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1ใน3 คงจำคุกจำเลยที่ 4 ไว้ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 5-6 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ แต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 7 ปีนั้น เห็นว่า หนักเกินไป จึงพิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำคุก จำเลยที่ 5-6 ไว้คนละ 5 ปี

สำหรับคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2547 ช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด โดยช่วงเวลาดังกล่าวพบว่ามีผู้เสียชีวิตและหายสาบสูญต่อเนื่อง

'นัก กม.สิทธิฯ' ชี้คดีต่อสู้มายาวนานถึง 14 ปี โดยที่ญาติพบกับอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงความยุติธรรม

เมื่อ 21.00 น. ที่ผ่านมา เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'Human Rights Lawyers Association' ของ สมาคมนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน โพสต์ประเด็นเกี่ยวกับหลังคำพิพากษาดังกล่าวว่า คดีนี้ต่อสู้มายาวนานถึง 14 ปี และเป็นกรณีเดียวที่มีความคืบหน้าในเชิงคดีมากที่สุดจากคดีในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์กว่า 20 คดีในช่วงสงครามกับยาเสพติด ตลอดระยะเวลาของการดำเนินคดี ญาติของผู้เสียหายต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงความยุติธรรม พวกเขาต้องเดินทางร้องเรียนหลายหน่วยงาน เกิดการคุกคามญาติและพยานอยู่บ่อยครั้ง พยานสำคัญบางส่วนหายไป บางรายเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ

คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาลงโทษจำเลย โดยศาลชั้นต้นพิพากษาคดีเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2555 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ และจำเลยที่ 6 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนจำเลยที่ 4 ศาลยกฟ้อง

ส่วนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2558 แก้โทษจำเลยที่ 2 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และพิพากษากลับลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

แต่วันนี้ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในลักษณะที่เรียกว่ากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ โดยพิพากษายกฟ้อง ให้จำเลยทั้งหมดไม่มีความผิด เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนางสาว อ. มีพิรุธไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ประกอบกับจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อมีพฤติกรรมน่าสงสัยว่าจำเลยทั้งหกกระทำความผิดจริงหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งหก

สำหรับเหตุผลของการยกฟ้องของศาลฏีกานี้ ศาลได้หยิบยกข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานปากนางสาว อ. มาวินิจฉัยเป็นหลัก โดยศาลเห็นว่า คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ที่ผู้ตายถูกฆ่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีเพียงนางสาว อ เป็นพยานปากเดียวที่เบิกความยืนยันว่าเห็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 นำตัวผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวนชั้น 2 ของสถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์ การรับฟังพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนี้จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง

หนึ่งในประเด็นที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพยานปากนางสาว อ. ไม่มีน้ำหนัก ก็คือประเด็นที่นางสาว อ ไม่ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรจังหาร และพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเช่นเดียวกับที่ให้การไว้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเบิกความต่อศาล โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่าพยานได้ยินผู้ตายพูดโทรศัพท์ว่า เขาจะเอาผมไปฆ่า และไม่ได้ระบุว่าเจ้าพนักงานตำรวจคนใดบ้างล็อคคอผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวน ซึ่งศาลเชื่อว่าพยานสามารถให้การต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าวได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวอันตรายใดๆ เพราะอยู่ในความคุ้มครองของตำรวจกองบังคับการปราบปรามแล้ว เมื่อพยานไม่ให้การในรายละเอียดต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าว จึงถือว่ามีพฤติการณ์เป็นพิรุธส่อแสดงให้สงสัยว่าพยานถูกข่มขู่เพื่อให้การเท็จในชั้นสอบสวนและเกรงกลัวอันตรายตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ พยานปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ได้เคยวินิจฉัยโดยเห็นว่าการที่นางสาว อ ให้การกับพนักงานสอบสวนไว้ในลักษณะที่แตกต่างจากให้การไว้กับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและชั้นศาลนั้น ดูจากพฤติการณ์และพยานหลักฐานอื่นประกอบแล้วน่าเชื่อได้ว่าเกิดจากความเกรงกลัวจากการถูกคุกคาม ดังนั้น พยานปากนางสาว อ. จึงถือเป็นประจักษ์พยานและมีความน่าเชื่อถือ

มีอีกประเด็นที่ศาลฎีกาหยิบมาวินิจฉัยคือประเด็นสัญญาณโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นว่า ช่วงเวลาที่พยานนางสาว อ เห็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 นำตัวผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวนคือช่วงเวลาหลังจาก 19 นาฬิกาไปแล้วแต่แม่เกิน 19.15 นาฬิกา เมื่อพิจารณาข้อมูลการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่จำเลยที่ 1 ใช้อยู่ประจำ ปรากฏว่ามีการใช้โทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวในวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 เวลา 19.12.08 นาฬิกา ที่บริเวณถนนบายพาสกาฬสินธุ์ และเวลา 19.12.36 นาฬิกา ที่เชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด หากดูระยะเวลานับตั้งแต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เริ่มพาผู้ตายออกไปจากห้องสอบสวนช่วงเวลา 19 ถึง 19.15 นาฬิกา ศาลจึงเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะออกจากห้องสืบสวนเดินไปขึ้นรถแล้วเดินทางไปใช้โทรศัพท์ที่ถนนบายพาสกาฬสินธุ์และที่เชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ดในเวลาดังกล่าว

ในประเด็นนี้ เดิมศาลอุทธรณ์เห็นว่าแม้คำเบิกความของพยานปากนางสาว อ เวลาจะคาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ไม่ได้กระทบสาระสำคัญของคดี โดยศาลอุทธรณ์ได้ฟังพยานหลักฐานอื่นๆประกอบแล้วเห็นว่าระยะเวลาที่จำเลยนำตัวผู้ตายออกไปสอดคล้องกับระยะเวลาที่ปรากฏสัญญาณโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1

อีกประเด็นที่น่าสนใจในคำพิพากษาศาลฎีกาคือ ศาลให้น้ำหนักกับความสัมพันธ์ระหว่างนางสาว อ พยาน กับนาง พ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม เช่น ทำไม นาง พ จึงไปรับพยานออกมาจากแฟลตตำรวจของกองบังคับการปราบปรามแล้วพาไปให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เหตุใดจึงไม่ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไปสอบปากคำพยานที่กองบังคับการปราบปราม ทั้งๆ ที่นาง พ ทราบอยู่แล้วว่าพยานอยู่ในความคุ้มครองของกองบังคับการปราบปรามและสามารถจะทำเช่นนั้นได้ แต่กลับไม่กระทำโดยไปรับพยานออกมาจากการคุ้มครองของกองบังคับการปราบปราม อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องที่นางสาว อ พยานได้ขอเงินจำนวนหนึ่งจากนาง พ เพื่อเดินทางไปจังหวัดสระแก้ว และเพื่อใช้วางมัดจำห้องเช่า

ทนาย เคารพคำพิพากษา แต่ก็ยังไม่เห็นพ้อง เหตุศาลหยิบยกคำให้การพยานปากเพียงปากเดียววินิจฉัย ทั้งที่คดีที่มีพยานหลักฐานจำนวนมาก

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความหนึ่งในคณะทำงานคดีนี้ กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า ในฐานะทนายความ ตนเคารพในคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ก็ยังไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากการที่ศาลฎีกาหยิบยกคำให้การของพยานปากเพียงปากเดียวมาวินิจฉัย ทั้งที่คดีที่มีพยานหลักฐานจำนวนมาก พยานบุคคลก็อีกหลายปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งย่าของผู้ตายที่ไปติดตามหาผู้ตายที่โรงพัก และยังมีประเด็นน่าสงสัยอีกหลายเรื่องที่ศาลไม่กล่าวถึง อาทิ ประเด็นการที่มีบุคคลมาประกันตัวผู้ตายไปโดยญาติไม่รู้เรื่อง ซึ่งบุคคลที่มาประกันตัวนั้นเป็นบุคคลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของโรงพักติดต่อมา แล้วมีการทำบันทึกประจำวันว่าได้มีการปล่อยตัวเด็กกลับไป ลงประจำวันไว้ พยานหลักฐานเหล่านี้มีปรากฏในสำนวนคดีที่พนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำไว้อย่างดีและละเอียด แต่ศาลฎีกากลับมิได้หยิบยกมาวินิจฉัย

ทนายกล่าวต่อว่า มีเรื่องสำคัญที่อยากจะฝาก คือในจังหวัดกาฬสินธุ์มีคนเสียชีวิตในช่วงเวลาเดียวกันกับเกียรติศักดิ์อีกถึง 20 กว่าศพ ปัจจุบันยังหาตัวคนร้ายไม่ได้ แต่อายุความยังไม่สิ้นสุด เพราะคดีฆ่าผู้อื่นมีอายุความ 20 ปี ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องดำเนินการให้มีการสืบสวนสอบสวนหาคนร้ายที่แท้จริงมาลงโทษให้ได้ เพราะญาติพี่น้องของคนที่ตาย เขาก็ยังสงสัยอยู่ว่าคนร้ายที่ทำให้ลูกเขาตาย ให้คนในครอบครัวเขาตาย เมื่อไหร่จะได้ตัวคนร้ายมาลงโทษ

ประเด็นถัดมา คดีนี้เป็นคดีสำคัญ และพยานที่ออกมาทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ของรัฐถือว่ามีความเสี่ยง เขาเสียสละที่จะมาพูดความจริงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น หน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยาน ไม่ว่ากรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ คุณต้องรับผิดชอบคุ้มครองความปลอดภัยของพยานให้ตลอด มิใช่คุณคุ้มครองแค่คำพูดของพยาน เมื่อเขาเบิกความในศาลเสร็จแล้วคุณก็เลิกการคุ้มครอง นี้เป็นเรื่องสำคัญ จึงอยากฝากไปถึงผู้บังคับการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

อ่านคำพิพากษาทุกชั้นศาลได้ที่นี่ http://naksit.net/2018/09/case/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net