ส่องกระบวนการเลือก ส.ว. หลัง กกต. ยันงานนี้ไม่มีฮั้วกันเองแน่นอน

สำรวจวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. ในส่วนที่ดำเนินการโดย กกต. หลังเลขาธิการ กกต. เชื่อมั่นการเลือกกันเองของผู้สมัครจะไม่มีการฮั้วกันแน่นอน 

11 ต.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวว่าหลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)ให้เลือกสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) แล้วรัฐบาลจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ส่วนของ กกต. จะดำเนินการตามขั้นตอนการสรรหา ส.ว. โดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนองค์กรที่จะเสนอชื่อในวันที่ 15- 24 ต.ค.นี้ จากนั้นจะเปิดรับสมัครวันที่ 26- 30 พ.ย. และการเลือกในระดับอำเภอวันที่ 16 ธ.ค.  ระดับจังหวัด  22 ธ.ค. และระดับประเทศ 27 ธ.ค. 

“เชื่อว่าการเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาในนามองค์คาดว่าจะมีจำนวนมาก ดูจากความคึกคักขององค์กรที่มาลงทะเบียน  อย่างไรก็ตาม ไม่ห่วงเรื่องการฮั้วสมัคร  เพราะขั้นตอนการเลือกมีหลายระดับ แต่ละระดับผู้สมัครจะรู้คะแนนและสามารถร้องเรียนได้หากพบความผิดปกติ ซึ่งถ้าพิสูจน์แล้วว่ามีการฮั้วกันจะมีความผิดโทษแรง มีสิทธิ์โดนใบแดงแบบส.ส. ทั้งนี้  เรื่องการเลือกส.ว.ทางกกต.อยากให้ดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยโดยเร็ว  เพื่อจะได้จัดเตรียมเรื่องการเลือกตั้งส.ส. ที่จะใกล้กัน เพราะการเลือกตั้งส.ส.เป็นระบบใหม่” เลขาธิการกกต. กล่าว

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า งบประมาณ 600 ล้านบาทที่ ครม. เห็นชอบในหลักการเมื่อวานนี้  (10 ต.ค.) เป็นงบที่ได้รับอนุมัติเพิ่มเติมจากเดิมที่เคยได้รับอนุมัติงบฯ จัดการเลือกตั้งส.ส.กว่า 4,000 ล้านบาท แต่ด้วยกระบวนการจัดการเลือกตั้งเป็นรูปแบบใหม่ มีค่าใช้จ่ายหลายเรื่อง อาทิ ค่าตอบแทนให้ผู้แจ้งเบาะแส สินรางวัลนำจับ การกำหนดให้กกต.เป็นผู้จัดหาสถานที่สำหรับปิดป้ายหาเสียงของผู้สมัคร  ทำให้งบที่ได้รับอนุมัติเดิมไม่เพียงพอ จึงขออนุมัติเพิ่ม ซึ่งจากนี้ทางสำนักงานกกต.จะจัดทำแผนการใช้จ่าย  และจะเสนอให้ครม.พิจารณาเร็ว ๆ นี้

การเลือก ส.ว. ในส่วนของ กกต. ตามบทเฉพาะมีกระบวนการอย่างไร

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า การดำเนินการเลือก ส.ว. ในส่วนของ กกต. จะมีการดำเนินการโดยการแบ่งกลุ่มผู้สมัครทั้งหมด 10 สาขาอาชีพ มาจาก 2 ที่มา คือ การสมัครในฐานะตัวบุคคล และการได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรที่ผ่านการลงทะเบียนเสนอชื่อของ กกต. รวมทั้งหมดจะมีกลุ่มผู้สมัคร 20 กลุ่ม เมื่อถึงช่วงเวลาที่ปิดรับการสมัครแล้ว(30 พ.ย.) จะทำการแบ่ง ส.ว. ไปตามเขตอำเภอ โดยจะมีการดำเนินการเลือกใน 3 ระดับ ดังนี้

โดย 10 กลุ่มอาชีพที่ระบุไว้ในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. ประกอบด้วย

1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน

2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตํารวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน

3.กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหาร สถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน

4.กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทํานา ทําสวน ทําไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน

5.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน

6.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน

7.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นและผู้ประกอบ กิจการอื่น ๆ ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม ผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน

8.กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน

9.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์ วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน

10.กลุ่มอื่น ๆ

การเลือกกันเองในระดับอำเภอ

ในระดับเริ่มต้นคือระดับอำเภอ จะมีการแบ่งผู้สมัครเป็น 10 กลุ่มอาชีพ และแบ่งตามช่องทางสมัครรวมทั้งหมดเป็น 20 กลุ่ม จากนั้นให้แต่และกลุ่มลงคะแนนเสียงเลือกกันเอง โดยผู้สมัครมีสิทธิเลือกได้ 2 คน โดยสามารถลงคะแนนให้กับตัวเองได้ เมื่อดำเนินการลงคะแนนเสร็จแล้ว ให้กกต. เปิดผล แล้วให้ผู้ที่ได้ระดับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกในแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ผ่านการคัดเลือก และเข้าไปในกระบวนการคัดเลือกในระดับจังหวัดต่อ รวมและจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกในระดับอำเภอละ 60 คน รวมทั้งประเทศจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 52,680 คน (กกต. วางแผนว่าจะดำเนินการในวันที่ 16 ธ.ค.)

แต่ในกรณีที่มีผู้มารายงานตัวในระดับอำเภอ เมื่อแบ่งเป็น 20 กลุ่มแล้ว พบว่ามีกลุ่มที่มีผู้มารายงานตัวไม่เกิน 3 คน ให้ถือว่า 3 ผู้ที่มารายงานตัวเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกทันที

การเลือกกันเองในระดับจังหวัด

การเลือกในระดับจังหวัด มีลักษณะเดียวกันการเลือกในระดับอำเภอคือ จากจำนวนผู้ผ่านการคัดเลือกในระดับอำเภอ เมื่อเข้ามาสู่ระดับจังหวัดก็จะมีการแบ่งเป็น 10 กลุ่มอาชีพ แบ่งเป็น 2 กลุ่มที่มา รวม 20 กลุ่ม จากนั้นให้แต่และกลุ่มลงคะแนนเสียงเลือกกันเอง โดยผู้สมัครมีสิทธิเลือกได้ 2 คน โดยสามารถลงคะแนนให้กับตัวเองได้ เมื่อดำเนินการลงคะแนนเสร็จแล้ว ให้กกต. เปิดผล แล้วให้ผู้ที่ได้ระดับคะแนนสูงสุด 4 อันดับแรกในแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ผ่านการคัดเลือก รวมจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกจังหวัดละ 80 คน รวมทั้งประเทศจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 6,160 คน เพื่อเข้ารับการคัดเลือกในระดับประเทศต่อไป (กกต. วางแผนว่าจะดำเนินการในวันที่ 22 ธ.ค.)

แต่ในกรณีที่กลุ่มผู้สมัครในระดับอำเภอใด มารายงานตัวรับการคัดเลือกในระดับจังหวัดไม่เกิน 4 คน ให้ถือว่าผู้ที่มารายงานตัวได้เป็นผู้ถูกคัดเลือกเข้าสู่ในระดับประเทศทันที

การเลือกกันเองในระดับประเทศ

การเลือกกันเองในระดับประเทศยังคงใช้วิธีการแบ่งเช่นเดิม ทั้งหมดจะมี 20 กลุ่ม และผู้สมัครแต่ละคนที่ผ่านเข้ามาในรอบนี้จะมีสิทธิเลือกคนกลุ่มเดียวกับตนเองได้ 2 คน โดยสามารถลงคะแนนให้กับตัวเองได้ โดยให้มีการนับคะแนนโดยเปิดเผย ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก จากทุกกลุ่มจะเป็นผู้ที่ที่รายชื่ออยู่ 200 รายที่ กกต. จะยื่นให้ คสช. ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกต่อไปในวันที่ 2 ม.ค. 2562 โดย คสช. จะเลือกในขั้นตอนสุดท้ายให้เหลือ 50 คนที่จะได้เป็น ส.ว. และอีก 50 คนจะอยู่ในรายชื่อสำรอง (กกต. วางแผนว่าจะดำเนินการในวันที่ 27 ธ.ค.)

อย่างไรก็ตามในการเลือกกันเองในทุกระดับ หากพบว่าในกลุ่มใด มีไม่ได้รับคะแนนเลือกเลยมีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจํานวนผู้สมัครที่มาแสดงตนในกลุ่มนั้นๆ ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ผู้อํานวยการการเลือกในแต่ละระดับดําเนินการให้ผู้สมัครเลือกกันเองใหม่อีกครั้งโดยให้ผู้ที่ไม่ได้รับคะแนนเลือกในกลุ่มนั้นๆ ออกจากกระบวนการ

แล้ว ส.ว. อีก 200 คนมาจากไหน

นอกจากนี้ยังคงหลือ ส.ว. อีก 200 คน โดยส่วนที่เหลือนี้จะเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง 6 คน คือปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหาทุกเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอีก 194 คน จะมาจากการที่ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา 9 – 12 คนเพื่อดำเนินการคัดเลือกรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่ง ส.ว. มา 400 คน เพื่อส่งรายชื่อให้ คสช. คัดเลือก 194 คน และคัดอีก 50 คนเป็นรายชื่อสำรอง กระบวนการคัดเลือก ส.ว. นี้ยังไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น และยังไม่ทราบว่าจะมีการดำเนินการคัดเลือกอย่างไร อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในรัฐบาลปัจุบันสามารถดำรงตำแหน่ง ส.ว. โดยผ่านการได้มาจากาการคัดเลือกโดย คณะกรรมการสรรหาได้  และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ก็สามารถที่จะเข้ามาดำรงตำแน่ง ส.ว. ต่อไปได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ระบุข้อห้ามไว้

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 269 (1) ระบุว่า ให้ กกต. ดำเนินการให้มีการเลือก 200 รายชื่อ รวมทั้งคณะกรรมการสรรหาเองก็ต้องดำเนินการเพื่อให้ได้ 400 รายชื่อ เพื่อนำรายชื่อมาให้ คสช. คัดเลือกให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. 15 วัน หากมีการเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ. 2562 จริง รายชื่อทั้งหมดจะต้องมาถึงมือ คสช. ภายในวันที่ 9 ก.พ. จากนั้นให้ คสช. คัดเลือกรายชื่อ ส.ว. ทั้งในส่วนที่มาจาก กกต. ส่วนที่มาจากการสรรหา และส่วนที่เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง รวม 250 คน ให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันหลังจากการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างเป็นทางการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท