Skip to main content
sharethis

'ปู ไปรยา' ฐานะทูตสันถวไมตรี UNHCR เยี่ยมผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ที่ค่ายกูตูปาลอง บังคลาเทศ รองรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาถึง 9 แสนคนถือเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เผยเห็นภาพผู้ลี้ภัยเมื่อ 4 ปีก่อนจึงต่อเข้า UNHCR เพื่อแสดงความจริงใจที่อยากมอบความช่วยเหลือ พร้อมชวนสนับสนุนการทำงานของ UNHCR 

11 ต.ค.2561 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รายงานว่า ระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ปู - ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ดาราและ ทูตสันถวไมตรีของ  UNHCR เดินทางไปยังประเทศบังคลาเทศเพื่อลงพื้นที่เยี่ยมผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในค่ายกูตูปาลอง ซึ่งรองรับจำนวนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาถึง 900,000 คนถือเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก สืบเนื่องจากวิกฤติในวันที่ 25 ส.ค.2560 ที่ผลักดันให้ชาวโรฮิงญาต้องหนีเข้ามาขอที่พักพิงถึง 725,000 คน จนถึงปัจจุบัน 1 ปีผ่านไปยังมองไม่เห็นอนาคตสำหรับพวกเขา

รายงานข่าวระบุว่า นี่เป็นการเดินทางเยี่ยมผู้ลี้ภัยในต่างประเทศครั้งที่ 2 ของ ไปรยา จากคราวที่แล้วที่ได้พบผู้ลี้ภัยซีเรียในประเทศจอร์แดน แต่เมื่อได้เห็นเหตุการณ์ชาวโรฮิงญา ไปรยา พบว่าพวกเขาตกอยู่ในสภาพที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง ร้อยละ 55 ของประชากรคือเด็ก และจำนวนมากคือเด็กที่เป็นผู้นำครอบครัว หลายคนเจอความโหดร้ายมาตลอดชีวิต ถูกกดขี่ ล่วงละเมิด สูญเสียคนในครอบครัว พลัดพราก และบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ โดย 1 ใน 3 ของครอบครัวจะมีผู้ที่เปราะบางและต้องการความช่วยเหลือเฉพาะด้าน

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ไปรยา ได้พบกับครอบครัวชาวโรฮิงญา เช่น ครอบครัวอาราฟ่า ที่หนีกันมา 3 คนพ่อแม่ลูก

ซึ่ง ไปรยา เปิดเผยว่า นางอาราฟ่า เล่าให้ ปู (ไปรยาเรียกแทนตัวแอง) ฟังว่า ญาติของเธอทุกคนถูกจับขังคุก ตัวเธอเคยถูกทำร้าย รู้สึกหวาดกลัวจึงตัดสินใจหนี

“ตอนนี้ ไม่กล้ากลับบ้าน ที่นั่นมีแต่ความน่ากลัว ฉันยอมตายดีกว่ากลับไป” อาราฟ่า กล่าว

เมื่อมาถึงค่ายกูตูปาลอง อาราฟ่า ยังคงฝันร้าย แต่เธอได้รับความคุ้มครองจาก UNHCR จัดหาที่พักพิงให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันอย่างปลอดภัย

ไปรยา เล่าต่อว่า ถึงแม้วิกฤติจะเกิดขึ้นมา 1 ปีแล้ว แต่ ปูยังได้พบกับชาวโรฮิงญาที่เพิ่งหนีเข้ามาได้เพียง 12 วัน เธอชื่อราเบีย ที่เล่าให้ไปรยาฟังว่า เธออดทนที่จะอยู่ไม่ยอมลี้ภัยทั้งๆที่เดินทางไปไหนก็ไม่ได้ หาอาหารก็ไม่ได้ เธอรอจนลูกของเธออายุได้ 1 ขวบจึงลี้ภัยพร้อมหลายๆครอบครัว ใช้เวลาเดินเท้า 7 วัน ระหว่างนั้น เธอก็พลัดหลงจากญาติๆ ไม่มีอาหาร แล้วเรื่องน่าสลดก็เกิดขึ้น ลูกวัย 1 ขวบของเธอเสียชีวิตในอ้อมกอดของราเบีย เธออดทนเดินทางต่อจนถึงค่ายกูตูปาลอง ราเบียยังคงโศกเศร้าจากการสูญเสียลูกของเธอ UNHCR ช่วยฟื้นฟูจิตใจ และติดตามหาญาติให้ครอบครัวได้กลับมาปลอบประโลมใจเธออีกครั้ง

ค่ายกูตูปาลอง ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อดินโคลนถล่ม พายุฝน ความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่นี่จึงไม่ได้มั่นคง ปลอดภัยมากนัก แต่พวกเขาจำเป็นต้องออกมา หนีจากความทุกข์ยากที่มีมาตั้งแต่เกิด ถึงแม้ประเทศบังคลาเทศ ประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และมีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก แต่ยังรองรับผู้ลี้ภัยเกือบ 1 ล้านคน ปูขอขอบคุณรัฐบาลบังคลาเทศในความโอบอ้อมอารีมา ณ ที่นี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา มีความซับซ้อน อ่อนไหว และต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ปูชื่นชมการทำงานของ UNHCR ที่ดูแลชาวโรฮิงญาอย่างรอบด้าน ทั้งเยียวยาจิตใจ ช่วยเหลือด้านการแพทย์ การศึกษา แม้กระทั่งการรักษาสิ่งแวดล้อม ปลูกป่าและสอนการอยู่กับช้าง เพื่อสร้างความกลมเกลียวต่อการอยู่ร่วมกันกับชุมชนในพื้นที่

ภาพชาวโรฮิงญาที่ปูเห็นในข่าวเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ทำให้ปูติดต่อ UNHCR โดยไม่รู้จักใครเลย เพื่อแสดงความจริงใจที่อยากมอบความช่วยเหลือ วันนี้ ปูได้พบชาวโรฮิงญาจริงๆ ทำให้ปูชื่นชมในความเข้มแข็ง และกล้าหาญของพวกเขาที่ปูสัมผัสได้ด้วยใจ

"ไม่มีมนุษย์คนไหนเกิดมาแล้วอยากเป็นผู้ลี้ภัย ต้องมาขออาศัยในประเทศอื่น และมีชีวิตอย่างยากลำบาก ปูจึงขอเชิญชวนทุกคนมอบความเห็นใจ และสนับสนุนผู้ลี้ภัย รวมทั้งการทำงานของ UNHCR ซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทาย โดยเฉลี่ย UNHCR ใช้เวลาเกือบ 20 ปีกว่าจะแก้ปัญหาให้ผู้ลี้ภัยได้ ปูยังคงมุ่งมั่นปฎิบัติหน้าที่ในฐานะทูตสันถวไมตรีของ UNHCR ต่อไป การลงพื้นที่ในแต่ละครั้งมอบความทรงจำ และพลังในการที่ปูต้องทำงานหนักต่อไป เพื่อเพื่อนมนุษย์ของเราค่ะ" ไปรยา กล่าว

สำหรับ ไปรยา ลุนด์เบิร์ก นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ หรือ UNHCR ตั้งแต่ 31 ม.ค. 2560 เป็นคนไทยคนแรกในประเทศไทย และเอเชียแปซิฟิคที่ได้รับตำแหน่งนี้ โดยมีหน้าที่หลักในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัย พัฒนาความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อชีวิตของผู้ลี้ภัยในระยะยาว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net