Skip to main content
sharethis

หลังจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 บรรยากาศทางการเมืองไทยเริ่มผ่อนคลายระดับหนึ่ง พรรคการเมืองต่างๆ สามารถดำเนินกิจกรรมได้เล็กๆน้อยๆ หลังจากถูกแช่แข็งโดยรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนหน้านั้นก็การรัฐประหาร เมื่อ 19 กันยายน  2549 และติดหล่มเรื่อยมา 
ในขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี,ยะลา,นราธิวาส) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา หลายคนเรียกว่า “อนุภูมิภาคปาตานี” พื้นที่ที่มีปัญหาความขัดแย้งรุนแรงบ้าง ไม่รุนแรงบ้างระหว่างขบวนการจับอาวุธปาตานีกับรัฐชาติสยาม-ไทย รุนแรงกว่าเดิมอีกครั้งเมื่อ 2547 มากไปด้วยความตายสูญเสีย บาดเจ็บของผู้คนดำเนินมา 14 ปี 

เหมือนจะมีความหวังถึงกระบวนการสันติภาพน้อยนิดในบางครั้งคราเมื่อบริหารประเทศด้วยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2556 มีการริเริ่มพูดคุยสันติภาพขึ้นระหว่างขบวนการจับอาวุธปาตานีกับรัฐไทย แม้รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ได้ทำให้การพูดคุยจบลงโดยสิ้นเชิงแต่นัยยะการต่อรอง พูดคุยของขบวนการจับอาวุธปาตานีถูกกดด้วยการพูดคุยแบบอำนาจนิยมและไร้เสรีมากขึ้น

หลัง“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ประกาศว่าจะเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ความหวังถึงกระบวนการสันติภาพน้อยนิดก็ปรากฏอีกครั้ง เกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ หลายพรรคที่นิยมประชาธิปไตยและค่อนข้างก้าวหน้า เกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ หลายพรรคเช่นกันที่มีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมพร้อมยินยอมให้ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” สืบทอดอำนาจต่อ สั่นคลอนพรรคการเมืองเดิมอย่างเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ 

ห้วงระยะนี้ ภาพกระแสการสนใจการเมืองของผู้คนจึงปรากฏทุกสังคมทุกภูมิภาค “อนุภูมิภาคปาตานี” ก็เช่นกันมีการจัดเสวนาเกี่ยวกับการเมืองและประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง และเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่มีการนำเสนองานวิชาการเกี่ยวกับการเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (CSCD) และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) เป็นผู้จัด

ภายใต้ชื่อ “ วงเวียนวิจัย ครั้งที่ 2 ” หัวข้อ “(พรรค)การเมืองการเลือกตั้งและชายแดนใต้ Political (Parties), Election and the Deep Southโดย “ดวงยิหวา อุตรสินธุ์” อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี และ “อิมรอน ซาเหาะ” เจ้าหน้าที่/นักวิจัย CSCD  ณ ห้อง 8 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ภายใน มอ.ปัตตานี 

“ดวงยิหวา อุตรสินธุ์”นำเสนออ้างอิงข้อมูลส่วนหนึ่งจากดุษฎีนิพนธ์ของเธอที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียในหัวข้อ “Voices and Votes amid Violence: The Case of Thailand's Deep South” (เสียงและคะแนนเสียงในห้วงความรุนแรง: กรณีศึกษาชายแดนใต้ของประเทศไทย) ซึ่งว่าด้วยเรื่องพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของความรุนแรงโดยใช้กรณีศึกษาของการเลือกตั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปี 2554 

แก่นของข้อถกเถียงในการนำเสนอครั้งนี้จะมองว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดฯ ถือว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูง หากแต่อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตยและการสร้างความสงบและสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นผลมาจากการทำรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ แม้ว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีความซับซ้อนทางการเมืองที่ต่างจากจังหวัดอื่น ๆ เพราะมีปัจจัยเรื่องศาสนา ชาติพันธุ์ และความรุนแรงมาเกี่ยวข้อง แต่การเลือกตั้งในพื้นที่แห่งนี้ก็ยังจำเป็นที่จะต้องยึดโยงเกี่ยวเนื่องกับการเมืองไทยระดับชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ดวงยิหวา อุตรสินธุ์” นำเสนอใน หัวข้อย่อย เรื่อง “การเมืองเรื่องสามจังหวัด: ทหารธิปไตยหรือประชาธิป(ไทย)?” โดยมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการอธิบายพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนในพื้นที่ แบบที่ 1 เธอค้นพบว่าถ้าเกิดเหตุรุนแรงขนานใหญ่ เช่น กรณี 5 ชีวิตถูกทำร้ายและทิ้งแม่น้ำสายบุรีที่สะพานกอตอ 2518 จนนำไปสู่การประท้วง 25148-2519 แล้วต่อมาเกิดการเลือกตั้งในปี 2519 พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งทำท่าว่าจะเข้าใจคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มการเมือง “วะดะฮ์” จึงเข้าไปร่วมพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้คนในพื้นที่เทคะแนนให้อย่างล้นหลาม 

ขณะที่กรณีหลังเกิดหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ ในปี 2547 คนในพื้นที่มองว่าพรรคไทยรักไทยเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุ ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งขึ้นในปี 2548 คนมลายูมุสลิมเลยไม่ตัดสินใจเลือกใครสักคนเลยในพรรคไทยรักไทย แม้ว่ามีกลุ่มการเมือง “วะดะฮ์” อยู่ในพรรคไทยรักไทยด้วยก็ตาม 

“ดวงยิหวา อุตรสินธุ์” ตั้งข้อสังเกตุถึงแนวทางการวางตัวทางการเมืองของกลุ่ม "วาดะห์"  ว่าค่อนข้างวางตัวเป็นกลางพยายามไม่เข้าข้างรัฐ และก็พยายามไม่ยืนอยู่ข้างขบวนการจับอาวุธปาตานีเช่นกัน
อีกหนึ่งข้อสังเกตที่เธอพบ หลังมีเหตุการณ์รุนแรงที่เด่นชัด คือขบวนการปาตานีจับอาวุธสู้กับรัฐไทยก็มีส่วนในการโน้มน้าวให้คนในพื้นที่เลือกพรรคไหน ไม่เลือกพรรคไหน ให้เลือกใครในเชิงปัจเจก และไม่เลือกใครในเชิงปัจเจก ล่าสุดเมื่อปี 2560 มีเหตุการณ์รุนแรงต่อเนื่องก่อนการโหวตประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ผลออกมาคนส่วนใหญ่ในชายแดนใต้โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญ 2560
 
พฤติกรรมการเลือกตั้งแบบที่ 2 ที่เธอค้นพบว่าถ้าท่ามกลางความรุนแรงเรื้อรังและยืดเยื้อพฤติกรรมการตัดสินใจเลือกตั้งของคนในพื้นที่จะขึ้นอยู่กับ "หัวคะแนนคนกลาง" ซึ่งเป็นส่วนขยายของคนลงสมัครเลือกตั้ง ยิ่งความรุนแรงยืดเยื้อยาวนานมากน้อยเพียงใด "หัวคะแนนคนกลาง" ก็จะยิ่งเติบโตและขยายจำนวนและหยั่งรากเป็นระบบอุปถัมภ์ลึก

“ทว่าถ้าความขัดแย้งรุนแรงในชายแดนใต้จบลงเมื่อใดจะทำให้ผู้ลงสมัครเลือกตั้งสามารถหาเสียงต่อสายสัมพันธ์โดยตรงกับคนในชุมชนได้ และ"หัวคะแนนคนกลาง" ก็จะค่อยๆ ลดจำนวนน้อยลง ระบบอุปถัมภ์ก็จะค่อยๆ ลดลง” เธอระบุ

ส่วน “อิมรอน ซาเหาะ” เจ้าหน้าที่และนักวิจัย CSCD นำเสนอในหัวข้อ “พรรค(นัก)การเมืองมุสลิมในประเทศไทย: บทสนทนาระหว่างอิสลามและประชาธิปไตยกับทางเลือกในการต่อสู้” เขาตั้งต้นจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของเขาในชื่อ “แนวคิดอิสลามการเมืองและสันติภาพของพรรคการเมืองมุสลิมในประเทศไทย” สาขาวิชาความขัดแย้งและสันติศึกษา สถาบันสันติ ม.อ.หาดใหญ่ ที่ศึกษาพรรคการเมืองมุสลิมที่เคลื่อนไหวในช่วงปี 2556-2558 

นอกจากนี้เขากำลังทำวิจัยต่อเนื่องในหัวข้อ “พลวัตความเคลื่อนไหวของนักการเมืองมลายูมุสลิมท่ามกลางความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งจะเน้นศึกษานักการเมืองมลายูมุสลิมที่มีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งการเมืองในระดับชาติตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา รวมถึงการประเมินแนวทางประชาธิปไตยในการเลือกตั้งอันใกล้นี้ในฐานะทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์

แก่นของข้อถกเถียงในการนำเสนอครั้งนี้จะมองว่าในบางเงื่อนไข มุสลิมจำเป็นต้องใช้วิถีทางประชาธิปไตยในการต่อรองทางการเมือง ทว่าเมื่อไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งได้นักการเมืองเหล่านี้ก็สามารถปรับตัวกับระบบการเมือง ณ ขณะนั้นๆ 

“อิมรอน ซาเหาะ” นำเสนอใน หัวข้อย่อย เรื่อง “พรรค(นัก)การเมืองมุสลิมในประเทศไทย: บทสนทนาระหว่างอิสลามและประชาธิปไตยกับทางเลือกในการต่อสู้” โดยเขาศึกษาพรรคการเมืองมุสลิม  3 พรรค กับอีก 1 กลุ่มการเมือง คือ 1.พรรคเพื่อสันติ 2.พรรคภราดรภาพ 3.พรรคประชาธรรม และ 4.กลุ่มนักการเมือง “วะดะห์” 

ศึกษาพบว่า “พรรคเพื่อสันติ” และ “พรรคภราดรภาพ” เคลื่อนไหวด้วยอุดมการณ์อิสลามนิยมเหมือนจะคล้าย “กลุ่มอิควานุนมุสลิม-กลุ่มภราดรภาพมุสลิม” ในอาหรับ ส่วน “พรรคประชาธรรม” เคลื่อนไหวด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมมลายูปาตานี ทว่าถูกมองจากรัฐว่าเป็นแหล่งรวมของคนคิดต่างจากรัฐเป็นแนวร่วมทางอุดมการณ์กับกลุ่มจับอาวุธต่อสู้รัฐ

ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากคนที่เคยจับอาวุธและคนที่ถูกคดีความมั่นคงกลับใจเพื่อสู้ตามแนวทางการเมืองรัฐสภา ขณะที่ประชาชนคนมลายูเองก็มองว่าพรรคประชาธรรมเป็นพรรคของทหาร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่ากลุ่มคนที่เคยจับอาวุธและคนที่มีคดีความมั่นคงใกล้ชิดกับนายทหารบางกลุ่มที่เป็นปีกพิราบ
ส่วนกลุ่มนักการเมือง “วะดะห์” เดิมนั้น พัฒนาการมาจากกลุ่มนักศึกษา “สลาตัน” ที่เคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516 และเคลื่อนไหวชุมนุมหน้ามัสยิดกลางปัตตานีปี 2518-2519 กรณีเรียกร้องความเป็นธรรมให้ 5 ศพชายมลายูมุสลิมในแม่น้ำสายบุรีบริเวณสะพานกอตอ ครั้นต่อมา เกิดการเลือกตั้งในปี 2519 พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งทำท่าว่าจะเข้าใจคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มการเมือง “วะดะฮ์” จึงเข้าไปร่วมพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้คนในพื้นที่เทคะแนนให้อย่างล้นหลาม

กลุ่มวะดะห์เคลื่อนไหวตามแนวทางกึ่งอิสลามนิยม กึ่งชาตินิยมมลายูปาตานี กลุ่มวะดะห์ค่อนข้างวางตัวเป็นกลางไม่ยืนอยู่ฝั่งรัฐนัก ขณะเดียวกันก็ไม่ยืนอยู่ฝั่งขบวนการจับอาวุธปาตานีเช่นกัน ส่วนคุณูปการก็มีหลายประการ เช่น ผลักดันให้เกิดธนาคารอิสลาม สหกรณ์อิสลาม ในสถานที่ราชการสามารถแต่งกายได้ถูกหลักอิสลาม ฯลฯ

หลังจากนั้น “วะดะห์” เข้าร่วมพรรคประชาชน   พรรคเอกภาพ  พรรคความหวังใหม่ แล้วร่วมพรรคไทยรักไทย  พรรคประชาราช   พรรคมัชฌิมาธิปไตย  พรรคพลังประชาชน  แล้วบางส่วนย้ายเข้าพรรคเพื่อไทย ขณะบางส่วนย้ายเข้าพรรคมาตุภูมิ แต่ก็ไปไม่ถึงไหน 

“อิมรอน ซาเหาะ” ศึกษาด้วยแนวคิดอิสลามการเมือง คือขับเคลื่อนไปด้วยแนวคิดอิสลามพร้อมๆ กับแนวคิดประชาธิปไตย ซึ่งอิสลามไม่เท่ากับประชาธิปไตย และประชาธิปไตยก็ไม่เท่ากับอิสลาม มันมีกรอบคิดบางส่วนที่ไปกันได้ และกรอบคิดบางส่วนที่ไปกันไม่ได้ ในบางครั้งคราวพรรคมุสลิมเหล่านี้ก็ไม่ได้คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย อันมีฐานคิดอิสลามการเมืองเป็นกรอบคิด หาใช่กรอบคิดประชาธิปไตยไม่

ถ้าลองชวนพินิจวิเคราะห์เนื้อหาจากการนำเสนอของ “ดวงยิหวา อุตรสินธุ์” อีกครั้ง เกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกตั้งการเมืองของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สิ่งที่ค้นพบลึกๆ คือ ในท่ามกลางความรุนแรงที่ยืดเยื้อพฤติกรรมการตัดสินใจเลือกก็จะขึ้นอยู่กับ "หัวคะแนนคนกลาง" ซึ่งหัวคะแนนคนกลางนี้มีอิทธิพลสูงมากในการตัดสินใจเลือกตั้งของคนในพื้นที่ หัวคะแนนคนกลางมักเป็นผู้มีบารมี หรือมีอิทธิพลประจำท้องถิ่นซึ่งอาจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหน่วยงานของรัฐ  หรืออาจใกล้ชิดกับขบวนการปาตานีซึ่งจับอาวุธสู้กับรัฐไทย หรืออาจใกล้ชิดกับขบวนการค้าของเถื่อนและยาเสพติด 

หาก “หัวคะแนนคนกลาง” นี้เป็นส่วนขยายของคนลงสมัครเลือกตั้งจากพรรคไหน อิงกับใคร อิงหน่วยงานองค์กรใด ถ้า“หัวคะแนนคนกลาง” นี้อิงกับอำนาจรัฐไทย หรือขบวนการจับอาวุธสู้กับรัฐ ก็จะเห็นความน่ากลัวของผลประโยชน์ต่างตอบแทนใช้ความกลัวเป็นเครี่องมือ หรือกลั่นแกล้ง ใส่ร้ายจนกลายเป็นคดีความมั่นคงกันได้ หรือยิงทำร้ายเหมารวมว่าเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบ รวมถึงทำให้เห็นภาพความเชื่อมโยงของระบบอุปถัมภ์ การคอรัปชั่นขนาดใหญ่ที่หยั่งรากลึก ยิ่งความรุนแรงยืดเยื้อยาวนานมากน้อยเพียงใดระบบอุปถัมภ์ก็ยิ่งขยายและหยั่งรากลึก

ขณะที่อนาคตการเมืองในพื้นที่ไม่มีความหวัง ถึงแม้จะมีคนรุ่นใหม่สนใจการเมือง มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแรงกล้า แต่สุดท้ายกับระบบและวัฒนธรรมของพรรคการเมืองไทยที่อุปถัมป์และอำนาจนิยมไม่ไหว แล้วโดนกลืนโดยเข้าสู่ระบบพรรคพวกนิยม และวัฒนธรรมนักการเมืองไทยที่แสวงหาผลประโยชน์เมื่อมีโอกาส

การก่อเกิดของ “พรรคประชาชาติ” ก็เป็นแค่นักการเมืองผู้อาวุโสกลุ่มหนึ่งที่มีอดีตข้าราชการไทยที่ใกล้ชิดกับ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นตัวตั้งตัวตีในการตั้งพรรค อาจมีการดึงคนรุ่นใหม่เข้าสู่เวทีการเมืองมาประกอบใน “พรรคประชาชาติ” บ้างแต่ก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นแค่ส่วนสร้างภาพให้ดูดีว่ามีคนรุ่นใหม่เท่านั้น 

อีกทั้งกลุ่ม "วาดะห์" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “พรรคประชาชาติ” ก็ค่อนข้างวางตัวเป็นกลางไม่เข้าข้างรัฐ และไม่ยืนอยู่ข้างขบวนการจับอาวุธต่อต้านรัฐไทยเช่นกัน จนบางครั้งถูกมองจากปัญญาชนมลายูมุสลิมปาตานีส่วนหนึ่งว่าลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ไม่สนใจแก่นปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้แต่อย่างใดด้วยซ้ำ
ถ้าลองชวนพินิจวิเคราะห์เนื้อหาจากการนำเสนอของ “อิมรอน ซาเหาะ” อีกครั้ง เกี่ยวกับ

พรรค(นัก)การเมืองมุสลิมในประเทศไทยที่เล่นการเมืองบนกรอบอิสลามการเมือง คือขับเคลื่อนไปด้วยแนวคิดอิสลามพร้อมๆ กับแนวคิดประชาธิปไตย ซึ่งอิสลามไม่เท่ากับประชาธิปไตย และประชาธิปไตยก็ไม่เท่ากับอิสลาม มันมีกรอบคิดบางส่วนที่ไปกันได้ และกรอบคิดบางส่วนที่ไปกันไม่ได้ ในบางครั้งคราวพรรคมุสลิมเหล่านี้ก็ไม่ได้คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย อันมีฐานคิดอิสลามการเมืองเป็นกรอบคิด หาใช่กรอบคิดประชาธิปไตยไม่

สิ่งน่ากลัวคือนักการเมืองมุสลิมที่ใช้ทุกวิธีการเพื่อนำไปสู่การสร้างคุณูปการเป็นหลัก เช่น มีการรัฐประหาร มีการแต่งตั้งสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.),สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปร.) นักการเมืองมุสลิม พรรคการเมืองมุสลิมเหล่านี้ก็จะเข้าไปดำรงตำแหน่งเสมอแม้ในรัฐบาลเผด็จการก็ตาม นักการเมืองมุสลิมส่วนใหญ่ขาดโลกทัศน์ประชาธิปไตย มักไปร่วมกับฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยบ่อยครั้ง

ย้อนมาดูเคนนิเดตในปัจจุบันที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2562 ก็จะเห็นหลายคนในภาคประชาสังคม อาทิ “ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ” จากสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ (We Peace) ร่วมลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคพรรครวมพลังประชาชาติไทย  “เพชรดาว โต๊ะมีนา” จากศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 และ “อนุกูล อาแวปูเตะ” จากศูนย์ทนายความมุสลิม ร่วมลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคภูมิใจไทย ขณะที่ “อาดีลัน อาลีอิสเฮาะ” จากศูนย์ทนายความมุสลิมร่วมลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวา พร้อมยินยอมให้คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) สืบทอดอำนาจ ใช้ทุกวิธีการเพื่อนำไปสู่การสร้างคุณูปการให้คนมุสลิม ไม่ได้คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย

การใช้ทุกวิธีเพื่อได้เข้าร่วมกับอำนาจรัฐเพื่อเข้าสู่วิถีการเมืองนำไปสู่การกำหนดอะไรสักอย่างโดยไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย เป็นยุทธวิธีที่ภาคประชาสังคมฝ่ายขวาที่เข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช้จนนำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นยุทธวิธีที่ภาคประชาสังคมฝ่ายขวาที่เข้าร่วมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จนนำมาสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

เช่นนั้นแนวคิดอิสลามการเมืองของพรรคการเมืองมุสลิม นักการเมืองมุสลิมในประเทศไทย ก็เป็นแนวคิดเดียวกับภาคประชาสังคมฝ่ายขวาที่เข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ ภาคประชาสังคมฝ่ายขวาที่เข้าร่วมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

พื้นที่ทางการเมือง หรือพื้นที่ทางการทหาร สู้ด้วยแนวทางการเมืองที่มีกติกา หรือสู้ด้วยแนวทางการเมืองที่ไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย หรือสู้รบกันด้วยอาวุธมีกติกา หรือสู้รบกันด้วยอาวุธแบบไร้กติกา

สันติภาพสร้างได้ด้วยแนวทางไหน อนาคตการเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีหวังหรือเปล่า ทุกอย่างยังเป็นคำถาม


-
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net