ว่างงาน ก.ย.61 ลดลง 7 หมื่นเมื่อเทียบปีก่อน พร้อมข้อวิจารณ์ตัวเลขที่ต่ำ มาจากไหน?

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยตัวเลขคนว่างงาน ก.ย.61 ลดลง 7.0 หมื่นคน (จาก 4.43 แสนคน เป็น 3.73 แสนคน) เมื่อเทียบกับปีก่อน พร้อมบทวิจารณ์ตัวเลขว่างงานต่ำเป็นภาพลวงตา เหตุนิยามมีงานทำแค่ทำงานมากกว่า 1 ชม.ต่อสัปดาห์

 

ที่มาภาพประกอบ: Max Pixel (CC0)

ดูรายงานที่ เว็บไซต์สำนักงานสถิติฯ

 

12 ต.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยแพร่ บทสรุปภาวะการทำงานของประชากร ในเดือน ก.ย.2561 พบว่า เดือนกันยายน พ.ศ.2561 ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานมีจำนวนทั้งสิ้น 38.39 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้มีงานทำ 37.95 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.73 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 6.70 หมื่นคน

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์แรงงานกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 พบว่า จำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 7.0 แสนคน (จาก 37.25 ล้านคน เป็น 37.95 ล้านคน) ผู้ว่างงานลดลง 7.0 หมื่นคน(จาก 4.43 แสนคน เป็น 3.73 แสนคน)

นอกจากนี้ผู้ว่างงาน 3.73 แสนคน เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.78 แสนคน และเคยทำงานมาก่อน 1.95 แสนคน ส่วนใหญ่มาจากภาคการผลิต ภาคการบริการและการค้า และภาคอุตสาหกรรม ตามลำดับ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สิ่งที่น่าสนใจ คือการนิยามความหมายของคำว่า "ผู้มีงานทํา" และ "ผู้ว่างงาน" ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งระบุไว้ในส่วนของภาคผนวก วิธีการสำรวจ โดยระบุว่า 

"ผู้มีงานทํา หมายถึง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และในระหว่าง 7 วันก่อนสัมภาษณ์ มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
1. ได้ทํางานตั้งแต่ 1 ชั่วโมงขึ้นไป โดยได้รับค่าจ้าง
4. ทํางานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับค่าจ้างในวิสาหกิจหรือไร่นาเกษตรของหัวหน้าครัวเรือน หรือของสมาชิกในครัวเรือน เช่น ช่วยธุรกิจในครัวเรือน หรือเป็นลูกของเจ้าของบริษัท ซึ่งได้ผลประโยชน์จากบริษัทอยู่แล้ว
3. ไม่ได้ทํางาน หรือทํางานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง แต่เป็นผู้ที่ปกติมีงานประจํา กล่าวคือ มีงานอยู่แต่ช่วงนี้ไม่ได้ทํา เป็นผู้ที่มีลักษณะอย่างใด อย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
3.1 ยังได้รับค่าตอบแทน ค่าจ้าง หรือผลประโยชน์อื่น ๆ หรือผลกําไรจากงานหรือธุรกิจในระหว่างที่ไม่ได้ทํางานเช่น อยู่ระหว่างลาพักผ่อนตามสิทธิ์ เป็นต้น
3. ไม่ได้รับค่าตอบแทน ค่าจ้าง หรือผลประโยชน์อื่น ๆ หรือผลกําไรจากงานหรือธุรกิจในระหว่างที่ไม่ได้ทํางาน แต่ยังมีงานหรือธุรกิจที่จะกลับไปทําเช่น การลาป่วย/ลากิจของลูกจ้างรายวันเป็นต้น
• ผู้ทํางานตั้งแต่ 7 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน หมายถึง ผู้ที่ทํางานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์
• ผู้ทํางานน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน หมายถึง ผู้ที่ทํางานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งนี้รวมถึงผู้ที่ไม่ได้ทํางานในสัปดาห์การสํารวจ (0 ชั่วโมง) แต่ปกติมีงานประจําทํา ซึ่งในสัปดาห์แห่งการสํารวจ อยู่ระหว่างการลาป่วย/ลาพักผ่อน เป็นต้น"

"ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และในระหว่าง 7 วันก่อนวันสัมภาษณ์มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ไม่ได้ทำงานหรือไม่มีงานประจำ และได้หางานหรือสมัครงาน หรือรอการบรรจุ ในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์
2. ไม่ได้ทำงานหรือไม่มีงานประจำ และไม่ได้หางานทำในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์ แต่พร้อมที่จะทำงานในระหว่าง 7 วันก่อนวันสัมภาษณ์" 

ว่างงานต่ำ มาจากไหน

จากนิยามข้างต้น ซึ่งถูกใช้มาอย่างต่อเนื่องนั้น ประชาไท ขอนำข้อมูลความเห็นที่เคยวิจารณ์ประเด็นนี้ไว้มานำเสนออีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจดังนี้ 

ว่างงานต่ำเป็นภาพลวงตา เหตุนิยามมีงานทำแค่ทำงานมากกว่า 1 ชม.ต่อสัปดาห์

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทไว้เมื่อปี 2556 ถึงประเด็นอัตราการว่างงานที่ต่ำ โดย ดร.วิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตุว่า ปัจจุบันเรามีอัตราการว่างงานที่ต่ำมาก ซึ่งตนก็คิดว่าจริง แต่ที่บอกว่าไม่ค่อยไว้ใจสถิติของเมืองไทยก็เพราะว่า ตนเข้าใจว่าในการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังคงกำหนดนิยามคนที่มีงานทำ ว่าคือคนทำงานมากกว่า 1 ชม.ต่อสัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งพอใช้นิยามแบบนี้ ก็จะแยกคนมีงานทำกับคนที่ว่างงานได้ไม่ชัดพอ  ดังนั้นการที่เราบอกว่าเรามีอัตราการว่างงานน้อยมาก แค่ 1%ก็อาจจะเป็นภาพลวงตา

พิชิต ไขว่างงานต่ำเขาทำกันอย่างไร

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2559 ด้วยเช่นกันถึงประเด็นนนี้ว่า คำถามคือ เขานับยังไงว่า คนนี้มีงานทำ คนโน้นว่างงาน “คนมีงานทำ” เขานิยามว่า มีอายุ 15 ปีขึ้นไปและในช่วง 7 วันก่อนถูกสัมภาษณ์ทำงานตั้งแต่ 1 ชม.ขึ้นไปโดยได้ค่าจ้าง หรือทำงานอย่างน้อย 1 ชม.ในกิจการของครอบครัวโดยไม่ได้ค่าจ้าง

ทำงานอะไรก็ได้แค่ 1 ชม./สัปดาห์ ก็ถูกนับว่า 'มีงานทำ'

พิชิต ยังระบุต่อว่า ผู้ว่างงาน นิยามไว้สองอย่างคือ อายุ 15 ปีขึ้นไปและในช่วง 7 วันก่อนถูกสัมภาษณ์ ไม่ทำงานและกำลังหางานในระหว่าง 30 วันก่อนสัมภาษณ์หรือไม่ทำงานและไม่ได้หางานทำในระหว่าง 30 วัน แต่พร้อมจะทำงานในช่วง 7 วันก่อนสัมภาษณ์ ฉะนั้น ถ้าคนที่กำลังตกงานหรือเป็นบัณฑิตจบการศึกษาแล้ว อยู่ในระหว่างหางานประจำทำ แต่มีลักษณะต่อไปนี้ ถือว่า “มีงานทำ” ทำงานไม่ประจำ รับงานจร เป็นจ๊อบ สัพเพเหระ อย่างน้อย 1 ชม.ในสัปดาห์ ช่วยงานพ่อแม่ญาติพี่น้อง ในไร่นา ร้านค้าของครอบครัว 1 ชม.ในสัปดาห์ เปิดท้ายรถขายของ แผงลอย เดินเร่ขายของริมถนน 1 ชม.ในสัปดาห์ เปิดเว็บไซต์ ขายของทางเน็ต ไลน์ เฟซบุ๊คโดยใช้เวลา 1 ชม.ในสัปดาห์ คนพวกนี้จัดเป็น “แรงงานนอกระบบ” ซึ่งมีขนาดใหญ่มากในประเทศไทย ถึง 21.4 ล้านคน ราว 56% ของแรงงานทั้งหมด ทำให้ตัวเลขคนว่างงานในไทยต่ำมาก ทั้งที่คนพวกนี้มีรายได้ต่ำ ไม่แน่นอน ไม่มีสวัสดิการมั่นคงใดๆ 

โฆษก ธปท.ชี้นิยามไม่ได้ต่าง แต่โครงสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน

ขณะที่เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2559 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ จิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะนั้น ซึ่ง จิรเทพ กล่าวว่า "อัตราการว่างงานของเราต่ำมาตลอด ไม่ได้เป็นเพราะว่าเรามีนิยามที่ต่างจากประเทศอื่นๆ แต่เป็นเพราะโครงสร้างของปัญหา" 

จิรเทพ กล่าวอีกว่า "แรงงานของภาคการเกษตรนั้น มีบางส่วนที่เมื่อไม่ได้ทำการเกษตร ก็จะหันไปทำงานเล็กๆ น้อยๆ อย่างอื่น ซึ่งระบุไม่ได้ชัดเจน หรือไม่ก็ทำงานอิสระ ที่เป็นนายจ้างตัวเอง ไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร"

อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ประเทศไทยมีสวัสดิการประกันการว่างงานไม่ทั่วถึง จึงเป็นผลให้ไม่มีคนว่างงานนาน และเมื่อไม่มีงานทำ แรงงานเหล่านั้นจะหันไปทำงานในภาคแรงงานนอกระบบ หรือไม่ก็หางานพาร์ทไทม์ทำ ซึ่งนั่นเป็นการนับว่า มีงานทำแล้วในไทย ประชากรมากกว่า 40% ของประเทศไทยอยู่ในแรงงานภาคเกษตร ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะมีงานทำไม่เต็มวัน (underemployment) และยังว่างงานช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูกอีกด้วย ซึ่งการจ้างงานไม่เต็มวันนี้ ประเทศไทยนับว่าเป็นการมีงานทำ และเป็นตัวเลขราว 0.5% จากทั้งหมด เป็นต้นว่า หากคุณไม่ได้ถูกว่าจ้างจากการเป็นพนักงานธนาคารอีกต่อไปแล้ว คุณจะกลับบ้านเกิดและไปช่วยงานที่สวนของพ่อ อย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เช่นนี้ถือว่า คุณได้รับการจ้างงานแล้ว

โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย ยังชี้ด้วยว่า ภาคเศรษฐกิจไทย นับรวมประชากรทุกคนที่ไม่ได้ทำงานในเซ็กเตอร์ใดๆ ชัดเจนเข้าไปด้วย ซึ่งตัวเลขในปี 2556 มีมากกว่า 64% จากแรงงานทั้งหมด ในจำนวนนี้นับรวมคนขายของริมทาง คนขับแท็กซี่ และคนที่ทำงานอิสระ ซึ่งผู้ที่ทำอาชีพเหล่านี้ถือเป็นจำนวนตัวเลขที่คลุมเครือในทางเศรษฐกิจ และไทยก็นับรวมว่าเป็นผู้ที่ถูกจ้างงาน

เนื่องจากไทยไม่มีการเปลี่ยนนโยบายหลักๆ ด้านตลาดแรงงาน และตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2558 ที่ตกลงต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งกำหนดไว้ที่ 1-4%  นับเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552  แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่ารัฐบาล หรือผู้กำหนดนโยบายทางการเงินจะกังวลเกี่ยวกับตัวเลขการว่างงาน ตัวเลขนี้จึงจะยังคงต่ำต่อไปเช่นนี้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท