Skip to main content
sharethis

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพค้านตั้งซุปเปอร์บอร์ด ชี้แนวคิดย้อนยุค เท่ากับผลักระบบหลักประกันสุขภาพกลับไปอยู่ในมือข้าราชการ ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และในมาตรา 9 และ 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็มีเรื่องการรวมกองทุนอยู่แล้วเพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ถูกนำไปปฏิบัติ

สุภัทรา นาคะผิว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

12 ต.ค.2561 จากเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติหรือซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพชาติ นั้น

ล่าสุดวันนี้ (12 ต.ค.61) สุภัทรา นาคะผิว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมีจุดยืนไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้มาโดยตลอด เนื่องจากซุปเปอร์บอร์ด Over rule สามารถสั่งการบอร์ดของกองทุนสุขภาพต่างๆ ได้ ซึ่งจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเปลี่ยนมือจากเดิมที่เป็นระบบที่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชน กลายเป็นการผลักระบบให้ไปอยู่ในมือข้าราชการซึ่งไม่มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเลย เหมือนกับย้อนยุคไป 15-16 ปีที่แล้ว

สุภัทรา กล่าวอีกว่า ข้อเสนอของภาคประชาชนคือไม่จำเป็นต้องตั้งซุปเปอร์บอร์ดขึ้นมาใหม่ เพราะใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 9 และ 10 เขียนไว้อยู่แล้วว่าทำอย่างไรถึงจะรวมกองทุนได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ถูกนำไปปฏิบัติและไม่ยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นหลัก ใครเคยกอดเงินไว้ก็ไม่อยากปล่อย รวมทั้งไม่มีใครกล้าหาญที่จะไปทำ แล้วจะมาตั้งซุปเปอร์บอร์ดแทนซึ่งไม่มีประโยชน์และสิ้นเปลือง และไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชน

“เรื่องการตัดสินใจนโยบายสุขภาพต่างๆ ควรสร้างการมีส่วนร่วมให้มาก โมเดลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติอยู่แล้วว่าสามารถบริหารจัดการ ทำให้คนเข้าถึงบริการมากขึ้นเรื่อยๆ ระบบข้อมูล ระบบบริการต่างๆ ถูกออกแบบมาแล้ว ถ้าเรื่องไหนจำเป็นต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนก็ทำไป ไม่จำเป็นต้องเริ่มใหม่ ทำต่อได้เลย ดังนั้นไม่ควรดึงกลับไปแบบเดิม เราอยากเห็นชุดสิทธิประโยชน์ที่มีความจำเป็นต้องมีมาตรฐานเดียวและคิดว่าหลักการ SAFE ยังใช้ได้ รัฐบาลในฐานะหน่วยงานที่ต้องดูแลสุขภาพประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง มีชุดสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นมีมาตรฐานเดียวเท่าเทียมกัน ไปโรงพยาบาลก็ไม่ต้องถามว่าใช้สิทธิอะไร ส่วนใครจะไป Top up อะไร เช่น ประกันสังคม อาจนอนห้องพิเศษเดี่ยว ก็เป็นเรื่องของเขา” สุภัทรา กล่าว

สุภัทรา กล่าวทิ้งท้ายว่า หากใช้หลักการ SAFE ให้มีชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่จำเป็นเท่าเทียมกัน จะลดภาระงานของหน่วยบริการในเรื่องการทำรายงาน ไม่ต้องทำ 3 กองทุน ไม่ต้องมาแยกว่าสิทธินั้นให้เท่านี้ สิทธินี้ให้เท่านั้น ภาระงานก็จะลดลงในเชิงการจัดการหรืออาจลดค่าบริหารจัดการแล้วเอาเงินเหล่านั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดีกว่า
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net