Skip to main content
sharethis

โวยประกันสังคมไม่เบิกจ่าย ส่งผล รพ.ไม่มียาต้านฯ ให้ผู้ติดเชื้อHIV ส่อแววขาดยา จี้หากไม่แก้ไข ผู้ติดเชื้อฯ นัดนอนรอหน้าประกันสังคม ด้านรักษาการเลขาฯ ประกันสังคม แจงล่าช้าเหตุกระบวนการจัดซื้อต้องใช้เวลา ยันเร่งจัดซื้อยาต้านไวรัสเอชไอวีเพิ่ม ชดเชยที่ขาดในคลังยาของสถานพยาบาล และให้เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้ยาของผู้ประกันตน

12 ต.ค.2561 จากกรณีผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระบบประกันสังคมร้องเรียนมาทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เนื่องจากโรงพยาบาลเปลี่ยนวิธีการจ่ายยาต้านไวรัสฯ ให้ต้องมารับถี่ขึ้น หรือบางที่ให้ไปหาซื้อยาเอง ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของผู้ติดเชื้อฯ นั้น

วานนี้ (11 ต.ค.61) อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ตลอดปี 2561 ยาต้านไวรัสเอชไอวีในระบบประกันสังคมมีปัญหาการเบิกจ่ายมาโดยตลอด จากเดิมที่ผู้ติดเชื้อฯ ไปรับยาต้านฯ ตามรอบปกติ 3 เดือนบ้าง 4 เดือนบ้าง แต่ระยะหลังโรงพยาบาลไม่สามารถจ่ายยาต้านฯ ให้แบบเดิม จ่ายได้เพียง 3 วัน 7 วัน 10 วัน 15 วัน เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยต้องลางานไปโรงพยาบาลบ่อยยิ่งขึ้น

ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ให้ความเห็นว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ ที่ให้บริการเฉพาะสิทธิประกันสังคม เช่น โรงพยาบาลลาดพร้าว เกษมราษฎร์ มงกุฎวัฒนะ เปาโล เมโมเรียล สมุทรปราการ บางนา 1 เป็นต้น ที่สั่งจ่ายยาต้านฯ ถี่ขึ้น คือ ครั้งละ 3 – 45 วัน หรือผู้ป่วยบางคนไม่ได้รับยา มีแต่ใบสั่งยาให้ไปหาซื้อยาเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลยืนยันว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของตัวเอง ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน ยิ่งกว่านั้น หากผู้ป่วยที่ไม่มีเงินซื้อยาจะทำอย่างไร บางคนพอที่จะไปหยิบยืมเพื่อน ถ้ายืมไม่ได้ ก็ต้องหยุดยา ซึ่งอาจส่งผลให้ดื้อยา และเสียชีวิตได้ในที่สุด แล้วกรณีนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ประกันสังคมจะรับผิดชอบไหวไหม

“ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมากในระบบประกันสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่า สำนักงานฯ ไม่มีความสามารถพอที่จะจัดการในเรื่องสุขภาพได้ใช่หรือไม่ หากเทียบกับระบบอื่น เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งที่ผ่านมาก็มีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นบ้าง แต่ก็จัดการได้รวดเร็ว หากเป็นเช่นนี้สู้เอาเรื่องสุขภาพในประกันสังคมมาให้บัตรทองดูแลแทนไม่ดีกว่าหรือ ซึ่งกรณีนี้เราได้รับทราบมาว่า ผู้มีอำนาจเซ็นเบิกจ่ายการซื้อยาไม่กล้าเซ็นอนุมัติ เพราะจำนวนเงินสูงกว่า 50 ล้านบาท แต่กลับโยนปัญหาให้ผู้ประกันตน ทั้งที่จ่ายเงินสมทบทุกเดือน” อภิวัฒน์กล่าวและว่า ระเบียบที่เป็นอุปสรรคของ สปส.ต้องคุยกับกรมบัญชีกลางเพื่อปลดล็อก เนื่องจากว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตจากขั้นตอนที่ยุ่งยาก ทำให้ระบบขยับไม่ได้ และยามีความสำคัญต่อชีวิตของผู้คน ซึ่งถือเป็นสิทธิในการเข้าถึงการรักษา แม้องค์การเภสัชกรรมจะมียาให้ แต่ส่งเข้าระบบไม่ได้ เพราะขั้นตอนที่ยุ่งยากของพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 

“เราจะทำหนังสือขอเข้าพบเลขาฯ ประกันสังคม (อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ) ว่าจะปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤตแบบนี้ไม่ได้ ต้องแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ หากหาทางออกให้เราไม่ได้ อาจต้องให้ผู้ติดเชื้อฯ มานอนกันที่หน้าสำนักงานประกันสังคม เพราะแม้ตอนนี้เรายังไม่ตาย ก็เหมือนตาย” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าว 

ประกันสังคม แจงปัญหาเบิกจ่ายยาต้านไวรัส HIV

วันนี้ (12 ต.ค.61) เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รักษาการเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ชี้แจงข่าวผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โวยสำนักงานประกันสังคมดังกล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการบริหารจัดการยาต้านไวรัสให้แก่สถานพยาบาลในการดูแลผู้ประกันตนที่ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ตั้งแต่ปี 2547 โดยมีการจ่ายยาให้ผู้ประกันตนตามความเห็นของแพทย์อย่างต่อเนื่องตามรอบของการรับยาของผู้ประกันตน สำหรับประเด็นปัญหาความล่าช้าของการจัดซื้อยาทำให้ผู้ประกันตนต้องเข้ามารับยาบ่อยขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2561 เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมต้องดำเนินการจัดซื้อยาตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งมีกระบวนการจัดซื้อที่ต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้เร่งดำเนินการจัดซื้อยาต้านไวรัสเอชไอวีเพิ่ม เพื่อชดเชยที่ขาดในคลังยาของสถานพยาบาล และให้เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้ยาของผู้ประกันตน โดยปรับแผนการจัดซื้อจากเดิม 3 เดือน เป็น 6 เดือน และจะพิจารณาปรับแผนการจัดซื้อให้เป็นแผนรายปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ สำหรับกรณีสถานพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ ที่ปรากฏในข่าวไม่มียาให้แก่ผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมได้เร่งประสานกับสถานพยาบาล แต่ละแห่งเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประกันตนแล้ว  

อนันต์ชัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำนักงานประกันสังคมมีความมุ่งมั่นในระบบจัดการบริหารงานด้านการแพทย์ให้ผู้ประกันตนอย่างเต็มกำลังความสามารถ พร้อมและจัดหายาเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนตามมาตรฐานที่กำหนดอย่างเพียงพอต่อความต้องการจนสิ้นสุดการรักษา โดยไม่จำกัดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายและจำนวนครั้งที่เข้ารับการรักษา โดยสถานพยาบาลจะไม่เก็บค่าบริการทางการแพทย์จากผู้ประกันตน ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมที่พร้อมดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพื่อให้ได้รับบริการที่ดี และได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net