Skip to main content
sharethis

ก่อนสิ้นสุดการประชุมของสถาบันการเงินระดับโลกที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย กลุ่มผู้หญิงทั่วเอเชียร่วมกันทำพิธีแบบบาหลีเพื่อขจัดเคราะห์ร้ายที่เกิดจากนโยบายและโครงการของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ซึ่งพวกเขาเห็นว่าก่อให้เกิดการยึดที่ดินและทรัพยากร เอื้อต่อการจ้างงานชั่วคราว ทำให้ผู้หญิงเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ต้องเผชิญชีวิตการทำงานที่ไม่มั่นคง เสี่ยงภัยความรุนแรงและถูกละเมิดสิทธิ

ในเอกสารแถลงข่าวของสมาคมผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาแห่งเอเซียแปซิฟิก (APWLD) เปิดเผยว่าเมื่อเย็นวันที่ 13 ต.ค. กลุ่มผู้หญิงทั่วเอเชีย 50 คน ที่มาจากชุมชนรากหญ้า รวมทั้งองค์กรชาวนาและกรรมกร ได้รวมตัวกันที่หาดปาดังกาลัก (Padang Galak) เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย สถานที่จัดการประชุมไอเอ็มเอฟ-ธนาคารโลก เพื่อร่วมประกอบพิธีโตลักบาลา (Tolak Bala) หรือการขับเสนียด โดยในระหว่างการประกอบพิธี ผู้หญิงจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารโลกและนโยบายของไอเอ็มเอฟได้ร่วมกันขจัดเคราะห์ร้ายที่เกิดจากสองสถาบันการเงินดังกล่าว และร่วมกันสวดและขอพรเพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิม ด้วยการถวายสิ่งสักการะตามความเชื่อท้องถิ่นลงในทะเล

ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 9-14 ตุลาคม มีการประชุมระดับรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะจัดนอกกรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกาในทุกๆ 3 ปี

กลุ่มผู้หญิงทั่วเอเชียร่วมกันประกอบพิธีโตลักบาลาที่เกาะบาหลี ประณามนโยบายของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ในช่วงโค้งสุดท้ายการประชุมสถาบันการเงินระดับโลกดังกล่าวซึ่งจัดที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย (ที่มาของภาพ: APWLD)

สริงกาติน (Sringatin) ประธานสหภาพแรงงานย้ายถิ่นอินโดนีเซียกล่าวว่า "นับเป็นเวลากว่าทศวรรษแล้วที่ธนาคารโลกและไอเอ็มเอ็ฟร่วมกันกำหนดนโยบายที่ทำให้เกิดการยึดที่ดิน แปรรูปกิจการสาธารณะ และกำหนดให้เกิดตลาดการจ้างแรงงานชั่วคราว ซึ่งเป็นผลทำให้ผู้หญิงต้องสูญเสียที่ดิน ได้รับผลกระทบเพราะเข้าไม่ถึงปัจจัยการดำรงชีพที่จำเป็น และถูกบีบบังคับให้ต้องทำงานที่ไม่มั่นคง

วธริณา เจ้าหน้าที่ฝ่ายโครงการของ APWLD จากประเทศไทยกล่าวว่า ทั้งธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ มักละเลยผลกระทบด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ นโยบายของพวกเขากระทบต่อผู้คน โดยเฉพาะต่อผู้หญิงที่เป็นทั้งเกษตรกร แรงงานตลอดจนแรงงานย้ายถิ่น  คนจนเมือง และคนพื้นเมือง รวมทั้งแย่งยึดทรัพยากรที่ใช้สำหรับการปกป้องและบริการสังคม

ติติ ซอเอ็นโตโร จากกลุ่ม Aksi เพื่อความยุติธรรมทางเพศ สังคม และระบบนิเวศ และเป็นสมาชิก APWLD กล่าวว่า "จากพิธีกรรมนี้ ความหวังของพวกเราก็คือมุ่งให้ประชาชนเข้าใจการต่อสู้ของพวกเราที่เป็นบรรดาผู้หญิงทั้งหลาย ให้ผู้คนร่วมแสดงจุดยืนสมานฉันท์กับพวกเราที่กำลังต่อสู้ปกป้องสิทธิ เราหวังจะสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นที่พวกเรารณรงค์ เพื่อให้รู้ว่า 'การพัฒนา' ที่ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟกระทำอยู่นั้นเป็นทิศทางที่ผิด ไม่ใช่การพัฒนาที่ผู้หญิงต้องการ

พิธีโตลักบาลาดังกล่าวจัดขึ้นและตามมาด้วยเฟมินิสต์คาร์นิวัลในวันที่ 14 ต.ค. ที่ซึ่งกลุ่มผู้หญิงในเอเชียจะนำเสนอหลักฐานของปัญหาการสูญเสียที่ดิน การแย่งยึดทรัพยากร และการกีดกันการเข้าถึงบริการสาธารณะ ผ่านหลากหลายรูปแบบกิจกรรมทั้งการปราศรัย อ่านบทกวี และศิลปะการแสดง 

กลุ่มผู้หญิงที่ร่วมกิจกรรมยังแสดงจุดยืนแข็งขันต่อต้านแนวทางเสรีนิยมใหม่ ที่ถูกขับเคลื่อนโดยธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ซึ่งจะทำให้ความไม่เท่าเทียมแผ่ขยายและทำให้เกิดความรุนแรงต่อสิทธิมนุษยชนของสตรี "พวกเรายังเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนาที่มีความยุติธรรมและความยั่งยืน ที่ยึดมั่นในผลประโยชน์ของประชาชน และมีจุดยืนปกป้องสิทธิของพวกเรา" เอกสารแถลงข่าวของ APWLD ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net