การรังแกในสถานศึกษาคือความรุนแรง กรณีเด็ก ป.4 ถูกรุ่นพี่ ม.2 ทำร้าย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากกระแสสังคมออนไลน์ ที่ได้มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอเด็กนักเรียน ม.2 หลายคนร่วมกัน ที่ใช้ความรุนแรงกับเด็กนักเรียนชั้น ป.4 โดยการกระชากผม ถีบ จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุการณ์นี้ไปต่างๆ นานาๆ โดยทางเด็กที่กระทำได้มีการออกมาโพสต์ ขอโทษ ส่วนผู้ใหญ่ทางโรงเรียนได้ให้ข่าว ว่าได้มีการพูดคุยตกลงทั้ง 2 ฝ่าย มีการทำทัณฑ์บนไว้กับนักเรียนที่ก่อเหตุ ส่วนทางผู้ปกครองของนักเรียนที่ถูกใช้ความรุนแรง ยืนยันว่าจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด โดยผู้ปกครองของผู้ที่กระทำ เสนอค่าทำขวัญเป็นเงิน 4,000 บาท เพื่อที่จะจบปัญหานี้

จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผู้เขียน ในฐานะเยาวชนคนหนึ่ง เกิดความรู้สึกอึดอัด เพราะโรงเรียนควรจะมีหน้าที่ดูแล และป้องกันให้นักเรียนทุกคนให้รู้สึกปลอดภัย และได้รับการปกป้องคุ้มครอง เมื่อเกิดการรังแก ใช้ความรุนแรงต่อกันในสถานศึกษา แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าโรงเรียนไม่ให้ความสำคัญในการดูแลและป้องกันนักเรียน จึงได้เขียนบทความนี่ขึ้น เพื่อแสดงความคิดเห็นในฐานะเยาวชนคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในระบบการศึกษา

ผู้เขียนเข้าใจว่า บริบทสังคมไทยทั่วไปมองเรื่องการรังแกกันเป็นเรื่องปกติ แค่ขอโทษก็จบ เพราะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่การกลั่นแกล้งกัน เป็นความรุนแรง เพราะไม่ได้หมายความว่าเป็นเพียงแค่การตบตี ด่า หรือ แค่การล้อเลียนเท่านั้น 

การกลั่นแกล้ง คือ พฤติกรรมที่มักเกิดขึ้นแบบซ้ำๆ ทำให้ผู้ที่ถูกกระทำเกิดความรู้สึกไร้ค่า ถูกมองว่าอ่อนแอ ถูกมองว่าเป็นผู้ที่สมควรโดยกระทำ และส่งผลให้เกิดความทุกข์ใจอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน 

“การกลั่นแกล้งมีอยู่หลายระดับแต่ทุกการกระทำนั่นย่อมเป็นความรุนแรง และเหตุใดกลั่นแกล้งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงนี้ ถูกสังคมเรามองว่าเป็นเรื่องปกติ”
  
เรื่องของความรุนแรง มีทั้งการกระทำทางกาย วาจา การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ถูกกระทำ การแก้ปัญหามักจะแก้ไขปัญหาโดยการขอโทษอย่างเดียว จึงไม่พอ เพราะในความจริงแล้ว มันไม่ง่ายขนาดนั้นสำหรับคนที่ถูกกระทำ

“คนที่แกล้งคนอื่นแล้วขอโทษ เขาอาจจะหยุดพฤติกรรมหรือไม่ก็ได้ ใครจะรู้ว่าเขาจะกลับมาแกล้งคนอื่นอีกหรือเปล่า?”

“มีเพื่อนๆหลายคน ที่โดนแกล้งและไปบอกครู ครูก็จะต่อว่า ตักเตือนเด็กที่แกล้งคนอื่น โดยครูเองอาจจะคิดว่าเรื่องราวจะจบลงด้วยดี และหลายคนก็คงคิดแบบนั้นเช่นกัน แต่ไม่เลย เพื่อนคนเดิมนั้นกลับถูกแกล้งมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ และในบางกรณีครูเองก็เป็นคนที่กลั่นแกล้ง ล้อเลียนเด็กๆ”

 “แค่ล้อเล่น เป็นเรื่องของเด็กๆ ไม่มีอะไร” 

คำเหล่านี้นี่พบได้ทั่วไป จนหลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ แค่ล้อเล่น แค่แกล้ง เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบเด็กๆ

แต่ ในความเป็นจริงการกลั่นแกล้งนี่แหละ มันทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องเจ็บปวดกับเรื่องราว เพราะมันเป็นความรุนแรง เป็นความทรงจำที่แสนเจ็บปวด ที่ยากจะลืม

“ผู้ใหญ่บางคน บอกว่า ถ้าเด็กทำผิด เพราะไปแกล้งคนอื่น ก็ต้องมีกิจกรรมให้ทำ มีบทลงโทษ แต่มันเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ต้นเหตุคืออะไร เป็นคำถามทีน่าคิด”

ผู้เขียนขอลองวิเคราะห์ความรุนแรงในเชิงสถาบัน (เช่น ในครอบครัว สถาบันทางสังคมต่างๆ) แต่ในที่นี้อยากพูดถึง ความรุนแรง ในสถาบันการศึกษา คือ โรงเรียน 

ผู้เขียนพบว่า มีความรุนแรงทุกระดับการศึกษาและยิ่งศึกษาในระดับที่สูงขึ้นมากขึ้นเท่าไหร่ ความรุนแรงก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ถูกใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น หากไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีข่าวใช้ความรุนแรงในการรับน้อง เป็นต้น

การปลูกฝังความรุนแรงผ่านสถาบันต่างๆ ทำให้เราแทบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เช่น สื่อ เราดูหนัง ละคร หรือข่าว ที่มักจะมีเนื้อหาที่รุนแรง เช่นการ ตบตี การไล่ยิง การฆ่าฟัน การข่มขืน หรือการว่ากล่าวกันอย่างรุนแรง เวลาดูเรามักจะไม่รู้เนื้อรู้ตัว มองว่าเป็นแค่หนังหรือละคร แต่เอาเข้าจริงมันฝังอยู่ใต้จิตสำนึกของเรา อย่างเช่นการใช้คำพูดที่รุนแรงในการต่อว่ากัน มีกรณีที่เพื่อนทะเลาะกัน และโพสต์ด่ากันในเฟสบุ๊ค ซึ่งทำให้การใช้อินเตอร์เน็ตไม่ได้มีความปลอดภัย มีความเสี่ยงที่จะรังแกกันในพื้นที่ออนไลน์

คนส่วนใหญ่ อาจคิดในการแก้ปัญหา เรื่องการกลั่นแกล้งกัน ว่าจับเด็กมาลงโทษ การสร้างมาตรการและการลงทัณฑ์ผู้เรียนในนโยบายของโรงเรียน ให้ข้อมูลกับเด็กไป หรือแม้กระทั่งการจัดให้มีการอบรม มันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อย่างที่บอกไปในช่วงแรก การแก้ไขปัญหาจะต้องมี 

1) การสร้างมาตรการเชิงนโยบาย ให้มีการดูแลและป้องกัน การกลั่นแกล้งและการกระทำความรุนแรงทุกรูปแบบในสถานบันการศึกษา 

2) ควรมีการอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้มีการดูแลและการป้องกัน การใช้ความรุนแรงภายในสถานศึกษา ในระยะยาวให้กับครูผู้สอนและผู้เรียนทุกคน

3) การอบรมจะต้องมีเนื้อหา ต้องคำนึงถึงที่เหมาะสมตามความสามารถ 

4) เนื้อหาในการอบรมจะต้องมีเรื่องสิทธิ ผู้หญิง เด็ก ผู้พิการ ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อเพิ่มความเข้าใจมากขึ้น

5) มีการติดตามข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเรื่องการกลั่นแกล้งกันในสถานศึกษาและต้องต้องมีการนำเสนอข้อมูลจากการเก็บข้อมูล สู่สาธารณะ และต้องมีการเก็บข้อมูล โดยผู้เรียนเป็นหนึ่งในผู้จัดเก็บข้อมูล เพื่อให้เกิดความหลากหลายของข้อมูล

6) ต้องใช้วิทยากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง

7) ต้องมีการประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ในสถานศึกษา ทุกสถานศึกษา ทั้งประถม มัธยม และอุดมศึกษา เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล และต้องจัดทำอย่างต่อเนื่อง 

“บทความนี้เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นของเยาวชนคนหนึ่ง ผู้เขียนอยากให้ช่วยกันคิดต่อว่า ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติจริงไหม แล้วการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาเป็นทางออกที่ดีหรือเปล่า ความรุนแรงเป็นเรื่องของคนสองคน หรือเป็นเรื่องของสังคมที่ต้องร่วมกันแก้ไข และทางออกในการแก้ปัญหาความรุนแรงคืออะไร”

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศิริวรรณ พรอินทร์ ศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่มีความสนใจเกี่ยวกับประเด็นทางด้านสังคม โดยเฉพาะประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนชายขอบต่างๆ เช่น เด็ก เยาวชน ผู้หญิง ผู้พิการ ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครกับโครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท