สุรพศ ทวีศักดิ์: เสรีภาพและความขัดแย้ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภาพเหตุการณ์เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 
ที่มาภาพ:
www.matichon.co.th/columnists/news_685646

จริงหรือไม่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกทำให้หวาดกลัว “เสรีภาพ” (freedom) มีวิธีการมากมายที่ทำให้เรากลัวเสรีภาพ เช่นชนชั้นปกครองมักแสดงทัศนะระแวงว่า การมีเสรีภาพจะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก สังคมที่ดีไม่ใช่สังคมที่เน้นการมีเสรีภาพ แต่เป็นสังคมที่เน้น “ความรู้รักสามัคคี” ซึ่งหมายถึงสังคมที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบพ่อปกครองลูก (paternalism)

ขณะที่สังคมเสรีประชาธิปไตยเชื่อในเสรีภาพ ถือว่าประชาชนมีสถานะเป็นปัจเจกบุคคลที่มีสิทธิ อำนาจในการปกครองตนเองทั้งในทางศีลธรรมและในทางสังคมและการเมือง รัฐจึงต้องปฏิบัติต่อประชาชนในฐานะผู้มีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่ที่ปกครองตนเองได้ ด้วยการบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ให้หลักประกันสิทธิในเสรีภาพทางความคิด ความเชื่อ การดำเนินชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคล และเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมือง 

พูดรวมๆ คือในระบอบเสรีประชาธิปไตย รัฐต้องให้หลักประกันสิทธิพื้นฐานต่างๆ ตามหลักสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิพลเมือง (civil rights) สิทธิทางการเมือง (political rights) สิทธิทางเศรษฐกิจ (economic rights) สิทธิทางสังคม (social rights) และสิทธิทางวัฒนธรรม (cultural rights) ไม่ใช่สังคมที่เน้นศีลธรรม ความดี คนดีแบบศาสนาเหนือหลักการพื้นฐานดังกล่าว 

แต่สังคมพ่อปกครองลูก คือสังคมที่ปฏิบัติต่อผู้ถูกปกครองแบบเด็กไม่รู้จักโต ไม่ยอมรับการใช้เสรีภาพในการเลือกและความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมของผู้ถูกปกครอง ชนชั้นปกครองคือ “คุณพ่อรู้ดี” ที่ทำตัวเป็นผู้คิดแทนในการกำหนดสิ่งที่ดีด้านต่างๆ แก่ชีวิตและสังคมแทนผู้ถูกปกครอง โดยอ้างความปรารถนาดีต่อผู้ถูกปกครองเสมือนพ่อปรารถนาดีต่อลูก ฉะนั้นพ่อที่ปรารถนาดีต่อลูกย่อมต้องรู้ว่าอะไรดี ไม่ดีสำหรับลูก จึงต้องห้ามไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่ดี และสอนให้ทำสิ่งที่ดี ขณะเดียวกันพ่อ (ชนชั้นปกครอง) ก็ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีทางศีลธรรมแก่ลูกๆ ด้วย

ชนชั้นปกครองสยามไทยได้สร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์ว่า สังคมไทยมีแบบอย่างที่ดีงามของระบบพ่อปกครองลูกมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพราะชนชั้นปกครองเป็นแบบอย่างที่ดีทางศีลธรรมคือมีทศพิธราชธรรมและเสียสละเพื่อความผาสุกของผู้ใต้ปกครองมาโดยตลอด บ้านเมืองเราจึงสงบสุขร่มเย็นและเจริญรุ่งเรืองมาได้ถึงทุกวันนี้

ทว่าความรู้ทางประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์ หรือประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ชวนซาบซึ้งในบุญคุณของชนชั้นปกครอง แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่พยายามอธิบายความจริงทั้งด้านดีและร้ายได้บอกกับเราว่า สังคมไทยในอดีตคือสังคมศักดินาที่ชนชั้นปกครองกดขี่ไพร่ ทาสมายาวนาน ไม่ต่างจากสังคมศักดินาไหนๆ ในโลก ความเจริญรุ่งเรืองที่เหลือร่องรอยให้เราเห็นได้ในปัจจุบัน ก็ไม่ได้เกิดจากอัจฉริยภาพของชนชั้นปกครองเท่านั้น หากแต่เกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานของบรรดาไพร่ ทาสไม่น้อยไปกว่ากัน

ยิ่งกว่านั้น “ประวัติศาสตร์สามัญชน” ต่างหากที่เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อให้เรามีเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม ดังเห็นได้จากการลุกขึ้นมาเรียกร้องให้เลิกระบบทาสของเทียนวรรณในสมัย ร.5, กบฏ ร.ศ.130 ในสมัย ร.6, การปฏิวัติสยาม 2475 ในสมัย ร.7, การต่อสู้ทางความคิดของนักคิด นักเขียน นักปฏิวัติยุคหลัง 2475 ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมพยายามดึงอำนาจของประชาชนกลับคืนไปเป็นของพวกตนมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านรัฐประหารครั้งต่างๆ รวมทั้งการต่อสู้ของสามัญชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, เหตุการณ์พฤษภา 53 และเรื่อยมาถึงสถานการณ์ความขัดแย้งกว่าทศวรรษที่สังคมเรากำลังเผชิญอยู่

ถามว่า ความขัดแย้งคืออะไร? ก็คือความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่ต้องการสร้างประวัติศาสตร์ของตนเอง คือประวัติศาสตร์การสร้างเสรีภาพและประชาธิปไตยกับฝ่ายชนชั้นปกครองที่ต้องการรักษาสถานะอำนาจเดิมที่ขัดกับหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย 

ดังนั้น ในทัศนะของชนชั้นปกครอง “เสรีภาพจึงเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง” ซึ่งหมายถึง เมื่อประชาชนมีเสรีภาพ พวกเขาก็จะตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบสถานะ อำนาจ และบทบาทของชนชั้นปกครองว่าสุจริตโปร่งใสหรือไม่ ถูกต้องชอบธรรมตามหลักการและกติกาประชาธิปไตยหรือไม่ การใช้เสรีภาพเช่นนี้จึงนำมาซึ่งความขัดแย้งและเป็นภัยต่อความมั่นคงของสถานะและอำนาจของชนชั้นปกครองเอง

ภายใต้ความคิดที่ว่า “เสรีภาพเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง” นำมาสู่การสร้างทัศนะและวิธีพูดแบบต่างๆ เพื่อลดคุณค่าของเสรีภาพ เช่นที่มักพูดกันเป็นสูตรสำเร็จว่าการใช้เสรีภาพตามกิเลส ตามอำเภอใจ เสรีภาพไม่มีศีลธรรม ไม่มีธรรมะกำกับ หรือใช้เสรีภาพแบบไม่รู้หน้าที่ สังคมก็จะเกิดความขัดแย้งแตกแยก วุ่นวาย หาความสงบสุขมิได้ เป็นต้น 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับสังคมไทย การใช้เสรีภาพที่ถูกตัดสินว่าสร้างความขัดแย้งแตกแยก คือการใช้เสรีภาพตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบหรือเสนอให้ปรับปรุงสถานะ อำนาจของชนชั้นปกครองเท่านั้น ส่วนการอวย การอ้างว่าปกป้องสถานะ อำนาจ บทบาทของชนชั้นปกครองก็ทำได้เต็มที่ แม้แต่อ้างสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ทำลายล้างศัตรูทางการเมือง หรืออ้างทำรัฐประหารก็อ้างกันมาตลอดจนเป็นเรื่องปกติมายาวนาน 

หากมองจากกรอบคิดเสรีนิยม เสรีภาพไม่ใช่เงื่อนไขของความขัดแย้งแตกแยก แต่อำนาจเผด็จการในรูปแบบต่างๆ ที่ปิดกั้นเสรีภาพต่างหากที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งแตกแยก เพราะการปิดกั้นเสรีภาพย่อมขัดต่อธรรมชาติของมนุษย์ แม้แต่ยุคโบราณและยุคกลางที่อำนาจกษัตริย์และศาสนจักรปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็นและเสรีภาพทางสังคมการเมือง ก็ยังปรากฏว่ามีบุคคลต่างๆ พยายามเสนอความคิดเห็น ความเชื่อ ความรู้ที่แหวกแนวออกไปจากที่อำนาจรัฐและศาสนจักรกำหนดบังคับอยู่เสมอ และนั่นจึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้มีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตย

แท้จริงแล้ว ความสงบภายใต้อำนาจเผด็จการแบบใดๆ เป็นเพียง “มายา” หรือ “สงบหลอกๆ”เพราะความสงบใต้อำนาจเผด็จการ หมายถึง ประชาชนที่เห็นต่างไม่สามารถแสดงออกได้เพราะถูกอำนาจปืนบังคับ แต่เมื่อมีโอกาสประชาชนก็มักจะลุกขึ้นสู้เพื่อปลดปล่อยตนเองให้มีเสรีภาพเสมอๆ เช่นเมื่อประชาชนทนการถูกกดขี่บังคับไม่ได้ หรือชนชั้นปกครองขัดแย้งกันเอง หรืออำนาจเผด็จการอ่อนแอลงประชาชนก็ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านและเกิดการนองเลือด เป็นแบบนี้มายาวนานในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แต่เผด็จการปัจจุบันก็ไม่เคยเรียนรู้ จึงไม่รู้ว่าจุดจบของตนเองย่อมจะไม่ต่างจากเผด็จการยุคก่อนหน้า 

ในสังคมประชาธิปไตยที่ถือว่าการใช้เสรีภาพทางความคิดเห็นและทางการเมืองเป็นสิทธิของประชาชน แม้จะมีการขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ มีการประท้วงต่างๆ ถ้าปฏิบัติกันตามหลักเสรีภาพอย่างแท้จริง (คือแสดงออกภายใต้ขอบเขตของเสรีภาพ ไม่ละเมิดหลักเสรีภาพ) การแสดงความคิดเห็น การแสดงออก การชุมนุม การประท้วงใดๆ ก็ย่อมไม่ละเมิดเสรีภาพคนอื่น ไม่ก่ออันตรายแก่คนอื่น และดำเนินไปอย่างสันติ การใช้เสรีภาพเช่นนี้ย่อมไม่ใช่การสร้างความแตกแยก ไม่ใช่ความรุนแรง และไม่ใช่การทำลายความมั่นคงของ “ชาติ” (ที่มีประชาชน) ได้เลย การใช้เสรีภาพเช่นนี้จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของอำนาจเผด็จการเท่านั้น  

อีกอย่าง ในสังคมประชาธิปไตยที่ไม่ใช่สังคมพ่อปกครองลูก จะไม่มีกลุ่มอภิสิทธิชนใดๆ ที่ผูกขาดอำนาจรัฐ หรือเข้าสู่อำนาจรัฐโดยปราศจากความยินยอมของประชาชนมาทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี “กำหนดอนาคต” ของประชาชนผ่านยุทธศาสตร์ชาติ หรือยุทธศาสตร์ใดๆ เป็นอันขาด ปัญหาความขัดแย้งไม่เคยเกิดจากประชาชนมีเสรีภาพและอำนาจกำหนดอนาคตของตนเอง แต่มาจากประชาชนไม่มีเสรีภาพและอำนาจเช่นนั้น

ดังนั้น ความขัดแย้งที่ถูกเน้นย้ำโดยอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจที่หวาดกลัวเสรีภาพ มันจึงเป็นเพียงวาทกรรมที่ใช้หลอกลวงว่าเป็นความขัดแย้งของประชาชนในชาติ เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติเท่านั้น 

แท้จริงแล้วบรรดากลุ่มคนส่วนน้อยในระบบเครือข่ายอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่างหากที่ขัดแย้งกับประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย นี่คือความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์และปัจจุบันของทุกสังคมในโลกนี้ที่ชนชั้นบน “ยังไม่พร้อม” ที่จะปรับตัวเคารพหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย 

การที่ชนชั้นบนไม่ยอมรับเสรีภาพและประชาธิปไตย ย่อมทำให้สังคมตกอยู่ใน “ยุคมืดทางความคิด” หมายถึงยุคที่ประชาชนผู้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็น ความเชื่อ อุดมการณ์แตกต่างจากที่ชนชั้นปกครองกำหนดให้เชื่อถูกอำนาจเผด็จการปราบปราม จับขังคุก เข่นฆ่า หนีไปต่างประเทศ 

น่าเศร้าที่จาก 14 ตุลาคม 2516 ถึงปัจจุบันสังคมไทยยังไม่สามารถหลุดพ้นจากยุคมืดทางความคิด เพราะยังมีประชาชนที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยด้วยการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องถูกปราบปราม ติดคุก หนีไปลี้ภัยในต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งๆ ที่เผด็จการฆ่าประชาชนจำนวนมหาศาลมาหลายครั้งแล้ว ในประวัติศาสตร์เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยครั้งต่างๆ จวบจนปัจจุบัน

จนกว่าสังคมเราจะเติบโตหรือมีวุฒิภาวะพอที่จะไม่ถูกเผด็จการหลอกลวงว่า “เสรีภาพเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง” และตระหนักรู้ว่าเสรีภาพเป็นสิ่งจำเป็นต่อการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชน จำเป็นต่อการปกป้องอำนาจอธิปไตยของประชาชนและความก้าวหน้าของสังคมส่วนรวมเท่านั้น เราจึงจะสร้างประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง

    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท