Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เราเคยลังเลที่จะสนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิตเพราะมักจะเจอคำโต้แย้งกลับว่าถ้าตกเป็นเหยื่อของความโหดเหี้ยมทารุณเอง จะรู้สึกอย่างไร จะอยากให้คนที่ทำร้ายคนที่เรารักมีชีวิตอยู่อีกหรือ? เราไม่แน่ใจว่าจะตอบคำถามนั้นอย่างไรและคิดว่าคงไม่มีโอกาสได้ตอบจากความรู้สึกจริงๆ จนกระทั่งได้เจอกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เราเสียคุณลุงที่เรารักไป จึงอยากจะเขียนทบทวนมุมมองตัวเองต่อโทษประหารในฐานะญาติของผู้ถูกกระทำคนหนึ่ง

เมื่อสองปีที่แล้ว ระหว่างคุยกับครอบครัวถามสารทุกข์สุขดิบทั่วไปทางโทรศัพท์ แม่เราบอกว่า ‘ลุงหนึ่ง (นามสมมุติ) หายตัวไปนะ กำลังตามหากันอยู่’ เราใช้เวลาครู่นึงในการทำความเข้าใจ ในยุคสมัยที่การสื่อสารเชื่อมต่อกันขนาดนี้ อยู่ๆ คนหนึ่งคนจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องลอย ติดต่อไม่ได้ทุกช่องทางนานหลายวันได้อย่างไร 

คำถามที่เข้ามาอยู่ในบทสนทนาในทุกๆ ครั้งที่เราติดต่อที่บ้านคือ เจอลุงหนึ่งหรือยัง ใครดูแลพี่สาวที่ป่วยแทนลุงหนึ่ง สภาพจิตใจป้าเราเป็นอย่างไรบ้าง ฯลฯ หนึ่งอาทิตย์ผ่านไปแล้วที่ยังไม่มีใครตอบเราได้ว่าลุงหนึ่งไปไหน จนที่บ้านเราบอกว่าอาจต้องทำใจไว้ก่อนนะ ลุงหนึ่งอาจโดนฆ่า ตอนนั้นเราไม่แน่ใจว่าจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเรายังมีความหวังอยู่ลึกๆ ว่าการสันนิษฐานนั้นไม่จริงจะถือว่าเราโลกสวยเกินหรือไม่ เราไม่แน่ใจว่าเราอยากจะได้ยินข่าวคราวเรื่องการตามหาลุงหนึ่งอีกไหมเพราะไม่รู้ว่าอะไรทรมานกว่ากันระหว่างรอไปเรื่อยๆ และจินตนาการเอาเองว่าตอนนี้ลุงหนึ่งจะเป็นอย่างไรกับรู้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นแม้ความจริงนั้นจะเป็นที่เรากลัวและไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

หลายๆ ครั้งภาษาก็มีข้อจำกัดที่ทำให้ความรู้สึกหรือประสบการณ์ไม่อาจถูกบรรยายออกมาเป็นตัวอักษรได้ เรื่องลุงหนึ่งก็คงเป็นหนึ่งในนั้น เราไม่แน่ใจว่าเราอยากให้เวลาช่วยให้เราลืมหรือไม่ หรือจริงๆ แล้วเราไม่อยากลืม ในเมื่อภาพล่าสุดของลุงหนึ่งที่เราจะเห็นคือจากการนำเสนอของสื่อ เช่น คลิปที่เจ้าหน้าที่กู้ศพลุงหนึ่งขึ้นมา อ่านรายละเอียดเหตุการณ์ว่าลุงหนึ่งถูกทารุณกรรมซ้อมทำร้ายร่างกายต่อเนื่องหลายชั่วโมง ของแข็งที่ใช้ทุบตี เสียงร้องของลุงหนึ่งที่มีคนได้ยิน เราจึงเลิกเสพข่าวข้างนอกและประกอบภาพลุงหนึ่งจากความทรงจำของเราเองตั้งแต่นึกถึงภาพที่เด็กที่สุดที่เราถ่ายคู่กับลุงหนึ่งเป็นตอนอนุบาลที่ลุงหนึ่งทำม้าก้านกล้วยแบบมีสายพาดไหล่ให้เราวิ่งเล่นในสวน จนถึงตอนครั้งล่าสุดที่เราเจอลุงหนึ่งเมื่อต้นปีก่อนที่ลุงหนึ่งจะถูกฆ่า ตอนนั้นเราคุยกับลุงหนึ่งว่าเรากับครอบครัวอยากไปที่สวนของลุงหนึ่งอีก ไม่ได้คาดคิดเลยว่าถ้ากลับไปตอนนี้จะไม่มีลุงหนึ่งพาเดินป่า ปีนน้ำตก นอนแบบมีท้องฟ้าเป็นหลังคาทั้งคืนอีกแล้ว 

หนึ่งปีหลังจากเรารู้ข่าวที่ลุงหนึ่งถูกฆ่า ศาลพิพากษาประหารชีวิตจำเลยทั้งหมด เป็นอีกครั้งที่เราไม่แน่ใจว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร เราควรจะก้าวผ่านเรื่องนี้ไปได้ในเมื่อโทษประหารก็เป็นโทษสูงสุดที่จำเลยจะได้รับและก็จะเป็นที่มั่นใจได้ว่าบุคคลเหล่านี้จะไม่หลุดลอดออกไปกระทำแบบนี้กับผู้อื่นอีก แต่เรากลับรู้สึกว่ายังมีอะไรติดค้างในใจซึ่งอาจเป็นเพราะเรารู้ว่าศาลชั้นไหนหรือโทษแบบใดก็ไม่สามารถทำลุงหนึ่งกลับมาได้ อาจเป็นเพราะเราไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม หรืออาจจะทั้งสองอย่างรวมกัน 

เราดูรูปและอ่านรายละเอียดของจำเลยที่รุมทรมานฆ่าและอำพรางศพลุงหนึ่ง เกือบจะทั้งหมดอายุ 20 ต้นๆ พอๆ กับเรา พวกเขาวางแผน เตรียมตัวตั้งแต่ส่งนกต่อจนถึงอำพรางศพได้แนบเนียนขนาดนี้เลยหรือ เราแทบไม่ได้คุยเรื่องคดีกับญาติคนอื่นเพราะกลัวว่าการที่เปิดประเด็นจะกระทบจิตใจกันจึงได้แต่ติดตามห่างๆ ผ่านสื่อ อ่านที่คนใกล้ชิดลุงหนึ่งชี้ถึงความมีพิรุธของคดีและตระหนักได้ว่าสิ่งที่เราอยากได้จากกระบวนการยุติธรรมคือ ‘ความจริงที่ครบถ้วน’ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับลุงหนึ่ง ไม่อยากให้หนังสือที่ครอบครัวลุงหนึ่งส่งเพื่อเรียกร้องให้รื้อคดีสอบสวนคดีใหม่นั้นเป็นแค่กระดาษเรียกร้องที่ไร้ความหมายและเงียบหายไป ไม่อยากให้ความตายของลุงหนึ่งที่เป็นแบบอย่างของเราในการทำงานอย่างตรงไปตรงมายืนยันสิ่งที่เราได้ยินบ่อยครั้งเกี่ยวกับปัญหาการคอรัปชั่น อำนาจ และข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมไทย อยากให้สื่อ (บางสำนัก บางโอกาส) ทบทวนการนำเสนอข่าว การใช้คำ การเบลอภาพทั้งผู้ตายและผู้ต้องสงสัย

ดูเหมือนเราจะมีความปรารถนาหลายอย่าง แต่ยังอีกหนึ่งสิ่งที่เราปรารถนามากที่สุดคือไม่อยากให้ใครต้องสูญเสียคนที่รักไปด้วยความตั้งใจของมนุษย์ด้วยกันเอง ความตายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการตายจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ก็นำมาซึ่งความทุกข์อยู่แล้วทั้งต่อผู้ตายและคนที่รัก เช่นเราเคยสูญเสียคนใกล้ตัวจากอุบัติเหตุหรือจากโรคร้ายซึ่งแม้มันจะทรมานแต่อย่างน้อยเราได้อยู่ข้างๆ ให้กำลังใจ ให้เค้าตายโดยที่ไม่ต้องห่วงคนรอบข้าง ตรงกันข้าม การสูญเสียคนที่รักจากการฆาตรกรรมส่งผลทางจิตใจที่รุนแรงกว่าอย่างยิ่งเพราะมันทิ้งภาพหลอนให้กับคนที่อยู่ข้างหลัง เป็นเวลานานที่เรากลัวที่จะคิดถึงลุงหนึ่ง เพราะทุกครั้งที่คิดถึง จะมีการต่อสู้กันในหัวระหว่างภาพความทรงจำดีๆ ที่เรามีกับลุงหนึ่งกับภาพเคลื่อนไหวติดต่อกันหลายๆ ชั่วโมงที่ลุงหนึ่งโดนทารุณกรรมนั้น อดไม่ได้ที่จะเทียบเคียงความรู้สึกว่าเค้าจะเจ็บปวดขนาดไหน ความกลัวอย่างรุนแรงที่เค้าเผชิญจะทำให้เค้าระลึกได้ก่อนตายไหมว่ายังมีคนอีกมากมายที่รักเค้า และถ้าเค้าระลึกได้จะทำให้เค้ากังวลถึงคนที่เค้าทิ้งไว้ข้างหลังและยิ่งตายทรมานขึ้นหรือเปล่า 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อนึกถึงชีวิตกว่า 300 ชีวิตที่เสียไปแล้วในลานประหาร และนักโทษประหารอีก 500 กว่าชีวิตในปัจจุบันรวมถึงจำเลยทั้งหลายในคดีลุงหนึ่งซึ่งต่างก็ไม่แน่ใจในชะตากรรมของตัวเอง การสูญเสียลุงหนึ่งไปกลับยิ่งทำให้เราไม่เห็นด้วยกับโทษประหารด้วยเหตุผลสั้นๆ อย่างเดียวคือ ‘คุณค่าของการมีชีวิต’ ไม่อยากให้มีใครต้องสูญเสียพ่อแม่ ลูก พี่น้อง เพื่อนไปจากความอาฆาตไม่ว่าจะโดยฆาตรกรที่เห็นเป็นรูปธรรมหรือในนามของสังคมซึ่งมีเราเป็นหนึ่งในนั้นโดยทำผ่านการประหาร สำหรับเรา การฆ่าในแบบหลังนี้ต่างกับแบบแรกในแง่ที่ว่า ไม่ใช่คนบางคนหรือบางกลุ่มต้องการปลิดชีวิตเค้าแต่เป็นทั้งสังคมที่เห็นว่าชีวิตของคนผู้นั้นไม่ควรค่าแก่การอยู่อีกแล้ว ไม่มีศักยภาพอะไรที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมอีกต่อไป ไม่มีโอกาสแก้ตัวหรือทำอะไรดีๆ แม้จะเป็นการช่วยงานในคุกตลอดชีวิตก็ตาม คงไม่มีใครอยากให้ความตายของคนที่รักเป็นสิ่งที่คนอื่นยินดี และไม่มีชีวิตไหนที่ควรถูกสมน้ำหน้าให้ตาย

ปัจจุบันวิธีการประหารดูเหมือนจะมีมนุษยธรรมขึ้นโดยใช้การฉีดยาที่ดูซับซ้อนรัดกุมและทำในที่ปิด ไม่ได้ประจานเหมือนสมัยก่อน แต่นั่นก็อาจทำให้คนนอกยิ่งรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวมากขึ้นและไม่มีส่วนรู้เห็นในสิ่งที่เกิดขึ้นในแดนประหาร เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่านักโทษจะไม่เจ็บปวดเลยจริงๆ โอกาสผิดพลาดมีมากน้อยแค่ไหน เงิน‘รางวัล’10,000บาทจะทำให้ผู้ประหารทั้งสามคนลำบากใจน้อยลงในการที่ต้องกดปลุ่มเดินยาที่จะไม่มีวันรู้ว่าปุ่มที่ตนกดนั้นเป็นปุ่มที่ทำให้นักโทษตายจริงๆ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ประหารเชื่อมั่นในใจว่าบุคคลผู้นั้นบริสุทธิ์ และที่สำคัญที่สุด เราไม่ได้รับรู้ความรู้สึกของนักโทษแดนประหารว่าเค้าจะมองคุณค่าและเป้าหมายของชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไร คนนอกอย่างเราทำได้แค่ฟังเสียงสะท้อนเล็กๆ เหล่านี้ผ่านสื่อ สารคดี หนังสือ แต่ยังไงก็คงเทียบไม่ได้กับความรู้สึกที่เค้าต้องเผชิญในแต่ละวัน 

ปัญหาเกี่ยวกับการให้ความยุติธรรมและเยียวยากับผู้เสียหาย ประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย การป้องกัน ฟื้นฟูผู้กระทำผิด ความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมถูกหยิบยกมาอยู่ในสมการว่าในบริบทของประเทศไทย โทษประหารยังจำเป็นอยู่ แต่เราเห็นว่าความล้มเหลวจากปัจจัยต่างๆ ข้างต้นไม่ได้เป็นเหตุให้การพรากชีวิตมนุษย์นั้นชอบธรรม แต่เป็นเรื่องที่ต้องหาทางแก้ให้ตรงจุด เอาชีวิตมนุษย์ออกจากสมการ ดังนั้น สำหรับเรา ต่อให้นักโทษทั้งหมดในแดนประหารเป็นผู้กระทำผิดจริง และเป็นคดีที่สะเทือนขวัญแบบที่เกิดลุงหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเกินครึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราก็ยังไม่เปลี่ยนจุดยืนที่ไม่อยากให้มีโทษประหาร เพราะรู้สึกว่าคุณค่าของชีวิตไม่ว่าจะชีวิตของผู้ตาย ของผู้กระทำ ของผู้ประหาร ของญาติ ของคนในสังคมเป็นสิ่งสากลไม่ติดกับบริบทของประเทศไทยหรือประเทศไหน 

ที่เราคิดแบบนี้อาจเป็นเพราะเราเห็นสิ่งที่เรากับจำเลยในคดีรุมฆ่าลุงหนึ่งมีร่วมกันคือความบกพร่องผิดพลาดต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิต แม้โลกเสรีนิยมเห็นเราเป็นปัจเจกที่เป็นอิสระ พึ่งพาตนเองได้ มีสามัญสำนึก ใช้เหตุผลและรับผิดชอบในการกระทำของตัวเองควรค่าแก่การมีสิทธิเสรีภาพต่างๆ เรากลับรู้สึกว่าหลายๆ ครั้งเราห่างไกลจากนิยามข้างต้น มีห้วงความคิดที่ย้อนกลับไปถามตัวเองว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรลงไป แต่เราโชคดีที่ความเปราะบางของเราถูกบรรเทาด้วยปัจจัยแวดล้อมและโอกาสต่างๆ ที่เราอาจมีมากกว่าพวกเขา อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าปัจจัยแวดล้อมทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โอกาสทางการศึกษา การทำงาน รายได้ สภาพชุมชนที่อยู่ เป็นเพียงปัจจัยภายนอกที่จะทำคนคนหนึ่งตัดสินใจกระทำผิดพลาดไป 

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับคนเหล่านั้นจริงๆ คือก่อนหน้านี้ เหตุการณ์ลุงหนึ่งทำให้เราเสียศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ว่าทำไมใจร้ายทำได้ถึงขนาดนี้ จนกระทั่งเราได้เรียนรู้วิธีที่จะสังเกตความโกรธของตัวเองแบบที่มันเป็นจริงๆ ที่ไม่ใช่การข่มเอาไว้หรือแสดงออกมา แน่นอนว่าความรู้สึกไม่พอใจของเรายังไม่เคยรุนแรงถึงระดับที่ไปฆ่าใคร แต่สิ่งที่เหมือนกันคือเราไม่เคยรู้เลยว่าแต่ละขณะ เกิดอะไรขึ้นบ้างในกระบวนการทำงานของกาย-ใจเรา ก่อนที่จะออกมาเป็นความคิด คำพูด การกระทำ กายกับจิตเราสัมพันธ์กันยังไงเวลามีสิ่งต่างๆ มากระทบประสาทสัมผัสทั้ง 6 วิธีการปฏิบัตินี้ทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้วแล้วความทุกข์เราเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เป็นเหตุปัจจัยกันตรงไหน และปฏิบัติอย่างไรถึงจะออกจากมันได้ เป็นการปฏิบัติให้เห็นด้วยประสบการณ์ตรงที่ไม่ใช่จากการอ่านหรือถกเถียงทางปรัชญา เมื่อได้มองย้อนกลับเข้ามาเห็นความไม่บริสุทธิ์ในตัวเอง จึงไม่มีโอกาสให้ได้ไปโทษคนอื่น เพราะความรู้สึกแง่ลบที่ได้รับจากผู้อื่น เราก็เห็นในตัวเองหมดแล้ว

สำหรับเรา วิธีการนี้มีค่าเกินกว่าที่จะถูกจำกัดภายใต้กรอบของศาสนา ไม่ต้องขู่ด้วยบาป-บุญ นรก-สวรรค์ ภพชาติปฏิบัติได้ตลอดเวลา ช่วยให้เราซึ่งเป็นญาติผู้ตายคนนึงเลิกเอาความสุขความทุกข์ของตัวเองมาผูกไว้กับเหตุการณ์ภายนอก ไม่ต้องรอให้ความคาดหวังที่เรามีต่อคดีลุงหนึ่ง กระบวนการยุติธรรม สื่อ เป็นจริงก่อนแล้วเราถึงจะมีความสุขได้ ให้อภัยได้ เพราะก็ไม่รู้ต้องรอถึงเมื่อไหร่ ที่สำคัญกว่านั้น เรายินดีที่เห็นว่ามีโครงการอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นในเรือนจำของประเทศต่างๆ ที่นำเอาวิธีการปฏิบัตินี้ไปช่วยฟื้นฟูนักโทษ เช่น หนังสือและสารคดีเรื่อง The Dhamma Brothers ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของนักโทษใน maximum prison ในอเมริกาโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสารคดี Doing Time, Doing Vipassana ในคุกของอินเดีย ความเปลี่ยนแปลงของตัวนักโทษ ตั้งแต่การเข้าใจและให้อภัยตัวเอง การเลิกพฤติกรรมระเบิดอารมณ์ทำร้ายเพื่อนร่วมคุก รูปแบบความสัมพันธ์กับผู้คุมที่เปลี่ยนไป การอโหสิกรรมกับครอบครัวผู้เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความมีเมตตาและอุทิศตนสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวมแม้จะในสังคมเล็กๆ ที่พวกเขาอยู่และไม่มีวันได้ออกไปก็ตาม ความประทับใจต่อเรื่องราวเหล่านี้ทำให้เรานึกถึงจำเลยทั้ง 5 คนนั้น ไม่ว่าเค้าจะต้องตายในลานประหารหรือไม่ อยากให้รู้ว่าเราไม่ถือโทษโกรธเคืองแล้วและอยากให้พวกเขามีโอกาสได้ปฏิบัติบ้าง ขอให้พ้นจากความทุกข์ และมีชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีมิตรไมตรี ความสงบ และพบกับความสุขที่แท้จริง 

สุดท้ายนี้ ข้อเขียนนี้ไม่ได้มีข้อโต้แย้งทางกฎหมาย งานวิจัย ทฤษฎีอาชญาวิทยา หรือเสนอทางออกใด แต่เป็นการเล่าในมุมของญาติคนหนึ่งที่สูญเสียคนที่รักไปและยังไม่เปลี่ยนจุดยืนที่อยากให้เลิกโทษประหารชีวิต ทั้งนี้ เราไม่ได้จะพูดแทนญาติผู้ถูกระทำคนอื่นๆ เพราะแม้แต่ผู้ตายคนเดียวกันเราก็พูดแทนญาติคนอื่นไม่ได้เช่นกัน รวมถึงเข้าใจคนที่ยังอยากให้มีโทษประหารชีวิตอยู่ซึ่งเราเชื่อว่าแม้จะมองต่างมุมกันแต่ก็มีจุดหมายร่วมกันที่จะอยากอยู่ในสังคมที่มีความยุติธรรม ปลอดภัย กลมเกลียว ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่เชื่อถือได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net