75 ปีทางรถไฟสายมรณะ-ญาติแรงงานชาวเอเชียหวังให้ในบันทึกไม่ได้มีแค่ฝ่ายตะวันตก

ญาติมิตรของแรงงานก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะ กลับมาที่กาญจนบุรีอีกครั้งเพื่อย้อนรอยความทรงจำที่ถูกหลงลืมในวาระครบ 75 ปีโครงการหฤโหดของจักรวรรดิญี่ปุ่นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้านตัวแทนกลุ่มศึกษาทางรถไฟสายมรณะจากมาเลเซียหวังให้เกิดการจดจำคนงานเอเชียที่มาสร้างทางรถไฟจำนวนมาก ขณะที่ทุกนี้มีแต่การจดจำและกล่าวขานรำลึกถึงเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ไทย และญี่ปุ่นเท่านั้น

แดดเปรี้ยงเที่ยงวันบนเส้นทางรถไฟสายมรณะ แลนด์มาร์กชื่อดังของ จ.กาญจนบุรี ไม่ได้หลอมละลายความคับคั่งของนักท่องเที่ยวไทยและเทศ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่าเป็นวันหยุดวันสุดท้ายของการหยุดยาวสามวัน หรือการมาเพื่อตามรอยและรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟหฤโหดของจักรวรรดิญี่ปุ่นที่แล้วเสร็จเมื่อ 75 ปีที่แล้ว

“ในวันที่ 16 ตุลาคมพ.ศ. 2486 สิบห้าเดือนหลังจากการเริ่มต้นของงานสร้างทางรถไฟปลายทั้งสองก็ถูกสร้างจนเสร็จสิ้นทั้งที่พม่าและไทยทางรถไฟไปเชื่อมต่อกันที่แก่งคอยท่าซึ่งห่างจากด่านเจดีย์สามองค์ไม่มากทหารญี่ปุ่นตัวอ้วนพีเริ่มพิธีเปิดเป็นทางการใหญ่โต ตะปูหมุดเหล็กตัวสุดท้ายถูกตอกเข้ากับไม้หมอน ทางรถไฟสายนี้สร้างเสร็จด้วยระยะทางที่ทะลุพื้นที่ป่าถึง 415 กิโลเมตรสร้างสะพานด้วยเหล็กและซุง 688 แห่ง มูลค่าเป็นชีวิตมนุษย์ที่สังเวยไปประมาณค่ามิได้มีการประมาณว่าเชลยสงครามจากฝ่ายพันธมิตรประมาณ 12,800 นายและแรงงานกรรมกรชาวเอเชียอีก 90,000 คนต้องสังเวยชีวิตให้กับการสร้างทางรถไฟสายนี้” พิพิธภัณฑ์สถานแห่งความทรงจำช่องเขาขาด [1]

000

สถานที่ประกอบพิธีเปิดการเชื่อมต่อรถไฟไทย-พม่าที่สถานีแก่งคอยท่า หรือ กองกุยตะ (Konkoitha) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2486 หรือวันนี้เมื่อ 75 ปีที่แล้ว ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวอยู่ทางตอนใต้ของ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และจมอยู่ใต้ระดับน้ำของเขื่อนวชิราลงกรณ์ (ที่มา: The Australian War Memorial)

แรงงานเอเชียที่ร่วมก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ (ที่มา: The Global Review)

แรงงานเชื้อสายทมิฬรวมตัวกันในแคมป์พัก หลังทราบถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2488 ส่วนทหารญี่ปุ่นที่อยู่ด้านหน้าของภาพที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ รปภ. ของสถานีรถไฟ บัดนี้ถูกควบคุมตัวโดยฝ่ายสัมพันธมิตรแทน อย่างไรก็ตามหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แรงงานสร้างทางรถไฟชาวเอเชียเหล่านี้ก็มักจะอยู่ท้ายแถวเสมอเวลาต้องรับอาหารและยารักษาโรค ขณะที่เจ้าอาณานิคมให้ความสำคัญในการพาเชลยทหารสัมพันธมิตรเดินทางกลับบ้านเป็นลำดับแรกๆ ก่อน (ที่มา: anzacportal.dva.gov.au)

75 ปีการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายมรณะ

วันนี้ (16 ต.ค. 2561) เมื่อ 75 ปีที่แล้วเป็นวันที่ทางรถไฟสายไทย-พม่าถูกสร้างจนแล้วเสร็จ วัตถุประสงค์หลักของเส้นทางรถไฟมีไว้เพื่อใช้ลำเลียงปัจจัยสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่นในพม่าที่จะเข้าโจมตีกองกำลังบริติชในอินเดีย ตัดเส้นทางลำเลียงทางบกและทางอากาศที่ฝ่ายสัมพันธมิตรใช้สนับสนุนประเทศจีน ณ ขณะนั้น

ทางรถไฟถูกก่อสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ.2485 โดยจากฝั่งไทยเริ่มสร้างมาจากสถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผ่าน จ.กาญจนบุรีข้ามแม่น้ำแควใหญ่ โดยสะพานข้ามแม่น้ำแคว ไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ ส่วนทางตะวันตกสร้างมาจากเมืองตันบูซายัด รัฐมอญ ประเทศพม่า และทำพิธีเชื่อมต่อกันสำเร็จเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2486 ที่สถานีรถไฟแก่งคอยท่า ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ใต้ระดับน้ำของเขื่อนวชิราลงกรณ์

โดยเส้นทางรถไฟสายนี้ใช้เวลาสร้างทั้งสิ้นราวหนึ่งปี และเปิดใช้งานเดือนธันวาคม พ.ศ. 2486 โดยระยะทางจากสถานีชุมทางหนองปลาดุกถึงสถานีตันบูซายัดรวม 415 กม. เป็นรางขนาดกว้าง 1 ม. อยู่ในเขตประเทศไทยประมาณ 303.95 กม. และอยู่ในเขตพม่า 111.05 กม. มีสถานีจำนวน 37 สถานี

นอกจากเชลยสัมพันธมิตรยังมี "โรมูฉะ"

การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก มีการใช้แรงงานเชลยศึกสัมพันธมิตร 61,811 ราย และแรงงานเอเชียที่เกณฑ์มา รวมทั้งผู้ที่มาเพราะถูกโฆษณาว่าเป็นงานได้รับค่าตอบแทนที่ดี มีแรงงานทั้งที่เป็นชาวจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า อินเดีย รวมทั้งแรงงานไทยด้วย บางช่วงมีแรงงานเอเชียทำงานมากกว่า 300,000 ราย โดยญี่ปุ่นเรียกแรงงานจากเอเชียรวมๆ กันว่า "โรมูฉะ" (Romusha) หรือ "แรงงาน" เมื่อแปลเป็นภาษาไทยไทย

ในช่วงการก่อสร้างมีการทารุณเชลย ความโหดร้ายของสงคราม โรคภัย และการขาดแคลนอาหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในจำนวนนี้เป็นเชลยศึกสัมพันธมิตร 12,621 คน และในบรรดาแรงงานเอเชียที่มาทำงานทั้งหมด 300,000 รายนั้น ยังมีข้อมูลบางแหล่งที่ประเมินว่าอาจมีแรงงานเอเชียเสียชีวิตในช่วงที่ก่อสร้างทางรถไฟสูงถึงร้อยละ 50

เมื่อสงครามสิ้นสุด การสูญเสียถูกจดจำและพูดถึงด้วยหลุมศพ พิพิธภัณฑ์และพิธีรำลึก แต่นั่นเป็นความทรงจำที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับ ในทางกลับกัน “โรมูฉะ” กลับไม่ได้รับการรำลึกหรือจดจำในทางเดียวกัน สิ่งที่พอเป็นที่จดจำรำลึกก็มีสุสานของวัดถาวรวราราม ที่มีสถูปบรรจุกระดูกของแรงงานผู้เสียชีวิตในช่วงของการก่อสร้างทางรถไฟ โดยเป็นการรวบรวมซากกระดูกของผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นแรงงานเอเชีย เมื่อ พ.ศ. 2491 โดยรวบรวมได้กว่า 4,500 ราย โดยชุมชนรอบวัดถาวรวรารามมีการจัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลเป็นประจำทุกปีในช่วงใกล้เคียงกับเทศกาลเชงเม้ง และอนุสรณ์สถานที่สร้างโดยญี่ปุ่นใกล้กับสะพานแม่น้ำแควเพื่อไว้อาลัยดวงวิญญาณทหารสัมพันธมิตรและผู้เกี่ยวข้อง

สร้างโดยกองทัพญี่ปุ่นใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำแคว โดยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อไว้อาลัยให้ดวงวิญญาณทหารสัมพันธมิตรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้เสียชีวิตในการก่อสร้างทางรถไฟไทย-พม่า" ในป้ายระบุด้วยว่าในเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี จะมีชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย มาร่วมชุมนุมกันเพื่อประกอบพิธีรำลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

แม้รัฐบาลชาติต่างๆ เหมือนจะพร้อมใจมองข้ามการสูญเสียไปพร้อมกับความขื่นขมของสงคราม แต่ร่องรอยความทรงจำของครอบครัวและคนเกี่ยวข้องของผู้ที่เคยมาก่อสร้างทางรถไฟยังคงมีอยู่ และในโอกาสรำลึกการก่อสร้างทางรถไฟที่แล้วเสร็จปีนี้ พวกเขาเหล่านั้นเดินทางมาที่ประเทศไทย ไปตามสถานที่ก่อสร้างทางรถไฟเพื่อหาร่องรอยที่ยังหลงเหลือของญาติมิตรที่ถูกรัฐหลงลืม

ชาวญี่ปุ่นในไทยทำบุญรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการสร้างทางรถไฟสายมรณะ, 7 มีนาคม 2559

แรงงานผู้รอดชีวิตจากการสร้างทางรถไฟสายมรณะฉลองวันเกิดครบ 100 ปี, 12 เมษายน 2560

สำรวจเส้นทางรถไฟสายมรณะ-เพื่อให้เรื่องราวของแรงงานเอเชียถูกมองเห็นอีกครั้ง, 19 ตุลาคม 2561

การตามหาความทรงจำรำลึกโดยชุมชนและญาติแรงงานสร้างทางรถไฟชาวเอเชีย

พ. จันทราเสคาราน ประธานกลุ่มศึกษาทางรถไฟสายมรณะ (DRIG) ที่สถานีรถไฟสะพานข้ามแม่น้ำแคว ภาพถ่ายเมื่อ 15 ตุลาคม 2561 (ที่มา: ประชาไท)

คณะผู้ร่วมเดินทางส่วนหนึ่ง ที่เดินทางมารำลึก 75 ปีการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ ถ่ายรูปร่วมกันที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2561 โดยที่บ้านโป่งเป็นจุดแรกๆ ที่แรงงานเอเชียและเชลยศึกสัมพันธมิตรเดินทางมาถึงเพื่อเตรียมสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อกับพม่า (ที่มา: DRIG)

พ. จันทราเสคาราน ชายมาเลเซียเชื้อสายทมิฬ ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ และเป็นประธานกลุ่มศึกษาทางรถไฟสายมรณะ (Death Railway Interest Group-DRIG) องค์กรภาคประชาสังคมที่มุ่งบันทึก นำเสนอเรื่องความทรงจำของคนงานชาวมาเลเซียที่มาสร้างทางรถไฟได้ ได้นำคณะญาติคนงานสร้างทางรถไฟไทย-พม่า มาย้อนรอยและจดจำประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม การเดินทางครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของเขา และครั้งก่อนก็มีผู้ร่วมเดินทางเยอะกว่านี้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ร่วมเดินทางเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยชาวมาเลเซีย อินเดีย ญี่ปุ่นและไทย รวม 13 คน

การเดินทางของคณะรำลึกความทรงจำที่ถูกลืมเริ่มต้นจากสถานีรถไฟกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียในวันที่ 13 ต.ค. 2561 และในวันที่ 14 ต.ค. ก็เริ่มต้นที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง จ.ราชบุรี อันเป็นจุดแรกที่แรงงานก่อสร้างทางรถไฟจากเอเชียเดินทางมาถึงที่นี่และเริ่มก่อสร้างเส้นทางอันยากลำบาก จากนั้นในวันที่ 15 ต.ค. เดินทางมาที่ จ.กาญจนบุรี และเดินทางจนถึงสถานีรถไฟน้ำตก ที่ อ.ไทรโยค ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายของเส้นทางรถไฟสายมรณะในฝั่งไทยที่ยังคงเปิดใช้งาน

แล้วเดินทางต่อด้วยเส้นทางรถยนต์และการเดินสำรวจเพื่อไปให้ใกล้กับทางเชื่อมต่อระหว่างไทยกับพม่าให้ได้มากที่สุดซึ่งปัจจุบันเข้าถึงได้ลำบากเนื่องจากบางส่วนจมอยู่ใต้เขื่อนวชิราลงกรณ์ และการเดินทางรอบนี้ ถึงที่สุดแล้วพวกเขายังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งไว้เนื่องด้วยความลำบากในการเดินทาง อากาศที่ร้อนจัดและด้วยสมาชิกผู้ร่วมเดินทางที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 

จันทราเสคารานกล่าวถึงความมุ่งหมายในการเดินทางครั้งนี้ว่า “คือการพาสมาชิกครอบครัวของเหยื่อที่มาสร้างรางรถไฟมาเยือน พวกเขาไม่เคยมีโอกาสได้มาและเห็นสถานที่ เพราะพวกเขาที่เคยมาด้วยตัวเองก่อนหน้านี้ก็ไม่รู้ว่าจะเยือนไปที่ไหนได้บ้าง ผมเลยวางแผนชวนพวกเขามา” 

“วันที่ 16 ตุลาคม เป็นวันครบครอบการก่อสร้างเส้นทางรถไฟแล้วเสร็จ ผมเลยคิดว่าถ้าเรามาตอนนี้เพื่อดูงานรำลึกก็เป็นเรื่องที่ดี” จันทราเสคารานกล่าว เขาให้รายละเอียดการเยือนครั้งนี้ด้วยว่า เริ่มแรกคณะที่จะมารอบนี้ไม่ใช่กลุ่มใหญ่ ตอนแรกที่ถามว่าใครอยากมาบ้างก็มีแค่สี่คน แต่ในที่สุดตอนนี้ก็มี 13 คน โดยครั้งที่แล้วที่เรามาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์มีอยู่ 18 คน

“พวกเราพยายามจะย้อนรอยการเดินทางของคนงานของเราที่ถูกนำมาที่นี่ พวกเรารับรู้มาจากผู้รอดชีวิตบางคนว่า แต่เดิมมีคนงานถูกนำมาจากหลายเมืองในมลายามาที่สถานีทางรถไฟ ซึ่งช่วงนั้นมันไม่ได้เป็นการโดยสารในลักษณะผู้โดยสาร พวกเขาเดินทางมาด้วยโบกี้รถไฟที่เปิดโล่ง ปัจจุบันคาดว่าจะเหลือผู้รอดชีวิตที่ยังจดจำการเดินทางได้อยู่อย่างน้อย 10 คน พวกเราตัดสินใจพาพวกเขาสองคนมาด้วยเมื่อ 21-26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา”

รัฐบาลอาจหลงลืม แต่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจะไม่ลืม

“เป้าหมายหลักของเราคือการบอกกับชาวโลก เพราะว่าไม่มีพิธีรำลึกอื่นใดนอกจาก (การรำลึกต่อ) เหล่าเชลยศึกสัมพันธมิตร แต่คนงานชาวเอเชียที่ตายกลับไม่มีพิธีรำลึก รัฐบาลไทย มาเลเซีย อินเดีย หรือเอาจริงๆ ก็คือรัฐบาลที่เคยมีประชาชนของพวกเขามาทำงานสร้างรางรถไฟไม่ได้จัดพิธีรำลึกเลย พวกเขาถูกลืมไปโดยสิ้นเชิง พวกเราจึงพยายามทำให้เป็นประเด็นขึ้นมา”

“รัฐบาลอาจจะลืมไปแล้ว แต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบนั้นไม่ลืม ชาวมาเลเซียหกคนที่มากับเราล้วนเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่พ่อ ปู่ ตา ลุง หรือใครก็ตามแต่ได้รับผลกระทบ พวกเขาเหล่านั้นบางคนก็รอดกลับมา บางคนก็ไม่ได้กลับมา พวกเราทุกคนคือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ที่มาด้วยกันไม่มีนักท่องเที่ยวเลย พวกเราทุกคนเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งนั้น สำหรับเรามันเป็นการเดินทางที่สะเทือนใจ”

“ผู้เข้าร่วมเดินทางส่วนมากรู้สึกโล่งใจว่า ในท้ายที่สุดพวกเขาก็มีโอกาสมา หลายคนอยากมา เพราะบางคนที่เคยมากับกรุ๊ปทัวร์ก่อนหน้านี้นั้นผิดหวังที่มาดูสะพานข้ามแม่น้ำแคว หรือดูพิพิธภัณฑ์แต่ไม่มีอนุสรณ์สำหรับชาวอินเดียที่มาทำงานในโครงการก่อสร้างนี้  พวกเขาผิดหวังอย่างมากที่ไม่มีอะไรในเมืองไทยแสดงให้เห็นว่ามีคนงานเอเชียเข้าร่วมการก่อสร้าง ทุกสิ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนขาว แม้แต่พิธีรำลึกก็มีไว้สำหรับคนขาว พิธีที่รัฐบาลไทยทำในเดือนธันวาคมก็ทำให้เหมือนว่ามีแต่คนขาวเท่านั้นที่มาสร้างทางรถไฟ”

ทางรถไฟบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแควใหญ่ ซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.กาญจนบุรี ภาพถ่ายเมื่อ 15 ตุลาคม 2561 (ที่มา: ประชาไท)

ทางรถไฟบริเวณสถานีรถไฟถ้ำกระแซ ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2561 (ที่มา: ประชาไท)

หนึ่งสิ่งที่จันทราเสคารานมองว่าเป็นปัญหาคือความทรงจำของภาครัฐไทยที่มีภาพจำกับการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะที่มองข้ามคนงานชาวเอเชียส่วนมากไป สะท้อนจากการโปรโมทการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สงครามโลกที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทำใบปลิวแจก

“ผมได้เห็นใบปลิวที่ทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่บอกว่ามีพิพิธภัณฑ์พิเศษเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟชื่อ JEATH Museum ที่ตั้งชื่อตามประเทศ 5 ประเทศที่สร้างรางรถไฟ ได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรเลีย ไทย และฮอลแลนด์ (Japan - England - Australia - Thailand - Holland) พวกเขาพูดถึงแค่นี้เท่านั้น ...แต่ประเทศเอเชียอื่นๆ ถูกลืม ถ้าคุณถามผม มันคือการนำเสนอข้อเท็จจริงที่ผิด เพราะคนเอเชียที่มาสร้างทางรถไฟมีจำนวนมากกว่าชาวยุโรปและไทยเยอะมาก”

“คนไทย (ที่สร้างทางรถไฟ) มีจำนวนน้อยมาก ชาวยุโรปก็มีจำนวนประมาณ 1 ใน 3 ไม่ก็ 1 ใน 4 แต่คุณลืมส่วนที่เหลือ และมันไม่ใช่การมองข้ามจากบริษัทเอกชนด้วยเหตุผลทางการค้าขาย (ซึ่งแบบนั้น) ผมเข้าใจได้ แต่ทางการท่องเที่ยวไทยที่เป็นหน่วยงานรัฐกลับสนับสนุนการให้ข้อมูลผิดๆ แบบนี้อยู่ ผมจึงคิดว่าเราควรจะแก้ไขมันและสร้างการยอมรับให้กับเหล่าคนงานชาวเอเชีย สิ่งที่ผมอยากบอกพวกเขาคือ ถ้าคุณไม่สามารถสร้างสุสานให้คนงานเหล่านี้ได้ อย่างน้อยที่ทำได้ก็คือทำอนุสรณ์สถานเป็นกิจจะลักษณะสำหรับเหล่าคนงานเอเชีย” จันทราเสคารานกล่าวทิ้งท้าย

หวังให้แรงงานเอเชียถูกจดจำ

ผู้ร่วมเดินทางชาวอินเดีย บันทึกวิดีโอไปตลอดการเดินทางเพื่อเผยแพร่เป็นสารคดีสำหรับผู้สนใจทั้งในประเทศอินเดียและมาเลเซีย (ที่มา: DRIG)

การเดินทางครั้งนี้ยังถูกบันทึกสารคดีจากเพื่อนร่วมเดินทางชาวอินเดียเพื่อจะนำไปเผยแพร่ในประเทศอินเดียและมาเลเซีย ซึ่งต่างเป็นประเทศที่มีประชาชนมาร่วมสร้างทางรถไฟสายมรณะ โดยทางกลุ่มยังมีแผนว่าจะเดินทางมาอีกรอบในเดือนธันวาคมอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นช่วงที่ จ.กาญจนบุรีมีพิธีรำลึกในชื่อ “งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว”

แถลงการณ์จากกลุ่ม DRIG ที่เผยแพร่ในวันนี้ (16 ต.ค.) เรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นถึงความจำเป็นในการมีอนุสรณ์สถานและศูนย์ข้อมูลที่เป็นกิจจะลักษณะที่จะทำให้คนงานชาวเอเชียถูกมองเห็น แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน แต่ทางกลุ่มก็ยังหวังว่าจะได้เห็นข้อเรียกร้องเป็นจริงในขณะที่เหล่าคนงานผู้รอดชีวิตที่ยังเหลือเป็นกลุ่มสุดท้ายยังไม่จากไป แต่ข้อท้าทายหนึ่งที่จันทราเสคารานกล่าวด้วยความผิดหวังคือ พวกเขาไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากรัฐบาลไหนเลย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เส้นทางรถไฟถูกรื้อจากชายแดนด้านด่านเจดีย์สามองค์มาถึงสถานีน้ำตก อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ส่วนของพม่ามีการรื้อจนถึงสถานีตันบูซายัด เส้นทางในไทยส่วนหนึ่งปัจจุบันจมอยู่ใต้เขื่อนวชิราลงกรณ์ ปัจจุบันมีการเปิดการเดินรถช่วงสถานีชุมทางหนองปลาดุกจนถึงสถานีน้ำตก โดยเป็นส่วนหนึ่งของขบวนรถไฟสายธนบุรี-น้ำตก และเส้นทางรถไฟท้องถิ่นจากชุมทางหนองปลาดุก-น้ำตก

ในส่วนของสุสานทหารสัมพันธมิตรที่เสียชีวิตในช่วงก่อสร้างทางรถไฟไทย-พม่า มีการสร้างสุสานไว้ที่ จ.กาญจบุรี 2 แห่ง คือที่สุสานดอนรักและสุสานช่องไก่ ที่ฝั่งพม่ามีการสร้างสุสานที่ตันบูซายัด 1 แห่ง

ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ทหารชาวญี่ปุ่นถูกดำเนินคดีในข้อหาอาชญากรสงคราม 111 ราย เนื่องจากการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อเชลยศึกในช่วงที่มีการก่อสร้างทางรถไฟ โดยในจำนวนนี้มีทหารญี่ปุ่น 32 รายที่ถูกตัดสินประหารชีวิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท