รู้จัก ‘ฟรีไรต์’ รางวัลวรรณกรรมทุนน้อยแต่เปิดกว้างพื้นที่ทางความคิด

‘บทกวีประชาชน ฟรีไรต์’ รางวัลวรรณกรรมสำหรับประชาชนตัวเล็กตัวน้อย เปิดพื้นที่ความคิดด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เปิดกว้างกฎเกณฑ์ไม่จำกัดรูปแบบ ผู้จัดงานกล่าว งานวรรณกรรมบทกวีไม่จำเป็นต้องตัดสินโดยคนเป็นกวีทั้งหมด เชื่อว่าการใช้ภาษาหรือวรรณศิลป์ไหลเวียนอยู่ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นบริบทเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการเมือง

16 ต.ค. 61 ก่อนงานสัปดาห์หนังสือที่จะถึงในวันที่ 17-28 ต.ค. รางวัลงานเขียนต่างทยอยประกาศผลชนะเลิศ เตรียมขายกันคึกคักในงานสัปดาห์หนังสือ ‘บทกวีประชาชน ฟรีไรต์’ ก็เป็นหนึ่งในรางวัลเกี่ยวกับงานเขียนที่เพิ่งประกาศผลไปวันที่ 6 ต.ค. ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่สาม โดยสองครั้งก่อนหน้านั้นจัดเมื่อปี 2553 และ 2556 โดยมีคณะกรรมการตัดสินผลงาน เช่น วัฒน์ วรรลยางกูร, เดือนวาด พิมวนา, เพ็ญ ภัคตะ, ประกาย ปรัชญา, ทองธัช เทพารักษ์ ฯลฯ ด้วยการดำเนินงานของกลุ่มกวีที่อยากเปิดกว้างพื้นที่ทางความคิด

หลักการของฟรีไรต์ในครั้งที่ 1 ระบุไว้ว่า จัดขึ้นเพื่อรองรับความคิด ความรู้สึก ของประชาชนที่ไม่มีพื้นที่ เวที ในการแสดงออกในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งในแวดวงวรรณกรรม ก็ต้องไปอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์จากชนชั้นสูง ประชาชนจึงมองเห็นเพียงประชาชนด้วยกันเท่านั้น กวีประชาชนไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป จึงมีเพียงปากกาเป็นอาวุธอันแหลมคมเพื่อประจันหน้ากับผู้เข่นฆ่า อย่างเลือดเย็น จึงไม่รอคอยกวีชั้นสูงไหน ๆ มาปลอบประโลม จึงต่างลงมือเขียนบทกวีประชาชนขึ้นมาต่อสู้อย่างองอาจ ประกาศเจตจำนงเสรีและจุดยืนแห่งอยุติธรรมร่วมกัน  

‘ฟรีไรต์’ อาจเป็นเป็นชื่อรางวัลที่ดูไม่คุ้นหูนักสำหรับแวดวงวรรณกรรมไทย และอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นกวีการเมืองที่แรงและสุ่มเสี่ยง แต่ผลงานที่ได้รับรางวัลฟรีไรต์ครั้งที่ 3 นี้ก็ถูกคัดเลือกมาจาก 208 ผลงานที่ส่งเข้าประกวด ฟรีไรต์ไม่ได้กำหนดรูปแบบการเขียน เพียงจำกัดไว้ที่ 2 หน้า แต่จะเห็นเป็นบทกวีมีสัมผัสไร้สัมผัสเป็นส่วนมาก

ประชาไทสัมภาษณ์ สายสุรีย์ มูลศรี หนึ่งในคณะผู้จัดงานประกวดรางวัลฟรีไรต์ ถึงจุดเริ่มต้น หลักการ ที่มาที่ไปของรางวัล เหตุใดที่ไม่อาจจัดงานได้ทุกปี และการประกวดนั้นเปิดกว้างให้กับทุกรูปแบบงานเขียนและทุกแนวคิดจริงหรือไม่

000000

 

รางวัลนี้มีจุดเริ่มต้นอย่างไร หลักการใหญ่ของรางวัลนี้คืออะไร คาดหวังให้รางวัลนี้เป็นตัวแทนหรือสื่อสารอะไร

หลังการฆาตกรรมหมู่เมื่อปี 2553 เริ่มต้นจากที่เราเห็นถึงการเพิกเฉยของคนวรรณกรรม เห็นว่าพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่มีให้ประชาชนมันไม่เพียงพอ หลายพื้นที่ ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้เลย  ทั้งในแง่ที่ทาง และการอุปถัมภ์ของตัวรางวัลเอง เราคาดหวังให้รางวัลนี้เป็นตัวแทนของคำพูด เหมือนคำเรียกร้องของประชาชนตัวเล็กตัวน้อยที่อยากตะโกนทุกอย่างออกมาให้คนอื่น ๆ ได้ยิน  ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง  เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม  

ตอนเริ่มต้นน่าจะมาจากการคุยกันไม่กี่คน มี เพียงคำ ประดับความ ตั้งกลุ่มกวีตีนแดงขึ้นมาก่อนเพื่อเป็นตัวแทนสื่อสารเป็นกระบอกเสียงให้กับความเป็นจริง บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านงานวรรณกรรม ต่อมาก็พัฒนาอยากให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสดงออก อยากเปิดพื้นที่ทางความคิดให้กว้าง มีที่มีทางในการบอกกล่าวแลกเปลี่ยน มีพื้นที่ให้คุยกันเรื่องความเป็นธรรม เขียนถึงความไม่ถูกต้องจนกลายมาเป็นบทกวีประชาชน ฟรีไรต์ อวอร์ด

 

รางวัลนี้มีทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกคือปี 53 แต่ก็ไม่ได้จัดทุกปี เนื่องเพราะอะไร และแต่ละครั้งที่จัดมีจุดประสงค์ที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง

เพราะคุยกันเองไม่กี่คน เราจึงทำเท่าที่ทำได้ ครั้งแรกเราไม่ได้มีทุนรอนในการจัดงาน กลุ่มกวีตีนแดงอาศัยขอทุนจากคนรู้จักคนละเล็กละน้อยจนได้เกิดเป็นงานขึ้นมาที่ หอประชุมศรีบูรพา ธรรมศาสตร์  ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเป็นรางวัลจริงจังในแบบที่ต้องจัดทุกกี่ปี เพราะก็วนกลับไปที่ไม่มีทุนสนับสนุน  ชื่อรางวัลก็ไปขอให้พี่วัฒน์ วรรลยางกูร ตั้งให้ ส่วนโลโก้ก็ไปขอพี่ทองธัช เทพารักษ์ ให้ออกแบบให้

สาเหตุที่ไม่จัดทุกปีเนื่องจากปัญหาเงินทุนแล้วก็ยังมีปัญหาการเมือง  ฟรีไรต์ถูกมองว่าเป็นกวีการเมืองที่แรงและสุ่มเสี่ยง เราได้จัดครั้งที่ 2 ก็ด้วยการไปยื่นโครงการให้คณะกรรมการ 40 ปี 14 ตุลา พิจารณา  ซึ่งครั้งนั้นมี อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย นั่งเป็นประธานก็เลยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ และได้รับบรรจุเป็นหนึ่งในกิจกรรมของงาน 40 ปี 14 ตุลา ที่หอประชุมใหญ่ ม. ธรรมศาสตร์ 

ส่วนครั้งที่ 3 ล่าสุด ก็ใช้การระดมทุนกันเอง จากเพื่อน ๆ พี่ ๆ โดยมีกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และคุณกวีไพร่ แห่งตอแหลแลนด์ เข้าร่วมสนับสนุนเพิ่มเติมอีกด้วย และก็ได้พูดคุยกับคณะกรรมการ 42 ปี 6 ตุลา ในการขอสนับสนุนพื้นที่ประกาศงาน จนได้บรรจุเป็นหนึ่งในกิจกรรมของงาน 42 ปี 6 ตุลา ก็เลยได้มาจัดงานประกาศรางวัลที่ ม.ธรรมศาสตร์อีกครั้ง ส่วนจุดประสงค์ในการจัดงานเรายังคิดเหมือนเดิมคือเปิดพื้นที่งานวัฒนธรรมให้กับประชาชน

 

จากงาน 3 ครั้งที่ผ่านมามีอิมแพคอย่างไรบ้าง ตรงกับที่คาดหวังไว้มากหรือน้อยอย่างไร

ก็ตรงกับที่คาดหวังไว้ทุกครั้ง มีผลงานส่งเข้าร่วมมากมายเกินที่เราคาดหวัง มีคนสนใจส่งผลงานเข้ามาอย่างหลากหลาย เหมือนได้คำร้องเรียนถึงความทุกข์ยากต่าง ๆ จากน้ำเสียงที่เราไม่เคยได้ฟัง 

การจัดประกวดบทกวีประชาชน ฟรีไรต์ อวอร์ด ครั้งที่ 3 นี้ มีข้อจำกัดมากทั้งในแง่ความร่วมมือ การทำสื่อโฆษณา เนื่องจากมีการมองว่า ฟรีไรต์ อวอร์ด เป็นงานวรรณกรรมการเมืองที่รุนแรง เกรี้ยวกราด และมีปัญหาติดตัวมาจากงาน 40 ปี 14 ตุลา ทำให้สื่อไม่สามารถประชาสัมพันธ์งานให้ได้เต็มที่มากนัก ส่วนใหญ่ใช้ช่องทาง Social Media ในการประชาสัมพันธ์

 

เนื่องจากเป็นรางวัลสำหรับบทกวีหรือร้อยแก้ว อยากทราบว่าได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร เช่น ต้องเป็นกวีที่มีสัมผัสเท่านั้นหรือไม่ (สังเกตจากคนที่ได้รางวัล มี 1 คนจาก 5 คนเท่านั้นที่เป็นกลอนเปล่า) หรืออย่างเช่นคนที่แต่งเพลงแร็ปสามารถเข้าประกวดรางวัลนี้ได้หรือไม่

ตั้งใจแต่แรกว่าเปิดกว้างอยู่แล้ว ไม่อยากมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์อะไร  เขียนอะไรมาก็ได้ที่อยากบอกกล่าว  ตรงกับชื่อนั่นแหละ ฟรีไรต์  จะเป็นในรูปแบบขนบเดิมทางการเขียน ฉันทลักษณ์ ไร้ฉันทลักษณ์  บทความ จดหมาย  ฯลฯ เรารับหมดไม่เว้นแม้แต่เนื้อเพลง  แต่ในเกณฑ์การทำงานมันไม่มีกรอบเลยมันก็ทำงานยาก มันเลยต้องมีหลักยึดบางอย่างที่เราพยายามจะให้มันฟรีไรต์มากที่สุด  พยายามปรับกันไปอย่างครั้งที่สามนี้เราปรับเป็นเขียนอะไรมาก็ได้ที่มีความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ ตามที่คุณ วาด รวี และ คุณ เพ็ญ ภัคตะ ได้เสนอเข้ามา  เราอาศัยคำแนะนำต่างๆ มาหลอมรวมให้เป็นบทกวีประชาชน  เรามองไปถึงจุดที่งานวรรณกรรมบทกวีนี่ไม่จำเป็นต้องตัดสินโดยคนที่เป็นกวีทั้งหมดด้วยซ้ำ  เพราะเราเชื่อว่าการใช้ภาษา  หรือการใช้วรรณศิลป์มันไหลเวียนอยู่ในสังคมไทยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริบทเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการเมือง

 

เนื่องด้วยรางวัลนี้นั้นประกาศว่าเป็นรางวัลที่ท้าทายต่อกระแสหลัก ดังนั้นรางวัลนี้เปิดพื้นที่ให้กับกวีที่เป็นอนุรักษ์นิยม หรือกวีที่มีความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างด้วยหรือไม่

โดยกติกาของรางวัลก็ประกาศชัดอยู่แล้วว่าไม่จำกัดในเรื่องของรูปแบบ และเนื้อหาความคิดทางการเมือง ไม่ว่าผู้ส่งเข้าประกวดจะมีแนวคิดทางการเมืองแบบใด อย่างไรก็ตามทางฟรีไรต์เลือกที่จะให้รางวัลมีความชัดเจนทางแนวคิดทางการเมืองตั้งแต่ต้นเพื่อสะท้อนให้เห็นต้นกำเนิด และอุดมการณ์การต่อสู้ของประชาชน  ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ส่งเข้าประกวดรับรู้อยู่แล้ว

 

มีแผนที่จะจัดงานในครั้งต่อไปหรือยัง

ตอนนี้ยังไม่ได้วางแผนอะไรในการจัดครั้งหน้า  แต่ได้คุยกันเบื้องต้นว่า ฟรีไรต์ อยากให้เป็นรางวัลบทของกวีประชาชน  โดยประชาชน และเพื่อประชาชนจริงๆ  เรามองไปถึงการชักชวนมิตรสหายจัดตั้งกลุ่มก้อนเพื่อพูดคุย โดยทั้งหวังและวางแผนที่จะให้มีการจัดประกวดที่ยั่งยืน ต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นพื้นที่ของประชาชนอย่างแท้จริง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท