Skip to main content
sharethis

ประยุทธ์ เผยยินดีรับคำวิจารณ์ในเฟสบุ๊ก แต่ขอให้สุภาพอย่าเป็นตัวอย่างไม่ดีให้ลูกหลาน ย้ำไม่ได้เปิดเพจมาหาเสียงแต่เป็นคนรุ่นเบบี้ บูมเมอร์ที่พร้อมปรับตัวตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 พร้อมระบุว่ากฎหมายความมั่นคงไซเบอร์เป็นเรื่องจำเป็น ต่างประเทศก็มี ฉะนั้นไม่ผิดไม่ต้องกลัว

16 ต.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงเหตุผลในการเปิดช่องทางการสื่อสารผ่านทางโซเชียลมีเดีย ว่า ตนถือเป็นมือใหม่ และเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเดินหน้าตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0  ซึ่งตนถือเป็นคนในยุคเบบี้ บูมเมอร์ จึงจำเป็นต้องปรับตัวและใช้ให้เป็น

“ปัจจุบันมีการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อยๆ และถือเป็นการเปิดช่องทางให้ประชาชนอีกช่องทางหนึ่งในการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งมีทั้งคนที่เข้ามาชมและเข้ามาต่อว่า เรื่องใดที่เป็นประโยชน์จะนำมาพิจารณาดำเนินการ ต้องเปิดใจกว้างให้มากขึ้น ต้องยอมรับฟังคำติชม แต่ขอเพียงว่าให้ใช้คำสุภาพ เพราะหากใช้คำไม่สุภาพ อาจส่งผลต่อเยาวชนที่เข้ามาติดตามได้ อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่ชอบ ก็คือไม่ชอบ ไม่ว่าจะพูดอะไร ทำอะไรดีๆ ก็ไม่ชอบอยู่ดี เพราะฉะนั้นต้องไปดูว่าสิ่งที่เขาตำหนิมา ใช่ข้อเท็จจริงหรือไม่ ถ้าใช่ข้อเท็จจริง เราก็แก้ไข อันไหนที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ก็ชี้แจงได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การเปิดเพจเฟซบุ๊คครั้งนี้ ไม่ได้ใช้งบประมาณใดๆ เป็นการเปิดแบบปกติ เช่นเดียวกับคนทั่วไป ที่ไม่เสียใช้จ่าย และเชิญชวนขอให้ทุกคนไปกดไลค์(like) และขอให้ติชมในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่หยาบคาย อะไรที่ตนตอบได้ ก็จะตอบ และมีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะทำงานติดตามเรื่องนี้ โดยจะรวบรวมข้อซักถามต่างๆ มาทุก 3-5 วัน และตนจะเป็นผู้ตอบข้อซักถามเอง ส่วนที่ตั้งชื่อเพจโดยไม่มียศนำหน้านั้น เพาะต้องการให้สั้น กระชับที่สุด

“ขอยืนยันว่าการเปิดเพจต่างๆ ไม่ได้เป็นการหาเสียง หรือเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น เพราะพรรคการเมืองต่างๆ ก็ดำเนินการเช่นนี้ จึงขอให้ความเป็นธรรมกับผมด้วย อีกทั้งไม่ได้ปิดกั้นการลงพื้นที่ หรือการจัดกิจกรรมของพรรคการเมืองต่างๆ แต่การดำเนินการต้องเป็นไปตามกฎหมายและความเหมาะสม ไม่ทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งขณะนี้ คสช. ก็ได้อนุโลมไปหลายเรื่อง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาแสดงความคิดเห็นในอินสตาแกรม ว่า ขอบคุณทุกความเห็น ใครให้กำลังใจตน ก็จะให้กำลังใจกลับเช่นกัน เพราะตนไม่ใช่ศัตรูของใคร และหากใครมีปัญหาทางกฎหมาย ให้ไปต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม และตนจะไม่เข้าไปก้าวล่วง ทุกอย่างทำตามหลักฐานที่มีอยู่

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำรุนแรงนั้น จะมีการฟ้องร้องหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หากจะเอาผิด ก็สามารถทำได้ทั้งหมด ที่มีการแสดงความเห็นด้วยคำไม่สุภาพ ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับจิตสำนึกว่าอยากให้ลูกหลานที่มาเห็นเป็นเช่นนั้นหรือไม่ และอยากให้ช่องทางสื่อสารนี้เป็นช่องทางที่บริสุทธิ์ ให้เยาวชนสามารถแสดงความเห็นได้ แต่ทั้งนี้ตนยอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะไม่ได้เป็นอย่างเช่นที่กล่าวหา และไม่ได้โกรธใคร ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยฟ้องร้องใคร แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณา หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลและบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งตนจะอดทนให้ถึงที่สุด เพราะเป็นนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ว่า  กฎหมายลักษณะนี้ทำกันทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไทย  เพื่อป้องกันและดูแลภัยทางโลกไซเบอร์ แต่ยอมรับว่ามีความใกล้เคียงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน กับการทำผิดกฎหมาย  ดังนั้นจึงต้องแยกแยะระหว่างการละเมิดสิทธิมนุษยชน กับการทำผิดกฎหมาย ซึ่งต่างประเทศก็ตระหนักในเรื่องนี้ และต้องหาแนวทางให้อยู่กึ่งกลางในการดูแลไม่ให้มีการโจมตีจนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงความมั่นคง จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจว่า เรื่องนี้มีความจำเป็น และกฎหมายนี้ถ้าใครไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องกลัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้เฟสบุ๊กแฟนเพจ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha’ มียอดถูกใจกว่า 1.8 แสนแล้ว หลังเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา

'พุทธิพงษ์' ยอมรับลบบางคอมเมนต์หยาบคาย

ส่วนประเด็นรับฟังความเห็นนั้น วานนี้ (15 ต.ค.61) เว็บไซต์ช่อง 3 รายงานว่า พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง กล่าวถึง การแสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ในเพจเฟสบุ๊กว่า ต้องยอมรับทั้งความเห็นชื่นชมชม หรือติเตียน และการแสดงความเห็นด้วยความสนุกสนาน รวมถึงถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมที่มีจำนวนมากที่ไม่สุภาพ หยาบคาย จากผู้ที่ไม่สนับสนุน แต่แน่นอนว่าการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียห้ามไม่ได้ และมีนักเลงคีย์บอร์ดเข้ามามาก ซึ่งความเห็นที่หยาบคายและไม่เป็นประโยชน์ ไม่สุภาพ จำเป็นต้องลบคอมเมนต์นั้นๆ พร้อมย้ำว่า การเปิดเพจไม่ได้ต้องการให้แสดงความเห็นในลักษณะการชื่นชมอย่างเดียว แต่ขอให้ผู้แสดงความเห็นยึดคำพูด หรือถ้อยคำที่ใช้ให้เหมาะสม พร้อมกล่าวติดตลกว่า "ถ้าไม่เปิดเพจก็หาว่าปิดกั้น แต่พอเปิดก็สนุกเกินไปหน่อย"

รู้จัก ร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ เมื่อความปลอดภัยกับละเมิดสิทธิห่างแค่เส้นเบลอๆ 

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นั้น ถูกนำมารับฟังความคิดเห็น  เมื่อ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา เนื้อความจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการและสำนักงานเพื่อดูแลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยเฉพาะ (กปช.) ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะมีหน้าที่กำหนดนโยบาย เก็บข้อมูลจากหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีเหตุภัยคุกคามก็จะดำเนินการประสานงานไปจนถึงช่วยแก้ไข อย่างไรก็ตามร่างดังกล่าว ยังคงมีข้อวิจารณ์สงสัยกันมากเกี่ยวกับนิยามของภัยคุกคามทางไซเบอร์ว่าหมายถึงอะไรบ้าง ในร่างฯ ยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน รวมถึงขอบเขตอำนาจของหน่วยงานที่จะตั้งใหม่ที่กว้างครอบจักรวาล ค้นสถานที่ ยึดคอมพิวเตอร์ได้แบบไม่ต้องขอศาล ทั้งยังไม่ใช่ส่วนราชการ แต่ได้งบประมาณ และถือหุ้นในกิจการที่เกี่ยวข้องกับภารกิจตาม พ.ร.บ. ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net