นักวิจัยชี้เป็นไปได้ที่จะมีดวงจันทร์โคจรซ้อนดวงจันทร์อีกดวงหนึ่ง

จุดเริ่มต้นมาจากคำถามของลูกชายของจูนา โคลล์ไมเออร์ นักดาราศาสตร์ ที่ว่า "ดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ต่างๆ 'ดวงจันทร์น้อย' เป็นดาวบริวารโคจรรอบพวกมันด้วยหรือไม่?" ทำให้โคลล์ไมเออร์ตัดสินใจค้นคว้าเรื่องเหล่านี้กับเพื่อนร่วมงานของเธอ จนสามารถตั้งสมมุติฐานได้ว่าเป็นไปได้แม้แต่ดวงจันทร์เองก็อาจจะมีดวงจันทร์น้อยหรือ 'มูนมูน' โคจรรอบอยู่ก็ได้แต่ยังไม่มีการค้นพบในปัจจุบัน

ที่มา:Pixabay

17 ต.ค. 2561 ดวงจันทร์คือดาวบริวารที่โคจรรอบดวงเคราะห์ดวงอื่นมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า 'ดาวบริวาร' โดยที่ดวงจันทร์หรือ 'มูน' (Moon) สำหรับชาวโลกนั้นหมายถึงดาวบริวารที่โคจรรอบโลกเพียงดวงเดียว อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ทำการค้นพบว่ามีความเป็นไปได้ที่เหล่าดวงจันทร์อื่นๆ อาจจะมีดวงจันทร์น้อยโคจรรอบอยู่อีกทีหนึ่ง

ชาวเน็ตพากันเรียกดวงจันทร์น้อยเหล่านี้ด้วยชื่อต่างๆ หลายชื่อไม่ว่าจะเป็น "มูนมูน" "มูนนิโต" "แกรนด์มูน" "ดวงจันทร์ย่อย" หรือ "ดวงจันทร์น้อย" ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรมว่ามีดวงจันทร์น้อยเหล่านี้อยู่ในระบบสุริยจักรวาลทั้งของเราและของระบบสุริยจักรวาลอื่นๆ แต่ก็มีนักดาราศาสตร์สองคนที่เปิดความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีปรากฏการณ์ดาวบริวารซ้อนเช่นนี้อยู่จริงก็เป็นได้

นักวิจัยระบุว่าในระบบดาวเคราะห์นั้นมีปรากฏการณ์ที่วัตถุดาราศาสตร์ที่เป็นบริวารโดยธรรมชาติเกิดขึ้นภายในพื้นที่หนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ดาวเคราะห์โคจรรอบดาวฤกษ์ แล้วดวงจันทร์ก็โคจรรอบดาวเคราะห์อีกทีหนึ่ง มันจึงเป็นเรื่องปกติที่จะตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีดวงจันทร์ย่อยๆ ที่โคจรรอบดวงจันทร์ใหญ่อีกทีหนึ่ง

ผู้ที่เปิดเผยหลักการเกี่ยวกับความเป็นไปได้นี้คือจูนา โคลล์ไมเออร์ นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวแห่งสถาบันคาร์เนกีในวอชิงตัน เธอบอกว่าความสงสัยในเรื่องนี้เริ่มต้นจากคำถามของลูกชายที่ถามเธอเมื่อราว 4 ปีที่แล้วแต่ในตอนนั้นเธอยังให้คำตอบลูกชายเธอไม่ได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีใครพบเรื่องที่ระบบสุริยจักรวาลมีดวงจันทร์น้อยอยู่แต่ปรากฏการณ์จากคำถามของลูกชายโคลล์ไมเออร์ก็มีความเป็นไปได้ ดวงจันทร์ที่โคจรรอบโลกเองก็มีขนาดใหญ่ในระดับที่นักวิทยาศาสตร์บางคนก็อยากจะเรียกมันว่าเป็นดาวเคราะห์ด้วยเช่นกัน ถ้าเช่นนั้นทำไมดาวบริวารที่มีขนาดใหญ่เทียบดาวเคราะห์จะมีดาวบริวารของตัวเองด้วยไม่ได้

โคลล์ไมเออร์และเพื่อนร่วมงานของเธอ ฌอน เรย์มอนด์ ร่วมกันตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์ในการคำนวนแรงไทดัลหรือแรงโน้มถ่วงที่ส่งผลต่อน้ำขึ้นน้ำลงระหว่างดาวเคราะห์กับดวงจันทร์ต่างๆ จนทำให้พวกเขาตั้งข้อสมมุติฐานได้ว่าดวงจันทร์น้อยจะมีอยู่ได้ถ้าหากดวงจันทร์หลักมีขนาดใหญ่พอ ขณะที่ดวงจันทร์น้อยมีขนาดเล็กพอ รวมถึงมีวงโคจรที่กว้างมากพอระหว่างดวงจันทร์ 2 ดวงกับดาวเคราะห์แกนหลัก ด้วยเหตุผลที่ว่าถ้าหากระยะวงโคจรไม่กว้างมากพอและขนาดไม่สัมพันธ์ตามที่คำนวนไว้ก็จะทำให้แรงไทดัลหนักมากพอที่จะทำให้ดวงจันทร์หลักและดวงจันทร์น้อยเข้ามาชนกัน หรือถ้าหากแรงอ่อนเกินไปก็จะทำให้ดวงจันทร์น้อยหลุดออกจากวงโคจรไปสู่ห้วงอวกาศ

จากข้อสมมุติฐานเกี่ยวกับคุณสมบัติดังกล่าว ทำให้เป็นไปได้ว่ามีดวงจันทร์หลายดวงในระบบสุริยจักรวาลที่มีดวงจันทร์น้อยอยู่แต่ยังไม่มีการค้นพบ ไม่ว่าจะเป็นดวงจันทร์ที่ชื่อคาลิสโตของดาวพฤหัสฯ ดวงจันทร์ไททันและไอแอพิตัสของดาวเสาร์ รวมถึงดวงจันทร์ของโลกเอง ซึ่งโคลล์ไมเออร์แลัเรย์มอนด์บอกว่าจะต้องมีการศึกษาต่อไป พวกเขาระบุว่าการศึกษาในเรื่องนี้จะช่วยทำให้เข้าใจเรื่องการโคจรของดวงดาวและเข้าใจเรื่องวิวัฒนาการของระบบดาวเคราห์ได้มากขึ้น

เรียบเรียงจาก

Moonmoons (Moons That Orbit Other Moons) Could Exist, Scientists Say, Livescience, Oct. 12, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท