‘สะอาด’ การ์ตูนนิสต์เกรดศิลปะห่วยตลอดมา กับหนังสือสะท้อนการศึกษาเล่มล่าสุด (แจกฟรี)

คุยกับ ‘สะอาด’ เจ้าของการ์ตูนลายเส้นไม่เรียบร้อย ผู้เล่าชีวิตประจำวันเชื่อมโยงสู่ประเด็นสังคมการเมืองอย่างแนบเนียน กับผลงานล่าสุด ‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน’ หนังสือการ์ตูนถ่ายทอดชีวิตตัวเองตั้งแต่เด็กจนโตในระบบการศึกษา ที่เขาวิพากษ์ว่าศิลปะในระบบการศึกษาไม่ควรยึดติดกับความสวย แต่ควรเพื่อความสุขหรือการทลายความกลัว


 

ย้อนกลับไปสมัยเด็ก ในวิชาศิลปะที่ครูวางกล้วยหนึ่งหวี แอปเปิ้ลหนึ่งลูกไว้บนโต๊ะ แล้วสั่งให้เราสเก็ตช์รูปผลไม้เหล่านั้นให้ออกมาเหมือนจริงที่สุดโดยห้ามลืมการแรเงา ทิ้งจินตนาการที่เคยวาดเล่นสนุกไปก่อน เมื่อหมดคาบเราจะได้ตัวเลขสีแดงข้างใต้ภาพตัดสินผลงานว่าใครสวยใครไม่สวย ใครเก่งใครไม่เก่ง มันคือชั่วโมงเรียนหงอยๆ สำหรับใครหลายคน รวมทั้ง ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ นักวาดการ์ตูนนามปากกา ‘สะอาด’ เจ้าของหนังสือการ์ตูนหลายเล่มลายเส้นไม่เรียบร้อย ที่เลือกพูดถึงชีวิตประจำวัน โยงไปสู่ประเด็นสังคม เช่น ครอบครัว การศึกษา ไปจนถึงการวิพากษ์การเมืองอย่างแนบเนียน

สะอาดเองก็ไม่ต่างจากเด็กวัยเดียวกันที่ต้องอยู่ในระบบโรงเรียน แต่ต่างตรงที่เขามีคำถามมากมาย (ในหัว) เกี่ยวกับระบบการศึกษาที่เขาเป็นส่วนหนึ่ง เขายอมรับว่าเมื่อโตขึ้นและทบทวนตัวเอง เขาพบว่าปมด้อยในชีวิต เช่น ความไม่มั่นใจ ก็เกิดขึ้นเพราะการศึกษาในโรงเรียน

ภาพตัวอย่างในหนังสือ ‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน’

‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน’ คือชื่อหนังสือการ์ตูนเล่มล่าสุดของเขาที่ใช้เวลาเขียนกว่า 3 ปี และวางแผนว่าจะมี 2 เล่มจบ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตในวัยเรียนของเขาตั้งแต่เด็กจนโต ด้วยเนื้อหาที่ไม่พยายามยัดเยียดคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย แต่ใช้เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเองตั้งคำถามถึงระบบการศึกษาที่ประหนึ่งดั่งสายพานโรงงานผลิต ‘เด็กกระป๋อง’ ที่มีค่านิยมอุดมคติการใช้ชีวิตเหมือนกัน ออกมารับใช้ความคาดหวังของพ่อแม่และครูอาจารย์ เด็กเก่งคือเด็กที่ได้คะแนนดี และสอบเข้าคณะแพทย์หรือวิศวะ

 

‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน 01 (ภาคโรงเรียน)’ แจกฟรีทั้งในรูปแบบไฟล์และเล่ม ไฟล์สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์ http://library.fes.de/pdf-files/bueros/thailand/14685.pdf

 

ประชาไทคุยกับ  ‘สะอาด’ ผู้มีบาดแผลจากระบบการศึกษาไม่มากไม่น้อยไปกว่าคนอื่น ถึงวิธีคิด วิธีการทำงานจนออกมาเป็นหนังสือการ์ตูน ‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน’

'สะอาด' ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์

ทำไมใช้เวลาทำหนังสือเล่มนี้ถึง 3 ปีกว่า?

 

อย่างแรกคือเป็นคนทำงานช้า แล้วก็เป็นคนไม่ชอบเล่าเรื่องส่วนตัวในสาธารณะ แต่คิดว่าประเด็นนี้ต้องใช้ความเป็นส่วนตัวในการเล่าถึงจะมีพลังในการสื่อสาร ปัญหาคือไม่รู้ว่าสิ่งที่เราคิดพอเล่าออกไปคนอื่นรู้สึกแบบเดียวกันไหม ขณะเดียวกันในช่วงแรกที่เริ่มทำ เราไม่มีความรู้ในประเด็นการศึกษา หรือมีแค่ผิวเผย รู้สึกว่าประเด็นของเรื่องไม่แข็งแรง เลยต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูล รวมถึงใช้เวลาคลำหาทิศทางของหนังสืออยู่นานพอสมควร แล้วเวลาพูดถึงประสบการณ์มันจะสะเปะสปะมากๆ เลยแก้ปัญหาโดยการให้เพื่อนอ่าน 5-6 คน ช่วยอ่าน ว่าเขาคิดยังไง รู้สึกยังไง จะแก้ยังไงดี เลยมี 5-6 ดราฟต์ก่อนมาเป็นต้นฉบับ แล้วการแก้แต่ละดราฟต์ก็เหมือนต้องใช้เวลาในการตกผลึกและการหาข้อมูลเพิ่มขึ้น

 

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าตอนแรกที่ทำหนังสือคุณมีวิธีคิดแบบ NGO แต่สุดท้ายก็เปลี่ยน เพราะอะไร?

 

ในช่วงแรกที่ทำหนังสือเล่มนี้เรามีวิธีคิดแบบ NGO คือ เราอยากสื่อสารให้คนตระหนักถึงปัญหาของการศึกษา ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือเอ็มพาวเวอร์คนที่อยู่ในแวดวงการศึกษาว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ หรือหาทางต่อรองกับมัน แต่มันยิ่งทำให้เราสับสนว่าอะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับการเป็นหนังสือการ์ตูน เราจะหาที่ยืนสำหรับหนังสือการ์ตูนเล่มนี้ที่เราโอเคกับมันและมีประโยชน์กับคนอ่านได้ยังไง

ยกตัวอย่างการ์ตูนที่ทำโดยองค์กรหรือมูลนิธิต่างๆ จะคล้ายกันอย่างหนึ่งคือ เวลาอ่านเราจะรู้เลยว่ามันถูกผลิตขึ้นมาเพื่อสื่อสารในเรื่องนี้ บทสรุปเป็นประมาณนี้ เหมือนการเอารูปแบบความเป็นการ์ตูนมาเสริมเพื่อให้เนื้อหาดูสนุกขึ้น ง่ายขึ้น แต่งานชิ้นนี้เราทำให้มันเบลอๆ ในแง่ของประเด็น เราไม่ได้เจาะจงว่าการ์ตูนเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า หรือการ์ตูนเรื่องนี้ได้รับการรองรับจากงานวิจัยชิ้นนี้ ไม่มีการอ้างอิงในรูปแบบนั้น เพราะเราคิดว่าหน้าที่ของการ์ตูน ถึงที่สุดมันควรจะเป็นศิลปะของการเล่าเรื่องที่เปิดโอกาสให้คนอ่านตีความหรือต่อยอดในมุมมองของเขามากกว่า ในขณะเดียวกันถ้า NGO จะเอาไปทำงานต่อก็เป็นหน้าที่ของเขาที่จะสื่อสารในแบบของเขาต่อไป

 

ดราฟต์แรกกับดราฟต์สุดท้ายต่างกันเยอะไหม?

 

ต่างเยอะ ต่างในเรื่องวิธีนำเสนอที่บอกไป และต่างเรื่องมู้ดของเรื่อง เพราะจุดหมายที่เราเขียนคืออยากให้มันมีความหวัง มีแสงสว่าง แต่พอให้เพื่อนอ่าน เพื่อนบอกว่าโคตรหดหู่เลยว่ะ โคตรดาร์กเลย โคตรสิ้นหวังเลย บางคนก็บอกว่า มึงต้องการอะไร ต้องการให้คนสิ้นหวังต่อระบบนี้ แค่นั้นเหรอ พอเราทบทวนแล้วเราก็คิดว่าไม่ได้ต้องการแบบนั้น แค่เราอาจจะรู้สึกสิ้นหวังจริงๆ ก็ได้ เลยเขียนออกมาโดยไม่รู้ตัว ในดราฟต์หลังๆ เราเลยขุดคุ้ยหาความหวังที่จะใช้ชีวิตในการต่อกรกับสังคมไทยต่อไป

ซึ่งก็มีตอนที่เราเรียนวารสารฯ  (ธรรมศาสตร์ สาขาสิ่งพิมพ์) เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เช่น เราได้ทำข่าวเรื่องค่าแรงยามในธรรมศาสตร์ แล้วกระบวนการทำข่าวก็มันส์มาก สามารถเล่าเป็นการ์ตูนสืบสวนได้เรื่องหนึ่ง หรืออย่างในแง่กระบวนการศึกษา เรามีปัญหากับระบบนี้มาตลอดแม้กระทั่งตอนเรียนมหาวิทยาลัย เราไม่ได้อยากเรียน เหมือนเราเรียนเพื่อให้ที่บ้านแฮปปี้ คิดจะลาออกหลายครั้งมาก แต่สุดท้ายเรากลับพบว่ามันมีกระบวนการบางอย่างที่เราไม่คาดคิด และเส้นทางทั้งหมดมันน่าเอามาเล่าได้ ซึ่งถ้าเล่าก็อาจจะสปอยล์ เพราะจะอยู่ในพาร์ทหลังของหนังสือเรื่องนี้

ภาพตัวอย่างในหนังสือ ‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน’

รายละเอียดในการ์ตูน บางอย่างเราก็ไม่ได้นึกถึง แต่พออ่านแล้วก็จำความรู้สึกตอนนั้นได้ทันที แสดงว่าคุณต้องฝังใจกับเรื่องพวกนี้จนจำได้แม่นมากๆ?

 

คนเราก็น่าจะต้องมีเรื่องที่สำคัญกับชีวิตหรือส่งผลกับเรามาจนถึงตอนโต เราก็มาพบตอนโตว่าปมด้อยส่วนใหญ่ในชีวิตเราโรงเรียนมีส่วนค่อนข้างเยอะ กระบวนการทำงานชิ้นนี้เหมือนการกลับไปเผชิญหน้ากับปมด้อยของเรา เหมือนการกลับไปทบทวนชีวิต เช่น เราเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองมากๆ หนังสือทุกเล่มที่เราออก เราจะคิดว่าขายไม่ออกแน่ๆ เลย หรือคนต้องไม่ชอบแน่เลย หรือเราเล่นบาส เวลาลูกสำคัญๆ เราก็จะคิดว่าลูกนี้ชู้ตไม่ลงแน่เลย แล้วความคิดแบบนี้มันเหมือนเป็นอัตโนมัติที่ติดตัวเรามา

สอดรับกับที่ตั้งแต่เป็นเด็กเรามีคำถามเยอะ แต่เราไม่ค่อยเจอเพื่อนแบบเนติวิทย์ (โชติภัทร์ไพศาล) เรายังไม่เจอคนที่รู้สึกว่าเขาคิดเหมือนเรา ทำให้เรารู้สึกแปลกแยก เราเคยบอกเพื่อนว่า เรียนไปก็ไม่เห็นได้อะไร เพื่อนก็บอกว่า เออใช่ แต่ก็เรียนๆ ไปเหอะ

เคยรู้สึกว่าหรือเราเป็นคนไม่ปกติของสังคม แล้วความรู้สึกไม่ปกติหรือแปลกแยกแบบนี้มันก็ไม่หายไปง่ายๆ ตอนเราโตขึ้น โตพอที่จะคิด วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ จนทำให้เรารู้ว่าเราอาจจะไม่ใช่คนไม่ปกติก็ได้ เราก็แค่ตั้งคำถาม แต่ความรู้สึกไม่มั่นใจที่เกิดขึ้นอัตโนมัติก็ยังอยู่ เพราะมันถูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว แค่มันดีขึ้น

ล่าสุดเราไปสอนเวิร์คชอปเขียนการ์ตูนให้ผู้ใหญ่ ความตั้งใจคืออยากให้ผู้ใหญ่ลองเขียนการ์ตูน ลองกลับมาเป็นเด็ก สร้างจินตนาการบนหน้ากระดาษ แต่เวิร์คชอปอันนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ไม่มีความกล้าที่จะเขียนออกมา มันเห็นตั้งแต่ลายเส้น ลายเส้นเขาจะมีความไม่มั่นใจเลย เราดูภาพแล้วเรารู้เลยว่าคนนี้คิดว่าสิ่งที่กูวาดมันจะสวยไหม เรื่องที่กูเล่ามันจะสนุกไหม ดีไหม เหมาะสมไหม

ขณะเดียวกันก็มีเด็กที่มาร่วมเวิร์คชอป วาดเร็วกว่าผู้ใหญ่แบบ 20 เท่า พอนั่งบนโต๊ะก็เริ่มละเลงอย่างไวมาก แล้วลายเส้นของเขาก็มั่นใจมากๆ เราพบว่าโดยพื้นฐานเด็กมันชอบวาดรูป เด็กชอบเล่าเรื่องในจินตนาการมากๆ โดยที่ไม่ได้ตัดสินความสวยงาม แต่พอโตขึ้นมันมีความกลัว ซึ่งเราคิดว่าโรงเรียนมีผลเยอะ

วิชาศิลปะในโรงเรียนคือการวาดรูปที่ต้องสวย ต้องมีคุณค่าระดับสูงอะไรแบบนั้น ทั้งที่ความจริงศิลปะที่อยู่ในระบบการศึกษาควรเป็นศิลปะที่ไม่ยึดติดกับความสวย แต่ควรออกแบบการเรียนศิลปะที่ตอบโจทย์ต่อความสุข หรือต่อแง่จิตวิทยา หรือต่อกล้ามเนื้อมือ หรือต่อการทลายความกลัว สิ่งพวกนี้เราเพิ่งมารู้ตอนโต ความสวยมันเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วมากๆ แม้แต่ในแวดวงการ์ตูน ความสวยมีผลน้อยมากๆ ต่อความสำเร็จในแง่วิชาชีพ เวลาที่ไปถามใครว่าทำไมไม่วาดรูปแล้ว เขาจะบอกว่าเขาเป็นคนวาดไม่สวย เราก็จะบอกว่า เออ เราก็วาดไม่สวยว่ะ (หัวเราะ)

 

แล้วลายเส้นคุณมาจากการต่อต้านการวาดสวยในโรงเรียนด้วยรึเปล่า?

 

ไม่ๆๆ (หัวเราะ) เป็นเนเจอร์เราที่เป็นคนไม่เนี้ยบ เราไม่ต่อต้านนะ ตอนช่วงประถมเราก็ตั้งใจวาด ระบายสีให้ตรงช่อง แต่ทำไปเรื่อยๆ ก็พบว่าทำได้ไม่ดีเท่าคนอื่น พอมัธยมเราก็เริ่มไม่แคร์ใคร เริ่มวาดตามใจ แล้วคะแนนศิลปะเราก็จะห่วยตลอดตั้งแต่เด็กจนโต

 

คณะในฝันที่อยากเรียน?

 

อยากเรียนคณะหนึ่งที่ยังไม่มีเปิดสอนในไทย คือคณะที่สอนเรื่องการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์เกี่ยวกับประเด็นสังคมโดยเฉพาะ มันอาจจะเคยมีเวิร์คชอปแบบนี้บ้าง แต่ถ้ามีคณะแบบนี้ก็น่าจะเป็นการรวบรวมไอเดียหลากหลายรูปแบบ มีคนที่เชี่ยวชาญในแบบที่หลากหลายมารวมกัน

 

พูดได้ไหมว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณหันมาสนใจประเด็นสังคม ประเด็นการเมือง ก็มาจากเรื่องการศึกษาในระบบที่คุณมีคำถามมาตั้งแต่เด็ก?

 

(นึกสักพัก) มันอาจจะมาพร้อมๆ กัน มันอาจจะมาเมื่อเกิดคำถามต่อระบบที่เราอยู่ แล้วมันทำให้เรามีคำถามไปสู่เรื่องอื่นๆ แล้วประกอบกับพอช่วงมหาวิทยาลัยเราอ่านหนังสือ อ่านนิตยสารเยอะ ทำให้เราสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในรูปแบบที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้เจาะไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนั้นสำคัญกว่าเรื่องนี้ ทุกเรื่องมีความสำคัญในแบบของมัน และเราก็อยากจะเล่ามันไปหมด โปรเจคต่อไปที่กำลังขอทุนอยู่ก็เป็นหนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับเรื่องที่ดินในประเทศไทย ก็เป็นการ์ตูนแบบนอนฟิคชั่น ต้องลงพื้นที่ สัมภาษณ์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เราชอบ คล้ายๆ สารคดีเหมือนกัน

 

สำหรับคนที่อยากได้หนังสือ

1 สำหรับนักอ่าน รับฟรีได้ที่งานหนังสือบูธ L09 (Kai3) (จำนวน 500 เล่ม แต่สามารถขอเพิ่มได้)

- โดยเขียนโพสต์ถึงงานของสะอาด เล่มไหนก็ได้ แง่ไหนก็ได้ ผ่านช่องทางไหนก็ได้ ติดแฮชแทค #อ่านสะอาด มายื่นให้พนักงานที่บูธดู

- ลงทะเบียนเป็นชื่อและอีเมล์ ไว้สำหรับแจ้งตอนที่มีเล่ม 2 ออกมา

2 คนที่อยู่ต่างจังหวัดหรือเป็นครูที่ต้องการหนังสือจำนวนมากไปใช้เป็นสื่อการสอน

สามารถอินบ๊อกซ์แจ้งชื่อ ที่อยู่ อีเมล์ เพื่อขอกับทางเพจ Thai Civic Education ได้โดยตรง (ส่งฟรีและจัดส่งสัปดาห์ละครั้ง)

ขอขอบคุณผู้สนับสนุนมูลนิธิ Friedrich-Ebert-Stiftung FES Thailand และ Thai Civic Education รวมถึงไก่ บอล โกพีท เนม นานา สอง กอล์ฟ 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท