Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความฯ และไอลอว์ เปิดคำพิพากษายกฟ้องคดีหมิ่นกษัตริย์ หนุ่มโพสต์ขายเหรียญ 10 ในราคา 5 บาท หลังรัชกาลที่ 9 สวรรคต แต่เอาผิด พ.ร.บ.คอมฯ ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ศาลเห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนาจะขายจริง และทำให้ผู้ใช้เฟสบุ๊กในกลุ่มขายของมือ 2 กว่า 9 หมื่นคนมีความสับสน

หากยังจำได้เมื่อ 2 ปีก่อนหลังจากที่กษัตริย์รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 ภายใต้บรรยากาศแห่งสูญเสีย และความโศกเศร้าที่ปกคลุมทั่วราชอาณาจักรไทย ความรุนแรงที่รัฐมีอาจความควมคุมได้คือ ความรุนแรงที่เกิดของจากประชาชน ที่มุ่งหมายกระทำกับประชาชนที่มีความแตกต่างทางความคิด ซึ่งไม่ได้แสดงความเศร้าโศกตามความคาดหวังว่า ‘คนไทยควรจะเป็น’ ก็ก่อตัวขึ้น ในหนึ่งหลายกรณีคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ เค นามสมมติ หนุ่มโรงงานในจังหวัดชลบุรี (เวลานั้นเขามีอายุเพียง 19 ปี) หลังจากเขาใช้เฟสบุ๊กส่วนตัวโพสต์ขายเหรียญกษาปณ์ในกลุ่มขายของมือสอง เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2559 ซึ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวเห็นว่าไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น

18 ต.ค. 2559 เวลา 11.00 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'คนข่าวบางปะกง' ได้เผยแพร่ภาพประชาชนบุกจับกุมตัวชายวัยรุ่นจากห้องพักแห่งหนึ่งแล้วนำตัวมากราบขอขมาต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ขณะที่เขาคุกเข่า และก้มกราบขอขมาต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์กลุ่มประชาชนที่จับตัวเขามาก็ได้เข้าใช้กำลังรุ่มทำร้าย ทั้งตบหัว เตะ และถีบ

คนข่าวบางประกง ได้เผยแพร่ภาพสดทางเฟซบุ๊ก live โดยเขียนบรรยายภาพเหตุการณ์ว่า

 "โพสต์หมิ่นเบื้องสูง ชาวบ้านเค้ารับไม่ได้ เลยช่วยกันตามล่าตัวจนเจอ และนำมากราบขอขมาต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ จะด้วยความคึกคะนองหรือมึนเมาแอดไม่ทราบนะครับ แต่ที่ทราบคือสังคมได้ลงโทษเค้าแล้ว แถมโดนไล่ออกจากงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คิดต่าง เห็นต่างได้ แต่อย่าลืม ว่าเรามีพ่อคนเดียวกัน"

ประชาทัณฑ์คนงานวัยรุ่นชลบุรี ถูกกล่าวหาโพสต์หมิ่นฯ

'ฟ้าเดียวกัน' ชวนระดมทุนประกันตัวคนงานเมืองชลฯ ผู้ถูกล่าแม่มดและถูกจองจำ

หนุ่มโรงงานชลบุรี ผู้ต้องหาคดี 112 ที่ถูกประชาทัณฑ์ได้รับการประกัน

ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ได้ไม่นานก็ถูกลบออก และ เค ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว เพื่อสอบสวน และพิจารณาขอศาลออกมาหมายจับในวันที่ 19 ต.ค. 2559

เหตุที่ เค ถูกจับตัวมากระทำการดังกล่าวได้เป็นเพราะมีมวลชนจำนวนหนึ่งเดินทางไปปิดล้อมบริษัทที่เขาทำงานอยู่ จนทำให้หัวหน้างานของเขาจำเป็นต้องบอกที่อยู่ให้มวลชนที่มาปิดล้อมทราบ หลังจากนั้นพวกเขาก็ได้ไปตามหาตัว เค จนเจอ

เคถูกตั้งข้อกล่าวว่ากระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) เนื่องจากโพสต์เฟสบุ๊กว่าจะขายเหรียญกษาปณ์ เขาถูกฝากขังที่เรือนจำจังหวัดชลบุรีตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.2559 กระทั่งได้รับความช่วยเหลือทางคดีจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และได้รับการประตัวโดยใช้หลักทรัพย์ที่รวมรวบผ่านการบริจาคจาก สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เป็นเงินทั้งสิ้น 2 แสนบาท ในวันที่ 22 พ.ย. 2559 เขาใช้เวลาต่อสู้คดีถึง 1 ปี 8 เดือนนับจากวันที่ถูกฝากขัง

ในกระบวนการพิจารณาคดี เค ยอมรับต่อศาลว่า ได้โพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้องจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในการต่อสู้คดีนี้ "เค" เบิกความต่อศาลว่า การโพสต์ขายเหรียญนั้นเป็นการโพสต์เล่นๆ ไม่ตั้งใจจะขายจริง เพราะเห็นว่า ก่อนหน้านี้มีคนนำเหรียญและธนบัตรมาโพสต์ขายกันในเพจนี้จำนวนมาก และเมื่อถูกตำหนิก็แสดงความเห็นไปโดยเจตนาตอบโต้คนที่เข้ามาตำหนิ ไม่ได้เจตนาดูหมิ่นรัชกาลที่ 9 หลังจากนั้นเห็นว่ามีคนมาตำหนิก็จึงลบโพสต์ทันที เพราะกลัวคนเข้าใจผิด แต่มีคนถ่ายภาพหน้าจอไว้ แล้วเอาไปโพสต์ซ้ำในเพจพร้อมเชิญชวนให้คนมาทำร้าย ก่อนเกิดเหตุไม่เคยฝักใฝ่ทางการเมือง ไม่รู้และไม่เข้าใจเรื่องทางการเมือง วันเกิดเหตุมีคนทั้งชายและหญิงบุกเข้ามาที่หอพักพร้อมทำร้ายที่ใบหน้าและร่างกาย ก่อนจะถูกล็อคคอลงมาด้านล่างเพื่อบังคับให้กราบพระบรมฉายาลักษณ์ ระหว่างนั้นก็ถูกทำร้ายตลอด จนตำรวจเข้ามาพาตัวไป มิเช่นนั้นก็จะถูกทำร้ายเพิ่มเติมอีก

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 ศาลพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ให้จำคุก 8 เดือน ส่วนข้อหาหมิ่นกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ยกฟ้อง คดีนี้ยังอยู่ระหว่างชั้นอุทธรณ์ เคขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์โดยเพิ่มหลักทรัพย์ประกันตัวเป็น 270,000 บาท

คำพิพากษาของศาลจังหวัดชลบุรี พอสรุปได้ดังนี้

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยใช้โทรศัพท์มือถือโพสต์ขายเหรียญกษาปณ์ชนิดต่างๆ ที่ปรากฏพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพร้อมข้อความประกอบ และแสดงความคิดเห็น มีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงประการเดียวว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

ศาลเห็นว่า เหรียญกษาปณ์เป็นเงินตราประเภทหนึ่ง ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เหรียญกษาปณ์แต่ละชนิดที่นำออกใช้จะมีมูลค่าเท่าใดขึ้นอยู่กับราคาซึ่งกำหนดไว้หน้าเหรียญ เหรียญกษาปณ์เป็นสังหาริมทรัพย์ที่สามารถนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ ในฐานะที่เป็นทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปหาไว้เป็นของสะสม ราคาของเหรียญในฐานที่เป็นทรัพย์สินย่อมขึ้นอยู่กับความต้องการหรือความนิยมของผู้ซื้อและความพอใจของผู้ขาย ราคาขายจึงอาจสูงหรือต่ำกว่าราคาที่หน้าเหรียญ การขายเหรียญในราคาที่ต่ำกว่าราคาหน้าเหรียญจึงมีผลเพียงแต่ลดทอนมูลค่าของเหรียญกษาปณ์ แต่ไม่มีผลเป็นการลดทอนคุณค่าในเชิงสัญลักษณ์บนเหรียญกษาปณ์ที่แสดงถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

ทั้งการที่พสกนิกรชาวไทยซึ่งอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชต่างรักเคารพเทิดทูนพระองค์ท่าน ก็โดยเหตุที่ว่า ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันมีคุณประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวไทยนานัปการ ความรักเคารพเทิดทูนของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระองค์ท่านจจึงไม่แปรผันไปตามมูลค่าของเหรียญกษาปณ์ที่สูงขึ้นหรือต่ำลง การที่จำเลยโพสต์ภาพเหรียญกษาปณ์ชนิดต่างๆ พร้อมข้อความประกาศขายเหรียญทั้งหมดในราคาเดียว ไม่ว่าจะมีเจตนาขายเหรียญกษาปณ์นั้นหรือไม่ จึงไม่เป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่่น่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ไม่เป็นการดูถูกเหยียดหยามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

จำเลยต้องการโพสต์เพื่อสร้างความตลก แต่ผู้ที่รับสารไม่ได้คิดแบบเดียวกัน เมื่อถูกตำหนิจำเลยจึงโกรธ และแสดงความคิดเห็นโดยใช้คำสรรพนามไม่สุภาพต่อว่าผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า “เหมาเหรียญ 10 เหรียญละ 5 บาท ใช่ไหมคะ” ซึ่งเป็นการสอบถามในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขายโดยตรง จำเลยกลับไม่ตอบ แต่ตอบโต้คนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นในทางตำหนิจำเลยทันที แสดงเจตนาที่อยู่ภายในใจว่า จำเลยมิได้มีเจตนาจะขายเหรียญจริง โพสต์ของจำเลยจึงเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยหลอกลวง การกระทำของจำเลยมีผลเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของเพจ ทำให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกของเพจที่มีอยู่ประมาณ 90,000 คน และผู้ดูแลรู้สึกสับสน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1)

ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 ยกเลิกความในมาตรา 14 เดิม และให้ใช้ความใหม่แทน ปรากฏว่า กฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลย

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 19 ปี เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษลงหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา 76 จำคุก 1 ปี คำรับสารภาพในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างนับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

เรียบเรียงจาก: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน , iLaw

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net