'ป่ารุกคน' วิสัยทัศน์นักการเมืองต่อปัญหาทรัพยากรที่ดินชายแดนใต้

'คนธรรมดา-ประชาธิปัตย์-ประชาชาติ-สามัญชน-อนาคตใหม่' ร่วมวงเปิดวิสัยทัศน์ต่อปัญหาและทางออกของปัญหาทรัพยากรที่ดินชายแดนใต้

ภาพบรรยากาศเสวนา

19 ต.ค.2561 ตัวแทนพรรคการเมืองแสดงวิสัยทัศน์ต่อปัญหาและทางออกของปัญหาทรัพยากรที่ดินชายแดนใต้ ในงาน “ออแฆกำปงเสวนา” ครั้งที่ 2 "ทรัพยากรที่ดินชายแดนภาคใต้: พรรคการเมืองกับบทบาทในการแก้ปัญหา" เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ บริเวณมัสยิดกรือเซะ ต.ตันหยงลุโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี

โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย ธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานงานฝ่ายกฎหมายและอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่าที่เลขาธิการพรรคประชาชาติ ปกรณ์ อารีกุล ว่าที่โฆษกพรรคพรรคสามัญชน และ นิรามาน สุไลมาน กรรมการบริหารพรรคของพรรคอนาคตใหม่ ดำเนินรายการโดย เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ธนพร ศรียากูล กล่าวว่า ปัญหาทรัพยากรที่ดินในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย เพราะประเทศไทยปกครองแบบรัฐรวมศูนย์ พื้นที่ต่างๆ จึงประสบปัญหาคล้ายๆ กัน จะต่างกันตรงที่พื้นที่ชายแดนใต้ถูกดทับด้วยกฎหมายพิเศษต่างๆ มากกว่าพื้นที่อื่นๆ เมื่อโครงสร้างของสังคมเป็นไปในลักษณะดังกล่าวนี้จึงยากต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชน กลายเป็นว่าคนที่นำเรื่องทรัพยากรที่ดินไปพูดแทนประชาชนอาจโดนข้อกล่าวหาว่าไม่รักชาติ หรือมีข้อคำถามว่าไม่อยากเห็นความสงบสุขของประเทศหรือ? เสมือนว่าคนพูดถึงปัญหาเป็นคนที่ผิด ดังนั้น หากเราไม่เข้าใจปัญหาที่กดทับอยู่เราก็จะไม่สามารถออกนโยบายแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้

ภาพบรรยากาศเสวนา

วิรัตน์ กัลป์ยาศิริ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลหน้าจะต้องทำคือสำรวจให้ชัดเจนว่าใครอยู่ก่อนใคร อุทยานแห่งชาติประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2542 แต่ประชาชนอยู่มาก่อน 400 ปี เพราะการสำรวจว่าใครอยู่ก่อนใครเป็นหน้าที่ของรัฐ ประเด็นคือหลักสิทธิชุมชนมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นปัญหาเหล่านี้หากไม่แก้ไข พี่น้องประชาชนจะไม่มีที่อยู่ โดยเฉพาะกรณีเทือกเขาบูโด หากพิสูจน์ได้ว่าโฉนดของประชาชนหรือหลักฐานอื่นๆ ว่าเป็นของประชาชนจริงๆ จะต้องส่งคืนที่ดินให้กับประชาชน เพราะกรณีเทือกเขาบูโดคือรัฐรุกคน ดังนั้น รัฐจะต้องคืนสิทธิให้กับประชาชน

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า การกระจายความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน รวมถึงการกระจายความสามารถในการแจกจ่ายเอกสารสิทธิ เป็นสิ่งที่ควรทำแทนที่การมีโครงการพัฒนาต่างๆ แต่ทว่าในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น นับได้ว่าเป็นความอ่อนแอของสังคมไทยอย่างมาก ดังนั้น ถึงเวลาที่เราจะต้องมาพูดคุยกันถึงเรื่องที่ดินที่อยู่ในกรมที่ดิน กล่าวคือ ที่ดินในประเทศของเรามีอยู่ 320 ล้านไร่ ครึ่งหนึ่งเป็นโฉนดที่อยู่กับกรมที่ดินอีกครึ่งกว่าๆ อยู่กับกระทรวงทรัพย์ฯ โดยที่ประชากรไทยมีประมาณ 65 ล้านคน มีเพียง 15 ล้านคนเท่านั้นที่มีโฉนดที่ดิน และใน 15 ล้านคน คนเพียง 10% มีที่ดินถึง 90% เราจึงควรผลักดันให้โอนเรื่องการจัดการที่ดินจากส่วนกลางมาสู่ท้องถิ่น เพื่อมาบริหาร เช่น พิจารณาดูว่ามีที่รกร้างอยู่หรือไม่ หากมีก็ควรเก็บภาษีแล้วเอามาสนับสนุนเรื่องการศึกษาและการพัฒนา เป็นต้น อีกประเด็นคือ ที่ดินที่อยู่ในกระทรวงทรัพย์ฯ ก็ควรจะต้องโอนให้มาอยู่ในการดูแลของชุมชน โดยที่ดินที่เป็นป่ามีอยู่ 164 ล้านไร่ แต่ที่เป็นป่าจริงๆ มีอยู่ 97 ล้านไร่ ที่ไม่ได้เป็นป่ามีอยู่ 67 ล้านไร่ ปรากฏว่ามีที่ดินที่ให้คนรวยเช่า 4 ล้านกว่าไร่ ทั้งๆ ที่คนจนไม่มีที่ดินจะทำกินแต่เหตุใดถึงให้คนรวยเช่า และในกรณีของเทือกเขาบูโดในช่วงการประกาศเป็นพื้นที่ป่า มีพื้นที่ทั่วประเทศอีก 7.7 ล้านไร่ ที่กลายเป็นว่าคนไปขีดเส้นให้ป่ารุกคน ดังนั้น เราจึงต้องคิดในเรื่องของการคืนสิทธิ คืนอำนาจไปสู่ประชาชน เราจะคืนทุกอย่างแม้แต่ทรัพย์สินให้กับประชาชน

ปกรณ์ อารีกุล กล่าวว่า ข้างต้นคุณทวีได้บอกเราแล้วว่าที่ดินในประเทศของเรามี 320 ล้านไร่ อยู่ในกรมที่ดิน 130 ล้านไร่ อยู่ในที่ของรัฐ 144 ล้านไร่ ที่ สปก. 34 ล้านไร่ และที่ราชพัสดุ 9.78 ล้านไร่ ประเด็นปัญหาเรื่องที่ดินคือการกระจุกตัว กล่าวคือ คน 90% ไปกระจุกตัวอยู่ในที่ดิน 10% แต่คนอีก 10% มีที่ดินถึง 90% และดังที่คุณทวีกล่าวมาแล้วว่าคนไทยที่มีโฉนดมีอยู่เพียง 15 ล้านคน ในจำนวนนี้มีคนภาคใต้ที่มีโฉนดอยู่ 1.8 ล้านคนเท่านั้น นอกจากนั้นเมื่อไปดูความเหลื่อมล้ำในประเด็นที่ดินปรากฏว่าคนภาคใต้จะอยู่ที่ 2 รองจากภาคกลางเพราะภาคกลางมีกรุงเทพฯ รวมอยู่ด้วย และภาคที่เหลื่อมล้ำน้อยที่สุดคือภาคอีสาน ประเด็นก็คือถ้าประเทศไทยไม่มีภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า การกระจุกตัวเหล่านี้ก็จะดำเนินต่อไป และอาจส่งผลให้ประชาชนบางส่วนต้องไปทำมาหากินในที่ดินของรัฐหรือบุกรุกที่ดินของรัฐ ในขณะที่กรณีบูโดประชาชนอยู่มาก่อนที่จะมีกรมป่าไม้ ซึ่งตัวเลขสองแสนกว่าไร่เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก ตั้งแต่มีการประกาศเขตป่าที่ดินกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศไทยกลายเป็นเขตป่า นาทีนั้นคนใน 4,675 ตำบล จำนวน 1.8 ล้านรายทั่วประเทศกลายเป็นผู้บุกรุก ดังนั้นคน 1.8 ล้านคน ควรรวมตัวกันทำข้อมูลยื่นให้กับรัฐบาลหน้าที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อพิสูจน์สิทธิและรับรองว่าที่ดินที่ท่านอยู่มาก่อนจะต้องออกเอกสารสิทธิรับรอง

ภาพบรรยากาศเสวนา

นิรามาน สุไลมาน กล่าวว่า ปัญหาเรื่องที่ทับซ้อน การถูกรุกล้ำสิทธิ การไม่ได้ครอบครองเอกสารสิทธิต่างๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากการตรากฎหมายที่อ่านแล้วเข้าใจยาก บางครั้งหน่วยงานของรัฐเองก็อ่านไม่เข้าใจจนเกิดความขัดแย้งเพราะเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างหน่วยงาน ทั้งที่กฎหมายควรเป็นสิ่งที่ประชาชนคนธรรมดาอ่านแล้วเข้าใจง่าย หรืออย่างกรณีการขีดเขตเส้นอุทยานที่หน่วยงานของรัฐประชุมวางแผนกันที่กรุงเทพฯ โดยไม่ได้ไปดูว่ามีประชาชนอาศัยอยู่หรือไม่ กลายเป็นการรุกล้ำที่อยู่อาศัยของประชาชน ตรงนี้เกิดจากความไม่เอาใจใส่ในหน้าที่การงานราชการของเจ้าที่ที่รับผิดชอบจนส่งผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้น สิ่งที่เราจะทำก็คือ ทำให้กฎหมายอ่านแล้วเข้าใจง่าย  ประชาชนอ่านแล้วเข้าใจและสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างแท้จริง หลักการของเราก็คือ ปลดล็อก ปรับโครงสร้าง และเพิ่มโอกาสให้กับประชาชน ในความเป็นจริงแล้วควรให้สภาประชาชนขึ้นไปประชุมร่วมกับภาครัฐเพื่อมาคุยกันว่าจะดำเนินการเช่นไรกับสิทธิการครอบครองที่ดิน ข้อสรุปก็คือ หากท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการตนเอง เราจะได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดีที่สุด

ฉะนั้นแล้ว ถึงที่สุดปัญหานี้จะถูกจัดการอย่างไรจากผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายในอนาคตไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใด จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้

สำหรับกิจกรรมเสวนานี้ จัดโดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง และมีองค์กรร่วมจัดประกอบด้วย เครือข่ายนักวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ เครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท