สำรวจเส้นทางรถไฟสายมรณะ-เพื่อให้เรื่องราวของแรงงานเอเชียถูกมองเห็นอีกครั้ง

ในโอกาส 75 ปีการก่อสร้างทางรถไฟไทย-พม่าหรือ 'ทางรถไฟสายมรณะ' เสร็จสมบูรณ์ ญาติมิตรของแรงงานเหล่านั้นได้สำรวจร่องรอยของเส้นทางรถไฟจากบ้านโป่งไปจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ ชายแดนไทย-พม่า รวมทั้งประกอบพิธีทางศาสนาแบบฮินดูที่ริมแม่น้ำแควใหญ่ ให้กับดวงวิญญาณของแรงงานก่อสร้างทางรถไฟที่ไม่มีโอกาสได้กลับภูมิลำเนาอีกเลย โดยทางคณะเพิ่งทางจากสถานีรถไฟ จ.ราชบุรี และเพิ่งกลับถึงชายแดนไทย-มาเลเซียที่ด่านปาดังเบซาร์ในวันศุกร์นี้

พ. จันทราเสคาราน ประธานกลุ่มศึกษาทางรถไฟสายมรณะ (DRIG) ให้สัมภาษณ์ถึงการเยือนในโอกาสครบรอบ 75 ปีการก่อสร้างทางรถไฟไทย-พม่า หรือ 'ทางรถไฟสายมรณะ' โดยเรียกร้องให้ทางการไทยสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับแรงงานชาวเอเชียที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟไทย-พม่าความยาวกว่า 415 กม. ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากทั้งแรงงานเชลยศึกสัมพันธมิตรและแรงงานชาวเอเชียจากประเทศต่างๆ

000

ตามที่มีข่าวกลุ่มศึกษาทางรถไฟสายมรณะ (Death Railway Interest Group-DRIG) องค์กรภาคประชาสังคมที่มุ่งบันทึก นำเสนอเรื่องความทรงจำของคนงานชาวมาเลเซียที่มาสร้างทางรถไฟได้ ได้นำคณะญาติคนงานสร้างทางรถไฟไทย-พม่า มาย้อนรอยและจดจำประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม โดยผู้ร่วมเดินทางประกอบด้วชาวมาเลเซีย อินเดีย ญี่ปุ่นและไทย รวม 13 คน ซึ่งออกเดินทางมาจากมาเลเซียตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. และเริ่มเยือนสถานีรถไฟบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อ 14 ต.ค. และเริ่มเยือน จ.กาญจนบุรีในวันที่ 15 ต.ค. นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ญาติมิตรแรงงานเอเชียสำรวจเส้นทางรถไฟสายมรณะจนถึงชายแดนไทย-พม่า

คณะผู้ร่วมเดินทางส่วนหนึ่ง ที่เดินทางมารำลึก 75 ปีการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ ถ่ายรูปร่วมกันที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2561 โดยที่บ้านโป่งเป็นจุดแรกๆ ที่แรงงานเอเชียและเชลยศึกสัมพันธมิตรเดินทางมาถึงเพื่อเตรียมสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อกับพม่า (ที่มา: DRIG)

แรงงานเชื้อสายทมิฬรวมตัวกันในแคมป์พัก หลังทราบถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2488 ส่วนทหารญี่ปุ่นที่อยู่ด้านหน้าของภาพที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ รปภ. ของสถานีรถไฟ บัดนี้ถูกควบคุมตัวโดยฝ่ายสัมพันธมิตรแทน อย่างไรก็ตามหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แรงงานสร้างทางรถไฟชาวเอเชียเหล่านี้ก็มักจะอยู่ท้ายแถวเสมอเวลาต้องรับอาหารและยารักษาโรค ขณะที่เจ้าอาณานิคมให้ความสำคัญในการพาเชลยทหารสัมพันธมิตรเดินทางกลับบ้านเป็นลำดับแรกๆ ก่อน (ที่มา: anzacportal.dva.gov.au)

สถูปใหญ่บรรจุกระดูกของแรงงานชาวเอเชียที่เสียชีวิตในช่วงก่อสร้างทางรถไฟ ที่สุสานของวัดถาวรวราราม อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสุสานดอนรัก ที่เป็นที่ฝังศพเชลยสัมพันธมิตร (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ/เมษายน 2557)

อนุสรณ์สถานที่ฝ่ายญี่ปุ่นสร้างไว้ใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 โดยรอบอนุสรณ์สถานมีข้อความจารึกเป็นภาษาต่างๆ ที่เป็นภาษาของแรงงานชาวเอเชียทั้งภาษาจีน ภาษาเวียดนาม ภาษาทมิฬ และภาษามลายู เป็นต้น (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ/มีนาคม 2558)

ต่อมาวันที่ 15 ต.ค. ทางคณะได้เดินทางด้วยรถไฟจากสถานีรถไฟสะพานข้ามแม่น้ำแควใหญ่ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ไปถึงสถานีรถไฟน้ำตกที่ อ.ไทรโยค ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานีสุดท้ายของทางรถไฟสายมรณะที่เปิดใช้งาน ก่อนเดินทางด้วยรถยนต์ไปยัง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

และในวันที่ 16 ต.ค. ได้สำรวจสภาพเส้นทางรถไฟสายมรณะที่เหลืออยู่ โดยเริ่มจากสถานีด่านเจดีย์สามองค์ ชายแดนไทย-พม่า และเดินทางย้อนกลับมาที่สถานีรถไฟซองกาเลีย เพื่อสำรวจส่วนที่เหลือของสะพานคอนกรีตข้ามห้วยซองกาเลีย ซึ่งเคยใช้เป็นสะพานชั่วคราวในช่วงก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ นอกจากนี้ได้แวะสำรวจบริเวณสะพานรันตี บนทางหลวงหมายเลข 323 ซึ่งใกล้กับสถานีรถไฟนิเกะ จมอยู่ใต้ระดับน้ำของเขื่อนวชิราลงกรณ์

อย่างไรก็ตามทางคณะไม่ได้ไปบริเวณสถานีรถไฟแก่งคอยท่า ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีเปิดการเชื่อมต่อรถไฟไทย-พม่าเมื่อ 75 ปีที่แล้ว เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของ ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี นั้นที่ตั้งปัจจุบันอยู่ห่างจากทางหลวงรวมทั้งชุมชน อีกทั้งยังจมอยู่ใต้ระดับน้ำของเขื่อน

ชาวญี่ปุ่นในไทยทำบุญรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการสร้างทางรถไฟสายมรณะ, 7 มีนาคม 2559

แรงงานผู้รอดชีวิตจากการสร้างทางรถไฟสายมรณะฉลองวันเกิดครบ 100 ปี, 12 เมษายน 2560

75 ปีทางรถไฟสายมรณะ-ญาติแรงงานชาวเอเชียหวังให้ในบันทึกไม่ได้มีแค่ฝ่ายตะวันตก, 16 ตุลาคม 2561

เยี่ยมลูกชายอดีตแรงงานก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ

โดยในช่วงเย็นวันที่ 16 ต.ค. ทางคณะมาถึง ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี และยังได้พบกับสมจันทร์ ชาละวันกุมภี วัย 53 ปี บุตรชายของอยู่ ชาละวันกุมภี หรือลุงอยู่ อดีตแรงงานก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถูกทหารญี่ปุ่นใช้วิธีเกณฑ์คนหนุ่มมาจากเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียตั้งแต่อายุ 15 ปี ด้วย โดยหลังสงคราม ลุงอยู่ตัดสินใจอาศัยและมีครอบครัวอยู่ในประเทศไทย และเพิ่งเสียชีวิตไปไม่กี่ปีมานี้

ทั้งนี้จันทราเสคารานกล่าวถึงการได้มีโอกาสพบกับทายาทของแรงงานก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะอีกครั้งว่า "เป็นความรู้สึกที่แปลกประหลาด ไม่ใช่ดีใจหรือเสียใจ พอดีผมพูดภาษาไทยไม่ได้ ส่วนเขาก็พูดภาษามลายูไม่ได้ ต้องสื่อสารกันผ่านล่าม" ขณะที่สมจันทร์จะทำบุญกระดูกอุทิศส่วนกุศลให้กับบิดาในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้้ด้วย

ค.คณะปติ (K. Kanapathy) อายุ 71 ปี ชาวมาเลเซียเชื้อสายทมิฬ จากพอร์ต ดิกสัน รัฐเนกรีเซมบิลัน ประเทศมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์ด้วยว่าพ่อและแม่ของเขาถูกเกณฑ์มาจากบริติชมลายาเพื่อมาก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ ต่อมาลุงกับป้าของเขาที่เดินทางมาด้วยได้เสียชีวิตระหว่างที่มาทำงาน โดยหลายปีต่อมาหลังสิ้นสุดสงคราม แม่ได้คลอดเขาที่บริติชมลายา

คณะปติกล่าวว่าเมื่อเขาโตขึ้น เคยเดินทางมาประเทศไทยหลายครั้งแต่ก็มาเฉพาะกรุงเทพฯ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้กลับมารำลึกเส้นทางรถไฟสายมรณะที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกในครอบครัวของเขา โดยในครอบครัวยังคงเก็บธนบัตรญี่ปุ่นที่มีการพิมพ์ใช้ในสมัยสงครามอีกด้วย

เยือนพิพิธภัณฑ์ที่กาญจนบุรีและประกอบพิธีทางศาสนาให้ผู้เสียชีวิต

สำหรับกำหนดการในช่วงท้ายของการเยือนนั้น ในวันที่ 17 ต.ค. ทางคณะได้เยือนพิพิธภัณฑ์ทางรถไฟสายมรณะในตัวเมือง จ.กาญจนบุรี รวมทั้งสุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก และในวันที่ 18 ต.ค. ทางคณะได้ทำพิธีทางศาสนาฮินดูที่ริมแม่น้ำ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแควใหญ่ ให้กับแรงงานผู้เสียชีวิตจากการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะและไม่มีโอกาสได้กลับภูมิลำเนาหลังสงครามสิ้นสุด โดยจันทราเสคารานอธิบายด้วยว่าพิธีที่ประกอบนั้นเป็นพิธีทางศาสนาฮินดูที่แต่เดิมประกอบที่แม่น้ำคงคาให้กับผู้เสียชีวิต

โดยทางคณะได้เดินทางกลับโดยรถไฟขบวน 31 จากสถานีรถไฟ จ.ราชบุรี ในช่วงเย็นวันที่ 18 ต.ค. ไปยังสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลา ก่อนเดินทางพรมแดนมาเลเซียที่ด่านปาดังเบซาร์ในวันนี้ (19 ต.ค.)

อนึ่งทางกลุ่ม DRIG ได้เผยแพร่แถลงการณ์ในโอกาสครบรอบ 75 ปีการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ โดยเรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นถึงความจำเป็นในการมีอนุสรณ์สถานและศูนย์ข้อมูลที่เป็นกิจจะลักษณะที่จะทำให้แรงงานชาวเอเชียถูกมองเห็น แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน แต่ทางกลุ่มก็ยังหวังว่าจะได้เห็นข้อเรียกร้องเป็นจริงในขณะที่เหล่าแรงงานผู้รอดชีวิตที่ยังเหลือเป็นกลุ่มสุดท้ายยังไม่จากไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท