Skip to main content
sharethis

การนำเสนอของจามะรี เชียงทอง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าเรื่องงานศึกษาของคาร์ล มาร์กซ์ ต่อสังคมเกษตร ว่าเขามองเรื่องสิทธิในที่ดิน การสะสมทุน และการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรไปสู่สังคมทุนนิยมอย่างไร

จามะรี เชียงทอง: Marx’s Agrarian Studies

จามะรีเริ่มต้นนำเสนอว่านี่เป็นการประยุกต์หัวข้อการพูด เพราะ Agrarian Studies ไม่สามารถเป็นคนๆ เดียวได้ มันมีคนอื่นต่อ และช่วงเวลา 200 ปีก็เป็นช่วงเวลาอันยาวนาน 

Agrarian Transition หมายถึงการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรไปสู่สังคมทุนนิยม ส่งผลให้จำนวนประชากรในภาคเกษตรลดลง และในยุคต้นของทุนนิยมยังคงหมายถึงจำนวนกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นด้วย จริงๆ อันนี้คือ Capital Volume 1 เป็นการมองจากสังคมชนบท 
Agrarian Studies หมายถึง การศึกษาการเข้าถึงที่ดินในชุมชนชนบท เช่น เข้าถึงปัจจัยการผลิต และการศึกษาความสัมพันธ์ในกระบวนการผลิต ระหว่างชาวนากับเจ้าของที่ดิน ชาวนากับนายทุน หรืออาจรวมไปถึงชาวนากับรัฐด้วยก็ได้

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: Karl Marx มายาหรือวิทยาศาสตร์? | 200 ปี คาร์ล มาร์กซ์

200 ปี Karl Marx: ธิกานต์ ศรีนารา – ลัทธิมาร์กซ์เข้าสู่อีสานเมื่อไหร่ อย่างไร?

200 ปี Karl Marx : ปวงชน อุนจะนำ เรียนรู้วิกฤตชีวิตมาร์กซ์ พลิกโอกาสต่อสู้ในปัจจุบัน

200 ปี Karl Marx: เก่งกิจ กิติเรียงลาภ–วิพากษ์ Anthropocene ขายวิกฤติธรรมชาติ แยกขาดจากทุนนิยม

200 ปี Karl Marx: สรวิศ ชัยนาม - รักเดือดแดงมาแต่เดิม

ดังนั้นสิ่งที่จะนำเสนอมี 6 ประเด็น ใน 3 ประเด็นแรก เป็นการเปลี่ยนแปลงในอังกฤษ รัสเซีย และบทบาททางการเมืองของชาวนาในฝรั่งเศส ส่วน 3 ประเด็นหลังเป็น Marxism

1. ปี 1818-1883 ใน Capital เล่ม 1 ครึ่งแรก เราจะอ่านไม่เข้าใจและทำให้เราท้อ แต่พอมาตอนหลังมันจะพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของอังกฤษ เมื่อพูดถึง Agrarian Transition แล้วอ้างมาร์กซ์นั้นหมายถึงการสะสมทุนขั้นต้นซึ่งหมายถึงกระบวนการล้อมรั้วของเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ในยุโรปเพื่อใช้ในการเลี้ยงแกะเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 18 มีการออกเป็นกฎหมายในประเด็นเรื่องนี้ด้วย เป็นการพูดถึงการที่ชาวนาหลุดออกจากที่ดิน เหลือแต่เพียงแรงงานที่สามารถขายได้ราคาถูก ทำให้นายทุนสามารถตักตวงแรงงานราคาถูกได้ เพราะไม่มีที่จะไป ให้ค่าจ้างเท่าไรก็ต้องขาย ฉะนั้น การสร้างทุนนิยมในช่วงแรกด้วยแรงงานราคาถูกก็ทำให้เกิดกำไรสะสมขึ้นมา

ในกระบวนการที่หลุดออกจากภาคเกษตร ชาวนากลายเป็นกรรมกรในโรงงานหรือบางส่วนก็เป็นกรรมกรในชนบท ส่วนใหญ่พูดถึงกระบวนการล้อมรั้ว แต่มีอีกส่วนที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือ domestic system เป็นผู้ผลิตขนาดเล็ก ผลิตในบ้าน หรือเป็นโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งเกี่ยวพันกับสิ่งที่เรียกว่า putting out system หรือนายทุนนำปัจจัยการผลิตมาจ้างชาวนาผลิต ถือเป็นการใช้แรงงานชาวนาโดยที่ชาวนาไม่ต้องสูญเสียสิทธิในการใช้ที่ดิน และยังทำให้นายทุนสามารถเข้าถึงแรงงานของชาวนาได้ ประเด็นนี่อยู่ในภาคผนวก ทุนใช้แรงงานในรูปแบบก่อนทุนนิยมหรือไม่ใช่ทุนนิยม

อีกประเด็นหนึ่งของอังกฤษที่คนไม่ค่อยพูดถึง คือ การเกิดขึ้นของชาวนารวย มีพูดอยู่เป็นบทสั้นๆ เท่านั้น จากการที่เจ้าของที่ดินบางรายให้เช่าที่ดินแก่ผู้จัดการฟาร์ม เช่ายาวถึง 99 ปีก็มี ในศตวรรษที่ 14-16 เป็นช่วงที่สินค้าราคาขึ้น บางคน (ขีดเส้นใต้) กลายเป็นเกษตรกรที่มีฐานะดีขึ้น แล้วศตวรรษที่ 18-19 ก็เห็นชัดเจนว่ามีชาวนารวยเกิดขึ้นซึ่งใช้แรงงานจ้าง หรือจ้างชาวนาจนคนอื่นๆ มาร์กซ์ก็พูดทำนองว่า มันอาจเป็น genesis ที่จะเกิดเป็น capitalist farm

2.การศึกษาในรัสเซีย ไม่มีอยู่ใน Capital อาจมีได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรก มาร์กซ์เคยเขียนจดหมายโต้ตอบกับ Vera Zasulich นักวิชาการรัสเซียเกี่ยวกับปฏิกริยาและคำถามของผู้อ่านรัสเซียตอน Capital ตีพิมพ์เป็นภาษารัสเซียว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรรัสเซียเป็นอย่างไร มาร์กซ์ก็พูดคล้ายกับว่า ในรัสเซียมีแนวทางของการทำให้เป็นอุตสาหกรรม จึงต้องคอยให้ชาวนาเปลี่ยนเป็นกรรมกรเสียก่อนเช่นเดียวกับที่เกิดในอังกฤษ แต่เขาพูดในตอนท้ายของจดหมายด้วยว่า แต่ละประเทศมีเส้นทางไม่เหมือนกัน เช่น โรมันโบราณก็อาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวกัน แต่ซาซูริชก็ยังสนใจประเด็นนี้ มันจะเป็นรูปแบบของสังคมนิยมที่ดีได้หรือไม่โดยไม่ต้องผ่านการเป็นทุนนิยมมาก่อน 

ทีนี้ในรัสเซียเนื่องจากมาร์กซ์ไม่ค่อยได้เขียนไว้มาก แต่เลนินเขียนเรื่องนี้ไว้ใน Rise of Capitalism ในรัสเซีย ตั้งแต่ปี 1899 บอกว่า มันมีเมืองใหญ่ในรัสเซียแค่ 2 เมืองคือ มอสโคว กับ เซนส์ปีเตอร์สเบิร์ก ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรม เลนินบอกว่ามันมีทุนนิยมเกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นทุนนิยมในภาคเกษตรกรรมคือ ทำการผลิตเพื่อขาย เกิดสองขั้วทางชนชั้นคือ ชาวนารวยกับชาวนาจน แล้วชาวนาจนก็ต้องขายแรงงานในชนบท สำหรับนัยทางการเมือง นี่คือตอนที่มาร์กซิสต์เริ่มจะขยับมาเป็นนักการเมืองมากขึ้น มีนัยทางการเมืองที่สามารถร่วมกับกรรมกรในเมืองได้ 

3. การวิเคราะห์ชาวนาฝรั่งเศสในช่วงปี 1848-1850  มาร์กซ์เขียนบทความไว้อันหนึ่งตอนที่ปฏิวัติประชาชนไม่สำเร็จในปี 1848 เป็นปีที่สำคัญสำหรับประวัติศาสตร์ยุโรป มันมีปฏิวัติต่างๆ มากมาย เอาสั้นๆ คือ มีเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองมีการตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล ประชาชนเลือกหลุยส์ โบนาปาร์ต ซึ่งเป็นหลานของนโปเลียนที่ 1 ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปี 1848 มาร์กซ์ผิดหวังมาก ในฝรั่งเศสเรียกว่ามีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นประเทศแรกในโลก ชาวนามาเลือกนโปเลียน โบนาปาร์ตเยอะเลย คิดถึงผู้เป็นลุงคือ นโปเลียนที่ 1 ที่เคยออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับที่ดินต่างๆ เอื้อประโยชน์ต่อชาวนาคือ เอาที่ดินของขุนนางมาเป็นแบ่งปัน ทีนี้พอผ่านไป 3 ปี เริ่มผิดหวัง เพราะแกก็ขึ้นภาษีกับชาวนา แล้วฝรั่งเศสมีปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย รัฐบาลต้องหาเงินพยายามขึ้นภาษีนั่นนี่ แล้วพยายามประนีประนอมกับทุกๆ กลุ่ม ทั้งนายทุน กรรมกร ชาวนา เอาสั้นๆ คือสามปีเริ่มเห็นความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาล หลังจากนั้นปี 1852 โบนาปาร์ตประกาศตัวเป็นจักพรรดิ สถาปนาจักวรรดิขึ้นมาอีกครั้งในเดือนธันวาคม

มีอีกบทความหนึ่งเรื่อง Class struggle เขียนในปี 1848-1850 เขียนก่อนโบนาปาร์ตสถาปนาตัวเอง ฉบับแปลอังกฤษเรียกอย่างเหยียดหยามว่า “หลานของลุง” ลุงของเขาคือนโปเลียนที่ 1 แล้วนโปเลียนที่ 1 สถาปนาตัวเองเป็นจักพรรดิหลังจากปฏิวัติไปแล้ว แล้วกลับเอาระบบจักวรรดิมาใช้อีก แล้วนโปเลียนที่ 3 ก็ล้มรัฐธรรมนูญแล้วสถาปนาตัวเองเป็นจักพรรดิอีกในปี 1852 โดยคนค่อนข้างให้การสนับสนุน ทั้งที่ผ่านระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1848 มาแล้ว ฉะนั้น มาร์กซ์ก็ไม่เห็นพลังในการปฏิวัติของชาวนา ชาวนาไม่สามารถจะมองเห็นปัญหาส่วนร่วม คิดแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง

ทีนี้ก็มาถึง 3 ตอนสุดท้าย คือ อิทธิพลของพวกมาร์ซิสต์ต่างๆ เมื่อมันเริ่มจะเป็นการเมือง งานของเลนินพูดถึงการแตกแยกเป็นสองขั้วระหว่างชาวนารวยกับชาวนาจน ฉะนั้น ธงปฏิวัติจะมีฆ้อนกับเคียว ชาวนาสามารถเป็นพันธมิตรในการปฏิวัติได้ เหมาก็เอาตรงนี้ไปใช้ เช่น ป่าล้อมเมืองให้ความสำคัญกับชาวนา หลังจากที่ตอนแรกหาเสียงกับกรรมกร มีการปฏิวัติสองครั้งโดยชาวนา ซึ่งชาวนาก็เป็นมาร์กซิสต์ ทำให้มีความสนใจศึกษา Agrarian Studies ในมุมมองมาร์ซิสม์ค่อนข้างเยอะมาก แต่ไม่มีเวลาพอจะลงรายละเอียดจึงขอข้ามไป พอถึงปี 1980 คำถามเกี่ยวกับ Agrarian Studies ที่เคยฮิตอยู่พักหนึ่งก็เลิกฮิต จีนก็เปิดประเทศทำการค้าขายกับต่างประเทศ แรงงานชนบทของจีนก็ค่อยๆ เดินทางเข้ามาทำงานในเมืองมากขึ้น กลายเป็นทั้งกรรมกรและแรงงานปกขาว เรียกรวมๆ ว่าคนในเมือง กลายเป็น Urban Studies

ดังนั้นก็มาถึงคำถามว่า โลกาภิวัตน์เป็นจุดจบของมาร์กซิสม์หรือเปล่า บทความของ David Booth ชื่อ Marxism and Development Sociology ก็โยนเรื่อง Agrarian Studies ทิ้ง เพราะมันไม่มีประโยชน์ในการอธิบายอีกต่อไปแล้ว ธุรกิจการเกษตรไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ แต่สามารถใช้เกษตรพันธสัญญาเข้าถึงที่ดินและแรงงานของกรรมกรรายย่อยโดยที่เกษตรกรรายย่อยก็ไม่ได้กลายเป็นกรรมกรในชนบท ยังเป็นชาวนาทำงาการผลิตในที่นาตนเอง นายทุนใหญ่หลายรายก็ไปลงทุนยังต่างประเทศ เช่น เจ้าสัวซีพี จึงมาถึง Agrarian Transition เป็นมาร์กซิสต์รุ่นใหม่ที่พยายามจะศึกษาการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ พูดถึงชาวนาขนาดเล็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบอาชีพที่หลากหลาย ทำนาอย่างเดียวไม่พอ ขายก๋วยเตี๋ยว เป็นแรงงานก่อสร้าง อะไรก็ว่าไป

แต่สิ่งที่คนบอกว่าชาวนาทำงานหลากหลายไม่ได้เน้น คือ ประเด็นที่มีความแตกต่างในความหลากหลายของคนรวยกับคนจน ความหลากหลายของชาวนารวยหมายถึงเป็นเจ้าของรถสองแถว ค้าขายผลผลิตทางการเกษตร ขณะที่ความหลากหลายของชาวนาจนคือ ขายแรงงานเพื่อที่จะอยู่ให้รอด ฉะนั้น มันหลากหลายเหมือนกันแต่คนละแนว มีทุนที่แตกต่างกัน ฉะนั้น ความขัดแย้งระหว่างชาวนารวยกับกรรมกรในชนบทของเลนิน ดูเผินๆ เหมือนจะอธิบายได้แต่ก็อธิบายไม่ได้ เพราะชาวนารวยกับชาวนาจนของเราผนวกกับสังคมข้างนอกทั้งหมด ขณะที่เลนินอธิบายเป็นขั้วตรงข้ามราวกับมันเป็นสังคมปิด จึงมาถึงความสนใจของมาร์กซิสต์ที่ไม่ใช่เลนินแล้ว นั่นคือ งาน Agrarian Studies ที่พูดถึงภาคเกษตกรรมพวกขนาดเล็กนั้นมีพื้นที่ที่จะอยู่กับทุนนิยมได้เพราะมีลักษณะบางอันที่แรงงานครัวเรือนทำได้ดี เช่น เก็บผลไม้

ประเด็นสุดท้าย Agrarian Study กับ Marxism ในสังคมไทยอาจแบ่งได้เป็น 1.แนววาทกรรมแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มาในแนวเลนิน แนวเหมา 2.งานวิชาการแนวเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่ฮิตกันอยู่ช่วงหนึ่งในสมัยที่อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา คุมทีมทำวารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ 3. งานวิชาการแนววัฒนธรรมชุมชน ของ อ.ฉัตรทิพย์เอง 4. หมดยุคสมัยมาร์กซิสต์ เมื่อชาวนากลายเป็นผู้ประกอบการ

พรรคคอมมิวนิสต์เน้นการเคลื่อนไหวในกลุ่มชาวนาจน แต่ก็แผ่วลงไปแล้ว นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมืองส่วนหนึ่งเอาแนวของเหมามา คือ กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา เราเป็นทั้งขี้ข้าตะวันตก และขี้ข้าพวกขุนนาง โจมตีรัฐว่ารับใช้นายทุนต่างชาติ จริงๆ ก็ควรจะจบไปแล้วแต่บางคนก็ยังขุดๆ มาอยู่ ทฤษฎีพึ่งพิงบอกว่ากระบวนการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาพึ่งพิงทุนต่างชาติซึ่งทุนต่างชาติจะดูดซับทรัพยากรและผลกำไรออกไปทำให้ไม่เกิดการพัฒนาที่แท้จริง แต่พอจีนเปิดประเทศเรื่องพวกนี้ก็ซาๆ ลงไป ทุกคนก็อยากเป็นทุนนิยม ไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์ว่าสหรัฐอเมริกาไม่ดีเหมือนก่อน มาถึงงานวิชาการแนววัฒนธรรมชุมชน พูดถึงกรอบคิดวัฒนธรรมชุมชน อ.ฉัตรทิพย์มาในแนววัฒนธรรมอันดีงามของชุมชนได้แตกสลายไป แต่ในช่วงปี 1980 โดยประมาณ หลังจากยึดพื้นที่มาได้สักพัก วัฒนธรรมชุมชนก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เวลาวิจารณ์ก็วิจารณ์แรง เช่น ถ้าอยากจะอยู่แบบเดิมๆ ก็ขี่เกวียนมาประชุมสิ ฯลฯ

แต่คำว่า ภูมิปัญญาพื้นบ้าน กลับได้รับการเชิดชู น่าสนใจว่าบางคำอยู่รอดบางคำอยู่ไม่รอด ถ้าจะบอกว่ากระแสวิพากษ์วัฒนธรรมชุมชนเป็น Hegelian dialectic ก็ยังไม่ค่อยแน่ใจ เพราะมันไม่ใช่  antithesis ไม่ใช่คู่ตรงข้าม แต่กระแสโจมตีมาจากหลายที่ สุดท้าย เมื่อชาวนากลายเป็นผู้ประกอบการ ตอนหลังจะเห็นเยอะมากในการอธิบายงานเกี่ยวกับชาวนาศึกษา ที่จริงมันก็ไม่ผิด แต่นักเศรษฐศาสตร์ที่พูดถึงผู้ประกอบการ หรือคอนเซ็ปท์ Entrepreneur แต่เวลาเราพูดเรามักนึกถึงเจ้าของกิจการเล็กๆ  แต่ที่มาของศัพท์มันคือ จิตวิญญาณการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือทำการสิ่งเดิมแต่ด้วยวิธีการใหม่ มันมี technical term ของมัน

หนังสือของ Schumpeter มี 4 บทแรกพูดถึงมาร์กซ์ ถ้าเป็นในการเกษตร การใช้เครื่องจักรเป็นแนวการประกอบการ เกษตรกรสมัยใหม่ จริงๆ ใช้คำว่า ผู้ผลิตรายย่อยแบบที่มาร์กซ์พูดก็ได้ ชาวนาทำอะไรหลายอย่าง ไม่ต้องเป็นผู้ประกอบการก็ได้ คนที่ใช้คำว่าผู้ประกอบการ พอชาวนาเป็นผู้ประกอบการกันหมด มันทำให้ไม่เหลือคนจน แต่จริงๆ ไม่ใช่ สาระสำคัญของมาร์ซิสต์คือ คนจน นั่นคือเนื้อหาครึ่งหลังของ Capital Volume 1 พูดเกือบทั้งหมดคือ คนจนที่ทำงานในโรงงาน 14 ชั่วโมง ที่ไม่สามารถโต้แย้งอะไรต่างๆ ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net